หลวงปู่ทองรัตน์ กนฺตสีโล
โดนสอบสวนเรื่องชอบขอ
ไม่ยุติกันง่ายๆ มีการร้องเรียนไปทางคณะสงฆ์ฝ่ายปกครองว่าหลวงปู่ประพฤติตนไม่เหมาะสม
คือชอบขอของชาวบ้าน
พระมหาเถระฝ่ายปกครองเรียกตัวไปสอบสวนว่าเรื่องร้องเรียนนี้เป็นความจริงหรือไม่
หลวงปู่รับว่าจริงตามข้อกล่าวหาทุกประการ
“เมื่อรับว่าจริงแล้ว ท่านมีอะไรจะพูดอีกไหม จะแก้ข้อกล่าวอย่างไร”
หลวงปู่ตอบว่า
“ภิกขุคืออะไรขอรับกระผม? ภิกขุแปลว่าผู้ขอ ที่กระผมขอก็เพราะกระผมไม่มี.. มีก็ไม่ขอ! ถ้าจะให้มี ก็ต้องทำหากิน มีอาชีพเลี้ยงตัว ค้าขาย หรือรับจ้างอะไรไป แบบนี้เขาเรียกว่าคฤหัสถ์ กระผมขอไปเขาก็ให้มา หากขอไปเขาไม่ให้มากระผมก็ไม่ได้ว่าอะไรเขา ให้หรือไม่ให้เป็นเรื่องของเขา เรื่องของเราคือขอ”
ที่ประชุมสงฆ์เงียบกริบ
ก็ขอกันทุกรูปนั่นเอง
ชนะใจชาวบ้าน
นานไปชาวบ้านผู้ที่ไม่ชอบและคอยหาเรื่องกลั่นแกล้งหลวงปู่หลายคนหลายครัวเริ่มประสบแต่เหตุไม่ดี ส่วนใหญ่ภายในบ้านมักจะวุ่นวายเดือดร้อนกันก่อน หลังจากนั้นจะเรื่องร้ายๆเกิดตามหลัง อย่างเช่น ที่เป็นบ้าก็มีแล้ว ที่ล้มเจ็บแลตายก็ปรากฏบ่อยเข้า
ทำให้คนเหล่านั้นหวาดกลัว เริ่มมีใจสำนึกในกรรมที่กระทำต่อหลวงปู่ ทยอยกันมากราบขอขมาหลวงปู่ทีละราย
มีอยู่รายหนึ่งชื่อมหาแก้ว แต่งขัน5เข้ามาด้วย
หลวงปู่ไม่รับขัน ท่านบอกว่าไม่ได้ถือโทษโกรธเคืองอะไร
มหาแก้วก็ไม่ยอม,อ้อนวอนอยู่จนหลวงปู่รับขันก็ดีใจจนลั่นปากปวารณาว่าจะอุปัฏฐากหลวงปู่ แล้วก็ทำจริงจนแม้หลวงปู่ไปอยู่ที่อื่นก็ยังติดตามไปด้วย หลวงปู่เรียกมหาแก้วว่า”หมาแก้ว”
ไม่ยอมนั่งที่อาสนะนั้น
ครั้งหนึ่งหลวงปู่รับนิมนต์ไปงานประเพณีบุญกุ้มข้าว
เขานิมนต์พระมาจากหลายวัด หลายรูป เลี้ยงพระสวดมนต์กันแบบนี้ทุกปี
เมื่อหลวงปู่ไปถึงเขานิมนต์ให้นั่งตรงอาสนะที่จัดไว้ให้
หลวงปู่ทำเฉย ไม่ยอมนั่ง
เขาบอกนิมนต์ซ้ำๆอีกจนกระทั่งองค์ท่านต้องกล่าวว่า
“ทำไมจึงอยากให้นั่งนัก ไม่รู้รึไงว่าอาสนะนั่นมีอะไรซ่อนอยู่”
พวกชาวบ้านเข้าไปเมียงๆมองๆที่อาสนะก็เห็นว่าปกติดี หลวงปู่จึงบอกอีกครั้งให้เลิกผ้าปูอาสานะนั้นขึ้นดู
เห็นงูเห่าตัวเขื่องขดอยู่
เกิดโกลาหลทั้งพระทั้งโยม
ครั้นไล่งูไปแล้วจึงสงบ
แสดงนิสัยของผู้ไร้ร่องรอย
ในที่สุดชาวบ้านชีทวนได้เกิดมีศรัทธาคิดอยากจะสร้างวัดถวายหลวงปู่ให้เป็นเรื่องเป็นราว หลายคนสละที่ดินยอมยกให้เป็นวัด
แต่หลวงปู่ไม่สนองศรัทธาพวกเขา
ท่านว่า
“อย่าสร้างเลยวัด ถึงสร้างก็ไม่รับรองว่าจะอยู่, ถึงเวลาไปก็จะไปไม่มีห่วง , ไม่ให้เป็นภาระแก่กัน “