พุทธคาถาวันโลกดับ

เริ่มกันที่จดหมายสัก 2 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับพุทธคาถาจากพุทธทำนาย

เรียนคุณอำพลที่นับถือ

ผมอ่านคอลัมภ์ที่คุณเขียนในหนังสือศักดิ์สิทธิ์ พบบทคาถากันภัย
ซึ่งบทนี้ผมได้มาหลายปีแล้วจากหนังสือสวดมนต์ของท่านพ่อลี
เป็นบทที่พระพุทธเจ้ัาทรงให้ไว้กับพระอานนท์ เช่นเดียวกับคำอธิบายของคุณ
พุทธคาถาบทนี้จารึกอยู่ในแผ่นศิลาในประเทศอินเดีย แต่บทพระคาถาต่างกันนิดหน่อยคือ
“ทิตะทลาทัน มันทะโลกะลิกะลา สะติโถคะหะตะเน”

พุทธคาถาที่ผมทราบเป็นเช่นนี้
ผมใช้สวดคู่กับพระคาถามงกุฏพระพุทธเจ้า พอผมอ่านพบจึงเกิดศรัทธาเพราะตรงกัน
จึงอยากได้พระพิมพ์ใดก็ได้ที่ผมเห็นในหนังสือ ชอบมากก็คือ พิมพ์พระนาคปรกร่มเย็น
มองดูรู้สึกสบายและทำให้อารมณ์เย็นดี อีกพิมพ์ก็คือ พิมพ์โพธิบุญญามองดูแล้วสงบน่าศรัทธาน่าเลื่อมใสเหมือนตัวเองเข้าไปสงบอยู่ในองค์พระ
เหมือนมีจิตวิญญาณเข้าไปหล่อหลอมรวมกับองค์พระอย่างใดอย่างนั้น ทั้งสองพิมพ์จึงไม่เหมือนกัน
ผมจึงขอความกรุณาคุณอำพลช่วยส่งพระทั้งสองพิมพ์ให้ผมด้วย

ด้วยความนับถือ
ร.ต.อ.ทัสนัย สุขีธง
สภอ.วังจันทร์ระยอง

ท่านพ่อลีที่ร.ต.อ.ทัสนัย สุขีธงกล่าวถึงนั้นคือ ท่านพ่อลีวัดอโศการาม สมุทรปราการ
ที่ผมเองก็อาศัยบทสวดมนต์ไหว้พระของท่านเป็นแบบในการสวดมนต์ไหว้พระก่อนนอนทุกวัน
แต่ผมกลับไม่ได้สังเกตุพบพุทธคาถาบทนี้เลย เข้าใจว่าผมคงไปเห็นมาจากที่อื่นข้อความจึงคลาดเคลื่อนกัน
แหล่งอื่นที่ผมได้เห็นนั้น ผมก็ลืมไปแล้วว่าเป็นที่ไหน

อีกฉบับหนึ่งเขียนมาจากคุณธนาคม กิตติปกรณ์
40 ถนน เลียบนที
ตำบล อัมพวา อำเภอ อัมพวา
จังหวัด สมุทรสงคราม

ความว่า
“พุทธคาถาโลกดับที่ผมอ่านพบมาจากหนังสือพระประวัติ อภินิหารพระเครื่องหลวงพ่อโอภาสี
รวบรวมโดย บุรี รัตนา สำนักพิมพ์ผ่านฟ้าพานิช เป็นดังนี้
ถิตะถิรามันทะโร กะสีราคะ ระราสะติโสจะ
ทำไมจึงแตกต่างกันอย่างนี้ ทั้งๆที่เป็นพระพุทธคาถาเดียวกัน น่าจะเหมือนกัน
ผมคิดว่าน่าจะค้นคว้าหาทางทำให้ถูกต้องตรงกันจะได้หายสงสัย”

พุทธคาถาของหลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล ก็แตกต่างไปอีกแบบดังนี้
“ทิตะศีลาคันธะมังกะโร กะระกะรา สาสะติโหคะหะคะเน”

พุทธคาถาที่ผมได้มาเป็นแบบนี้
“ทิตะศิราทันมันทะโลกะลีลากะละลาสะติโปจะติโหคะหะตะเน”

เท่าที่ปรากฏพุทธคาถาจากครูบาอาจารย์ต่างๆ หรือจากแหล่งต่างๆกัน พอจะคาดหมายได้ว่า
พุทธคาถาที่แตกต่างกันทั้งหมดนี้เป็นอันเดียวกัน และมาจากแหล่งเดียวกัน
คือมาจากศิลาจารึกในวัดเชตวันวิหาร ที่จารึกโดยพระอานนท์ในประเทศอินเดีย

ข้อความคลาดเคลื่อนนั้นเห็นจะเป็นด้วยการจดคัดลอกและการอ่านที่ผิดเพี้ยนกัน
บางทีผู้จดได้จดมาผิดกัน หรืออ่านออกเสียงไม่เหมือนกัน จึงเกิดข้อแตกต่างได้ดังที่เห็น

ครูบาอาจารย์ที่ได้จาริกไปประเทศอินเดีย ไปเห็นข้อความในจารึกนั้น
ผู้อ่านออกก็อ่านเอง ผุ้อ่านไม่ออกก็อาศัยผู้รู้อ่านให้ฟัง แล้วจดตามคำอ่านนั้นมา ก็สามารถจะผิดเพี้ยนกันได้ไม่ยาก

ยกตัวอย่างเช่น หลวงปู่พรหมมา เขมจาโร
ท่านเป็นผู้ที่ออกเสียงตัว ฟ.ไม่ได้ คือท่านจะออกเสียงเป็นตัง พ.
ถ้าพูดว่า ไฟฟ้า ท่านจะออกเสียงว่า ไพพ้า,ฟ้าผ่าออกเสียงว่าพ้าผ่า,เครื่องปั่นไฟออกเสียงว่าเครื่องปั่นไพ

ครั้งหนึ่งมีผู้ไปขอท่านสร้างรูปฤษี ถามท่านว่าจะสร้างรูปฤษีอะไรดี
ท่านตอบว่า
“ทำรูปฤษีตาไพ”(ตาไฟ)

ผู้ฟังก็จดตามคำพูดที่ไม่ชัดว่า ฤษีตะไพร
จึงเกิดฤาษีรุ่นแปลกประหลาดขึ้นรุ่นหนึ่ง คือรุ่น ฤาษีตะไพร

สมัยออกเหรียญรุ่นแรกคราวที่ท่านข้ามฝั่งโขงจากลาวสู่ไทยใหม่ๆ
ผู้จดก็จดตามคำพูดที่ไม่ชัดของท่าน คือจดชื่ออำเภอโขงเจียมเป็นโขงเกียม

เหรียญรุ่นแรกจึงกลายเป็นเหรียญที่ออกในอำเภอโขงเกียม

ไม่รู้ว่าอำเภอนี้อยู่ที่ไหน

ตัวอย่างง่ายที่แสดงให้เห็นว่าเป็นเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้ข้อความเดียวกันสามารถคลาดเคลื่อนกันได้
ซึ่งเหตุที่จะคลาดเคลื่อนก็คงจะมีอีกหลายสาเหตุ

อย่างไรก็ตามแม้จะพบว่า พุทธคาถานี้เกิดแปลกแตกต่างกันมากมาย
คือยังไม่ปรากฎว่าของใครตรงกับของใครจริงๆ ยิ่งทำให้น่าเชื่อว่าจะเกิดเพราะฟังผิดจดผิดนั่นเอง

จากโขงเจียม มาเป็นโขงเกียม จากโขงเกียมจะเป็นอะไรไปอีกก็ได้
จากฤษีตาไฟ มาเป็น ฤษีตะไพร จากฤษีตะไพรจะแปลกประหลาดต่อไปก็ได้

คิดเล่นๆว่าฤษีตะไพรค่อยๆเพี้ยนไปทีละน้อยจนเป็นฤษีตะไพล-ฤษีตำไพล-ฤษีรำไพ
ทีนี้กว่าผู้รู้จะคลำหาที่มาของฤษีตำไพลหรือรำไพก็คงลำบากจนเลือดตาแทบกระเด็น ว่ามันมาจากฤษีตาไฟนี่เอง

ผมก็ไม่ใช่นักภาษาศาสตร์เสียด้วย
จึงหมดปัญญาที่จะพิสูจน์ว่าที่ถูกต้องของพุทธคาถานั้นเป็นอะไรอย่างไร

อยากจะพึ่งท่านอาจารย์ลุงประสก ซึ่งท่านเป็นผู้ทรงภูมิทางภาษาก็เกรงจะรบกวนท่านเกินไป

ต่อไปจะได้ลงบทเต็มของพุทธคาถาที่ออกมาจากพุทธทำนายตามที่มีผู้เขียนจดหมายไปขออย่าง
มากมายเป็นประวัติการณ์
จนผมหมดปัญญาจะส่งทางจดหมาย จะขอนำมาลงตีพิมพ์ที่นี่ให้จบไปคราวเดียว

พุทธคาถาบทเต็มนี้ลอกมาจากหนังสือใบลานเก่าแก่ ข้อความก็แปลกไปจากแต่ละแหล่ง

พุทธคาถาบทเต็มนี้ถือว่าเป็นบทที่สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่ได้ทราบมา

เชิญคัดลอกได้

ช่างเรียงพิมพ์ก็สามารถจะเป็นอีกผู้หนึ่งที่ทำให้ข้อความพุทธคาถาคลาดเคลื่อน ดังนั้นโปรดระมัดระวังด้วย

“สุสุสุ ละละละ ทาทาทา โออัสสะ

อะอะอะ โสโสโส โนโนโน

นะโมพุทธายะ ยะธาพุทธโมนะ

มะอะอุ อุอะมะ

นะมะสัจจัง มะราตะมะมะ

ระสะมะยัง หิริโอตัปปะ สัมปันนา

สุกกะธัมมะสะมาหิตา สันโต

สัปปุริสา โลเก เทวะธัมมาติ วุจจะเรติ

มาระสัจจัง มาระสัจจัง มารัตตะนัง

มาระสุทธัง มาระเตชัง มาระสิทธิกัมมัง

ทิตะทิรา มันทะโล กะสิลา

กะละลาสะติ โสจะถิโหคะนะตะเน

พุทธะเยจะมังมาพิโธ ทานะโส ปัตตะโส

สัตถาคารังโช โสอะจะนัง ตะโตกันนัง

เถริยะมาเห มะระกะตา มาระกะตะเล

ระวะชาตา ปุระปุรา”

หวังว่าเมื่อลงพิมพ์ดังนี้แล้วจะไม่ต้องมีใครเขียนจดหมายไปขอที่ผมอีก

เรื่องพุทธคาถานี้ผมกำลังคิดจะทำเป็นผ้ายันต์โดยท่านอาจารย์เวทย์ อาจารสมฺปนฺโน วัดแก่งตอย เป็นผู้ผูกพุทธคาถาเป็นยันต์ขึ้น
เมื่อทำแล้วจะแจกฟรีสำหรับผู้ศรัทธาทั้งปวงต่อไปในไม่ช้าและจะขอบารมีหลงปู่คำพัน โฆสปัญโญ วัดธาตุมหาชัย อธิษฐานพรให้ด้วย

โปรดรอ

หนังสือใบลานเก่านั้นกล่าวว่า ผู้ใดทำเป็นผ้ายันต์ขึ้นเผื่อแผ่แก่คนทั้งปวง ควรแก่การได้อานิสงส์ใหญ่

ผมอยากได้อานิสงส์ใหญ่นั้นจึงคิดทำแจก

ก็ผมยังตัดโลภไม่ขาดนี่ครับ

ถึงจะโลภในอานิสงส์ก็ช่างเถิด

*******

จากคอลัมน์ “สืบหาพระเครื่องดี “เขียนโดย “อำพล เจน “ ตีพิมพ์ในหนังสือศักดิ์สิทธิ์ฉบับที่ 342 วันที่ 1 เมษายน 2540

แชร์ :

ความคิดเห็น

** โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างมีวิจารณญาน