ฮีตสิบสอง

ผมเคย ถูกถามอยู่บ่อย ๆ เกี่ยวกับเรื่องฮีตสิบสอง บางครั้งผมก็ตอบ บางครั้งก็ไม่อยากตอบ ที่ผมตอบนั้นเพราะเป็นคำถามที่พอจะตอบได้ ที่ไม่อยากตอบนั้นเพราะเป็นคำถามที่ผมยังไม่รู้จริง ถ้าจะตอบก็ต้องใช้วิธีคาดคะเนหรือคาดเดา หากเดาถูกก็ดีไป ถ้าผิดก็เป็นบาปกรรมอย่างยิ่ง เท่ากับว่าได้โกหกตอแหลให้เขาเชื่อเรื่องผิด ๆ ไปแบบผิด ๆ และผมก็พลอยกลายเป็นผู้กระทำเรื่องผิด ๆ ไปอีกด้วย

ฮีตสิบสองหรือ ประเพณีสิบสองเดือนนี้ถือเป็นขนบธรรมเนียมเป็นวัฒนธรรมของชาวอีสาน ที่มีมานาน เก่าและแก่เกินกว่าเด็กรุ่นใหม่อย่างผมจะไปรู้แจ้งเห็นจริงได้ เคยไปถามพ่อ พ่อก็กรุณาอรรถาธิบายให้ ครั้นพอถามซอกแซกหนักข้อเข้าพ่อก็จนแต้มต้องปัดป่ายบ่ายเบี่ยงให้ไปถามปู่ ปู่โดนซอกแซกถามหนักเข้าก็บอกให้ไปถามยาย ยายจนแต้มเข้าก็บอกให้ถามทวด ถึงตอนนี้ผมก็หน้ามืดจนแต้มบ้างสิ

โธ่……ให้ไปถามทวดน่ะ ผมต้องจุดธูปถามลูกเดียวซีขะรับ

บังเอิญผมไป ค้นเจอหนังสือรายงานการวิจัยและวิเคราะห์ประเพณีฮีตสิบสอง ที่ตู้หนังสือของท่านผู้วิจัยเอง ก็เลยแอบฉกใส่ถุงกระดาษมา ซึ่งผู้วิจัยมีอยู่สามท่าน คือ ดร.ธีระ รุนเจริญ อ.ประสิทธิ์ คุณุรัตน์ และ ผศ.อุดม บัวศรี หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงประเพณีฮีตสิบสองโดยละเอียด แต่ผมจะหยิบฉวยเอามาเพียงเล็กน้อย ถึงแม้จะเป็นเพียงเล็กน้อย แต่ก็เป็นผลจากการค้นและคว้าอันเหนื่อยยากของท่านทั้งสาม ขณะเดียวกันก็เป็นผลจากการค้นและฉกอันเหนื่อยยากของผมด้วย

คำว่า “ฮีต” เป็นคำที่ถูกย่นย่อแล้วจากคำว่า “จารีต” ชาวไทยอีสานใช้ตัว “ฮ” แทนตัว “ร” ฮีตสิบสองก็คือจารีตสิบสอง ซึ่งหมายถึงจารีตประเพณีที่ประพฤติปฏิบัติตลอดเวลาสิบสองเดือน ในแต่ละเดือนมีประเพณีประจำ คล้าย ๆ กับของทางภาคกลางแต่ แตกต่างกันไปในรายละเอียด ประเพณีเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของพุทธศาสนา โดยเกี่ยวข้องอย่างเหนียวแน่นกับอาชีพซึ่งส่วนใหญ่คือ อาชีพทำนาทำไร่ ขณะเดียวกันก็เป็นอุบายเพื่อการทำบุญขัดเกลานิสัยใจคอผู้คนให้เป็นคนดี ผูกพันสามัคคีต่อกัน

จารีตประเพณี ของชาวไทย ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้หรือภาคกลางโดยทั่วไปแล้วคล้ายคลึงกัน แต่ผิดเพี้ยนจากกันไปด้วยเหตุจากอิทธิพลของสิ่งแวดล้อม ในภาคอีสานมีประเพณีสองแบบ แบบแรกไม่มีการกำหนดวันเฉพาะ เช่นประเพณีกินดอง (แต่งงาน) ประเพณีบายศรีสู่ขวัญ เป็นต้น อีกแบบหนึ่งเป็นประเพณีที่มีการกำหนดวันโดยเฉพาะเจาะจงคือประเพณีฮีตสิบสอง นี่เอง

จุดเริ่มแรกของการเริ่มต้นยึดถือปฏิบัติประเพณีสิบสองเดือน

ภาคอีสานเป็น ผืนแผ่นดินซึ่งเรียกว่าที่ราบสูง เป็นแหล่งอารยธรรมที่เก่าแก่แหล่งหนึ่งของโลก จากหลักฐานที่ค้นพบนั้นบอกให้รู้ว่าประวัติศาสตร์ของภาคอีสานเริ่มต้นขึ้นใน ยุคหินกลาง จากซากและโครงกระดูกที่พบในจังหวัดเลย, หนองคาย, อุดรธานี และชัยภูมิ มีอายุคร่าว ๆ ราว 10,000 ปี ซึ่งเป็นหลักฐานเก่าแก่ที่สุดเท่าที่ค้นพบ

หลักฐานอีก ประการหนึ่งซึ่งแสดงให้รู้ว่าภาคอีสานมีอารยธรรมความเจริญก้าวหน้าก่อนที่ อื่น ๆ ในโลก นั่นคือการก้าวเข้าสู่ยุคโลหะ จากการขุดค้นพบขวานสัมฤทธิ์ (ทองแดง) ที่บ้านโนนนกทาซึ่งมีอายุถึง 6,000 ปี และการหล่อสัมฤทธิ์ที่บ้านเชียง มีอายุมากกว่า 5,600 ปี นายโรเบอร์ต เคลอร์ ได้กล่าวว่า “บ้านเชียงเป็นแหล่งที่พบร่องรอยของอารยธรรมยุคสัมฤทธิ์ที่เก่าแก่ที่สุดใน โลก”

จากหลักฐานที่ ค้นพบเหล่านี้ แม้ว่าจะไม่สามารถพิสูจน์หรือยืนยันได้ว่าเป็นของคนกลุ่มใด จะเป็นคนที่อพยพมาจากที่อื่น หรือว่าอยู่อาศัยที่นั่นมาแต่ดั้งเดิมก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่พูดได้เต็มปากก็คือ ในแผ่นดินส่วนนี้มีผู้อยู่อาศัยมานานแล้ว

ดินแดนอีสาน เป็นศูนย์กลางของคาบสมุทรอินโดจีน อยู่ระหว่างสองชาติใหญ่ที่เก่าแก่คือ อินเดีย กับจีน เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่ง เป็นเหตุให้มีผู้คนอพยพเข้ามาตั้งรกรากถิ่นฐาน และสร้างสรรค์อารยธรรมขึ้น

การเคลื่อน ย้ายของประชากรหลายกลุ่มหลายเหล่า จากตอนเหนือมาตามลำน้ำโขง แล้วกระจายไปตั้งหลักแหล่งตามลุ่มน้ำต่างๆ ตั้งแต่ปากแม่น้ำโขงขึ้นมา เริ่มตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงพุทธศตวรรษที่ 19 – 20

ในพุทธศตวรรษ ที่ 11 มีการแพร่ขยายของวัฒนธรรมฮินดูเข้ามาจากเมืองต่าง ๆ ทางปากน้ำแม่โขงและเมืองชายทะเล โดยแพร่เข้าสู่ภาคอีสานตามลำน้ำโขง ต่อมาในราวพุทธศตวรรษที่ 12 วัฒนธรรมทางพุทธศาสนาก็เริ่มแพร่เข้ามาจากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านเข้ามาทางเทือกเขาดงพญาเย็น และเพชรบูรณ์ เข้าสู่ลุ่มน้ำมูลและชี

จึงสันนิษฐาน ได้ว่าประเพณีที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาโดยเฉพาะฮีตสิบสอง ก็น่าจะเริ่มยึดถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่ครั้งวัฒนธรรมอินเดียเข้ามาสู่บริเวณ นี้

ฮีตสิบสอง

ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว่าฮีตสิบสองนั้นตรงกับภาษาทางภาคกลางว่าประเพณีสิบสองเดือน ประเพณีนี่จึงเริ่มต้นมีขึ้นตั้งแต่เดือนแรก ที่เรียกว่าเดือนอ้าย ซึ่งภาษาอีสานเรียกว่า “เดือนเจียง” โดยเริ่มขึ้นแล้วดำเนินต่อไปเรื่อย จนครบสิบสองเดือน วนเวียนอย่างนี้ไปทุก ๆ ปี

เดือนอ้าย มี งานบุญเข้ากรรม เป็นประเพณีสำหรับพระภิกษุที่ต้องอาบัติทำผิดทางวินัยสงฆ์ ได้เข้ากรรม ออกจากอาบัติ ขณะเดียวกันชาวบ้านส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นการเข้ากรรม เพื่อทดแทนบุญคุณบิดามารดา ซึ่งต้องลำบากยากใจกายเลี้ยงดูบุตรจนเติบใหญ่ บุญกุศลจากการเข้ากรรมนี้จะส่งให้บิดามารดาได้รับความสุขในสัมปรายภพ ชาวบ้านจะเป็นผู้นิมนต์พระสงฆ์มาเข้ากรรม และทำอาหารคาวหวานมาถวายเป็นการสงเคราะห์การเข้ากรรมนั้น

เดือนยี่ มี ประเพณีที่ทำขึ้นภายหลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวแล้วเรียกว่า บุญคุณลาน ชาวบ้านจะนิมนต์พระมาสวดมนต์เย็นที่ลานนวดข้าวเป็นสิริมงคล พอเช้าก็มีการถวายอาหารแก่พระสงฆ์ทุกรูป

เดือนสาม มี งานบุญข้าวจี่ ชาวบ้านจะเตรียมข้าวเป็นพิเศษเพื่อถวายแก่พระสงฆ์ ข้าวที่เตรียมนั้นเป็นข้าวใหม่ ถวายให้เนื่องในงานวันมาฆบูชา เป็นการเปิดยุ้งข้าวเอาข้าวขึ้นยุ้ง พอตกกลางคืนในวันเพ็ญเดือนสาม ชาวบ้านจะทำข้าวจี่ โดยเอาข้าวเหนียวมาปั้นเป็นก้อนกลม ๆ และแบนปิ้งไฟพอเหลืองเกรียม แล้วชุบไข่ใส่น้ำตาลปึกปิ้งต่อจนสุก แล้วพอรุ่งขึ้นก็นำข้าวจี่ไปที่หัวแจก (ศาลาวัด) นิมนต์พระมาบิณฑบาต ต่อจากนั้นพระสงฆ์จะให้ศีลและแสดงธรรมเทศนา

เดือนสี่ มีงานบุญพระวส มีการแห่งพระสงฆ์ ซึ่งถือกันว่าเป็นพระเวสสันดรจากป่าเข้าเมือง แล้วฟังเทศน์มหาชาติและทำบุญ

เดือนห้า มีงานบุญสงกรานต์หรือบุญสรงน้ำ เป็นการทำบุญขึ้นปีใหม่ตามคติไทยโบราณ และสรงน้ำพระพุทธรูป ประเพณีนี้คล้ายกันทุก ๆ ภาค

 

เดือนหก มี งานบุญบั้งไฟ ชาวบ้านทำบุญกันที่วัด เวียนเทียนในวันวิสาขบูชา ทำบั้งไฟไว้จุดเพื่อเป็นการขอฝนจากแถน ประเพณีส่วนใหญ่รู้จักกันดีแล้ว เพราะจัดกันใหญ่โตที่ยโสธรทุกปี

เดือนเจ็ด มี งานบุญซำฮะหรือบุญผีตาแฮก บางทีก็เรียกว่าบุญซำฮะบำเบิก ชาวบ้านจะทำการบูชาเทวดาอารักษ์ เช่นหลักบ้าน หลักเมือง ผีปู่ย่าตายาย ผีเมือง ผีตาแฮก (เทวดารักษาไร่นา) เป็นประเพณีที่ทำขึ้นก่อนทำนา

เดือนแปด มีงานบุญเข้าพรรษา ชาวบ้านจะทำอาหารคาวหวานไปถวายพระที่วัด ร่วมกันทำเทียนพรรษา และจัดงานแห่งเทียนนั้น

เดือนเก้า มี งานบุญคุ้มหรือบุญข้าวประดับดิน ชาวบ้านจะเตรียมกระทงใส่หมากพลู บุหรี่ พอแรม 14 ค่ำประมาณตีสี่จะนำกระทงเหล่านี้ไปวางไว้ ตามประตูโบสถ์วิหารหรือตามต้นไม้ เพื่อเป็นทานแก่พวกเปรต ด้วยความเชื่อที่ว่าวันนี้พญายมจะปล่อยเปรตห่า ลงมาของส่วนบุญตั้งแต่ตีสี่ถึงหกโมงเช้า ถ้าจะทำบุญเลี้ยงพระกรวดน้ำก็ไม่ทัน จึงต้องใช้วิธีนี้

เดือนสิบ มี งานบุญข้าวสาก ชาวบ้านจะกวนข้าว กระยาสารทแจกจ่ายญาติผู้ใหญ่และเพื่อนบ้าน จากนั้นก็จัดหาอาหารไปถวายพระ เป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว หรือผีนาโดยผู้ถวายจะเขียนชื่อของตนไว้ในภาชนะบรรจุของทาน แล้วเขียนชื่ออีกแผ่นใส่ลงในบาตร เมื่อพระเปิดฉลากพบชื่อก็จะเรียกเจ้าของชื่อให้เอาของเข้าไปถวายจากนั้นก็ เทศนาธัมมะ และบรรยายนิทานให้ฟัง

เดือนสิบเอ็ด มีงานบุญออกพรรษา ชาวบ้านจะนำของถวายพระ ทำประทีปเรือไฟ ทำปราสาทผึ้ง และมีพิธีลอยกระทงด้วย

เดือนสิบสอง มีงานบุญกฐิน ชาวบ้านทำกองกฐินไปถวายวัด โดยมีงานบุญนี้ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือนสิบเอ็ด ถึงวันเพ็ญเดือน 12

ได้กล่าวถึง ฮีตสิบสองโดยสังเขปมาจนครบสิบสองเดือนแล้ว คงพอเป็นแนวทางให้แก่ผู้สนใจใคร่รู้ได้เข้าใจบ้างเล็กน้อย และผู้วิจัยได้กล่าวเป็นเชิงสรุปว่า

ฮีตสิบสองนี้ เปรียบประดุจโซ่หรือเชือกเส้นใหญ่ผูกคนอีสานทุกชั้น วรรณะไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุสงฆ์ ญาติโยม ตลอดจนลูกเล็กเด็กแดงทุกคน ให้สมัครสมานสามัคคีกัน รักใคร่นับถือประหนึ่งเป็นญาติพี่น้อง

ดังนั้นคน โบราณอีสานที่อยู่ใต้ฮีตสิบสองนี้จึงเป็นคนว่านอนสอนง่าย รู้จักการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่กันและกัน คนในบ้านหรือในสังคมตั้งแต่เกิดจนตายต่างรู้จักชื่อเสียงเรียงนามกันเป็น อย่างดี เพราะได้สังสรรค์กันตลอดเวลาด้วยฮีตสิบสองนี้เอง

แชร์ :

ความคิดเห็น

** โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างมีวิจารณญาน