ผัวเดียวเมียหลาย
ผัวเดียวเมียหลาย
เขียนโดย ยสธสาร
(นามปากกาของอำพล เจน ใช้สำหรับเขียนคอลัมน์”อีสานสนุก” ในนิตยสารแปลกรายสัปดาห์ระหว่างปี2525-2533)
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าระบบผัวคนเดียวเมียหลายคนในสังคมไทยสมัยก่อน มิได้หมายถึงความมัก มากทางกามารมณ์เสมอไป แต่หมายไปถึงการประกาศบุญบารมี และยังมีเหตุผลทางการเมืองมาสนับสนุน ทั้งกฎหมายและประเพณีก็เอื้ออำนวยให้ผู้ชายมีเมียหลายคนได้โดยชอบธรรมอีก ด้วย
โดยเฉพาะเหตุผลทางการเมืองนั้นพอจะยกตัวอย่างได้ดังนี้
๑. ธิดาของเจ้ามหาเสนา อัครมหาเสนาบดีกลาโหมในรัชกาลที่ ๑ ชื่อนุ่นก็ได้เป็นพระสนมใน สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และยังมีธิดาและภรรยาคนอื่นๆของเจ้าพระยาเสนาฯ ที่ได้เป็นเจ้าจอมอีกหลายคนเช่น ตานี, จิตร์, นก, ชู
๒. ธิดาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ผู้สำเร็จราชการเมืองหลวง(ทัต บุนนาค) ในสมัยรัชการที่ ๔ ชื่อสำลี ก็เป็นเจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ ๔
๓. ธิดาของพระอภิรักษ์ภูบาล เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชชื่อ น้อย, ใหญ่, พัน, แย้ม, ก็ได้เป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๔
การที่ธิดาของข้าราชการชั้นสูงผู้มีอำนาจได้เป็นพระสนมจำนวนมากเช่นนี้ ก็เพื่อเป็นการป้องกันข้าราชการชั้นสูงคิดกบฎ หรือไม่ก็มีบ้างที่เป็นธรรมเนียมในการถวายบุตรีให้เป็นเจ้าจอมก็ได้ แต่ที่แน่นอนก็คือ หากข้าราชการชั้นสูงเหล่านี้จะคิดนอกลู่นอกรอย ก็ต้องคิดหน้าคิดหลังหลายตลบ เพราะว่าธิดาของท่านแต่ละคนก็ผูกพัน เกี่ยวดองกันเป็นที่แน่นแฟ้นแล้ว
คุณดารารัตน์ เมตตาริกานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชามนุษยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กล่าวถึง “ความเสื่อมของระบบผัวเดียว หลายเมีย” มาเป็นผัวเดียวเมียเดียวต่อไปว่า
ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น วัฒนธรรมตะวันตก เข้ามามีอิทธิพลต่อแนวความคิดของชนชั้นนำในขณะนั้นเป็นอันมาก
นับตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ ทรงมีนโยบายให้มีการเรียนรู้ศิลปวิทยาการแบบตะวันตกเป็นต้นมา จนถึงรัชกาลที่ ๕ ก็ได้ทรงปฏิรูปการศึกษา และสังคมตามแบบตะวันตก พร้อมทั้งจัดส่งคนไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ
เมื่อคนเหล่านั้นกลับมาก็กลายเป็นผู้นำสมัยใหม่ มีความคิดเสรีนิยม
อิทธิพลของชาวตะวันตกที่ติดคนเหล่านั้นกลับเข้ามาก็มีผลต่อสังคมไทยมากขึ้นตามลำดับ
ความเชื่อและค่านิยมเก่าๆ จึงได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเสียใหม่เพื่อให้ทันสมัย
สิ่งหนึ่งที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงโดยอิทธิพลของชาวตะวันตกก็คือ ระบบผัวเดียวหลายเมีย โดยเริ่มมีการต่อต้านจากหลาย ๆ ฝ่าย
งานเขียนของ “เทียนวรรณ” ตอนหนึ่งกล่าวว่า
“ประเพณีของพวกเราชอบมีภรรยามาก ชอบกดขี่กันในมุ้ง ท่านผู้ใดมีสติปัญญาลึกเท่าภูเขาหิมาลัยจะมาตั้งขนบธรรมเนียมให้มีภรรยาคน เดียวจะได้ง่ายๆที่ไหน เพราะประเพณีที่ไหลอยู่เหมือนน้ำของประเทศเรา เป็นอย่างนั้นมาช้านานนักแล้ว”
งานพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๖ เรื่องการค้าหญิงสาว ตอนหนึ่งว่า
“ข้าพเจ้าเชื่อว่าไม่ผิดที่จะกล่าวว่า การมีเมียน้อยเป็นประเพณีโบราณ ซึ่งคนไทยหนุ่ม ๆ สมัยใหม่ไม่ชอบเลย เพราะว่าเป็นประเพณีมีเมียหลายคน ซึ่งหนุ่มผู้ได้รับการศึกษามาแล้ว อย่างฝรั่งร้องให้เลิก พวกหนุ่มๆเหล่านี้ได้รู้แบบใหม่คือ “เมียลับ” ซึ่งเขาเห็นสมควรแก่ “ศิวิไลซ์” สมัยใหม่ ซึ่งมีเมียออกหน้าแต่คนเดียวอย่างฝรั่ง”
จากงานเขียนทั้ง ๒ ชิ้นนี้ จะเห็นได้ว่า ขณะนั้นมีการเคลื่อนไหวต่อต้านระบบผัวเดียวหลายเมีย โดยพวกหนุ่มๆที่จบจากเมืองนอกมาเป็นวงกว้างแล้ว ซึ่งเทียนวรรณก็ได้ติงเอาไว้ว่า มันเปลี่ยนยากนะ และรัชกาลที่ ๖ ก็ได้ทรงเตือนสติว่า ถ้าเปลี่ยนเสียแล้วก็กลายเป็นว่าเปลี่ยนแค่ยกผู้หญิงคนหนึ่งออกหน้า ตามอย่างฝรั่งเท่านั้น ผู้หญิงอื่นๆ ก็เลยกลายเป็น “ลับ ๆ” ไป
แต่เดิมก็ให้ออกหน้าได้หมด เปลี่ยนแล้วจะพาลกลายเป็นไปลดหน้าของภรรยาคนอื่นๆ ให้อยู่ข้างหลัง คือกลายเป็นเมียลับ ซึ่งไม่ได้ทำให้ผู้ชายมีเมียคนเดียวได้เลย
ในที่สุด คนหัวใหม่ในขณะนั้น ก็ได้ผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายโดยเตรียมโครงร่างกฎหมายลักษณะผัว เมีย ซึ่งได้ตัดทอนจากกฎหมายลักษณะผัวเมียฉบับเดิม
มิสเตอร์ปาดูซ์ ซึ่งเป็นหัวหน้ากรรมการประมวลกฎหมาย ได้นำร่างกฎหมายลักษณะผัวเมียของตน ให้กรมหมื่นสวัสดิวัฒนวิศิษฐ์แปลเป็นภาษาไทยเสร็จแล้ว กรมหมื่นสวัสดิวัฒนวิศิษฐ์ก็ได้มีบันทึกแสดงความคิดเห็นส่วนพระองค์ ในกรณีให้ผู้ชายมีเมียได้คนเดียว
บันทึกนี้ได้เสนอไว้เมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๖ สรุปได้ว่า
๑. การเป็นสามีภรรยากัน ควรให้มีการจดทะเบียนสมรส
๒. การที่ชายมีภรรยา หลายประเภททำให้หญิงเสียเปรียบ เพราะคนมั่งคั่งจะเลี้ยงนางบำเรอไว้มาก ทั้งเมียน้อย และทาสภรรยา ชายอื่นมาทำชู้ก็ต้องปรับว่าผิดเมีย หญิงได้ประโยชน์เพียงว่าสามีเลี้ยงดู เชิดหน้าชูตาสมคำว่า “สตรีมีผัวเหมือนหัวแหวน” และจะได้มรดกเมื่อสามีตาย แต่ความจริงก็ไม่ค่อยจะได้ ฐานะของภรรยาหลวงกับภรรยาน้อย ก็แตกต่างกันมาก
อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ทรงเห็นด้วยกับทรรศนะของกรมหมื่นสวัสดิวัฒนวิศิษฐ์พระราชดำริในเรื่องนี้ มีดังนี้
๑. ถ้าออกกฎหมายให้ชายมีภรรยาคนเดียว แต่ปฏิบัติไม่ได้จะเป็นการลบหลู่ไม่เคารพกฎหมาย
๒. เมื่อตกลงให้มีภรรยาหลายคนได้แล้ว ควรให้มีการจดทะเบียนทุกคนเพื่อกันการสำส่อน และกันหญิงถูกหลอกลวงว่าจะเลี้ยงแล้วกลับทิ้ง กับหญิงที่ถูกบิดาขายมาโดยไม่เต็มใจ
๓. การอ้างว่าทางยุโรปมีภรรยาคนเดียวนั้น เพราะประเพณีเขาเป็นมานานแล้ว ส่วนของไทยก็มีประเพณีที่ชายมีภรรยาหลายคนมานานแล้ว ถึงจะบัญญัติให้มีภรรยาคนเดียว ก็คงไม่ทำให้เปลี่ยนความรู้สึกได้ คือภรรยาน้อยทั้งหลายยังคงคิดว่าตนเป็นภรรยาอยู่ เว้นแต่จะระบุลงไปในกฎหมายว่า ชายใดกระทำผิดสมรสด้วยหญิง ๑ แล้วและคบหญิงอื่นอีกในทางกามสังวาส ท่านว่ามันประพฤติกามมิจฉาจาร ให้ภรรยาฟ้องหย่าได้ กฎหมายที่ทำขึ้นต้องทำให้สามัญชนเข้าใจด้วย
๔. การที่ทางยุโรปกำหนดให้มีภรรยาคนเดียวเนื่องด้วยลัทธิศาสนาของเขา ซึ่งกำหนดชัดให้มีภรรยาได้คนเดียว จึงกล่าวว่าไทยไม่เป็นอารยประเทศไม่ได้ เพราะศาสนาของเราไม่มีข้อกำหนดการมีภรรยาหลายคน แต่ไม่ได้ปรารถนาภรรยาผู้อื่น ก็ถือว่าตั้งอยู่ในสันโดษ ไม่นับว่าเป็นเรื่องเสียหาย
๕. ปัญหาเรื่อง บุตรนอกสมรสนั้น แต่เดิมเราไม่มีอยู่แล้ว ก็ไม่ควรเปิดทางให้มีขึ้น พ่อที่ไม่อยากรับรองบุตรภรรยาน้อยก็จะไม่รับได้ โดยอ้างกฎหมายนั้น
๖. ข้ออ้างว่าชายไทยที่มีภรรยามากเฉพาะคนชั้นสูง ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยไม่กระทบกระเทือนต่อส่วนรวมมากนักนั้นไม่เห็นด้วย เพราะเมืองเรามีคำพังเพยปรากฎอยู่ว่า “ผู้ดีทำควร ขี้ตรวนทำบ้าง” เพราะฉะนั้น การจะกำหนดกฎหมายใด ๆ จึงต้องมักเอาชนชั้นผู้ดีเป็นหลัก ถ้าบังคับชนชั้นผู้ดีได้ ไพร่ก็ไม่รู้สึกเดือดร้อน
การที่พระมหากษัตริย์ และเจ้านายหลายพระองค์ไม่เห็นด้วยกับกรมหมื่นสวัสดิวัฒนวิศิษฐ์ จึงทำให้กฎหมายนี้ยุติลง
จนกระทั่ง ถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ตกไป ก็ได้นำกลับมาให้คณะกรรมการพิจาณาต่อ โดยมีการประชุมถกเถียงกันหลายครั้ง
ผลที่สุดก็มีพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัวออกมาว่า ชายอาจมีภรรยาได้หลายคน ตามมติส่วนใหญ่ แต่ให้ชายมีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายได้เพียงคนเดียวเท่านั้น และประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ ระบุไว้ในมาตรา ๑๔๕๑ ว่า “บุคคลใดจดทะเบียนสมรสแล้ว จะจดทะเบียนอีกไม่ได้เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า การสมรสครั้งก่อนได้หมดไปแล้วเพราะ ตาย หย่า หรือศาลเพิกถอน”
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงกฎหมายแล้ว สภาพการณ์ของผู้ชายหลายเมียก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงตามไปได้เลย
สมดังพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และเทียนวรรณได้กล่าวท้วงติงเอาไว้ไม่มีผิด
ผู้ชายทุกวันนี้ก็เลยหันมาใช้กระบวนยุทธซุกไว้ตรงโน้น ซ่อนไว้ตรงนี้
บางทีก็มีเมียน้อยซะก่อนจนเหนื่อย แล้วค่อยมีเมียหลวงทีหลัง
มันแปลกดีนะ !
จุ๊ย์ ๆ อ๊ะ อ๊ะ ระวังตาวิเศษเห็นนะ
งานเขียนของคุณอาอำพล เจน … จากหนังสือแปลก ฉบับที่ 514
วันที่ 31 ธันวาคม 2528
——————————————————————————–