ฝนแห่งศรัทธา ภปร.ปู่แหวน
ฝนแห่งศรัทธา ภปร.ปู่แหวน
ฝนเดือน 9 เพิ่งตกใส่ท้องนาบ้านห้วยไผ่
มันเป็นยางลบก้อนแรกของปีนี้มาลบรอยแตกระแหงของผืนดิน
ก่อนข้าวคอยฝนก็เป็นดินท้องนาคอย
ชาวนาผู้มีนาผืนจ้อยเป็นกระดาษผูกดวงดีดวงร้าย โดยมีฝนเป็นผู้กำชะตาชีวิตนั่นแหละผู้คอยยิ่งกว่า
ผลึกเกลือที่จับขอบตาชาวนามองฟ้าหน้าแล้งตลอดเก้าเดือน เพิ่งถูกน้ำฟ้าชำระออกไป
ฝนที่อาบหน้ายังทำความชุ่มฉ่ำให้แก่ดวงตาอันกำลังหมดหวังให้มีหวัง
ควายผอมโซสะบัดเขากึงกัง ดีดแข้งขาร่าเริงรับฤดูที่มันจะอ้วนพีและไม่เกี่ยงงอน เมื่อถูกจูงออกไปท้องนา
ฝนมีมือกวักหยอย ๆ เรียกชาวนาออกไปสร้างอาชีพในท้องทุ่ง
หลวงพ่อเที่ยงศิษย์เก่าหลวงพ่อชา กล่าวว่า
“ต้องปฏิบัติให้ตรงอย่างชาวนา เขาไม่เคยพูดว่าออกไปตากฝน แต่พูดว่าออกไปทำนาตลอดสมัย…”
หอมดอกผักขะแยง ยามฟ้าแลง ค่ำลงมา
แอ่ดแอดเขียดจะนา ฮ้องยามฟ้าห่วนห่วน
เขียดโม เขียดขาคำ เหมือนหมอลำ พากันม่วน
เมฆดำลอยปั่นป่วน ฝนตกมาสู่อีสาน
ลำนำฝนกล่อมลำเนานี้บอกถนัดถนี่ที่สุดว่าฝนตกแล้วเป็นอันมีของกิน
ฝนสร้างอาหารให้ชาวนาผู้เขียมเงินที่เขาไม่เคยมีมาก มันสร้างและกระตุ้นผักเม็ก ผักกะเดา ผักกะโดน ผักอีฮีน ตลอดจนเห็ดโคนที่แสนแพงให้แตกยอดอ่อนและออกดอกสะพรั่งให้ชาวนาทั้งเก็บกิน เก็บขาย
โปรตีนจากกบและเขียดก็ออกมาร้องระงมกลางฝนเพื่อถูกจับ
ฤดูที่กบเล็กจำศีลยังจูงเอางูเห่าที่ปราดเปรื่องว่องไวออกมาล่าเหยื่อ มันเป็นตำราชีววิทยานอกห้องเรียนให้ลูกชายชาวนารู้จัก นอกเหนือจากรูปภาพของมันในหนังสือเรียน มันอวดตัวจริงอย่างน่ากลัวและอวดสัจธรรมแห่งการเกิดแก่เจ็บตาย เมื่อชาวนาหวดมันด้วยไม้
ธรรมชาติและเรื่องราวของฝนเหมือนล้อเกวียนที่หมุนกลับสู่รอยเดิมเสมอทุก ๆ ปี
พระสงฆ์จำกัดตนเองไว้ในสถานที่แห่งเดียวอธิษฐานไม่ออกจากที่ตลอดพรรษา
คือคำประกาศของฤดูฝน
หลวงพ่อ (ปู่,ครูบา) เกษม เขมโก จำพรรษาครั้งยาวนานในโลงแก้วด้วยสรีระไม่เน่าเปื่อยในสุสานไตรลักษณ์
ท่านไม่ออกไปไหนอีกตลอดกาล
แต่ท่านมีมนต์มัดใจผู้คนให้เข้ามาไหว้หนึ่งครั้งตลอดเวลา
คนเข้ามาร่ำให้คิดถึงท่านก็มี
มาเปล่งวาจาสาธุการต่อกาลมรณะของท่านก็มี
มาดูความจริงหรือเท็จของศพท่านไม่เน่าก็มี
มาสวดมหาลาโภ ภวันตุเม 15 จบโดยไม่อีนังขังขอบกับใคร ๆ ก็มี
ท่านคือฝนใหญ่ที่ให้แต่ประโยชน์ คนเลื่อมใสศรัทธา
แม้ตายไปแล้วยังมีคนมากมายมาเพื่ออ้อนวอนขอประโยชน์จากท่านทุกวัน
หลวงพ่อเกษมคือฤดูฝนที่หมดหรือผ่านไปแล้ว ยังคงแต่เพียงรอยฝนไว้มากมายเหลือคณา รอยฝนที่เป็นวัตถุมงคลของท่านยังมีอยู่ไม่น้อยในสุสานไตรลักษณ์ แม้รุ่น อย. ที่ว่าปู่ดู่เสกผ่านดาวเทียมก็มีเช่นกัน
รอยฝนและรอยเท้าของท่านยังเกลื่อนกล่นในความทรงจำของผู้ศรัทธาตลอดพื้นที่ของสุสานประตูม้า
ผมไปไหว้หนึ่งครั้งหน้าโลงแก้วเมื่อวันที่ 21 ส.ค.
ความจริงนี่ก็ครบ 1 ปี พอดีสำหรับการไปเชียงใหม่ ปีที่แล้วไม่ได้ไปสุสานไตรลักษณ์ เพราะว่าเหตุว่าหลวงพ่ออาพาธอยู่โรงพยาบาล พอครบปีก็ไปไหว้ศพท่านเสียแล้ว
มีผู้ถามอย่างฉงายใจ, ทำไมต้องไปเชียงใหม่เดือนสิงหา
ผมก็ว่าถึงเวลาของงานเช็งเม้งประจำปีต้องไปรำลึกถึงบรรพบุรุษสักหน่อย
เอลวิส เพรสลีย์
16 ส.ค. ทุกปี มีเทศกาลครบรอบวันตายเอลวิสอยู่โรงแรมแม่ปิง พวกเอลวิสเมืองไทยทั้งหลายไปชุมนุมกันอยู่ที่ที่นั่น กระทั่งคุณกวี ทองปรีชา คนไทยคนเดียวที่ชนะประกวดร้องเพลงเอลวิสที่ลอสแองเจลิสก็มา
เก่งขนาดที่ชนะฝรั่งเสียด้วย
ฝนปีนี้จึงมีเช็งเม้งเอลวิสเป็นเหตุผลในการไปเชียงใหม่
และลึกลงไปข้างหลังเหตุผลนี้จริง ๆ คือจะไปไหว้ศพหลวงพ่อเกษม
กิเลสในทางบันเทิงเพลงเอลวิสของโปรดกลับมาก่อนปลงธรรมสังเวช ทำให้แลเห็นตนเองเป็นปุถุชนชัดเจนขึ้น จะได้มีสติยั้งปากพล่อย ๆ ไปสอนธรรมปฏิบัติคนอื่นหน้าตาเฉย
เห็นจะต้องหาเวลาคิดทบทวนการเริ่มศีลข้อที่ 6 ถึงข้อที่ 8 ในวันหนึ่งข้างหน้า
พระนิพพานยังไกลแสนไกลชมัด
หมั่นในความอะไร ๆ ที่เราพิจารณาแล้วว่าต่อไปเรื่อย ๆ เถอะ
หากพระนิพพานอันไกลโพ้นนั้นเป็นที่หมายเราจะต้องเป็นเต่าล้านปีก็ช่างเถิด
A journery with a thousand mile must begin with a single step
เดินทางไปหนึ่งพันไมล์นั้น ต้องเริ่มที่ก้าวแรกก่อน
ปลุกใจให้ทำดีกันไว้อย่างนี้แหละ มีปัญญาทำดีก็ทำเข้าไว้เถิดนะ ให้แม้นชาวนาเมื่อถึงเวลาทำนาก็ทำ ไม่วิตกว่าแดดจะร้อนฝนจะเปียก
เชียงใหม่ฤดูฝนฟ้าหม่นด้วยเมฆ, ทั้งเมืองไม่ร้อน, ผู้คนแต่งสวยแต่งหล่อได้สบาย ไม่ต้องทุรนทุราย อย่างชาวกรุงอยากหล่ออยากสวยทั้งเสื้อในเสื้อนอกจนเหงื่อตกก็ยอม
ดอยสุเทพซ่อนยอดดอยไว้ในเมฆตลอดวัน แม้ไม่มีฝนพรำ ยังทำเอาตะวันหมดฤทธิ์ไปชั่วสัปดาห์หนึ่ง
เชียงใหม่ฤดูฝนนี้สวยอย่าบอกใคร
2 วันในเชียงใหม่ไม่มีฝน แต่ 2 วันหลังในเชียงรายฝนตกจนหนำใจ
อุตุนิยมวิทยาที่ชอบทำนายคลาดเคลื่อนก็มาแม่นยำที่นี่
ดอยตุงในวันที่แม่ฟ้าหลวงไม่ประทับอยู่ยังสวยงามไม่สร่าง
ดอกไม้สารพันชนิดสวยที่สุดกลางเมฆฝนอันละเอียด, ฝนที่เหมือนละอองน้ำ, สีสันหลากหลายที่หม่นอยู่ในละอองเมฆนั้นสวยจนลืมไปว่า เรายังยืนอยู่บนโลกหาได้เท่ห์บนสวรรค์ที่ไหน
ยิ่งเมื่อนึกถึงยอดสูงของดอยอันเป็นที่ประดิษฐานพระธาตุดอยตุง, มองไปเวิ้งว้างกว้างไกล ทั้งขุนเขาและขุมหมอก ท้องฟ้าตรงนั้น ทำให้คิดไปว่าถ้าคนเราตายไปคงจะมาขึ้นสวรรค์กันที่นี่
ปีหนึ่งมาอัศจรรย์กับธรรมชาติหน้าฝนก็ดูจะทำให้รู้สึกเป็นผู้เป็นคนขึ้นเยอะ
อาจารย์สามารถ ผู้ให้การต้อนรับเรา (คุณพิชย จารุทัศนางกูร, พี่หมอ, คุณปัญญา และผม) บนพระตำหนักดอยตุงเมตตาให้พระผงมวลสารจิตรลดารุ่นกาญจนาภิเษกพิมพ์พิเศษ พิมพ์กรรมการแก่พวกเราคนละองค์ ทั้งกำชับว่านี่เป็นพระสมเด็จจิตรลดารุ่นที่ 2
รุ่นแรกนั้นพระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างไง
รุ่น 2 ก็พระปลัดสมชายสร้าง
อะไรไม่สำคัญเท่ากับเรื่องของคนชอบพระเครื่อง ที่พวกเขาจะต้องขอดูพระในคอกันว่าใครแขวนพระอะไร
จำไม่ได้หรอกครับว่าอาจารย์สามารถท่านแขวนพระอะไรบ้างในพวงสร้อย 2 พวง แต่แอบจำแม่นอยู่องค์เดียวคือ เหรียญพระราชศรัทธา ภปร. หลวงปู่แหวน สุจิณโณ เลี่ยมทอง
องค์นั้นอาจารย์สามารถรับพระราชทานจากพระหัตถ์พระเจ้าอยู่หัว
ไม่กล้าอวดเหรียญรุ่นเดียวกันที่แอบแขวนในตัว ว่าเราก็แขวนเหรียญพระราชศรัทธา ภปร. ปู่แหวนเหมือนกัน กลัวว่าไม่เราหรืออาจารย์สามารถจะอายไปคนหนึ่ง
Never discuss money with people who have much more or much less than you.
อย่าคุยเรื่องเงินกับคนที่มีมากกว่าหรือน้อยกว่าคุณ
ผมไม่คุยเรื่องพระกับอาจารย์สามารถ แต่แอบชื่นชม เหรียญพระราชศรัทธา ภปร. หลวงปู่แหวน อยู่เงียบ ๆ ในใจคนเดียว
ดวงใจแห่งศรัทธาของผมมีหลวงปู่แหวนตลอดกาล
จะไปหนไหนถึงสุดหล้าฟ้าเขียวต้องมีหลวงปู่แหวนร่วมปกปักรักษาตลอดทางด้วยองค์หนึ่ง
ในบรรดาเหรียญหรือพระเครื่องหลวงปู่แหวนที่คนเขากลัวว่าจะเล่นยากเพราะของเสริม เห็นจะย้ำเข้าหัวใจอีกครั้งว่ารุ่นที่เล่นได้ก็มี
เหรียญพระราชศรัทธานี่ไง
แขวนพระของไพร่ฟ้าสร้างฤาจะสู้แขวนพระของพระเจ้าแผ่นดินสร้าง
รีบไปเอากันเถิดที่วัดสัมพันธวงศ์ เยาวราช กรุงเทพฯ
เหรียญละ 300 บาท
เหรียญพระราชศรัทธาที่นี่จะเป็นทุนบูรณะกำแพงกุฏิหลวงปู่แหวนบนดอยแม่ปั๋ง
จำได้ว่าเคยเขียนถึงไปครั้งหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว
หรือจะกลัวว่าเป็นของเสริมก็ไม่รู้จึงเหลือยู่จนทุกวันนี้
ทำใจกล้า ๆ กันหน่อย
ต่อเมื่อพระหมดไปแล้วถึงใจกล้าขึ้นมาก็ไม่มีประโยชน์
ไปเมืองเหนือคราวนี้ แม้ไม่ได้ขึ้นดอยแม่ปั๋ง ก็ยังคิดถึงมหาฝนแห่งศรัทธาในฤดูกาลอันนานโพ้นนั้นไม่ว่าง
ฤดูฝนเชียงใหม่มีมนต์มัดใจผมเสมอ
———————————————————————–
งานเขียนของคุณอาอำพล เจน … จากหนังสือแปลก ฉบับที่ 330
วันที่ 1 ตุลาคม 2539
————————————————————————