ใจเมืองของแก่น
ใจเมืองของแก่น
เมื่อเห็นป้ายโฆษณาขายหมู่บ้านจัดสรรว่า หมู่บ้านดีอยู่ริมใจเมือง ท่านคิดว่าใจเมืองนั้นเป็นอย่างไร
โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ใจเมืองนั้นอยู่ที่ไหน
ใจเมืองในที่นี้คงจะหมายถึงกลางเมืองซึ่งก็คือบริเวณ เจริญเติบโต สุดขีดของเมืองหนึ่ง ๆ จนถือเป็นหัวใจของเมืองได้
พื้นที่ต่อไปนี้พอจะเป็นใจเมืองได้ไหม
เยาวราช สีลม ปทุมวัน ประตูน้ำ สะพานควาย ลาดพร้าว หัวหมาก วงเวียนใหญ่ สามแยกไฟฉาย ฯลฯ
คำตอบก็คือ ทุกแห่งสามารถเป็นใจเมืองได้ เพราะว่าเป็นที่รวมความเจริญของทุกสิ่งไว้เป็นอันมาก
ดังนั้น ถ้าจะพูดว่ากรุงเทพฯมีหลายใจก็ย่อมได้
ในภาคอีสานก็มีใจเฉลี่ยกันไปจังหวัดละหนึ่งใจ ซึ่งบางจังหวัดจะมีหลายใจบ้างก็น่ารักดีเหมือนกัน
ทีนี้ถ้าจะถามหาใจของอีสานทั้งภาคได้ที่ไหนบ้าง
หาก ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยังมีชีวิตอยู่ ก็จะตอบว่า ใจของภาคอีสานนั้นคือขอนแก่น และท่านก็ได้พัฒนาจังหวัดขอนแก่นเป็นอันมาก
ผังเมืองขอนแก่น มีการวางไว้อย่างดีในสมัย ฯพณฯ นี่แหละ
ใครไปขอนแก่นในขณะนี้จะเห็นว่าเป็นเมืองที่เจริญอย่างมาก และมีผังเมืองที่สามารถจะรองรับความเติบโตของเมืองได้ทุกขณะ
เดี๋ยวนี้ที่ดินในเมืองขอนแก่นนั้น แพงกว่าใจเมืองกรุงเทพฯ บางแห่งแล้ว
ส่วนขอนแก่นจะมีหลายใจเหมือนกรุงเทพฯ หรือไม่ก็บอกไม่ได้หรอกครับ
แต่ก็บอกได้ว่าขอนแก่นเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอาณาเขตกว้างขวางมาก มีพลเมืองเป็นอันดับสามรองจากอุบลราชธานีและนครราชสีมา มีการคมนาคมติดต่อไปยังที่ต่าง ๆ ทั่วภาคอีสานได้สะดวก ทั้งทางรถยนต์ รถไฟ หรือเครื่องบิน
หลายปีก่อนเคยงง ๆ อยู่ที่เมืองเชียงใหม่ เพราะเห็นรถประจำทางขึ้นป้ายเชียงใหม่-ขอนแก่น ไม่รู้ว่าไปมาหาสู่กันได้อย่างไร
หลังจากทดลองเดินทางครั้งหนึ่งแล้วก็หายงง คือมีถนนเชื่อมโยงระหว่างขอนแก่นกับพิษณุโลก โดยผ่านเข้าไปในจังหวัดเพชรบูรณ์ และเป็นเส้นทางที่สะดวกสบายมาก เดี๋ยวนี้ยิ่งสบายใหญ่ เพราะมีรถปรับอากาศวิ่งกันขวักไขว่แล้ว
เมืองขอนแก่น เพิ่งมีประวัติชัดเจนในราว พ.ศ.๒๓๓๑ ตอนนั้น เพียเมืองแพน บ้านชีโหล่น แห่งเมืองทุ่ง (อำเภอสุวรรณภูมิ) ร้อยเอ็ดในขณะนั้น คงมีอาณาเขตครอบคลุมถึงอำเภออาจสามารถ เพราะว่าบ้านชีโหล่น ปัจจุบันนี้อยู่ในอำเภออาจสามารถ) กับสมัครพรรคพวกประมาณ ๓๓๐ คน พากันมาตั้งเมืองขึ้นที่บ้านบึงบอน (บ้านเมืองเก่าแก่ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่นในปัจจุบัน) เพีย ผู้นี้มีบรรดาศักดิ์เป็นพระนครบริรักษ์ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้า จุฬาโลกมหาราช และนามเพียดังกล่าวนี้ก็ได้ใช้เรียกชื่อเจ้าเมืองขอนแก่นต่อมาอีกหลายรุ่น
คำว่า เพีย นี้อาจมีผู้สงสัยว่าหมายถึงอะไร ความจริงเป็นชื่อเรียกตำแหน่งชนชั้นปกครองตำแหน่งหนึ่งในภาคอีสาน
แต่ขอผัดเอาไว้เล่าสู่กันฟังในคราวหน้าเถิดครับ
หลังจากตั้งเมืองกันแต่คราวโน้นแล้ว ก็กลายเป็นบ้านเป็นเมืองขอนแก่นสืบมาจนทุกวันนี้
จริง ๆ แล้วบริเวณที่ตั้งเมืองครั้งแรกคือ บ้านบึงบอนนั้น เดิมก็คงจะเคยเป็นบ้านเป็นเมืองมาแล้ว แต่ว่าร้างไป
ที่สันนิษฐานว่าเป็นบ้านเป็นเมืองมาเก่าแก่ ก็เพราะมีการค้นพบโบราณวัตถุมากมายในบริเวณนี้ อย่างเช่น พระพุทธรูปยืนสร้างจากศิลามีอายุนานก่อน จะมีการ ตั้งเมือง เยอะแยะ แล้วก็กู่ปรางค์พระเจดีย์อีกมากมายที่ล้วนมีอายุนานเนแล้วทั้งนั้น
มีพระเจดีย์องค์หนึ่งสำคัญมาก ตั้งอยู่ที่บ้านขาม ตำบลบ้านขาม อำเภอน้ำพอง พระเจดีย์นี้เป็นที่มาของชื่อเมืองว่า “ขอนแก่น”
มีเรื่องเล่าว่า มีมะขามใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง ซึ่งตายไปนานแล้ว จนเหลือแค่ตอ แต่ต่อมาตอมะขามนั้นกลับมียอดอ่อนแตก ออกมา แล้วกลับมีชีวิตงอกงามขึ้นอีก
ชาวบ้านชาวเมืองเกิดอัศจรรย์ใจเป็นการใหญ่
เลยร่วมมือร่วมใจสร้างพระเจดีย์ครอบตอมะขามนั้นเอาไว้ โดยบรรจุคำสอนของพระพุทธเจ้า ๙ บทไว้ข้างใน เรียกว่า พระเจ้า ๙ พระองค์
พระเจดีย์นี้มีชื่อว่า “พระธาตุขามแก่น”
ชาวเมืองเคารพนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์มาก และเชื่อว่าถ้าใครเข้าไปในบริเวณนั้น แล้วแสดงอาการไม่เคารพนอบน้อม จะมีอันเป็นไปในทันที
ด้วยเหตุที่ชาวเมืองเคารพนับถือกันมากอย่างนี้ ก็เลยถือเอาชื่อขามแก่นของพระเจดีย์ มาตั้งชื่อเมืองว่า “เมืองขามแก่น”
ทีนี้ก็มาถึงเรื่องความเพี้ยน ซึ่งเป็นวิธีสันนิษฐานง่าย ๆ และสะดวกเป็นที่สุด คือสันนิษฐานกันว่าต่อมา “ขามแก่น” ก็ค่อย ๆ เพี้ยนมาเป็น “ขอนแก่น”
แม้จะมีการย้ายเมืองไปหลายแห่งก็ยังเอาชื่อขามแก่นหรือขอนแก่นติดตามไปด้วยทุกครั้ง
สุดท้าย ย้ายเมืองมาอยู่ที่บ้านทุ่มแล้วกลายเป็นเมืองขอนแก่นที่มีหลักมีแหล่งแน่ชัดอย่างที่เห็น
พระธาตุขามแก่น ตำบลบ้านขาม อำเภอน้ำพอง ก็สามารถเป็นใจเมืองขอนแก่นได้
ถ้าถือเอาใจที่เป็นใจเช่นนี้ พระธาตุขามแก่น ย่อมเป็นใจเมืองที่สวยงาม และทรงคุณค่าต่อใจ (MIND) พลเมืองจริง ๆ
นอกนั้นไม่ว่าที่ไหน ๆ ก็เป็นริมใจเมืองทั้งสิ้น
และถ้าหากถามผมว่า มีใจของผมอยู่ขอนแก่นบ้างไหม จะมีผู้ตอบได้ไม่เกิน ๒ คน
เกินกว่านี้เป็นคนอยู่ริมใจทั้งนั้น
งานเขียนของคุณอาอำพล เจน … จากหนังสือแปลก ฉบับที่ 624
วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2531
————————————————————————