ไทยหมู่เฮา
ไทยหมู่เฮา
เคยมีคนบอกว่า เดี๋ยวนี้ปั๊มน้ำมันแทบทุกแห่งในกรุงเทพฯ คืออาณานิคมของคนอีสาน ไม่แต่เท่านั้นซาอุฯ ทั้งประเทศ คนอีสานแทบจะย่ำเม็ดทรายครบแล้วทุกเม็ด
คำบอกอย่างนี้มีเจตนาอย่างไรไม่ทราบ
แต่ที่แน่ชัดชาติพันธ์ของคนลุ่มน้ำโขงทั้งซ้ายและขวามาลงหลักปักฐาน ในภาคกลาง ของประเทศไทยหลายร้อยปีแล้ว ส่วนใหญ่มาโดยการถูกเกณฑ์ ซึ่งเป็นผลที่เกิดหลังสงครามในนครเวียงจันทน์หรือจำปาศักดิ์
ย่าทวดซึ่งผมไม่รู้จักหน้าตา แต่แม่บอกว่าเป็นสาวจำปาศักดิ์ อันทวดได้พาเข้ามา แต่ครั้งร่วมทัพไทยไปจำปาศักดิ์ ในรัชสมัย ร.๓ ญาติพี่น้องส่วนหนึ่งที่ผมไม่รู้จักว่ามีใครมั่ง ก็คงยังดำรงชีพอยู่ที่จำปา ศักดิ์จนปัจจุบัน
ที่ยกเรื่องนี้มาพูด เพราะเพื่อจะบอกว่า สายสัมพันธ์ไทย-ลาวนั้นลึกซึ้งเกินกว่าจะ สามารถบรรยายได้ ที่เปลี่ยนแปลงผิดเพี้ยนจากเดิมไปบ้าง ก็ด้วยลัทธิการปกครองประเทศเป็นตัวแปรสำคัญ นั่นก็เป็นสิ่งที่จะชี้ว่าดี-เลวอย่างไรไม่ได้ ความเหมาะสมในการเลือกระบบ หรือวิธีปกครองของแต่ละประเทศ ย่อมไม่เหมือนกัน
เพลงสองฝั่งโขง ซึ่งประชาชนทั้งสองฝั่งมักร้องเพื่อรำลึกถึงกันในวันนี้ ก็ยังกังวานอยู่ในหมู่ชาวบ้าน ที่จิตใจและอารมณ์ของพวกเขาไม่มีลัทธิการเมืองมาเปลี่ยนแปลง เพราะเหตุว่าชาวบ้านจริง ๆ มีชีวิตประจำวันอยู่กับการหาอยู่หากิน และสังคมก็คงกว้างขวางแค่ระดับหมู่บ้านและญาติพี่น้อง ครั้นเมื่อถวิลหาญาติพี่น้อง ซึ่งขณะนี้ส่วนหนึ่งมีแม่น้ำโขงมากั้นเอาไว้ ซึ่งแท้จริงแล้ว สมัยเก่าก่อนมันก็เป็นแค่ลำน้ำที่ไม่มีความหมายอะไร ในเชิงขวางกั้นได้เลย
“สายนทีรินหลั่งจากฟ้า, แบ่งพสุธาเป็นซ้ายและขวาสองฝั่ง, แม่น้ำกั้นขวางก็บ่สำคัญ แต่ความสัมพันธ์ของเฮามั่นคงเรื่อยไป ถึงไกลกันคนละฝั่งโขง, ต่างหมายปรองดองมุ่งหวังทั้งสองจนได้, ด้วยความใฝ่ฝันมั่นสุดหัวใจ, ฝากฝังทรวงในเหมือนใจเดียวกัน, อันสองฝั่งกั้นกลางด้วยสายนที, แต่ประเพณีนั้นบ่ต่างกัน, ชาติลาวและไทยก่อนนั้นเคยได้สัมพันธ์, ร่วมสายโลหิตเดียวกัน เพียงน้ำเท่า นั้นมาแบ่งทาง, ขอฟ้าดินช่วยเป็นสักขี, โปรดปรานีขออย่าได้มีวันห่าง, อย่าให้สัมพันธ์นั้นต้องจืดจาง, ฝากฝังชีวิตเหนือนทีสองฝั่งเอย”
คำร้องและทำนองเพลงนี้ คนสองฝั่งร่ำร้องกันเหมือนคนรักสองคนถูกอำนาจบาตรใหญ่มาแยกไม่ให้ พบกันอีก
ความจริงความรู้สึกนี้ คนภาคอื่นอาจเข้าใจได้ส่วนหนึ่ง แต่จะลึกซึ้งเลยนั้นคงต้องใช้เวลาอีกมาก
ชาวไทยพวน ไทยโซ่งดำ ในจังหวัดนครปฐมหรือลพบุรี เมื่อมีเวลารำลึกความหลัง ก็ยังนึกไกลไปถึงบ้านเกิดเมืองนอนของตน แม้พวกเขาจะรู้ว่า ในวันนี้ไม่มีทางจะกลับไปได้หรือแม้แต่จะถูกบังคับให้กลับ ก็ไม่ยอมหรอก นั่นเพราะแผ่นดินไทยก็แสนจะเป็นสุขเหลือ
ถ้าจะบอกว่าประเทศไทย คือ “Home” ลาวคือ “House” ก็ดูจะใกล้เคียงความจริง
คนอินเดียเคยพูดกับผมว่า เขาคือคนอินเดีย แต่จะให้กลับไปอินเดียนั้นเป็นไปไม่ได้ หรือแม้แต่ชาวจีนจะอพยพกลับประเทศจีนก็ไม่เอา
ประเทศไทยเป็นเสมือนต้นโพธิ์หรือไทรใหญ่ เป็นที่หลบภัย และอาศัยอยู่ได้อย่างเป็นสุขมาแต่โบราณกาล
คนจีนมองทะเลแล้วฝันถึงแผ่นดินไทยว่า แผ่นดินนั้นฉันอยากไป คนอินเดียเมื่อไปถึงประเทศไทยแล้ว แผ่นดินบ้านเกิดก็ดูไม่น่าอยู่
ภาพพจน์ของไทยดีหนักหนาและอยากบอกว่า คนลาวมองประ เทศไทยด้วยความชื่นชมและเห็นคนไทยดีงามจริง ๆ วัฒนธรรมและประเพณีก็ยังยินดีรับจากไทยไปปลูกฝังได้บางส่วน โดยไม่รังเกียจ
คนลาว Expect คนไทยเหมือนคนไทย Expect ฝรั่งตาน้ำข้าวนั่นแหละครับ
ชาวผู้ไทยในเมืองหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร มักเล่าสู่กันว่าในลุ่มน้ำโขงนี้มีชาวไทยเผ่าต่าง ๆ อาศัยอยู่มากมาย ล้วนเป็นไทยที่ในอดีตเคยอยู่ร่วมกัน ทำมาหากินร่วมกันในบริเวณหุบเขาทางภาคใต้ของประเทศจีน ต่อจากนั้นก็ย้ายออกมาจากมณฑลยูนาน ข้ามป่าและเขาหรือแม่น้ำอันกว้างใหญ่ไปในที่ต่าง ๆ กัน
กลุ่มชาวไทย-ลาว เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ และภาษาที่ใหญ่ที่สุดสองฟากฝั่งแม่น้ำโขงนี้ เป็นกลุ่มชนสองประเทศ ที่เปรียบประดุจบ้านพี่เมืองน้องอย่างแทบแยกไม่ออก เพราะใช้ภาษาเดียวกัน กินข้าวเหนียวเหมือนกัน มีศิลปะวัฒนธรรมเหมือนกันและนับถือพุทธเหมือนกัน
ความคิดและจิตใจของคนสองฝั่งโขงยังเหมือนกันอยู่เสมอ แม้ว่าลัทธิการเมืองและการปกครองจะต่างกันก็ตาม
ผมคิดว่าโครงการต่าง ๆ ที่มุ่งหวังให้อีสานดีขึ้นล้วนมีผลกระทบไปถึงคนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงไม่มากก็น้อย
วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์เป็นสื่อถ่ายทอดความดี ไปได้ทั่วภาคอีสาน และสามารถแทรกผ่านไปในอากาศที่กั้นเขตแดนไม่ได้ คนฝั่งโน้นก็รับรู้ข่าวสารทุกระยะเช่นกัน
ให้ความสำคัญแก่ชาวอีสานเอาใจใส่และสนใจใยดีไปเถิด
อย่าดูหมิ่นเหยียดหยามล้อเล่นว่าเป็นลาว
ถ้าทำได้ดังว่า แนวร่วมไทยหรืออาณาเขตไทยจะกว้างไกลไปอีกแบบ
งานเขียนของคุณอาอำพล เจน … จากหนังสือแปลก ฉบับที่ 645
วันที่ 5 ธันวาคม 2531
————————————————————————