08.เข้าแฟ้มเขมจาโร (ฤาษีรุ่น6)

อิสีขลังผู้ชาญพระเวทย์ แห่งลุ่มแม่น้ำโขง
สำนักสวนหินแก้ว ภูกระเจียว บ.ดงนา
อ.ศรีเมืองใหม่ จ.อุบลราชธานี

 

ผมรู้สึกว่าที่นั่นที่อันหลวงปู่พรหมา เขมจาโร พำนักอยู่ประจำคือที่แห่งไกลปืนเที่ยง ผมเคยซึมซับภูมิประเทศแถบริมโขงละแวกนั้นมาหลายปี จึงเข้าใจได้ถึงความกันดารและปลอดเปลี่ยวผู้คน สิ่งที่เคยเป็นเหล่านี้จะยังคงสภาพเดิมจนปัจจุบันหรือเปล่าก็เป็นเรื่องที่ ผมไม่อาจคาดหมายได้ ดังนั้นความกระฉับกระเฉงจะออกเดินทางไปหาหลวงปู่จึงถูกชะลอไว้ก่อน เพื่อคอยทีในโอกาสอันเหมาะสมต่อไป

 

 

มีผู้รายงานข่าวแก่ผมอีกว่า ลูกศิษย์หลวงปู่พรหมา ผู้รับการถ่ายทอดสรรพวิชาจากหลวงปู่คนหนึ่ง พำนักอยู่บ้านดูน ไกลออกไปจากตัวเมืองอุบลฯ เพียง 20 กว่ากิโล ก็ควรยิ่งที่จะได้ไปสัมผัสคนรอบข้างของหลวงปู่คนนี้ เพื่อคาดหมายอุปนิสัย และความเป็นหลวงปู่ให้ชัดเจนขึ้นบ้านก่อนจะได้พบตัวท่าน

 

(พ่อบรรณ บันทอน บ้านดูน จ.อุบลฯ)

อาจารย์สุบรรณ คือลูกศิษย์ท่านนี้ เป็นฆราวาสเปิดสำนักช่วยเหลือผู้คนที่เจ็บป่วยด้วยยาสมุนไพรที่ร่ำเรียนมา จากหลวงปู่อยู่ในหมู่บ้านดูนที่นี่เอง ได้เปิดทัศน์แห่งภาพหลวงปู่ให้แก่ผมด้วยภาพถ่ายของท่านซึ่งประดิษฐานอยู่บน หิ้งบูชาของอาจารย์สุบรรณเป็นครั้งแรก พิจารณาจากภาพถ่ายแล้วเห็นว่าหลวงปู่เป็นคนรูปร่างสูงใหญ่ ซึ่งในภายหลังจึงทราบว่าที่เห็นนั้นไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

ขณะนั้นมีหญิงชาวบ้านอายุประมาณ 50 กว่าปี ได้เห็นผมซึ่งเป็นคนแปลกหน้าแสดงความสนใจเรื่องของหลวงปู่ จึงเล่าเรื่องลูกชายของเธอให้ผมฟังว่า คราวหนึ่งมีงานวัดประจำหมู่บ้าน ลูกชายของเธอจะออกไปเที่ยว ปู่ของลูกชายเธอซึ่งอยู่ ๆ ก็ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนคือได้เรียกลูกชายของเธอเข้าไปหาแล้วถามว่าเจ้า จะไปเที่ยวงานวัด ไม่มีอะไรคุ้มตัว ปู่จะให้ตะกรุดคาดเอวของหลวงพ่อพรหมา แก่เจ้า ให้คาดเอวไปเที่ยวงานวัด ลูกชายของเธอก็รับตะกรุดมาคาดเอวของเขาแล้วออกจากบ้านไป

จะเป็นความบังเอิญหรือเป็นอะไรก็สุดแต่จะเรียกไป คืนนั้นก็เกิดเรื่องวิวาทกันในกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งเป็นผลให้ลูกชายเธอถูกรุมทำร้ายจนล้มลง และหนึ่งในกลุ่มคนที่รุมสกรัมลูกชายเธอได้ล้วงปืนออกมายิงใส่ลูกชายของเธอ สามนัด แล้ววิ่งหนีไป ทิ้งร่างลูกชายของเธอไว้ที่นั่นพร้อมกับปาฏิหาริย์

กระสุนสามนัดไม่ทำอันตรายลูกชายของเธอจนถึงชีวิตไปได้

สองนัดที่ยิงใส่แสกหน้านั้นถากหนังศีรษะเป็นรอยแฉลบอย่างชัดเจน อีกหนึ่งนัดทะลุเสื้อตรงหัวไหล่ แต่กระสุนแฉลบถากอ้อมหัวไหล่ออกไป

ผมฟังเธอเล่าไว้อย่างน่าทึ่ง และบอกกับตนเองว่า ผมกำลังได้ยินเรื่องขลังของพระภิกษุทางขลังอีกรูปหนึ่งแล้ว

เกือบเดือน หลังจากนั้น คุณสุรพล ปทุมวงศ์ แห่งธนาคารกรุงเทพ จก. สาขาวารินชำราบ ได้บึ่งมาหาผมที่บ้าน และบอกข่าวพระรูปหนึ่งได้เดินทางเข้าเมืองวารินฯ โดยเข้าพักที่อู่ซ่อมรถสมจิต บนถนนกันทรลักษณ์ ซึ่งอยู่ใกล้บ้านผมแค่ปลายจมูก ท่านชื่อว่าพรหมา จะเป็นพรหมาองค์เดียวกับที่ผมกำลังต้องการพบหรือเปล่าคุณสุรพลไม่ทราบ แต่ผมต้องไปดู

ผมไม่รู้จักใครในอู่สมจิตแต่พี่จิตและภรรยาผู้เป็นเจ้าของอู่ก็ได้อำนวยความ สะดวกในการเข้าพบหลวงปู่อย่างดียิ่ง และที่ดีที่สุดคือ หลวงปู่พรหมาองค์นี้คือหลวงปู่พรหมา องค์เดียวกันกับที่ผมกำลังต้องการพบ

ท่านเป็นพระแก่ ๆ ตัวไม่โตเหมือนกับที่เห็นในภาพถ่ายมาก่อน ซึ่งภาพถ่ายของท่านนั้นดูเหมือนว่าจะเป็นคนรูปร่างสูงใหญ่ ตัวจริงกลับเป็นตรงกันข้าม คะเนอายุของท่านในทีแรกที่ได้เห็นคงอยู่ในราว 70 – 75 ปี แต่เมื่อถามท่านจึงทราบความจริงว่าท่านมีอายุได้ 89 ปีแล้ว

ผมยังไม่ได้เกิดความสนใจในตัวท่านสักเท่าไหร่ สิ่งที่ผมสนใจนั้นคือเรื่องของสำเร็จลุน ผู้เป็นอาจารย์ของท่านมากกว่า และได้เลียบเคียงสอบถามเกี่ยวกับสำเร็จลุนแต่ก็ไม่ได้ความละเอียดเท่าที่ควร ท่านอยู่ในลักษณะไม่ค่อยอยากพูดถึง เหมือนคนอื่น ๆ ที่ไม่ชอบพูดถึงสำเร็จลุน

ท่านเล่าสั้น ๆ ว่า ท่านได้บวชเรียนเป็นสามเณรกับสำเร็จลุน ขณะมีอายุได้ 12 ปี ได้อยู่ปรนนิบัติรับใช้สำเร็จลุนที่วัดเวินชัย ในจำปาศักดิ์ นาน 6 ปี สำเร็จลุนก็มรณภาพ ตัวท่านเองเป็นคนไทย ไม่ใช่ลาว เกิดที่บ้านกุสกร อำเภอตระการพืชผล แต่ว่าข้ามไปอยู่เมืองลาวตั้งแต่ยังเด็ก จนกระทั่งแก่ จึงได้ข้ามกลับมาฝั่งไทยในราวปี 2517-2518 หลังลาวแตก ท่านจึงแทบจะเป็นพระลาวไปแล้ว เพราะดูดซับเอากิริยาอาการและการดำเนินชีวิตของพระในแบบลาวมาไว้จนเต็มชีวิต ท่านจึงพูดไม่เหมือนพระไทยที่เราคุ้น ๆ ตา อาจกล่าวได้ว่าเป้นพระแปลก ๆ ที่ไม่เคยได้สัมผัสมาก่อนในชีวิตก็ได้

บางทีท่านที่คุ้นเคยกับพระในแบบหลวงปู่แหวน หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่ขาว หรือหลวงพ่อชา เมื่อพบหลวงปู่พรหมา เขมจาโร อาจจะงง ๆ ไป

เป็นพระทางอิทธิฤทธิ์เต็มภูมิว่างั้นเถิด

แม้พบกันครั้งแรก ยังใหม่ต่อกัน หลวงปู่ก็มีเมตตาให้แก่ผมตามสมควร ท่านเอ่ยปากชวนผมไปเที่ยวสำนักของท่าน ซึ่งผมรับว่าจะไปในโอกาสหน้าด้วยเหตุผลที่ว่ายังมีเรื่องสำเร็จลุน ที่ผมต้องการอยู่กับท่านอีกมากมาย

หลังจากพบกันครั้งนั้นแล้ว ผมรู้สึกคิดถึงท่านอย่างบอกไม่ถูก หาสาเหตุไม่พบว่าทำไมจึงเป็นอย่างนั้น มันคล้ายกับว่าผมเป็นเด็กน้อยคนหนึ่งที่ทั้งชีวิตไม่เคยรู้ว่าตนเองมีญาติ ผู้ใหญ่กับเขาด้วยคนหนึ่ง เมื่อพบหลวงปู่แล้วก็ผูกพัน ถวิลหาท่านอยู่ไม่จางอย่างนั้น

แต่ความสนิทสนมระหว่างผมกับหลวงปู่นั้นยังไม่เกิดขึ้น แม้ท่านจะเมตตาและกรุณาชวนผมไปเที่ยวสำนักของท่าน แต่ท่านหาได้มีความไว้วางใจผมไม่ เนื่องจากว่า ท่านเกรงผมจะเอาเรื่องของท่านหรือสิ่งที่ท่านพูดไปลงหนังสือ

ในการเดินทางขึ้นไปกราบท่านครั้งแรก ๆ ผมไปชวนหลวงปู่สังข์ ฐิตธัมโม วัดผาณิตาราม บ.คำนกเปล้า ซึ่งเป็นศิษย์พระครูวิโรจน์รัตโนบล (รอด) และรับท่านขึ้นไปด้วยกัน ผมคาดหวังจะได้อาศัยหลวงปู่สังข์ ซึ่งเป็นพระด้วยกันกับหลวงปู่พรหมา ได้พูดคุยซักถามกันเอง โดยผมจะได้เป็นผู้รับฟังข้อสนทนานั้น

เมื่อทั้งสองท่านได้พบกันแล้ว ต่างก็สนทนาถึงเรื่องเก่า ๆ เช่นเรื่องของพระวิโรจน์รัตโนบล ซึ่งเป็นศิษย์สำเร็จลุนรุ่นเดียวกับหลวงปู่ คือเข้าเป็นศิษย์สำเร็จลุนพร้อมกันและยังเป็นอาจารย์ของหลวงปู่สังข์ด้วย ผมเสียบเทปอัดเสียงที่เตรียมไว้เข้าไปเพื่อหมายจะอัดเสียงสนทนาของทั้งสอง ท่าน ผมเห็นหลวงปู่พรหมามีอาการเคร่งขรึม ตาดุ ท่านจ้องที่เทปอัดเสียงของผมเขม็ง

ขณะนั้นเทปอัดเสียงของผมก็เกิดปัญหาขัดข้องไม่สามารถจะทำงานได้ เครื่องที่เพิ่งเปิดก็ดีดกลับ พยายามกดปุ่มอัดเสียงอีกครั้ง มอเตอร์ก็ไม่ทำงาน และได้ตรวจดูเครื่องอัดเสียงเท่าที่จะมีปัญญาตรวจก็ไม่อาจแก้ปัญหาได้

เป็นอันว่าเทปอัดเสียงของผมเสียไปแล้ว

ทุกวันนี้เทปอัดเสียงเครื่องนั้นยังซ่อมไม่เสร็จจากวันนั้นจนวันนี้ก็กาลล่วงนานเกือบ 4 ปีเต็ม

ไม่ทราบว่าเพราะอะไรจึงเสีย เครื่องเล่นเทปก็ยังใหม่ใช้ไม่กี่ครั้ง และเป็นเครื่องที่ซื้อในเมืองนอกอีกด้วย

สิ่งที่เกิดขึ้นแก่ผมคงมีแต่เพียงความเสียดายในข้อมูลต่างๆ ที่ทั้งสองท่านได้สนทนากัน หนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ของข้อมูล ซึ่งเทปอัดเสียงควรจะเป็นผู้จำได้ กลับเหลือเพียงสัก 50 เปอร์เซ็นต์ ที่สมองของผมจำได้

แต่อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากได้คลุกคลีอยู่กับหลวงปู่ติดต่อมาเป็นเวลานานเข้าเรื่องที่ผมอยาก รู้อยากได้ยิน คือเรื่องของสำเร็จลุนนั้น ผมก็ลืมไปจนสิ้น จะเรียกว่าลืมก็ยังไม่ถูกต้องนัก เรียกว่าหมดความสนใจ หมดความตั้งใจที่หาข้อมูลของสำเร็จลุนอย่างจริงจังไปโดยไม่รู้ตัว

หมดความตั้งใจที่หาข้อมูลของสำเร็จลุนอย่างจริงจังไปโดยไม่รู้ตัว

ต่อไปนี้จะได้เขียนและส่งข่าวถึงผู้อ่านด้วยเรื่องของรูปเหมือนเนื้อผงชนิด ลอยองค์รุ่น 1 ของหลวงปู่พรหมา เขมจาโร พระปิดตามหาอุ และพระฤาษีเนื้อผงลอยองค์รุ่น 6

คงต้องบอกว่าทั้งหมดนี้เนื่องมาจากจดมายและโทรศัพท์จากผู้อ่านจำนวนมากที่มีไปถึงผมด้วยเนื้อใหญ่ใจความเดียวกันว่า

“กว่าจะรู้ว่าหลวงปู่มีพระอะไรออกมาจากหน้าหนังสือ พระก็หมดแล้วทุกที ต้องดิ้นรนขวนขวายหามาในราคาแพง ๆ”

ทำให้ผมต้องกักกันพระทั้งหมดไว้เต็มเหนี่ยว เพื่อส่งมอบให้ถึงมือผู้อ่านเท่าที่จะทำได้เพียงจำนวนหนึ่ง

บอกได้ว่าพระมีไม่มาก

หลังจากประกาศแล้วจะมีผู้สมหวังและผิดหวังอีก

พูดถึงรูปเหมือนเนื้อผงลอยองค์รุ่น 1 ก่อน

ความจริงรูปเหมือนหลวงปู่ประเภทเนื้อผงลอยองค์นั้นได้มีการสร้างขึ้นมา ตั้งแต่สมัยท่านอายุได้ 89 ปี ครั้งหนึ่ง กับสมัยท่านอายุได้ 90 ปีอีกครั้งหนึ่ง แต่ทั้งสองรุ่นที่ได้สร้างมานั้นไม่อาจจะถือเป็นทางการ และไม่สะดวกจะหามาเป็นสมบัติประจำหิ้งพระกัน

เหตุผลมีอยู่ว่า พระรุ่นแรกที่เป็นรูปเหมือนเนื้อผงลอยองค์ ซึ่งทำขึ้นในสมัยหลวงปู่อายุได้ 89 ปีนั้นถูกสร้างขึ้นเพียง 13 องค์ พระไปอยู่กับใครเป็นอันรู้จักหมด ไม่มีทางเล็ดรอดเข้าสู่วงการนักนิยมพระเครื่องได้ จึงแทบจะกลายเป็นพระเครื่องในฝันของผู้เคารพเลื่อมใสในองค์หลวงปู่รุ่นหลัง ๆ ไป

 

รูปเหมือนรุ่นแรกเนื้อผง  (หน้า หลัง)
 
 

รูปเหมือนลอยองค์รุ่น 2 ได้เค้าโครงมาจากฤาษีรุ่นแรก

รูปเหมือนเนื้อผงลอยองค์ รุ่น 2 ที่สร้างสมัยท่านอายุได้ 90 ปี ก็เป็นพระที่มีทั้งเสกและไม่เสก ในวงการเรียกว่าเล่นยาก หรือเล่นไม่ได้ นอกจากจะได้รับจากมือของท่านหรือผู้ที่เชื่อถือได้เท่านั้น

ทั้งสองรุ่นนี้ถือเป็นโมฆะเสียก็ได้

คืออย่าไปนับเป็นพระรุ่น 1 หรือรุ่น 2 เลย และเรื่องของพระทั้งสองรุ่นนี้ต่อไปก็จะได้แสดงรายละเอียดและประวัติการ สร้างอย่างชัดเจนให้ทราบ

รูปเหมือนลอยองค์เนื้อผงที่กำลังจะแจ้งข่าวแก่ผู้อ่านนี้จึงตกลงปลงใจกับ หลายฝ่าย เพื่อยกให้เป็นรูปเหมือนเนื้อผงรุ่น 1 ของหลวงปู่โดยให้รุ่นที่สร้างแค่ 13 องค์ เป็นรุ่นแรกไปก็แล้วกัน และให้รุ่นที่กำลังกล่าวถึงนี้เป็น รุ่น 1

เหมือนเหรียญหลวงปู่แหวน ที่มีรุ่นแรกแล้วก็รุ่น 1 ชวนให้งง ๆ เช่นกัน

รูปเหมือนเนื้อผงลอยองค์รุ่น 1 นี้เป็นพระที่มีรูปร่างสวยงามค่อนข้างใหญ่ ถูกสร้างเพื่อหวังจะให้เป็นรุ่นสุดท้ายของพรรษา ปี 35 แต่สร้างไม่ทัน พระเพิ่งเสร็จเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2537 ที่ผ่านมานี้เอง

ในการสร้างนั้นผู้กดพิมพ์ได้กดพระไว้หลายแบบ เช่นก้นอุดผง และไม่อุดผง (แต่ว่าผงที่ใช้อุดนั้นได้คลุกคลีอยู่ในเนื้อเดียวกัน) ก้นฝังเพชรเก๊ของหลวงปู่ก็มี และก็มีฝังแปลก ๆ อีกหลายอย่าง บางอย่างหมดไปแล้ว บางอย่างมีเหลือ ซึ่งขณะที่เขียนต้นฉบับนี้ไม่ทราบว่ามีอะไรเหลืออยู่บ้าง และออกจำหน่ายในราคาองค์ละ 500 บาท (ชนิดอุดผง และไม่อุดผงแต่ก็มีพลอยฝังอยู่ด้วย)

ผู้อ่านที่สนใจบูชากรุณาอย่าระบุจะเอาชนิดอะไรเลยครับ เพราะว่าพระมีจำนวนน้อย แต่ถ้าจะระบุว่าจะเอาแบบไหน ก็ต้องเผื่อไว้ด้วย ว่าถ้าชนิดที่ต้องการหมดแล้ว จะเอาชนิดไหนแทน หรือระบุว่าจะขอรับคืนเงินให้ชัดเจนไปด้วย

ทีนี้ก็พระปิดตา “มหาอุ” รุ่นแรก ชนิดเนื้อผงลอยองค์ เป็นพระปิดตาที่มีอุณาโลมตลอดทั้งองค์พระนับได้ 9 อุ พอดี คือด้านหลัง 4 อุ, ที่หัวไหล่ข้างละ 1 อุ, ที่หัวเข่าอีกข้างละ 1 อุ และที่ท้องอีก 1 อุ รวมเป็น 9 อุ เนื้อเป็นอันเดียวกันกับรูปเหมือนรุ่นแรก เพราะว่าสร้างพร้อมกัน

พระปิดตาได้อุดผงที่ก้นเหมือนกันหมดทุกองค์ออกจำหน่ายในราคาองค์ละ 200 บาท1-72-horz


ส่วนพระฤาษีรุ่น 6 นั้น เป็นฤาษีใหญ่รุ่น 3 ก็ได้ ถ้าจัดในกลุ่มฤาษีใหญ่ด้วยกัน แต่ถ้านับเข้ารุ่นฤาษีเนื้อผงเท่าที่มีการสร้างมาก็ถือเป็นรุ่น 6 ออกจำหน่ายในราคาองค์ละ 500 บาท เท่ากับรูปเหมือนรุ่นแรก และมีการอุดผงที่ก้นเหมือนกัน

รุ่น6

พูดถึงผงที่อุดก้น ก็มีเรื่องน่าจะเล่าให้ฟังนิดหน่อยว่า เป็นผงอะไร มาจากไหน อย่างไร
นานแล้ว มีพระธุดงค์รูปหนึ่ง ไปปักกลดพำนักในเขตนาของท่านผู้หนึ่งซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับเขาพระวิหาร พระธุดงค์ได้บอกเจ้าของนาว่าตรงคันนาขาดนั้น (ชี้มือให้เจ้าของนาดู) มีของดีฝังอยู่ในไห 2 ใบ ให้ไปขุดเอาซะ

เจ้าของนาลงมือขุดจนพบไหหนึ่งใบฝังอยู่จริง ๆ และได้พยายามขุดต่อไปเพื่อหาใบที่สองแต่ไม่พบ จึงท้อใจเลิกขุด และตัดสินใจเปิดไหที่พบแล้วหนึ่งใบ

พอเปิดไหใบนั้นก็พบว่ามีไหใบเล็กซ้อนอยู่ข้างในอีกใบหนึ่ง

เปิดไหใบที่ซ้อนอยู่ข้างในก็พบขี้เหล็กไหลอยู่เต็มไปหมด เพื่อนตำรวจของเจ้าของนาได้หยิบเอาขี้เหล็กไหลออกมาก้อนหนึ่ง วางที่คันนาแล้วชักปืน

ไม่ออกครับ

เพื่อนตำรวจก็ไปหาเพื่อนทหารมาอีกกลุ่มหนึ่งมาขอเอาขี้เหล็กไหลนั้น เพื่อนก็หวงจัด แบ่งให้เท่าที่จะแบ่งให้ได้จนทั่วถึง ส่วนทีเหลือก็เก็บเอาไว้ไม่ยอมให้ใครอีก

จนหลายปีความหวงคงคลี่คลายลง และได้มอบขี้เหล็กไหลทั้งหมดให้กับคุณฮง ช่างแกะสลักงาช้าง ฝีมือเยี่ยมในกันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ เพราะเห็นว่าคุณฮงชอบแกะงาและถวายผงงาให้แก่วัดเอาไปสร้างพระบ่อย ๆ เผื่อว่าคุณฮงจะได้มอบขี้เหล็กไหลให้วัดใดวัดหนึ่งนำไปสร้างพระ และคุณฮงก็ได้มอบขี้เหล็กไหลนั้นให้ผมเพื่อนำมาสร้างพระของหลวงปู่พรหมา จนกระทั่งผงทั้งหมดก็ได้มีอันถูกนำมาสร้างพระจริง ๆ คือสร้างรูปเหมือนเนื้อผงลอยองค์รุ่น 1, พระปิดตามหาอุรุ่นแรก และพระฤาษีรุ่น 6

ผงนี้จะขลังจริงหรือไม่จริงผมไม่ทราบ แต่ความเป็นมาของผงน่าเชื่อถือและน่าสนใจจริง ๆ

 

———————————————————————————
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารศักดิ์สิทธิ์ฉบับที่  269 วันที่ 16 มีนาคม 2537
——————————————————————————–
แชร์ :

ความคิดเห็น

** โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างมีวิจารณญาน