อิสีขลังผู้ชาญพระเวทย์ แห่งลุ่มแม่น้ำโขง สำนักสวนหินแก้ว ภูกระเจียว บ.ดงนา อ.ศรีเมืองใหม่ จ.อุบลราชธานี

ผู้รู้จักชอบพอกันมักถามผมว่ารู้จักหลวงปู่พรหมาได้อย่างไร

เหตุที่นำไปสู่การได้พบหลวงปู่นั้นเห็นจะบอกได้ว่าเพราะพระครูเทพโลกอุดร

ท่านที่เชื่อถือ และเคารพในองค์พระครูเทพโลกอุดร มักกล่าวถึงพระครูเทพโลกอุดรในภาคต่างๆกัน คล้ายๆพระนารายณ์อวตารมาเกิดเป็นพระรามเป็นต้น ภาคหนึ่งที่เชื่อกันว่า พระครูเทพโลกอุดรคือสำเร็จลุน เป็นภาคที่ผมไม่เกิดความเชื่อถือ ด้วยเหตุว่าสำเร็จลุนแห่งจำปาศักดิ์นั้นมีตัวตนจริงๆ มีที่เกิดที่มรณภาพแน่ชัด และเป็นคนที่มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาที่เพิ่งผ่านพ้นไปไม่นาน ผู้เป็นลูกศิษย์สำเร็จลุนหรือผู้ที่เคยพบสำเร็จลุนบางท่านก็ยังมีชีวิตอยู่

พูดง่ายๆ ว่าสำเร็จลุนก็คือสำเร็จลุน พระครูเทพโลกอุดรก็คือ พระครูเทพโลกอุดร ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกัน

ความ เชื่อถือของผมออกจะขัดแย้งกับความเชื่อถือของฝ่ายพระครูเทพโลกอุดรเอา การ เมื่อจะให้ความเชื่อถือของผมมีหลักเกณฑ์มีเหตุผลขึ้นมา จำเป็นต้องนำเรื่องของสำเร็จลุนออกมาเปิดเผยแก่ทุกฝ่าย เพื่อแสดงความชัดเจนแห่งตัวตนท่านจนปรากฏ

กุญแจดอกสำคัญที่จะเปิดขุมความรู้ของสำเร็จลุน คือบรรดาลูกศิษย์ของท่านทั้งหลายที่ยังคงมีชีวิตอยู่และพำนักในสถานที่ต่างๆ กัน

แต่การออกสืบค้นประวัติของสำเร็จลุน ก็ช่างได้รับความลำบากยากเข็ญ และเป็นการเริ่มต้นที่เรียกว่าสายไปหน่อย เหมือนกับผมเป็นคนบ้านนอกเข้ากรุงตามหาญาติพี่น้องที่ผมไม่รู้จักถนนหนทาง ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน ถามคนข้างทางแล้วหาเรื่อยไป พอไปพบสถานที่ซึ่งเป็นที่อยู่ของญาติ ก็ปรากฏว่าย้ายที่อยู่ไปแล้ว หรือไม่ก็ตายไปเป็นส่วนใหญ่

ไปหาหลวงปู่เครื่อง วัดเทพสิงหาร นายูง อุดรธานี ฝ่าทางเปลี่ยวกลางหุบเขาและป่าใหญ่เข้าไปด้วยความหวังจะได้รับความสว่างจาก หลวงปู่เครื่อง เพราะทราบว่าท่านเป็นศิษย์สำเร็จลุนอย่างแท้จริง

เมื่อไปถึงจึงได้ทราบว่าทางวัดเพิ่งจะพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่เครื่องก่อนหน้าที่ผมจะไปถึงวัดเทพสิงหารแค่ 3 วัน

แต่นับว่าไม่เสียเปล่าเพราะหลวงปู่คำ ผู้เป็นหลานหลวงปู่เครื่องยังมีเมตตามอบอัฐิธาตุของหลวงปู่เครื่องให้ผมชิ้นโต อัฐิธาตุนั้นเวลานี้ประดิษฐานอยู่ในฐานพระพุทธรูปบูชาบนหิ้งของผมตลอดมา

ผู้ร่วมรู้รสความยากลำบาก ความมีหวังก่อนออกเดินทาง ความผิดหวังเมื่อไปถึง ความเหน็ดเหนื่อยที่เกิดได้ทั้งความมุ่งมั่นเข้มแข็งและท้อถอยในบางโอกาส ซึ่งผมจะต้องกล่าวนามท่านไว้เป็นเกียรติ คือ คุณปัญญา โกวิทธวงศ์ เจ้าของ หจก. เอเวอร์กรีน ฟาร์มา และคุณเวทย์ โทประสิทธิ์ (ปัจจุบันบวชเป็นภิกษุไปแล้ว โดยบวชกับหลวงปู่คำพันธ์ วัดธาตุมหาชัย นครพนม) ทั้งสองท่านคือเพื่อนร่วมคิดร่วมค้นที่ทำให้การลงมือครั้งนั้นไม่เงียบเหงา เดียวดาย ตลอดเวลาหลายเดือนที่หมดไปกับการออกเดินทางค้นหาศิษย์สำเร็จลุน ซึ่งในที่นี้จะข้ามไปไม่กล่าวถึงเพราะเห็นว่าเยิ่นเย้อเสียเวลาเกินไป

ในระหว่างที่เกิดความท้อถอย ผมได้อ่านประวัติหลวงปู่โทน วัดบูรพา บ.สะพือ อุบลฯ ซึ่งท่านก็มรณภาพไปแล้วเช่นกัน และได้พบเรื่องราวของสำเร็จลุน ซึ่งหลวงปู่โทนได้เล่าถึงระหว่างสมัยที่ท่านได้พบและอยู่อบรมกับสำเร็จลุ นมากพอควร ก็ยิ่งทำให้ความเสียดายงอกงามขึ้นในจิตใจ ตัดพ้อต่อตนเองว่าทำไมจึงมาคิดลงมือทำในขณะที่ทุกท่านที่เป็นศิษย์สำเร็จลุ นมรณภาพกันไปหลัด ๆ ทั้งนั้น

ทันใดชื่อพ่อแสง บ้านท่าบ่อก็ปรากฏขึ้นมา

ผมจำไม่ได้ว่าใครเป็นผู้บอกข่าวพ่อแสงแก่ผม ถ้านึกออกผมจะขอบันทึกชื่อของเขาไว้ด้วยความขอบคุณ

พ่อแสง เป็นชาวบ้านท่าบ่อ ใกล้ๆหาดคูเดื่อ บ้านอยู่ริมถนนสายรอบเมืองอุบลฯ ปัจจุบันมีอายุ 80 กว่าปี ท่านผู้นี้เคยเป็นศิษย์ศึกษาวิทยาการและคาถาอาคมกับท่านพระครูวิโรจน์รัตโนบล (รอด นนฺตโร) วัดทุ่งศรีเมือง ขณะยังรุ่นหนุ่ม พ่อแสงได้เล่าว่า ตัวท่านเองได้ศึกษาอยู่กับพระครูวิโรจน์ฯ นานปี จนท่านพระครูฯ รู้สึกตัวว่าได้สอนให้จนหมดไส้หมดพุงแล้ว จึงได้ออกปากแก่พ่อแสงว่า

“ถ้าเจ้าอยากได้ดีได้เด่นกว่านี้ให้ไปหาเณรแก้วหรือเณรคำ”

เณรแก้วกับเณรคำ เป็นศิษย์สำเร็จลุนเช่นเดียวกับท่านพระครูวิโรจน์ฯ โดยเข้าฝากตัวเป็นศิษย์ในเวลาใกล้เคียง จนสามารถกล่าวได้ว่าพร้อมกันต่างแต่เพียงว่าท่านพระครูวิโรจน์ฯ เป็นพระ เณรแก้วกับเณรคำยังเป็นสามเณร ท่านพระครูได้กล่าวยกย่องเณรแก้วกับเณรคำว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญแตกฉานกระบวน วิชาทั้งหลายที่สำเร็จลุนอบรมสั่งสอนให้ได้มากกว่าตัวท่านเอง เมื่อท่านได้สอนพ่อแสงจนหมดเช่นนี้แล้ว พ่อแสงยังอยากศึกษาต่อก็ควรออกไปหาตัวเณรแก้วหรือเณรคำเพื่อศึกษาในขั้นต่อไป พร้อมกันนั้นก็ได้อธิบายลักษณะของเณรแก้วกับเณรคำให้พ่อแสงฟังว่าเป็นคนเช่นไร และควรเริ่มต้นติดตามหาตัวเณรแก้วกับเณรคำได้ที่ไหน

คงต้องหยุด คุยข้างทางเกี่ยวกับพระครูวิโรจน์รัตโนบลสักครู่หนึ่ง คือขณะที่เรากำลังเดินทางไปที่ไหนสักแห่ง บังเอิญเห็นคนรู้จักกันยืนอยู่ข้างทางก็หยุดคุยทักทายเล็กน้อยแล้วค่อยเดิน ทางต่อไป ว่างั้นเถิด

ท่านพระครูวิโรจน์รัตโนบล เท่าที่ผมได้สนทนาศึกษาเกี่ยวกับท่านโดยคุยกับหลวงปู่สังข์ ฐิตธมฺโม วัดผาณิตาราม ซึ่งเป็นศิษย์ใกล้ชิดของพระครูวิโรจน์ฯ ท่านหนึ่ง ทราบว่าท่านพระครูฯ มีครูบาอาจารย์หลายคน แนวทางวิชาที่ท่านได้สอนศิษย์ก็มีที่มาแตกต่างกัน ใช่จะมาจากสำเร็จลุนแต่เพียงผู้เดียวไม่ ข้อนี้เห็นจะเป็นเพราะท่านเป็นผู้สนใจศึกษาวิทยาคมอยู่ตลอดเวลา เป็นผู้ใฝ่รู้ในสิ่งต่าง ๆ วิชาทางช่างศิลป์ท่านก็ได้มา จนมีความรู้ความสามารถถึงกับได้ไปบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุพนม และได้ฝากฝีมือทางช่างไว้ที่วัดต่าง ๆ ในภาคอีสานหลายวัด

กิตติคุณทางขลังของท่านก็ยังคงร่ำลือกันอยู่จนทุกวันนี้ เหรียญรุ่นแรกรุ่นเดียวของท่านเดี๋ยวนี้หายากและมีราคาแพง ถ้าสวยๆ หลายหมื่น ไม่สวยเพราะว่าสึกมากก็ยังขายได้หลายพันบาท กล่าวได้ว่าเป็นเหรียญนิยมทั้งส่วนกลาง และเป็นยอดนิยมอันดับหนึ่งในจังหวัดอุบลฯ

ในช่วงปลายชีวิตของพระครู วิโรจน์รัตโนบล ได้ถูกสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน) ถอดออกจากการเป็นเจ้าคณะจังหวัด คือ ถอดออกจากการปฏิบัติหน้าที่และการมีอำนาจบริหารในฐานะเป็นเจ้าคณะจังหวัด ให้คงไว้แค่เป็นเจ้าคณะจังหวัดแต่ในนามเท่านั้น

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ในสมัยนั้นท่านเป็นพระเถระไฟแรง มีความมุ่งมั่นอยู่กับการรักษาและเผยแพร่ระบบการศึกษาแผนใหม่ในแบบพระธรรมยุติกนิกกาย ท่านมีความเห็นว่า พระธุดงค์ พระป่าแบบพระสายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถร เป็นพระขี้เกียจไม่ยอมศึกษาเล่าเรียน และพระบ้านแบบพระครูวิโรจน์รัตโนบลก็เป็นพระที่เฉื่อยชาไม่กระปรี้กระเปร่า ในการบริหารคณะสงฆ์ จึงคิดจะส่งลูกศิษย์ของท่านคนหนึ่งขึ้นเป็นเจ้าคณะจังหวัดแทน ลูกศิษย์ของท่านชื่อว่าอะไรผมก็เลือนไป ไม่มีเวลาค้นดู แต่ชื่อของท่านรูปนี้ก็ปรากฏอยู่ในประวัติการปกครองคณะสงฆ์ ใครมีเวลาก็ค้นดูได้ด้วยตนเอง

ดร.ปรีชา พิณทอง ได้เล่าเหตุการณ์ในช่วงเวลานี้ให้ฟังว่า ท่านเองก็เป็นพระเช่นเดียวกัน จึงทราบตื้นลึกหนาบางของเรื่องนี้ดี เป็นแต่ว่าไม่ได้พูดให้ใครฟัง เพราะเห็นว่าเรื่องมันแล้วไปแล้ว แต่ก็เมตตาเล่าให้ผมฟังอย่างพ่อลูก

วันที่จะเกิดเหตุปลดนั้น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ได้มีคำสั่งให้ประชุมเจ้าคณะอำเภอทุกอำเภอในเขตจังหวัดอุบลฯ ซึ่งหน้าที่ที่จะเรียกเจ้าคณะอำเภอมาประชุมตามกำหนดนัดหมายก็เป็นหน้าที่ของ เจ้าคณะจังหวัด คือท่านพระครูวิโรจน์รัตโนบล แต่เวลาที่ให้สำหรับการเรียกเจ้าคณะอำเภอมีน้อยเกินไป ไม่มีทางที่จะเรียกได้ทัน เพราะการคมนาคมสมัยนั้นต้องเดินด้วยเท้า หรือใช้เกวียนหรือม้า จึงปรากฏว่ามีเจ้าคณะอำเภอ 2 อำเภอมาประชุมไม่ทัน ดูเหมือนจะเป็นอำเภอพิบูลมังสาหาร กับอีกอำเภอหนึ่งซึ่งผมก็ลืมไปแล้ว สมเด็จฯ ท่านก็กริ้ว กล่าวโทษท่านพระครูวิโรจน์ว่าบกพร่องต่อหน้าที่ แม้พระครูท่านจะแก้ว่าอำเภอที่มาไม่ได้นั้นต้องใช้เวลาเดินทางไปกลับอย่าง เร็วที่สุดต้อง 4 วัน จึงทำให้ไม่สามารถติดตามให้มาประชุมทัน สมเด็จฯ ท่านก็ไม่ฟัง สั่งลงโทษท่านพระครูโดยให้ออกไปนอกพระอุโบสถวัดสุปัฏนาราม พระอารามหลวงของเมืองอุบลฯ ซึ่งใช้เป็นสถานที่ประชุม ให้ออกไปยืนอยู่หน้าอุโบสถกลางแจ้งตากแดดอยู่นานชั่วโมง ซึ่งท่านพระครูก็ออกไปรับโทษโดยมิได้โต้แย้งขัดขืนแต่อย่างใด

ตกคืนนั้น สมเด็จฯ เกิดอาพาธกะทันหันถึงอาเจียนเป็นเลือด พวกลูกศิษย์บางทีจะคิดเฉลียวใจ ได้ชวนกันมากล่าวขมาลาโทษท่านพระครูวิโรจน์ฯ ถึงที่วัดทุ่งศรีเมือง อาการอาพาธจึงหาย เรื่องนี้ ดร.ปรีชา พิณทอง ยืนยันว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง

รู้กันหมดทั้งเมืองอุบลฯ เป็นแต่ว่าไม่มีใครอยากพูด

หลวงปู่สังข์ ฐิตธมฺโม ก็ได้เล่าเหตุการณ์ประกอบเรื่องบาดหมางนี้ให้ผมฟังว่า ขณะนั้นหลวงปู่สังข์ยังบวชอยู่กับพระครูวิโรจน์ฯ ได้เห็นเหตุการณ์ที่ทุกวัดและวัดทุ่งศรีเมืองของท่านพระครู ต้องจนเอาตำรับตำราโบราณที่บันทึกไว้ในสมุดข่อย สมุดใบลาน ที่ทางอีสานเรียกว่าหนังสือผูก ออกมาเผาทิ้งตามคำสั่งของสมเด็จฯ ท่าน เพราะว่าท่านไม่ประสงค์จะให้พระเณรสนใจศึกษาตำรับตำราวิชาอาคมแบบนั้น จึงบัญชาให้เผาทิ้ง ผลคือตำรับตำราหรือประวัติศาสตร์บางอย่างต้องถูกทำลายไปอย่างน่าเสียดาย หลวงปู่สังข์เองก็เสียดายหนังสือผูกที่รวบรวมสรรพวิชามากมายต้องสลายตัวเป็น ขี้เถ้าหมด ท่านยังได้เก็บเอาขี้เถ้าเหล่านั้นมาสร้างเป็นพระเครื่องของท่านเอง

อนุสาวรีย์ ของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ที่ถูกสร้างขึ้นคู่กับอนุสาวรีย์ของเจ้า คุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์) ข้างหลังศาลหลักเมืองอุบลฯ ซึ่งทำเป็นรูปสมเด็จฯ ท่านยืนถือหนังสือผูกไว้ในมือ จึงเป็นภาพที่ผมไม่เห็นด้วย เพราะว่าท่านเป็นผู้สั่งเผาหนังสือผูกทั่วเมืองอุบลฯ จะทำเป็นรูปถือหนังสือผูกก็ขัดความรู้สึกอยู่มาก แต่เจตนาของผู้ออกแบบบางทีจะหวังแสดงภาพว่าท่านเป็นพระเถรที่ทรงความรู้และเป็นนักศึกษาดอกกระมัง

 

คุยข้างทางมาพอควรแล้ว ก็เริ่มออกเดินทางกันอีกครั้ง ยังไม่รู้ว่าจะได้แวะจอดคุยกับใครอีกต่อไป

พ่อแสงได้เล่าต่อไปว่า เมื่อทราบข่าวของเณรแก้ว เณรคำปรากฏตัวที่ไหน เป็นดั้นด้นออกจากบ้านไปหาทันที ไม่ว่าจะใกล้หรือไกลสักเพียงใด พ่อแสงเคยติดตามหาตัวเณรคำไปไกลถึงสามเหลี่ยมทองคำ เลาะตามแนวตะเข็บชายแดนพม่าไทย โดยเดินอยู่ฝั่งพม่าเป็นส่วนมาก เดินล่องลงมาถึงกาญจนบุรี และกลับเข้าประเทศไทยที่นั่น เป็นการออกตามหาชนิดเดินตามหลังไปเรื่อย ๆ คือมีข่าวว่าเณรคำอยู่ที่นั่นก็ตามไปจนถึง คนเขาก็บอกว่าเณรคำออกจากที่นั่นไปอยู่ที่โน่นแล้วก็ตามไปที่โน่น ถึงที่โน่นก็ว่าเณรคำไปที่นู้น ก็ตามไปถึงที่นู้น จนกระทั่งสุดท้ายเณรคำก็หายไป ไม่ทราบว่าออกจากตรงนี้แล้วไปที่ไหน

หลายปีสำหรับการติดตามหาตัวเณรแก้วเณรคำ ในที่สุดก็ได้พบตัวสมปรารถนา คือได้พบเณรแก้วบนถ้ำภูเขาควาย ประเทศลาว และพบเณรคำที่ถ้ำจี่ ภูลังกา อ.บ้านแพง จ.สกลนคร แต่พ่อแสงบอกว่าแม้พบเณรแก้วเณรคำแล้วตัวพ่อแสงเองก็ไม่ได้ดีได้เด่นกว่า เดิมสักเท่าไหร่ เพราะเรียนวิชาต่อจากเณรแก้วเณรคำไม่ไหว พ่อแสงรับว่าหนักหนาสาหัสและยากลำบากจริง ๆ จึงเลิกไม่คิดเรียนแล้วลากลับ

เณรแก้วกับเณรคำจะว่าไปแล้ว ได้เป็นผู้สร้างตำนานความลี้ลับมหัศจรรย์ให้แก่สายสำเร็จลุนเป็นอย่างมาก เป็นศิษย์เอกที่โดดเด่นทั้งคู่ และหาตัวยากที่สุด การปรากฏตัวแต่ละครั้งค่อนข้างแปลกประหลาด เช่นเณรคำบางทีก็ปรากฏตัวในรูปของขอทาน ของคนแก่ หรือบางทีก็ตรงกันข้าม คือเป็นเด็ก ที่หนักข้อกว่านั้นคือเป็นคนบ้าก็มี เรื่องนี้จริงเท็จอย่างไรผมไม่ทราบ คงได้ยินอยู่บ่อย ๆ

ศิษย์สำเร็จลุนเท่าที่ได้รู้จักนั้นพอจะอ้างชื่อได้ดังนี้
1. พระครูสีทัตถ์ สุวรรณมาโจ ผุ้สร้างพระธาตุท่าอุเทนและพระพุทธบาทบัวบก
2. เจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจันโท)
3. หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล
4. พระครูวิโรจน์รัตโนบล
5. หลวงปู่เครื่อง ธัมมจาโร วัดเทพสิงหาร อุดรฯ
6. หลวงพ่อมุม วัดปราสาทเยอ ศรีสะเกษ
7. หลวงปู่โทน วัดบูรพา เป็นต้น

เฉพาะหลวงปู่โทนท่านได้พบและอยู่กับสำเร็จลุนในช่วงปลายชีวิต แต่ท่านบอกว่าไม่ได้เรียนวิชาอาคมจากสำเร็จลุน เหตุที่ไม่ได้เรียนนั้นท่านว่าท่านกลัว ซึ่งผมนึกไม่ออกว่าท่านกลัวอะไร

แต่สำเร็จลุนเองนั้นกลับมีเรื่องราวปรากฏอยู่น้อยมาก ซึ่งพ่อแสงได้อธิบายว่าคนไม่ใคร่จะพูดถึงท่าน เพราะว่าเขาเกรงอภินิหารของท่าน ภาพถ่ายของสำเร็จลุนก็ไม่มี ไม่ได้ถ่ายไว้ แต่บางคนว่ามีผู้พยายามถ่ายแต่ภาพกลับเสีย หรือเรียกว่าถ่ายไม่ติด เคยมีคนบอกผมว่า มีภาพสำเร็จลุนอยู่บ้านอะไร ผมก็นึกชื่อไม่ออก บ้านนั้นอยู่ราว ๆ กม.ที่ 14 – 16 บนถนนสายอุบลฯ – ยโสธร ก็ดีใจรีบให้เขาพาไปดู ปรากฎว่าเป็นรูปพระครูเทพโลกอุดรก็เลยเป็นอันมืดมนต่อไป

เรื่องรูปร่างหน้าตาของสำเร็จลุนนั้น หลวงปู่พรหมา ได้อธิบายว่า ผู้ที่มีความเหมือนสำเร็จลุนที่สุดคือ หลวงปู่นาค วัดป่าใหญ่ (อดีตเจ้าอาวาสวัดมหาวนราม) เมืองอุบลฯ เป็นแต่ว่าสำเร็จลุนจะท้วมกว่าและขาวกว่า ส่วนใบหน้าแทบจะเป็นพิมพ์เดียวกัน

พ่อแสงได้ให้ความรู้ในเรื่องที่เฉียดฉิวตัวสำเร็จลุนเต็มที แต่ก็ไม่เกิดประโยชน์แก่ผมมากนัก และในที่สุดก็ได้ออกปากว่า ศิษย์สำเร็จลุนที่ยังมีชิวิตอยู่อีกองค์หนึ่งก็อยู่เมืองอุบลฯ นี่เอง ท่านคือ หลวงปู่พรหมา เขมจาโร แต่เมื่อซักถามว่าท่านอยู่ที่ไหนจะไปหาท่านได้อย่างไร ผมก็ถอดใจ เพราะว่าฟังดูแล้วยากเย็นเหลือเกิน ต้องนั่งรถประจำทางสายอุบลฯ – ท่าสำโรง วิ่งผ่านอำเภอตระการพืชผล, อำเภอโพธิไทร ออกบ้านสองคอนเลี้ยวซ้ายเลียบแม่น้ำโขงจนถึงบ้านท่าสำโรง รวมระยะทางประมาณ 140 กม. และลงเรือที่บ้านท่าสำโรง ล่องลำโขงไปอีกชั่วโมงครึ่งจะถึงบ้านดงนา แล้วปีนเขาขึ้นไปจึงจะถึงที่พักของท่าน

เป็นอันว่าต้องถอยมาตั้งหลักก่อน

——————————————————————————–
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารศักดิ์สิทธิ์ ฉบับที่  268 วันที่ 1 มีนาคม 2537
——————————————————————————–

 

แชร์ :

ความคิดเห็น

** โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างมีวิจารณญาน