สุเชาว์ ศิษย์คเณศ
สุเชาว์ ศิษย์คเณศ
——-
ความลำเค็ญยากเข็ญ ดูจะแยกไม่ออกจากชีวิตของศิลปิน
มทสาร์ท คีตกวีเอกของโลกตายอย่างอนาถา
แม้บัดนี้จะค้นหาหลุมศพของเขาเพื่อสดุดียังไม่ได้
สัปเหร่อผู้แบกโลงไปฝังกับมือยังนึกไม่ออก
เพราะว่าไม่ได้สนใจจำ
เป็นศพไม่มีญาติว่างั้นเถอะ
ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ หรือที่เรียกอย่างสนิทปากว่า “ท่านกูด” ก็ลำเค็ญแสนเข็ญอยู่จนตลอดชีวิต
อดอยากปากแห้งถึงกับภรรยาต้องอุ้มลูกไปพึ่งกรมประชาสงเคราะห์ก็เคย
เพื่อนบ้านต้องแบ่งข้าวปลามาให้กินกันตายก็บ่อย
แม้บั้นปลายชีวิตท่านกูดจะดีขึ้นบ้าง ก็ยังอดอยากไม่ได้กินอะไรเพราะป่วยหนัก กลืนอะไรไม่ได้กระทั่งน้ำ
เรียกว่าตอนหนุ่มกินอะไรไม่ได้เพราะไม่มีจะกิน พอมีจะกินก็กินไม่ได้เพราะโรคร้าย
ศิลปินหลายคนในโลกทุกชาติทุกภาษา เมื่อตายไปอย่างแร้นแค้นแล้วผลงานของ พวกเขาจึงออกดอกออกผล เมื่อมีชีวิตอยู่ไม่ได้เสพผลหรือดมดอกจากผลงานของตนเองเลย
“วิบากกรรมนำไป่รู้ ไปไหน
มืดหม่นมามืดไป เปลี่ยวคว้าง
อาภัพกว่าใครใคร ครวญคร่ำ พอฤา
วิปโยคโศกศิลป์สร้าง จึงอ้าง ว้างแสน”
บางทีอาจจะไม่มีใครรู้จัก หรือได้ยินชื่อของ สุเชาว์ ศิษย์คเณศ แต่ในแวดวงศิลปะแล้วรู้จักกันดีมาก
รู้ว่าเขาเช่าห้องแคบ ๆ ราคาถูก ๆ เขียนรูปขายให้แกลลอรี่บ้าง เขียนให้เพื่อนบ้างพอได้มีกินไปวัน ๆ
รู้ว่าไม่มีใครเคยได้ยินเขาพร่ำบ่นถึงความทุกข์ของชีวิตตนเอง ไม่เคยสร้างความเดือดร้อนให้กับเพื่อน ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงิน หรือแม้แต่คำพูดที่ระคายหูใคร
เขาอยู่อย่างง่าย ๆ จนลืมไปว่าร่างกายต้องการอาหาร ต้องการออกกำลังกาย แต่เขาก็อุดอู้เก็บตัวอยู่ในห้องนั้นจนใคร ๆ ลืมไปว่าเขาลำบากหรือไม่ ต่างนึกแต่เพียงว่าเขายังสบายดี เพราะทุกคนที่ได้พบกับเขาภายนอกห้องแคบ ๆ นั้นก็แต่ในเครื่องแต่งกายที่เรียบร้อยสะอาด อ่อนน้อมถ่อมตน และยกมือไหว้คารวะผู้อื่นก่อนเสมอ
อาจกล่าวได้ว่า โลกภายนอกของเขาแสนจะสวยงามในสายตาผู้อื่นแต่เมื่อกลับเข้าสู่โลกภายในแล้วแสนจะอับจนอยู่คนเดียว
เป็นเช่นนี้อยู่ตลอดชีวิต
น. ณ ปากน้ำ เขียนถึง สุเชาว์ ศิษย์คเณศ ไว้ว่า
“เขาเป็นนักเอ๊กซเพรสซั่นนิสม์ตัวยง ที่เขียนภาพด้วยอุดมคติตัวเอง โดยไม่ยอมเปลี่ยนแนวสยบให้แก่กลไก อันโหดร้ายในการค้าขายงานศิลปะ
เขาเป็นอิสรชน ผู้ยินดีหันหลังให้กับโลก เมื่ออยู่เบื้องหน้าผืนผ้าใบและมือจับแปรง
เขาปล่อยอารมณ์เฟื่องฝัน ไปยังโลกเร้นลับ ที่เต็มไปด้วยความฝันร้ายและความวิปริตของสังคม
เขาเดินอยู่ในมรรคาสายเปลี่ยวที่มีบรรยากาศห่อหุ้มไปด้วย ความกระเหี้ยนกระหือรือแสนน่าสะพรึงกลัว
จินตนาการของเขาถูกครอบงำด้วยความมืด ความอ้างว้างเดียวดาย
สิ่งเหล่านี้ได้ซึมซาบลงไปในผลงานของเขา เขาผู้เป็นนักเอ๊กซเพรสชั่นนิสม์คนสำคัญของเมืองไทย
แม้เราคาดการณ์ว่าคงมีผู้เข้าใจยากแต่ก็ไม่ยากสำหรับผู้มีน้ำใจ”
เมื่อสุเชาว์ ศิษย์คเณศ พูดถึงตัวเองบ้าง ก็เป็นภาพสะท้อนตัวเขาเองได้ดีที่สุด
“รูปเขียนของผมนี่ถูกสับโขกมากนะ ต้องอดทนไม่หวั่นไหว ต้องจริงใจ”
“ชีวิตของผมไม่เคยมีบ้าน ต้องเช่าเขาอยู่และย้ายไปเรื่อยๆ อาศัยเพื่อนบ้าน มันก็ไม่สะดวก ผมอยากมีความรู้สึกที่เป็นส่วนตัว อยากมีบ้านของตัวเอง แต่มันเป็นไปไม่ได้เพราะผมเปลี่ยนงานบ่อย ผมก็เลยต้องเขียนเอา”
บ้านของสุเชาว์ ศิษย์คเณศ จึงมีแต่เพียงในรูปเขียน และรูปบ้านกับต้นไม้ถูกไฟไหม้ จึงได้รับเหรียญเงินในงานประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๔ (พ.ศ. ๒๔๙๖)
อาจเป็นบ้านหลังเดียวที่เป็นของเขาจริง ๆ เท่านั้น
ความจริงประการหนึ่งสำหรับงานเขียนของเขา คือความสลดหดหู่อดอยากหิวโหยมักปรากฎอยู่ในสภาพเขียนเป็นส่วนใหญ่
“ก็ชีวิตผมไง เหมือนกัน ชีวิตผมเผชิญมาอย่างนั้น ความหิวโหยผมผ่านชีวิตมาอย่างนั้น มันสั่งสมอยู่ ผมก็ระบายมันออกมา”
ครั้งหนึ่งเขาทุ่มเทจิตใจเขียนรูปให้เพื่อนคนหนึ่งซึ่งเป็นหมอ ในโอกาสขึ้นบ้านใหม่ เพื่อตอบแทนความดีที่หมอรักษาพยาบาลเขาฟรี
สามวันให้หลัง เพื่อนหมอเอารูปมาคืน
“ต้องเอามาคืน เพราะคนที่บ้านไม่อยากให้เด็กดูเดี๋ยวเด็กจะไม่สบาย”
สุเชาว์ ศิษย์คเณศ เกิดในกรุงเทพฯ บิดามารดาเป็นชาวจีนโพ้นทะเล วันหนึ่งในขณะที่สุเชาว์ อายุได้ ๑๒ ขวบ บิดามารดาเดินทางกลับไปเมืองจีนและไม่กลับมาอีกเลย
จนวันที่ สุเชาว์ป่วยอยู่เงียบ ๆ ในห้องแคบ ๆ และเพื่อนคนหนึ่งไปพบแล้วนำเขาส่งโรงพยาบาลเมื่ออายุได้ ๖๐ กว่าปี
บันทึกส่วนตัวของสุเชาว์ ที่เพื่อนพ้องพบเห็นในวันที่ไม่มีเขาอยู่ในห้องแคบ ๆ นั้นอีกแล้ว กำลังบอกถึงอะไรบางสิ่งที่เป็นตัวของเขาจริง ๆ
“ไม่อาจหาญเสนอตนเท่าเทียมผู้อื่น เพราะน้อยปัญญา ศึกษาเพียงอนุปริญญาทางศิลป์
มิได้มีบารมี…..เช่นเขาอื่น
เพียงเผชิญชีวิตในเมืองไทยบ้านเกิด และอาจเป็นเมืองตาย
ได้แต่ปลอบใจตนเองด้วยคติเต๋าที่ว่า
ผู้อยู่ในห้อง ก็อาจรู้โลกภายนอกได้ “
—
สุเชาว์ชีพไร้ ร่างไหม้ โฉมสลาย
เหลือเถ้าถ่าน เรี่ยราย เปล่าว้าง
สิ่งศิลป์ซึ่งสืบสาย ใจกล่าว เล่าแล
โลกเปล่าเปลี่ยวเคว้งคว้าง ช่างอ้าง ว้างแสนฯ
(อังคาร กัลยาณพงศ์)
วินาทีนี้ผมขอรำลึกถึงศิลปินผู้หนึ่งซึ่งโลกยังไม่เปลี่ยนวิถีของเขาให้สุขสบายได้เลย
ได้แต่มุ่งหวังว่าวันหนึ่งข้างหน้า โลกแห่งความสุขสบาย คงจะเป็นของประดาศิลปินบ้าง
หวังไว้ในฐานที่เป็นศิษย์เก่าเพาะช่างคนหนึ่งเท่านั้นเอง
…………………………………………….
งานเขียนของ อำพล เจน ในนามปากกา ยสธสาร ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารแปลก ฉบับที่ 584 วันที่ 5 พฤษภาคม 2530