1 / นาคาธิบดีสีสัตตนาคบาดาล


สายพันธุ์ของพญามุจลินท์นาคราช คือ พญานาค 7 เศียร ซึ่งสืบสายพันธุ์มาจนถึง พญาศรีสัตตนาคราช (นาคาธิบดีสีสัตตนาคบาดาล) ซึ่งเชื่อว่าเป็นกษัตริย์แห่งพญานาคฝั่งลาว ส่วนฝั่งไทยคือ พญาศรีสุทโธนาคราช (นาคาธิบดีสีสุทโธ) เป็นกษัตริย์พญานาคฝั่งไทย แต่เป็นพญานาคเศียรเดียว ซึ่งกล่าวกันว่า ทั้ง 2 ราชาพญานาคนี้เป็นสหายกัน

เรื่องราชาแห่งนาคทั้ง 2 นี้ หลวงปู่คำพันธ์เคยเล่าไว้ว่า ในผืนแผ่นน้ำของประเทศไทยของเรานั้น มีพญานาคราชเป็นใหญ่นามว่า พญาศรีสุทโธ  ท่านชอบจำศีลบำเพ็ญเพียร และปฏิบัติธรรม มีนิสัยอ่อนโยนมีเมตตา ไม่ชอบการต่อสู้ ชอบมาปฏิบัติธรรมที่พระธาตุพนม โดยมอบหมายให้เหล่าพญานาค 6 อำมาตย์ดูแลแทน ในระหว่างที่หลบมาจำศีลภาวนา

หลวงปู่เอ่ยชื่อ 6 อำมาตย์แห่งพญานาคไว้เพียง 3 คือ
1. พญาจิตรนาคราช เป็นพญานาคที่รักสวยรักงาม มีเขตแดนปกครองของตน  ตั้งแต่ตาลีฟู ถึงจังหวัดหนองคาย ตามแนวแม่น้ำโขง โดยมีที่สุดแดนอยู่วัดหินหมากเป้ง
2. พญาโสมนาคราช มีเขตแดนปกครอง ตั้งแต่วัดหินหมากเป้ง มาจนถึงวัดพระธาตุพนม สุดเขตแดนที่แก่งกะเบา พญาโสมนาคราช มีอุปนิสัยคล้ายพญาศรีสุทโธนาคราช คือชอบปฏิบัติธรรม จึงเป็นที่ไว้วางใจ และโปรดปรานแก่พญาศรี  สุทโธนาคราชมากกว่าพญานาคอื่น ๆ
3. พญาชัยยะนาคราช มีเขตแดนจากแก่งกะเบา เรื่อยไปจนสุดแดนที่ปากแม่น้ำโขงลงทะเลในเขมร พญานาคตนนี้มีฤทธิ์เดชมาก ชอบการรณรงค์ทำสงคราม คือชอบการต่อสู้เป็นนิสัย

ส่วนฝั่งลาวนั้น มี พญาศรีสัตตนาคราช เป็นใหญ่เหนือพญานาคทั้งปวง เป็นพญานาคที่ทรงฤทธิ์ ทรงอำนาจเหนือกว่าพญานาคทั้งหลายใน 2 แผ่นดินนี้ แต่ท่านเป็นพญานาคที่ชอบจำศีลและประพฤติปฏิบัติธรรมเหมือนพญาศรีสุทโธนาคราช โดยชอบมาที่วัดพระธาตุพนมเหมือนกัน จนถึงกับมีการให้พันธะสัญญาแก่กันว่า หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องการความช่วยเหลือก็จะช่วยกันอย่างเต็มที่เต็มกำลัง สามารถ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้อยใหญ่ประการใด

พญาศรีสัตตนาคราช มีความเด่นสง่าด้วยมี 7 เศียร ซึ่งถือได้ว่าเป็นตระกูลพญานาคที่มีมาแต่ครั้งพุทธกาล มีความใกล้ชิดพระพุทธองค์ และพระพุทธศาสนา จนอาจถือว่าเป็นต้นตระกูลแห่งพญานาคทั้งหมด

หลวงปู่คำพันธ์ยังได้ กล่าวอีกว่า ส่วนใดที่อยู่ใกล้ต้นน้ำลำธาร หรือหากมีพิธีกรรมอันใดเกิดขึ้น ให้อัญเชิญบอกกล่าวแก่เหล่าพญานาค พิธีกรรมนั้นจะศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง


เกี่ยวกับพญานาคที่วัดธาตุพนม มีเรื่องราวบันทึกไว้ว่า ในคืนขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ปี 2500 (วันออกพรรษา) คืนนั้นมีฝนตกหนัก นายไกฮวดและภรรยา ได้ลุกขึ้นมารองน้ำฝนไว้ดื่มกินตอนกลางดึก บังเอิญเห็นลำแสงแปลกประหลาดสว่างเป็นลำโต ขนาดต้นตาล  7 ลำแสง และมีสีสันแตกต่างกัน 7 สี สวยงามมาก โดยที่ลำแสงทั้ง 7  พุ่งมาจากฟากฟ้าทิศเหนือ ด้วยลักษณะแข่งกัน คือแซงกันไปแซงกันมา จนพุ่งเข้าซุ้มประตูวัดธาตุพนมแล้วก็หายไป

มีสามเณรรูปหนึ่งในขณะนั้นประทับทรงบอกนายไกฮวดและภรรยาว่าลำแสงทั้ง 7 คือ พญานาค มาจากเทือกเขาหิมาลัย มาเพื่อปกปักรักษาพระธาตุพนม และช่วยเหลือประชาชนผู้ตกทุกข์ได้ยาก

แต่หลวงปู่คำพันธ์บอกว่า นั่นเป็นพญาศรีสุทโธนาคราช และอำมาตย์ทั้ง 6  แสดงฤทธิ์
ใน โอกาสที่ท่านได้บอกกล่าวเรื่องพญานาคนี้ ท่านจึงได้กล่าวพยากรณ์ดังข้างต้นว่า พญานาคจะช่วยผู้ที่บูชาศรัทธาในพญานาคให้ผ่านพ้นอันตรายจากภัยพิบัติที่จะ เกิดขึ้นหลังจากท่านมรณภาพไปแล้ว 3 ปี

นี่ก็ก้าวเข้าปีที่ 3 แล้ว จวนเจียนจะครบตามกำหนดในพยากรณ์ ซึ่งท่านบอกว่าจงสังเกตดูให้ดีจะเห็นความวุ่นวายเดือดร้อนจะปรากฏขึ้นเรื่อย ๆ
หลวงปู่คำพันธ์มรณภาพ เมื่อ 24  พฤศจิกายน 2546
ผมก็ได้แต่ตั้งความหวังเอาไว้ว่า พยากรณ์ของท่านและเหล่าครูบาอาจารย์ในอดีตจงอย่าได้เป็นจริง

อย่างไรก็ตามพญานาคก็หาได้มีแต่ในพุทธศาสนา หรือเพิ่งเกิดมีขึ้นในสมัยพุทธกาล
พญานาคมีมาก่อนสมัยพระพุทธเจ้าโคดมและปรากฏตัวอยู่ในศาสนาอื่นๆหลายศาสนา เฉกเช่นมนุษย์ก็ยังคงนับถือศาสนาไม่เหมือนกัน

ชาวฮินดูถือว่าพญานาคเป็นสะพานเชื่อมโลกกับแดนเทพเทวา การสร้างเทวสถาน เช่น ปราสาทขอมทุกปราสาท จะมีสะพานนาค หรือบันไดนาคทอดยาวรับมนุษย์เข้าไปสู่แดนศักดิ์สิทธิ์ข้างในปราสาท

มีเรื่องเล่าไว้ในพระไตรปิฎก (มหาวรรค) ว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์เสด็จไปโปรดชฎิล 3 พี่น้อง ที่ตำบลอุรุเวลา คือ อุรุเวลากัสสป, นทีกัสสป และคยากัสสป ซึ่งชฎิลทั้ง 3 นี้  มิได้รู้จักพระพุทธองค์ ไม่ได้นับถือพระพุทธองค์ แต่พวกเขานับถือบูชาพญานาคมาช้านาน

พญานาคที่ชฎิล 3 พี่น้องนับถือบูชาก็ไม่รู้จักและนับถือพระพุทธองค์เช่นกัน
พุทธองค์ทรงขอเข้าพำนักในโรงบูชาไฟของพวกตนมีพญานาคดุร้าย อาศัยอยู่ พระพุทธองค์หาได้หวั่นเกรงไม่

พญานาคเห็นพระพุทธองค์เข้ามาก็ไม่พอใจ จนในที่สุดแสดงฤทธิ์สู้กัน แต่ก็พ่ายแพ้ต่อพระพุทธองค์ ถึงกับถูกพระพุทธองค์จับพญานาคนั้นขดไว้ในบาตร และทรงแสดงแก่ชฎิลทั้ง 3 ว่า

“ดูกร กัสสป  นี่พญานาคของท่าน เราครอบงำเดชของมันด้วยเดชของเราแล้ว”

หลังจากนั้น ทรงแสดงปาฏิหาริย์หลายอย่างจนคลายทิฐิมานะของชฎิลทั้ง 3 ได้ และสุดท้ายชฎิล 3 พี่น้อง ได้ขอบวชพร้อมทั้งบริวารหลายร้อยคน

อีกครั้งหนึ่ง พระพุทธองค์เสด็จพร้อมพระอรหันต์ 500 รูป สู่เทวโลก ได้เสด็จผ่านวิมานของเหล่านาคที่กำลังรื่นเริงสนุกสนานกัน วิมานนี้มี นันโทปะ นันทะนาคราช  เป็นใหญ่เกิดความไม่พอใจในการเสด็จผ่านคราวนั้น จึงแสดงฤทธิ์เป็นนาคขนาดใหญ่พันโอบรอบเขาพระสุเมรุ ปิดบังทางผ่านไปสู่เทวโลกไว้ (ดาวดึงส์) แล้วร้องด่าท้าทายพระพุทธองค์อย่างสาดเสียเทเสีย

พระอรหันต์สาวกรูป หนึ่งกราบทูลพระพุทธองค์ว่าให้ทรงเรียกพญามุจลินท์นาคราชมาปราบนันโทนาคราช และพระพุทธองค์ทรงปฏิเสธ โดยตรัสบอกว่า เวลานี้ พญามุจลินท์กำลังทรงฌานอยู่ ไม่ทรงอยากเรียก ทรงเกรงจะเป็นบาปกรรม

ซึ่งถือเป็นตัวอย่าง ต่อมาในภายหลังว่า เวลาพระภิกษุกำลังบำเพ็ญเพียร สมาธิภาวนาอยู่ไม่ควรรบกวน เพราะจะเป็นบาปนั่นเอง
พญามุจลินท์ก็กำลังอยู่ในสมาธิภาวนาเช่นกัน

ในที่สุดทรงอนุญาตพระโมคคัลลาน์ให้เป็นผู้ปราบนันโทนาคราชจนสิ้นฤทธิ์
เรื่องพญานาคเกเรที่ปรากฏในพระไตรปิฎกเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าพญานาคนั้นมีอยู่แล้ว และเป็นพญานาคที่ไม่รู้จักพุทธศาสนาอีกด้วย

พญานาคทั้งปวงจะเลื่อมใสศรัทธา และกลายเป็นผู้พิทักษ์พระศาสนานั้นไม่ง่ายเลย
เดชานุภาพ คุณานุภาพของพระพุทธองค์มีเป็นล้นพ้น
เมื่อพญานาคหันหน้าสู่พุทธศาสนาแล้ว พญานาคก็อยู่คู่กับพุทธศาสนาตลอดมา
และยังเป็นผู้เลื่อมใสในภารกิจพิทักษ์พระศาสนาที่ไม่เคยคลอนแคลนศรัทธา

_____________________________

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารศักดิ์สิทธิ์ ฉบับที่ ….. พ.ศ.

แชร์ :

ความคิดเห็น

** โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างมีวิจารณญาน