บุญข้าวสาก
พลัดเผลออยู่กับไฟแสงสีจนเกือบลืมไป เพิ่งมานึกได้เอาก็ปลายสุดโต่งของเดือน ๑๐ ว่าเดือนนี้อีสานบ้านเฮามีบุญประเพณีที่ปฏิบัติกันอย่างสม่ำเสมออยู่ทุกๆปี คือ บุญข้าวสาก ซึ่งก็คือฮีต ลำดับที่ ๑๐ ในฮีตทั้ง ๑๒ ของไทยอีสาน
นี่ถ้าไม่มีข้าวกระยาสารทของฝากมาให้ คงได้มีอันลืมสนิทเสียค่อนข้างแน่
เพราะมัวแต่ไพล่ไปนึกถึงสารทไหว้พระจันทร์ที่เป็นข่าวว่าปีนี้เสื่อมไปมากแล้ว เพราะมนุษย์อวกาศไปทำเสียหาย
เขาไหว้ของเขาอยู่ดีๆ ไปเหยียบซะเป็นรอยเห็นเต็มจอโทรทัศน์
ยังงี้อีจะทนฝืนไหว้ส้นตีนมนุษย์อวกาศต่อไปได้ไง
ข้าวกระยาสารท ถุงเล็กๆ นี่แหละเท่ากับเป็นมะเหงกจากแดนอีสานบ้านเกิดมาเขกกะโหลกดังโป๊ก ให้ความคิดความจำแจ่มใส จะอั้นใจไม่คุยถึงบุญข้าวสากมั่งได้ยังไง
บุญข้าวสากซึ่งบางแห่งก็เรียกว่าบุญข้าวสลาก และบุญสารทภัตต์
ที่เรียกกันหลายชื่ออย่างนี้ก็เป็นไปตามความนิยมของแต่ละแห่ง ซึ่งแต่ละชื่อก็เป็นแต่ละขั้นตอนของบุญประเพณีนี้
หากจะเรียกอย่างรวมยอดเบ็ดเสร็จก็ควรจะเรียกได้ว่าบุญเดือนสิบ เพราะว่าทำกันเป็นประจำทุกปีในเดือนสิบ
ไทยบ้านเฮาจะพร้อมใจกันนัดวันอันเหมาะสมเอาข้าวปลา อาหารไปรวมกันที่วัดประจำหมู่บ้านให้พระจับสลากของใครของมัน
เขียนสลากติดเป็นเครื่องหมายไว้ให้เรียบร้อย พระจับสลากได้เบอร์อะไร ตรงกับของใครก็รับถวายของคนนั้น ๆ ไป
อาหารที่ไทยบ้านเฮาจัดไปถวายมักผสมถั่ว, งา, มะพร้าวและน้ำตาลเป็นพื้น ซึ่งก็คือข้าวกระยาสารทนั่นเอง
เห็น จะเป็นเพราะอย่างนี้นี่เอง จึงได้ชื่อว่า บุญข้าวสลากหรือบุญข้าวกระยาสารท (สารทภัตต์) ซึ่งน่าจะเป็นชื่อที่ถูกต้องมาแต่แรก ครั้นนานเข้าก็เพี้ยนมาเป็นบุญข้าวสาก
แต่หลักเกณฑ์การเพี้ยนมาเป็นบุญข้าวสากนี้ไม่มี นอกจากสันนิษฐานกันไป
ใคร ๆ ก็สันนิษฐานอย่างนี้ทั้งนั้นแหละ เวลาหน้ามืดคิดไม่ออก
ระหว่างที่พระ เณร ลงมือฉันอาหารที่จับสลากได้ ชาวบ้านก็แจกข้าวห่อกัน
มีทั้งห่อข้าวน้อย ห่อข้าวใหญ่ ซึ่งมีความหมายว่าห่อข้าวน้อย สำหรับญาติพี่น้องเพื่อนสนิทมิตรสหายกินในโลกนี้
ห่อข้าวใหญ่ไว้กินกันในโลกหน้า ของกินในห่อข้าวใหญ่เท่าที่เห็นมา มักเป็นจำพวกของแห้ง คือ เนื้อแห้ง ปลาแห้ง เป็นพื้น
ที่เป็นเช่นนี้ คงเพราะได้มาจากประสบการณ์การเดินทางไกลไปไหนต่อไหน พกของแห้งเข้าไว้น้ำหนักจะได้เบาและพกได้มาก
แถมยังต้องเผื่อไว้เป็นห่อใหญ่ ๆ อีกด้วย กะเอาไปกินในทางข้างหน้าให้พอ
เพราะไม่มีใครรู้อะไรทั้งสิ้นว่า โลกหน้าจะมีอะไรกินหรือไม่อย่างไร
ตอนแจกข้าวห่อนี้เป็นตอนสนุก
สนุกอย่างไรให้ไปถามผู้บ่าวผู้สาว
ส่วนผู้เฒ่าผู้แก่ก็เพลิดเพลินจำเริญใจในการบุญสุนทาน
เพราะว่ากันจริง ๆ แล้วกิจกรรมแจกข้าวห่อนี้ก็เป็นการปลูกฝังความเอื้ออารีย์มีน้ำใจ
ในจิตใจทุก ๆ คนสร้างความสมัครสมานสามัคคีกันเป็นอย่างดีเยี่ยมในชุมชนในหมู่บ้าน
หลังจากอิ่มหมีพีมันกันถ้วนทั่วแล้วไทยบ้านเฮาจะ “ส่งข้าวเปรต”
เป็นพิธีเชิญเปรตหรือวิญญาณญาติ พี่น้อง ผู้ล่วงลับไปแล้ว มารับแจกข้าวปลาอาหารทั้งคาวหวานรวมทั้งหมากพลูบุหรี่
โดย นำเอาของเหล่านี้ไปแขวนไว้ตามรั้วหรือต้นไม้ในวัด พอแขวนกันเรียบร้อยแล้วก็ตีโปง (ระฆังไม้) เป็นสัญญาณให้เปรต หรือ วิญญาณมารับของเหล่านี้ได้
ในบางแห่งก็อาจเก็บของที่ให้เปรตและวิญญาณไปชั้นหนึ่งแล้ว เอาไปเลี้ยงผีตาแฮกหรือเทพารักษ์ที่รักษาไร่นาต่ออีกทอดหนึ่ง
เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ไร่นา
เสร็จแล้วพากันไปโฮมกันฟังเทศน์ฉลอง จนแลงค่ำเป็นอันสิ้นพิธี
ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือนสิบทุกปี มีบุญข้าสากที่อีสานบ้านเฮา
ปี นี้ก็ตรงกับวันที่ ๒๘ กันยายน ในขณะที่คุยกันนี้ บุญข้าวสากเพิ่งผ่านไปหนึ่งสัปดาห์กว่า เสียดายที่ไม่ได้กลับไป แต่เชื่อว่าพี่น้องเฮาหลายคนคงได้กลับไปบ้าง คงสนุกสนานชื่นบานอิ่มบุญกุศลกันตามสมควร
ความจริงฮีต ๑๒ ของอีสานเฮาที่ยังยึดถือปฏิบัติเป็นประจำทุกปีนั้น
นอกจากบุญข้าวสากแล้วก็ยังมี บุญข้าวจี่, บุญผเวส, บุญสงกรานต์, บุญเข้าพรรษา, บุญข้าวประดับดิน, บุญออกพรรษาและบุญกฐิน
ส่วนที่ยังทำกันมั่งไม่ทำมั่งก็คือบุญเข้ากรรม, บุญคนลานและบุญซำฮะบำเบิก
ก็ออกจะห่วง ๆ บุญที่ทำมั่งไม่ทำมั่งอยู่มากว่า วันหนึ่งอาจจะเสื่อมไปไม่มีใครปฏิบัติสืบต่อ
สาเหตุที่ทำให้ประเพณีเสื่อมนั้นมีหลายประการ
แต่ที่เป็นเหตุอย่างค่อนข้างมากให้ผู้คนร่วมปฏิบัติน้อยลงก็คือ แต่ละคนมุ่งประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม
ซึ่งเป็นเหตุต่อเนื่องจากการขาดความรู้ความเข้าใจในประเพณีนั้นๆ
ไม่รู้ว่าทำไปแล้วจะมีคุณประโยชน์อะไร เพราะการทำบุญต้องลงทุนมากสิ้นเปลืองเงินทองไม่รู้เท่าไหร่
นี่ก็ออกจะเป็นสาเหตุที่มาจากปัญหาสำคัญ คือเศรษฐกิจไม่ดี
สาเหตุที่มีผลพอประมาณให้ประเพณีเสื่อมก็คือ ผู้คนไม่เห็นความสำคัญของการทำบุญ
ไปยอมรับเอาวัฒนธรรมสังคมเมืองจนลืมวัฒนธรรมพื้นบ้านของตนเอง และมุ่งความเจริญทางวัตถุมากกว่าจิตใจ
บางส่วนคิดว่าประเพณี เป็นเรื่องของคนแก่เป็นความล้าสมัย ขัดกับหลักวิทยาศาสตร์ ไม่น่าเชื่อถือเพราะเหลวไหลไร้เหตุผล
ฮีตประเพณีนี้ ถ้าจะว่ากันจริงๆแล้วก็มีประโยชน์ไม่น้อย
อย่างเช่นบุญข้าวสากส่งผลประโยชน์ให้คนเรารู้จักการบริจาคทานและเสียสละ
เห็นได้ชัดจากการแจกข้าวห่อน้อยห่อใหญ่ให้ผู้ร่วมงานด้วยกันและผลติดตามก็คือ
การแลกข้าวห่อกันไปจนถ้วนทั่วนั่นเอง และทำเกิดความรักใคร่ ผูกพัน สามัคคีสมานฉันท์กันในหมู่เพื่อนบ้านด้วยกัน
ซึ่งลักษณะอย่างนี้นับวันจะหายไป และพบเห็นได้ยากเข้าทุกที
ยิ่งในกรุงเทพฯนี่ยิ่งแล้วใหญ่ บ้านใกล้เรือนเคียงรั้วติดกันแท้ ๆ ยังไม่รู้จักมักคุ้นกันก็มีถมถืด
การแจกข้าวห่อ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่ออุทิศให้ทุกคนที่ได้รับแจก มีข้าวกินในขณะยังมีชีวิตในโลกนี้
และสำหรับเผื่อไว้ไปกินเมื่อตายหรือในโลกหน้า
ซึ่งว่าตามคนหัวใหม่ก็ออกจะเป็นเรื่องเหลวไหลเป็นไปไม่ได้
แต่แท้จริงในแง่ของจิตใจมันกลับเป็นสิ่งดี
เพราะเท่ากับได้ปลูกฝังความรักใคร่ห่วงใยในผู้อื่น ซึ่งเท่ากับเป็นการปลูกฝังเมตตาธรรมต่อสัตว์โลกทั่วไป
ทุกวันนี้จะหาได้ที่ไหน ใครๆก็ตัดช่องน้อยแต่พอตัวทั้งนั้นไม่มีเผื่อแผ่ให้ใครอื่น
ถ้าคิดในแง่นี้ก็ออกจะเห็นประโยชน์ชัดอย่างมาก
ส่วนการส่งข้าวเปรต มองด้วยสายตาคนหัวก้าวหน้ายิ่งเหลวไหลใหญ่
เอาข้าวปลาอาหาร หมากพลูบุหรี่ไปแขวนไว้ตามต้นไม้ หรือริมรั้วแล้วเรียกผีเปรตมารับเอาไป คนหัวใหม่ใครจะเชื่อ
แต่มาคิดในแง่จิตใจก็จะได้ความชัดแจ้งว่า การกระทำอย่างนี้มีขึ้นก็เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีแก่บุพการี ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับไปแล้ว
ซึ่งจะแสดงออกโดยวิธีอย่างไรแบบไหน ก็ล้วนแต่เป็นผลส่งให้กระทำเพราะกตัญญู คิดได้อย่างนี้ก็เห็นดีแน่นอน
ประเพณีต่างๆ ที่ยึดถือปฏิบัติอยู่ทั่วไปไม่ว่าที่ไหนในเมืองไทยหรือในโลก
ก็ล้วนแต่เกิดขึ้นมาด้วยความรู้สึกเห็นชอบร่วมกันในหมู่ชนว่าเหมาะว่าดี
โดยอาจจะเริ่มจากใครคนหนึ่งปฏิบัติก่อน คนอื่นเห็นงามก็ทำตามกันมา
ในที่สุดก็ค่อยกลายเป็นสถาบันลงเป็นระเบียบแม่พิมพ์อันเดียวกัน มีหลักเกณฑ์สำหรับปฏิบัติอย่างแน่ชัดเหมือนกันทั้งหมู่คณะ
แม้ประเพณีบางอย่างจะหมดสมัยไปแล้วก็ตาม แต่ก็นับว่าเป็นมรดกสำคัญที่ตกทอดมา
ซึ่ง น่าจะดัดแปลงแก้ไขให้เหมาะสมทันยุคทันสมัยได้ ดีกว่าจะทอดทิ้งให้เสื่อมตายไป เพราะว่าเจตนา เป้าหมายและประโยชน์ก็เห็นได้ว่ามีข้างดีอยู่ไม่น้อย
จะดัด แปลง แก้ ไข ปรับปรุง อย่างไร ฝากให้มวลชนคนอีสานช่วยคิด
……………………….
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารแปลก ฉบับที่ 505 วันที่ 29 ตุลาคม 2528