๑๒ สิงหาคม กับ ความทรงจำ ในการตามเสด็จต่างประเทศ

วันแม่ซึ่งคนทั้งประเทศไทยพร้อมใจเรียกแม่ และร่วมมือร่วมใจเฉลิมฉลองกันไปมากมายหลายรูปแบบ ล้วนแต่ยังความปีติ ปลาบปลื้มแก่ลูก ๆ ทุกคน

ไม่กล้าคิดและกล้ายอพระเกียรติด้วยสติปัญญาอันจำกัด แต่บอกได้ว่าไม่มีใครจะเขียนถึงพระองค์ท่านได้ดีไปกว่าพระองค์ท่านเอง

พระราชนิพนธ์ส่วนนี้คัดมาจากพระราชนิพนธ์ของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เรื่องความทรงจำในการตามเสด็จต่างประเทศทางราชการ

เชิญอ่าน ประวัติศาสตร์และแง่คิดที่พระองค์ท่านได้พระราชทานไว้

” การไปเยือนเยอรมันครั้งนั้น ข้าพเจ้าจำได้ว่าเราได้บทเรียนที่ดี ทางราชการเยอรมันขอให้ราชทูตไทย ที่กรุงบอนน์ส่งหมายกำหนดการ การเสด็จในครั้งนั้นอย่างละเอียดไปถวายพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรตั้งแต่ตอน ที่ประทับ
อยู่ที่อเมริกา ตอนนั้นข้าพเจ้ายอมสารภาพว่า ยังไม่ได้รับบทเรียนในเรื่องความอดทนดีพอ ครั้นได้เห็นหมายกำหนดการเยือนเยอรมันทั้ง ๙ วันเข้าก็หน้าซีด รู้สึกว่าหนักเหลือเกินเพราะขณะอยู่อเมริกาก็เหนื่อยเต็มทนอยู่แล้ว อดหลับอดนอนออกแขก ขึ้นเรือบินอยู่เกือบทุกวี่ทุกวันตลอดเดือน

จากอเมริกายังไม่ทันไรก็ต้องไปอังกฤษ แล้วไปเยอรมัน ไม่มีเวลาพอจะพักผ่อนเอาเรี่ยวแรงกลับคืนมา

จึง ทูลขอร้องพระเจ้าอยู่หัวให้ราชเลขาธิการติดต่อไปที่ราชทูตไทยที่กรุงบอนน์ ให้ลองถามไปอย่างส่วนตัวว่าจะมีหนทางตัดอะไรที่จำเป็นน้อยหน่อย ออกเสียบ้างจะได้หรือไม่ ก็ได้รับคำตอบเป็นใจความย่อ ๆ ว่าไม่น่าจะโปรดให้ตัดรายการอะไร เพราะการเสด็จพระราชดำเนินเยือนเยอรมันทางราชการเช่นนี้ ควรจะพระราชทานโอกาสให้เขาได้ถวายการต้อนรับเต็มที่ เขาตั้งใจจะให้เสด็จเยี่ยมเมืองสำคัญต่าง ๆ ของเขา และให้ทอดพระเนตรเห็นกิจการทุกด้าน ตั้งแต่วัฒนธรรม ตลอดจนอุตสาหกรรมในบ้านเมืองของเขา ให้มากที่สุด ถ้าทรงตัดออกเสีย เขาก็จะไม่จุ ใจในการต้อนรับเสด็จ

ข้าพเจ้าได้คิดทันทีว่าเขาพูดถูก เราสองคนไปครั้งนั้น ไม่น่าจะคิดถึงความสะดวกสบาย ก็เมื่อไปทำงานในฐานะเป็นประมุขของประเทศอื่นแล้ว จะไปขอต่อรองลดหย่อนกับประเทศที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเหน็ดเหนื่อยของเรา ดูจะไม่เป็นการยุติธรรมแก่เขา จึงเป็นอันว่าเราตกลงยอมรับราชการที่รัฐบาลเยอรมันจัดให้ทุกประการ

ใน วันแรกที่เราไปถึงเยอรมัน เราทั้งสองรู้สึกตื่นเต้นยินดียิ่งนัก ที่เห็นประชาชนมาคอยต้อนรับเราอย่างล้นหลามทุกแห่งที่เราไป ต่างร้องถวายพระพรโบกมือ แสดงความยินดีต่อเราจนเห็นได้ชัด
ข้าพเจ้ารู้สึกแปลกใจไม่นึกว่าจะได้รับการต้อนรับที่อบอุ่น แสดงไมตรีจิตจนถึงขนาดนั้น
เพราะเห็นว่าเยอรมันเป็นประเทศที่ร่ำรวย ก้าวหน้ามาก โดยเฉพาะทางเศรษฐกิจ
เราทั้งสองมาจากประเทศทางตะวันออกไกลที่ไม่ร่ำรวย และไม่สำคัญอะไรนักสำหรับชาวยุโรป
จึงออกจะถ่อมตัวไม่กล้านึกวันไปถึงเมืองหลวง ราษฎรจะพร้อมใจกันมารับมากมายเป็นหมื่นเป็นแสน จนไม่มีที่ว่างเลยตามข้างถนน

ตลอด ทางตั้งแต่สถานีไปจนถึงที่พัก ทุกคนมีใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสร้องตะโกนถวายพระพรบ้าง ร้องว่าเมืองไทยจงเจริญบ้าง แม้เมื่อมาถึงที่พัก ซึ่งมีประชาช มายืนคอยอยู่เป็นพัน ๆ ตามสองข้างทางที่เราจะเดินผ่านเข้าไปในตึก พอเห็นเราเขาก็จะปรบมือร้องให้พรกันเกรียวกราว จนกระทั่งเราเข้าไปในที่พักแล้ว ราษฎรที่คอยอยู่ข้างนอกก็ไม่ยอมกลับไป กลับจับกลุ่มใหญ่ขึ้นทุกที เพราะพวกที่คอยอยู่ที่อื่นมา พลอยสมทบแล้วยังส่งเสียงตะโกนเรียกให้เราออกไปให้เห็นอีก

ในที่สุด อธิบดีกรมพิธีการทูตของรัฐบาลเยอรมัน ซึ่งอยู่ประจำเราตลอดเวลาก็เข้ามาปรึกษาว่า จะโปรดให้ทำอย่างไรดี ราษฎรเป็นหมื่นไม่ยอมกลับบ้าน ตะโกนเรียกพระนามและยืนคอยอยู่จนกว่าจะได้เห็นพระองค์อีก

พระเจ้า อยู่หัวจึงทรงตัดสินพระทัยชวนข้าพเจ้าออกไปที่เฉลียง พอราษฎรได้เห็นเราก็ปรบมือ โบกมือต้อนรับกันเกรียวกราว ครั้นเราออกไปยืน ยิ้ม โบกมือให้เขาอยู่เป็นครู่ใหญ่ ๆ แล้วจึงกลับเข้ามา เขาก็ไม่ยอมกลับบ้าน ตะโกนเรียกให้เราออกไปอีก เราต้องเดินออกไปหาเขาถึง ๓ ครั้งเขาจึงยอมกลับบ้าน เพราะเห็นใจว่า เราเดินทางมาไกล คงจะเหนื่อยควรจะได้พักผ่อนเหมือนกัน

ประชาชนชาวเยอรมันคงจะไม่มี วันทราบว่าเราทั้ง ๒ จะไม่ลืมการต้อนรับที่อบอุ่น แสดงน้ำใจอันน่ารักซึ่งเขาทั้งหลายแสดง ต่อเราทุกหนทุกแห่งตลอดเวลาที่เราเดินทางท่องเที่ยวไปตามเมืองต่าง ๆ ในประเทศของเขาถึง ๙ วันเป็นอันขาด ช่างสมกับคำว่า State Visit เสียจริง ๆ เพราะคนทั้งชาติร่วมกับรัฐบาลของเขาในการสร้างความรู้สึกที่เป็นไมตรีอันดี ยิ่งแก่ผู้แทนของชาติที่ไปเยี่ยมขนาดจะจำไว้ตลอดชีวิตทีเดียว

ข้าพเจ้า นึกไม่ถึงจริง ๆ ที่ชาวเยอรมันจะสนใจต่อเราถึงขนาดไม่นึกถึงความสบายส่วนตัว ยอมอดหลับอดนอนทรมานร่างกาย ยืนรอเราอยู่เป็นชั่วโมง ๆ เพื่อจะได้เห็นเราเพียงครู่เดียว เป็นเหตุการณ์ที่น่าจับใจที่สุด ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวและข้าพเจ้าจะลืมเสียมิได้ นึกถึงครั้งใดจะต้องปลาบปลื้มและอบอุ่นอยู่ในใจเสมอมา

การต้อนรับ ของชาวเยอรมันครั้งนั้น ทำให้ข้าพเจ้าอดนึกไม่ได้ว่า ถ้าเราไปเยี่ยมประเทศใดแล้ว ประชาชนเจ้าของบ้านไม่สนใจที่จะร่วมมือกับรัฐบาลของเขาออกมาต้อนรับเรา เราคงจะอดใจหายไม่ได้เมื่อเห็นถนนว่างเปล่าปราศจากผู้คน เพราะไม่มีใครที่จะสามารถบังคับ กะเกณฑ์คนหมู่มากเป็นหมื่น ๆ ให้ออกมายืนข้างถนนเชียร์บุคคลที่เขาไม่ได้สนใจได้

ถึงแม้รัฐบาลจะ จัดการต้อนรับอย่างเต็มที่ มีทหารกองเกียรติยศเล่นเพลงสรรเสริญพระบารมีไปตลอดทาง และติดธงทิวจนปลิวไสว แต่ถ้าไม่มีฝูงชนออกมา โห่ร้องต้อนรับด้วยแล้ว เราคงจะรู้สึกว่าการที่รัฐบาลของเราจัดการให้เราไปต่างประเทศยอมเสียเงิน เสียทองมากมายนั้น ไม่ได้ผลเท่าที่ควรเสียแล้ว

นี่คือความรู้สึกส่วนตัวของเราทั้ง ๒

เชื่อ ว่าความรู้สึกของประมุขอื่น ๆ ที่ไปเยือนต่างประเทศก็คงจะเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่มีประมุขต่างประเทศมาเยี่ยมเมืองไทย ข้าพเจ้ามักคิดลำบากใจ ไม่สบายใจล่วงหน้าทุกครั้ง

กลัวพวกเราจะไม่พากันออกไปรับเขาพร้อมพรั่ง อย่างที่พลเมืองของเขาเคยต้อนรับเรา

ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นเจ้าของบ้านคนหนึ่ง ในการต้อนรับประมุขต่างประเทศที่มาเยี่ยมประเทศไทย อยากจะขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า
การแสดงน้ำใจของประชาชนต่อแขกเมืองเวลาเขามาเยี่ยม
เป็นการเจริญทางสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศเรา กับประเทศเขาได้ดียิ่ง ไม่แพ้การทูตหรือการใด ๆ ทั้งสิ้น

ขอ ย้อนกลับไปเล่าถึงการเยี่ยมมืองเยอรมันครั้งนั้นต่อไปอีกนิด เมื่อครบกำหนด ๙ วัน รัฐบาลเยอรมันก็จัดรถไฟขบวนเดิมไปส่งเรากลับประเทศสวิส เมื่อรถไฟพระที่นั่งหยุดที่สถานีสุดท้ายซึ่งเป็นเขต แดนเยอรมันติดต่อกับสวิส เพื่อให้เจ้าหน้าที่เยอรมันบางคนที่มาประจำเราทั้ง ๒ ลากลับนั้น ที่สถานีเต็มไปด้วยผู้คนรถไฟก็จอดอยู่อีก ๒ ขบวนทั้งทางรางข้างซ้ายและขวาของ ขบวนรถเราผู้โดยสารต่างยื่นหน้าอันยิ้มแย้มแจ่มใสออกมาโบกมือกับเราทั้ง ๒

ครั้น เมื่อรถไฟพระที่นั่งเตรียมจะเคลื่อนขบวนไปเข้าเขตแดนสวิส ผู้คนทั้งหมดที่สถานี รวมทั้งเจ้าพนักงานรถไฟ เจ้าหน้าที่เยอรมัน บางคนที่ ประจำเราอยู่ตลอด ๙ วัน ผู้โดยสารในรถไฟทุกคน
รวมทั้งประชาชนที่เผอิญ อยู่ที่สถานีตอนนั้น ต่างร่วมกันร้องเพลง “Auf Wiedersenhen” (ภาษาอังกฤษคงจะว่า “Till we meet again”) ร่ำลาเราทั้ง ๒ ด้วยความอาลัย

ไม่ได้มีการนัดแนะกันมาก่อนเลย อยู่ ๆ พอรถไฟจะออกก็มีใครผู้หนึ่งเป็นต้นเสียงร้องขึ้น แล้วทุก ๆ คนในที่นั้นก็ร้องตาม

ขบวนรถไฟพระที่นั่งแล่นช้า ๆ ออกจากเขตแดนเยอรมันด้วยเสียงเพลงลาอันไพเราะเพราะพริ้ง ที่ประชาชนพร้อมใจกันร้องร่ำลาเรา
ทำให้เราทั้ง ๒ เกิดความซาบซึ้งปนกับความเศร้า และอาลัยที่ต้องจากประชาชนเยอรมันที่น่ารักไป

ความตื้นตันทำให้คนไทยที่ตามเสด็จมาในขบวนน้ำตาไหลไปหลายรอบ “

ขอจงทรงพระเจริญ ยิ่งยืนนาน

…………………………………..

ตีพิมพ์ครั้งแรกใน แปลกฉบับที่ 598  วันที่ 11 สิงหาคม 2530

แชร์ :

ความคิดเห็น

** โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างมีวิจารณญาน