ภิกษุ 6 แผ่นดิน หลวงปู่สี ฉันฺทสิริ
วัดเขาถ้ำบุนนาค บ.โพนทอง อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์
คำชี้นำ ถึงแหล่งที่อยู่พระเครื่องดีอย่างที่ได้สืบมากันมาตลอดนั้น ได้มีมาถึงผมอีกแล้วอย่างน่าทึ่ง
“พระของหลวงปู่สียังมีอยู่” คุณวิชิต ฉลองชัยวรการ บอกผมเหมือนลมพัดผ่านไปวูบหนึ่งในตอนบ่ายของต้นเดือนมิถุนายน
“หลวงปู่ ศรีผีย่านหรือครับ” วูบไหวที่ฉาบฉวยนั้นทำให้ผมไพล่นึกไปถึง หลวงปู่ศรี ฐิตธมฺโม วัดหลวงสุมังคลาราม ศรีสะเกษ ที่ได้เคยเขียนถึงพระเครื่องรุ่นสุดท้ายของท่านไปนานแล้วอย่างช่วยไม่ได้
ก็ “สี” กับ “ศรี” คือคำเดียวกันเมื่ออยู่ในปากที่เปล่งออกมา
หูที่เหมือนต้นอ้อก็เพี้ยนไป
สัพพัง อะปราทัง ขะมะถะเม ภันเต
ถ้าจะต้องระลึกถึง หลวงปู่สี ฉันฺทสิริ อย่างปุบปับฉับพลัน จะระลึกถึงอะไร
คงมีแต่คำอันเคยก้องหูไม่จางคลายที่หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ บอกปัดการเสกพระครั้งหนึ่ง กับคณะผู้สร้างพระกลุ่มหนึ่งที่เพิ่งเดินทางมาจากเขาถ้ำบุนนาค ด้วยเหตุผลอันน่าตื่นใจจริง
“หลวงปู่สีเอามือซาวพระ 3 ที ดีกว่าฮาเสกพระปีหนึ่งหนา”
เบื้องหลังคำปฏิเสธอันได้โชว์ถึงความ ยิ่งใหญ่ของหลวงปู่สีนี้มีอยู่ว่า กลุ่มผู้สร้างพระดังกล่าว ได้สร้างพระมากราบขอบารมีหลวงปู่สีปลุกเสกให้ แต่ท่านกลับไม่ทำอะไรเลย นอกไปจากควานมือออกมาซาวพระ 3 ครั้ง
จะหลับตาสักพริ้มหนึ่งก็ไม่มี จะบริกรรมมนต์อันใดสักซุบซิบหนึ่งก็ไม่ได้ยิน จะเป่าลมปากสักฟู่หนึ่งก็ไม่เห็น
ด้วยกิริยาประหนึ่งซาวข้าวสารที่ ไม่เหมือนเสกพระอย่างนั้น ยังจะเป็นการเสกพระอยู่หรือ
ถ้าเป็น – จะขลังอยู่หรือ
ฟ้าแลบก็ยังจะดูช้ากว่าการเสกพระของหลวงปู่สี เพราะมันยังจะต้องมีเค้าของเมฆฝนก่อน
ไม่มีอะไรทำให้เกิดความมั่นใจ ได้เลย ว่างั้นเถิด
พวกเขาจึงตกลงใจหอบหิ้วพระทั้งหมดขึ้นดอยแม่ ปั๋ง กราบขอหลวงปู่แหวนปลุกเสกให้อีกสักครั้ง
นี่คือที่มาของคำ ปฏิเสธอันน่าตื่นใจ มันเปิดแสงสว่างจ้าในหัวใจทุกคนจนเต็มปรี่ ศรัทธาขยายพองคับอกเพียงคำพูดสั้น ๆ แค่นั้น
“ท่านเอามือถูกพระน่ะดีแล้ว หนา ฮายังไม่เคยเอามือถูกพระเลย”
ใครจะไปรู้ว่า หลวงปู่แหวน ท่านถือเอาหลวงปู่สีเป็นครูบาอาจารย์ของท่านอีกรูปหนึ่ง
นี่คือความ จริงบนดอยแม่ปั๋งที่มีต่อเขาถ้ำบุนนาค
มีผู้บอกผมว่า หลวงปู่สี เป็นเพื่อนกับหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า เรื่องนี้ผมไม่เคยทราบ แต่มันทำให้ผมนึกถึงอีกแง่หนึ่งว่า ในบรรดาภิกษุรุ่นราวคราวเดียวกับหลวงปู่ศุข ที่เกิดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เห็นมีแต่หลวงปู่สีรูปเดียวเท่านั้น ที่มีชีวิตยืนยาวมาจนถึงรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ปัจจุบัน
แม้หลวงปู่เคน วัดเขาอีโต้ ปราจีนบุรี จะเป็นภิกษุอีกรูปหนึ่งที่มีอายุเกินร้อยปี แต่เมื่อเปรียบกับหลวงปู่สีแล้วหลวงปู่เคนยังมีอายุน้อยกว่า
หลวงปู่สี ฉันฺทสิริ เกิด พ.ศ. 2392 ได้เห็นการผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน 6 ครั้ง เรียกว่าเป็นภิกษุ 6 แผ่นดิน ได้เต็มปากเต็มคำ
มีบันทึกของฝ่ายศิษย์ท่านหนึ่งบอกว่า เรื่องอายุยืนของหลวงปู่สีนั้น มีเหตุมาจากท่านได้ฉันยาอายุวัฒนะในป่าภาคเหนือของประเทศไทยในสมัยที่ยัง ธุดงค์ ท่านได้พบคนกลุ่มหนึ่งโดยบังเอิญ พวกเขามีทั้งหมด 4 คน กำลังล้อมวงดื่มกินอะไรบางอย่าง เมื่อท่านเข้าไปใกล้ ๆ ก็พากันเอะอะว่า
“หลวงพ่อมาช้าไป พวกผมเพิ่งกินยาอายุวัฒนะหมด ไปเดี๋ยวนี้ แต่ที่หกรดอยู่ตามใบไม้ใบหญ้าก็พอมีอยู่ หลวงพ่ออย่างรังเกียจเลย ขอให้ฉันเสียเถิด”
ไม่มีใครรู้คนกลุ่มนี้เป็นใครมาจากไหน แต่ยาเพียงไม่กี่หยดก็ทำให้ท่านกลับเป็นภิกษุอายุยืนได้อย่างน่าอัศจรรย์
เรื่องนี้ฟังแปลกดี ถือเป็นเรื่องลี้ลับ ที่คนหลายคนกำลังพยายามค้นหาแต่หาไม่พบ ถ้าหากว่ายาอายุวัฒนะนั้นเป็นของที่หาได้ง่าย ๆ และแพร่หลาย คงจะมีผู้อายุยืนเป็นร้อยปีอีกมาก รวมทั้งผมก็เอาด้วยคนหนึ่งแน่ ๆ
อัตประวัติของหลวงปู่สี ฉันฺทสิริ ไม่ค่อยมีปรากฏแพร่แหลายสักเท่าไหร่ แต่ชื่อเสียงและกิตติคุณของท่านเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทั่วไป ซึ่งผมก็จะได้นำมาเล่าไว้ในที่นี้ อย่างเท่าที่จะทำได้ โดยอาศัยข้อเขียนเก่า ๆ จากหลายท่านที่ได้เขียนเผยแพร่ไว้ และจะเล่าแต่พอย่อ ๆ ให้ได้แต่ใจความสำคัญเท่านั้น
ภูมิลำเนา – ปฐมวัย
หลวงปู่สีเป็นชาวสุรินทร์ สถานที่เกิดปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอรัตนะ เข้าไปอยู่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก อาศัยในวัดสุทัศน์ ศึกษาเล่าเรียนเบื้องต้นที่นี่ จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ท่านถูกเกณฑ์ทหารและเป็นทหารจนกระทั่งปลด พอปลดแล้วไปนครสวรรค์ ประกอบอาชีพล่าสัตว์ และค้าวัวควายอยู่ในเขตอำเภอตาคลี
บวช
อายุ 40 ปี ท่านจึงได้บวชที่วัดบ้านเช่า (บ้านหมี่) จังหวัดลพบุรี มีพระครูธรรมขันธ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากบวชได้ 7 วัน ก็ออกจากวัดบ้านเช่าไปพักจำพรรษาที่ถ้ำเขาเลียบ ในเขตตำบลช่องแค อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ เปิดฉากชีวิตธุดงค์ด้วยก้าวแรกที่นี่
ชีวิต ธุดงค์
หลวงปู่สี ใช้ชีวิตในเพศบรรพชิตด้วยการเดินธุดงค์เป็นส่วนใหญ่ เคยธุดงค์ไปถึงพระบาท 4 รอย และประเทศอินเดีย รวมทั้งลาวก็เคยจำพรรษาอยู่หลายปี
หลวงปู่ เล่าว่าตอนธุดงค์ไปพระบาท 4 รอย เมืองเชียงตุง นั้น หลงป่าอยู่ 11 วัน ไม่ได้ฉันอาหาร พอรุ่งเช้าวันที่ 12 ขณะกำลังนั่งสวดมนต์ ได้มีช้างป่า 2 เชือก นำหัวบัวและอ้อยมาถวาย ท่านจึงได้หัวบัวมาต้มกับน้ำอ้อยฉันเป็นอาหาร ช้างป่าทั้ง 2 เชือกก็ไม่หนีไปไหน มันรอจนหลวงปู่ฉันเสร็จแล้วเดินนำทางหลวงปู่ออกจากป่า
หลวงปู่สี เลิกธุดงค์เมื่ออายุ 114 ปี เนื่องจากเห็นว่าสังขารไม่อำนวยแล้ว และท่านได้มาพำนักที่วัดเขาถ้ำบุนนาคในปี พ.ศ. 2511
ปาฏิหาริย์และพลังจิต
หลวงปู่สีเป็นผู้ที่สามารถรู้เหตุการณ์ล่วงหน้า เช่นเมื่อปี 2512 ท่านบอกกับกรรมการวัดว่า ใต้สระน้ำในวัดเขาถ้ำบุนนาคนี้มีพระพุทธรูปโบราณ 2 องค์จมอยู่ ต่อปลายปีน้ำในสระจะแห้ง ให้ขุดพระขึ้นมาเสีย
พอปลายปีน้ำในสระก็แห้งจริง คณะกรรมการวัดลงมือขุดจนพบพระพุทธรูป 2 องค์จริง
คราวเกิด จลาจล 14 ตุลาคม 2516 ที่เรียกว่าวันมหาวิปโยค นายณัฐพันธุ์ เหลืองบำรุงรักษ์ ชาวอำเภอตาคลี ไปกราบหลวงปู่เพื่อขอหวย
เรียกว่า “ขอปัญหา”
หลวงปู่บอกว่า ปัญหางวดนี้บ่มีหรอก ในเมืองยุ่งกันอยู่
เหตุจลาจลตอนนั้นยังไม่รุนแรงและไม่มีใครเล่าให้ท่านฟัง และเรื่องประกาศระงับการออกสลากในตอนนั้นก็ยังไม่มีวี่แวว มามีประกาศงดออกสลากภายหลังจากท่านได้พูดไปแล้วหลายวัน
ย่นระยะเวลาได้
คราวที่ท่านธุดงค์ไปพระบาทสระบุรีกับหลานชายซึ่งขณะนั้นยังบวช เป็นสามเณร เดี๋ยวนี้คือ หลวงตาแว่น ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าท่านยังอยู่ดีหรือไม่ ถ้ายังอยู่ดีสุขภาพแข็งแรง ตอนนี้ท่านจะมีอายุประมาณ 89 ปี เรื่องนี้ก็หลวงตาแว่นนี่แหละเป็นผู้เล่าไว้ตั้งแต่ปี 2517 โน่น
หลวงตาแว่นเล่าว่า ได้ติดตามหลวงปู่สีไปพระบาทสระบุรี แต่พอขากลับ ฉันอาหารเช้าเสร็จที่พระบาทฯ หลวงปู่สีบอกให้ท่านเดินนำหน้า พอเดินมาถึง ต.ช่องแค ปรากฏว่ายังไม่เที่ยง ทันเวลาฉันเพลพอดี
“ระยะทางจาก อ.พระพุทธบาท ถึง ต.ช่องแค เกือบ ๆ 200 กิโลเมตร ถ้านั่งรถยนต์ขับเร็ว ๆ ก็ใช้เวลาร่วม 3 ชั่วโมง ไม่รู้ว่าเดินถึงช่องแคทันฉันเพลได้ยังไง”
วัตถุมงคล
แทบไม่น่าเชื่อสำหรับภิกษุที่มีคุณวิเศษเพียบพร้อม อย่างหลวงปู่สี จะไม่เคยสร้างเครื่องรางของขลังและพระเครื่องใด ๆ เลยจนกระทั่งปี พ.ศ. 2517
สาเหตุที่ท่านไม่ทำของขลัง มีเรื่องเล่าว่า สมัยที่ท่านอายุได้ 70 กว่าปี ขณะจำพรรษาอยู่วัดป่า จ.ลพบุรี หลวงปู่เคยทำผ้ายันต์ให้ชายคนหนึ่งไป ต่อมาชายคนนั้นได้ปรากฏชื่อระบือในฐานที่เสือปล้น เขย่าขวัญประชาชนทั่ว ๆ ไป
เจ้าหน้าที่ปราบไม่ได้
ยิงเท่าไหร่ ๆ กระสุนก็ไม่ระคายผิว
ไม่เคยเลือดตกยางออก เพราะอาวุธตำรวจ จนกระทั่งตัดสินใจเข้ามอบตัวสำนึกผิดเอง
เมื่อมอบตัวกับตำรวจแล้ว เจ้าเมืองลพบุรีได้มีบัญชาให้นำตัวชายผู้นี้เข้าพบเป็นกรณีพิเศษ เพื่อถามคำถามสำคัญว่า “มีอะไรดี”
เขาควักผ้ายันต์ของหลวงปู่สีให้ เจ้าเมืองดู
หลังจากนั้นท่านเจ้าเมืองได้เดินทางไปกราบหลวงปู่สีถึง วัดป่า และขอร้องท่านไว้ว่าต่อไปอย่าให้ของขลังใครอีกเลย กลัวคนมันจะเป็นโจรกันหมด
แต่นั้นมาไม่เคยมีใครได้เครื่องรางของ ขลังจากหลวงปู่สีอีกเลย
จนกระทั่งปี 2517 ท่านมีอายุ 125 ปี 85 พรรษา และมาพำนักอยู่วัดเขาถ้ำบุนนาคแล้ว ทางกรรมการวัดซึ่งได้ดำเนินการก่อสร้างพระอุโบสถมาตั้งแต่ปี 2514 ติดขัดเรื่องทุนทรัพย์มาโดยตลอด ได้ตัดสินใจกราบขอพึ่งบารมีท่านว่า
“ถ้า หลวงปู่ไม่ออกของขลัง โบสถ์จะไม่เสร็จ”
ท่านจึงเริ่มให้ชานหมากที่ เคี้ยวอยู่แก่คนทั่ว ๆ ไปที่มากราบท่านเป็นประเดิม
ชานหมากก็ไป สร้างชื่อว่า แคล้วคลาด คงกระพัน ดียิ่งนัก ซึ่งคนในตลาดตาคลีเข้าใจดีทุกคน
ในที่สุดพระเครื่องต่างๆ ก็ได้ถูกสร้างขึ้น ทดแทนชานหมากอย่างเป็นเรื่องเป็นราวโดยคณะกรรมการวัด และลูกศิษย์หลายฝ่ายได้ร่วมกันจัดสร้างขึ้นในรูปของเหรียญและพระเนื้อผง โดยมีเป้าหมายการสร้างอยู่ที่พระอุโบสถแทบทุกรุ่นทุกพิมพ์
ความนิยม
พระเครื่องของหลวงปู่สี ฉันฺทสิริ ในสนามพระเครื่องส่วนกลางยังไม่มีราคาแพงมากนัก โดยมากอยู่ในหลักร้อยต้น ๆ แต่ในท้องที่ของวัดเขาถ้ำบุนนาคก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง ดังนั้น ถ้าไปหาพระเครื่องของหลวงปู่สี แถวตำบลช่องแค อำเภอตาคลี ก็ต้องควักแพงหน่อยเป็นธรรมดา
แหล่งตกค้าง
พระครูวิศิษฎ์สมโพธิคณะ น.16 วัดพระเชตุพน หรือวัดโพธิ์ คือแหล่งตกค้างของพระเครื่องหลวงปู่สีที่สำคัญยิ่งในกรุงเทพฯ
เท่าที่ผมได้ไปกราบท่านพระครู และได้ตรวจดูพระเครื่องของหลวงปู่สี ที่ยังมีหลงเหลืออยู่กับท่าน พบว่ามีอยู่หลายพิมพ์ที่น่าสนใจ และมีจำนวนพอที่ผู้มีศรัทธาจะไปบูชากันได้ ดังนี้
1. รูปหล่อลอยองค์เนื้อตะกั่ว รมมันปู ให้บูชาองค์ละ 500 บาท (สร้าง พ.ศ. 2519)
2. เหรียญอายุยืนรูปไข่พิมพ์ครึ่งองค์หน้าตรง เนื้อทองแดง เหรียญละ 200 บาท (สร้าง พ.ศ. 2517)
3. เหรียญรูปไข่ เต็มองค์ รุ่นที่ระลึกผูกพัทธสีมา วัดเขาถ้ำบุนนาค เนื้อทองแดง เหรียญละ 100 บาท (สร้าง พ.ศ. 2519)
4. พระผงรูปเหมือนเต็มองค์ รุ่น อายุยืน องค์ละ 100 บาท (สร้าง พ.ศ. 2517)
5. พระปิดตา พิมพ์เล็บมือ องค์ละ 50 บาท (สร้าง พ.ศ. 2517)
6. พระปิดทวาร พิมพ์วัดหนัง องค์ละ 50 บาท (สร้าง พ.ศ. 2517)
7. พระรอดเนื้อผง องค์ละ 50 บาท (สร้าง พ.ศ. 2517)
เฉพาะรูปหล่อลอยองค์ เนื้อตะกั่วรมมันปูนั้น จำนวนสร้างแค่ 500 องค์ เท่านั้น เวลานี้เหลืออยู่ไม่มาก เป็นรูปหล่อที่น่าศรัทธา เพราะว่าก้นบรรจุไว้ด้วยมวลสาระสำคัญ 3 สิ่ง คือ
1. เกษาหลวงปู่สี
2. ชานหมากหลวงปู่สี
3. สีผึ้งหลวงปู่สี
ส่วนเหรียญอายุยืน ยังมีเหลืออยู่ไม่เกิน 100 เหรียญ เท่านั้น
ท่านพระครูบอกว่าได้จัด เป็นชุดไว้ก็มีอยู่ส่วนหนึ่ง โดยทำเป็นกล่องบรรจุทั้งชุดไว้อยางดีตั้งแต่สมัยปี 2519
ถึงทุกวันนี้ กล่องก็เก่าคร่ำคร่าไปบ้าง แต่การจัดชุดนั้นจะทำให้ผู้ศรัทธาประหยัดเงินได้ 50 บาท เพราะว่ามีพระทั้งหมด 6 องค์ ต่อ 1 ชุด คือมี 1. รูปหล่อลอยองค์ 2. พระผงอายุยืน 3. เหรียญที่ระลึกผูกพัทธสีมา 4. พระปิดตาพิมพ์เล็บมือ 5. พระปิดทวารพิมพ์ วัดหนัง 6. พระรอดเนื้อผง คิดแยกเป็นองค์จะตกราคา 850 บาท แต่ถ้าบูชาทั้งชุดแล้ว ท่านพระครูคิด 800 บาท
ผู้สนใจสามารถเดินทางไป คณะ น. 16 วัดโพธิ์ท่าเตียน ได้ด้วยตนเอง ให้ท่านเข้าประตูตรงข้ามสถานีวิทยุรักษาดินแดน เป็นอันสะดวกที่สุด
ผู้สนใจศรัทธาขอเชิญทันที
ท่านพระครูบอกว่าเงินทั้งหมดจะเป็น มูลนิธิอาหารเด็กในโรงเรียนวัดวังเรือน ต.วังงิ้ว อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร ซึ่งท่านได้อุปถัมภ์ค้ำจุนอยู่
ท่านพระครูยังได้กล่าวอีกว่า ถ้าไม่มีเรื่องมูลนิธิอาหารของเด็กนักเรียนดังกล่าว พระของหลวงปู่สีที่ท่านสู้อุตส่าห์เก็บมานานนับ 20 ปี นี้คงไม่มีวันได้นำออกมาให้คนได้บูชากัน เนื่องจากว่าหลวงปู่สี ฉันฺทสิริ คือครูบาอาจารย์ที่ท่านเคารพนับถือยิ่งเช่นเดียวกับที่หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ ยกย่องหลวงปู่สีเป็นครูบาอาจารย์
ขอให้ผู้อ่านพิจารณาพระ ดีหลวงปู่สี เพื่อจะได้ชั่งใจดูว่าควรค่าแก่การที่จะได้ไว้ประจำตัวหรือไม่
……………………………..
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารศักดิ์สิทธิ์ฉบับที่ 253 วันที่ 16 กรกฎาคม 2536