ถึงกาลของผู้มีแสงสว่างในธรรม
มีคำพูดอยู่ประโยคหนึ่ง
“หมอตำแย ทำงานส่งสัปเหร่อ”
นั่นหมายถึง เกิดแล้วต้องตาย ถ้าไม่อยากตายต้องไม่อยากเกิด
ในทางโลก การเกิดเป็นเรื่องน่ายินดี การตายเป็นเครื่องเศร้า ในทางธรรมการเกิดเป็นเรื่องน่าเศร้าใจ การตายเป็นการสิ้นทุกข์ไปคราวหนึ่ง
เว้นแต่ผู้ถึงซึ่งพระนิพพาน การตายครั้งสุดท้ายจะปรากฏ
แต่ใครจะรู้ นอกจากตัวเอง
หลวงพ่อบุญมี โชติปาโล วัดสระประสานสุข อุบลราชธานี ได้ถึงกาลมรณภาพแล้วเมื่อเวลา 11.45 น. ของวันที่ 4 มิ.ย. 2547 มีอายุรวม 95 ปี 3 เดือน 4 วัน
เพิ่งรู้ว่าตัวเองยังไปไม่ถึงไหน ยังอยู่ในโลกอันตระการดุจราชรถที่คนเขลามัวข้องอยู่
เพราะว่าเศร้าเหลือ พรรณนา
ในรอบ 50 ปีหลังนี้ เมืองอุบลฯ มีครูบาอาจารย์ 2 องค์ เป็นหลัก คือ หลวงพ่อชา สุภัทโท กับ หลวงพ่อบุญมี โชติปาโล ที่อาจกล่าวได้ว่า มีคุณธรรมเสมอกัน เป็นหลักยึด 2 หลัก ให้คนกำลังค้นหาแสงสว่างในธรรมได้ยึด แต่แล้วธรรมชาติก็ทำงานของมันไปอย่างไม่ปรานี มันทำลายอายุขัย และสังขารของหลักยึดทั้งสองให้สิ้นไปในที่สุด ธรรมชาติอีกเหมือนกันที่ยังให้คุณแก่ผู้ยังอยู่ได้มีความทรงจำที่ดีต่อไป
ความทรงจำแจ่มชัดในวัยเด็กอันเกี่ยวข้องกับหลวงพ่อบุญมี โชติปาโล มีแม่ของผมรวมอยู่ด้วยคนหนึ่ง แม่ผู้ซึ่งมีหลวงพ่อเป็นพระในใจอยู่ตลอดเวลา กับการแสดงออกด้วยการเดินทางไปกราบนมัสการ ถวายอาหาร และข้าวของทุกวันหยุดประจำสัปดาห์ นั่นจึงเป็นเหตุให้มีผมได้ร่วมเดินทางทุกครั้ง
วันเสาร์เมื่อไหร่จะบอกตนเองเตรียมพร้อมไว้ ถ้าวันนี้แม่ไม่ไปก็จะเป็นวันพรุ่งนี้อย่างไม่ต้องสงสัย
สมัยนั้น (ราว ๆ ปี 2505) สนามบินนานาชาติทุกวันนี้ ยังมีสภาพไปทุ่งโล่ง มีลานบินคอนกรีตอยู่แค่ให้เครื่องบินขนาดเล็กขึ้นลงได้ เราใช้สนามบินเป็นทางเดินเท้าที่ลัดที่สุดเพื่อไปวัดหลวงพ่อ โดยการเดินผ่านสนามบินทุกสัปดาห์ และมีเพื่อนร่วมทางบ่อยที่สุดของแม่คือ น้าชัยฮวดซิ้ม กับอีกคนที่ไม่ถึงกับบ่อยนักคือ อาเหรียญฟ้ากู๊ ซึ่งมีลูกสาวรุ่นราวคราวเดียวกับผมคือ ปอเตียง ทั้งยังเรียนอยู่โรงเรียนเดียวกัน ห้องเดียวกันอีกด้วย
ปอเตียง เป็นเด็กเรียนเก่ง สอบได้ที่ 1 ทุกครั้ง ส่วนผมที่เป็นทั้งเพื่อนสนิทในตอนนั้น ทั้งเป็นญาติกันอีกต่างหาก ยังแค่ปานกลาง คือสอบได้ลำดับประมาณ 10 จะอ่อนแก่ก็แล้วแต่จังหวะของข้อสอบ
ครั้งหนึ่งผมสอบได้ที่ 2 ส่วนปอเตียงยังคงได้ที่ 1 เหมือนเดิม เกิดเหตุอัศจรรย์ไปทั้งวงศ์สกุล แต่เบื้องหลังไม่มีใครทราบข้อเท็จจริง นอกจากปอเตียงกับผม 2 คน
ปอเตียงให้ผมลอกข้อสอบ
ไม่ใช่ย่อย
รู้จักทุจริตข้อสอบตั้งแต่อายุแค่ 7 ขวบ
นั่นแหละครับ ผมจึงมีเพื่อนคนเดียวที่ได้ร่วมเดินทางไปวัดหลวงพ่อในขณะที่แม่มีเพื่อน 2 คน
ระหว่างเดินลัดสนามบินหน้าฝน มีน้ำเจิ่ง และทุ่งดอกหญ้าสารพัดชนิด เด็ก ๆ 2 คน ไม่เบื่อเลยที่จะวิ่งเก็บดอกไม้ และเอาเท้าทั้ง 2 ข้าง วิ่งลุยน้ำ
กลิ่นอายของต้นหญ้า ดอกไม้ และน้ำฝน
ยังคงจำได้ทุกวันนี้
หลวงพ่อในสมัยนั้นกับสมัยปลายชีวิตของท่านยังอยู่ ในอิริยาบถ และบรรยากาศเก่า ๆ ยังนั่งอยู่บนศาลาพื้นเตี้ย ทำได้ด้วยไม้ มุงสังกะสี คล้าย ๆ เพิงหมาแหงน แม้ว่าวัดจะใหญ่โตมโหฬารแค่ไหน ศาลาไม้เก่า ๆ ยังอยู่
จำไม่ลืมคือการเหยียบหัว
ผมถูกเหยียบหัวทุกครั้งที่พบท่านในวัยเด็กทั้งชอบและเกลียด สถานการณ์แบบนี้ คือชอบเพราะรู้สึกอบอุ่นใกล้ชิด เกลียดเพราะท่านรู้ความลับที่ผมมีอยู่ในใจคนเดียวได้อย่างไร
คำสอน พรั่งพรูออกจากปาก คำเดียวที่จำแม่นคือ ให้ปรนนิบัตกราบไหว้พระแก้ว 2 องค์ที่บ้าน คือ พ่อ กับ แม่ สอนอยู่เช่นนี้จนแม้ปลายชีวิตของท่านยังสอนไม่เสร็จ
ใช่แต่ผม ท่านสอนทุกคน ไม่เลือกชั้นวรรณะ ให้รู้จักกตัญญูกตเวทิตาแก่พระแก้วที่บ้าน
เหมือนว่าเป็นคุณธรรมแห่งอนาคต ที่ทำนายว่าวันหนึ่งพระจะลงนรกกันหมด ทำบุญกับพ่อแม่ในตอนนั้นจะมีอานิสงส์มากที่สุด
ไม่มีทางรู้ว่าสมัย อันนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่
แต่ท่านสอนให้ระลึกถึงพระแก้ว 2 องค์อยู่เป็นนิตย์ เป็นเหตุให้การกราบพระก่อนเข้านอนของผมมี 6 ครั้ง จนถึงวันที่กลายเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว
พระพุทธ, พระธรรม, พระสงฆ์, หลวงพ่อบุญมี, พ่อ, แม่
แปลกที่ความทรงจำของผมจะมีอยู่แค่ช่วงสั้น ๆ แต่เพียงครั้งยังเด็ก นึกถึงหลวงพ่อเมื่อใด วัยเด็กแจ่มชัดทุกคราว แม้เห็นผ้าเช็ดหน้าที่ท่านลงอักขระด้วยปลายนิ้วชี้ ที่ทำให้ผมแต่คราวโน้น ความทรงจำก็มีอยู่แค่คราวนั้น
ผ้าเช็ดหน้าสีขาวกลายเป็นเหลืองหม่น เป็นของมงคลอันเดียวที่ผมมีไว้ระลึกถึงท่าน
วันที่แม่ใกล้จะสิ้นอายุขัย หลวงพ่อบุญมีอุ้มบาตรมาเยี่ยมไข้ที่แสนหนักถึงบ้าน เพื่อให้แม่ได้ใส่บาตร ก็เป็นอีกภาพหนึ่งที่ไม่ลืม
ยังพอมีความทรงจำ ที่แจ่มใสอีกอันหนึ่ง เกิดขึ้นในคราวที่ทุกสิ่งทุกอย่างหายไปจากชีวิต หรือว่าชีวิตของผมหายไปจากทุกสิ่งทุกอย่างก็ไม่ทราบ
พ่อแม่ตาย อาเหรียญฟ้าตาย ปอเตียงหายสาบสูญ ไปไหนไม่รู้
ผมกลับมาหาหลวงพ่ออีกครั้ง หลังจากไม่พบท่านเกือบ 30 ปี
เดินเข้าไปในวัดอย่างคุ้นเคยเช่น เดิม ไม่พบหลวงพ่อ แต่คนวัดบอกว่าท่านอยู่อีกด้านหนึ่งของวัด ผมมุ่งหน้าไป เห็นพระแก่ ๆ นั่งยองเอาผ้าคลุมหัวอยู่ใต้ร่มไม้ เข้าไปกราบด้วยแน่ใจว่าเป็นท่าน
“มาหาใคร”
“มาหาหลวงพ่อ”
“นี่ไม่ ใช่หลวงพ่อ หลวงพ่ออยู่โน่น” ท่านชี้ไปทางศาลาการเปรียญ
ผมถอยกลับ ออกมาพอดีพี่สาวตามมาถึง ผมบอกว่าหลวงพ่ออยู่ที่ศาลา
“ใครบอก”
“หลวงพ่อองค์ที่นั่งอยู่นั่นแหละบอก”
“นั่นแหละหลวงพ่อ”
กลับเข้าไปใหม่ กราบท่านพร้อม ๆ กับพี่สาว ท่านไม่พูดอะไร จนกระทั่งพี่สาวกราบเรียนท่านว่า
“น้องชายหล่า (สุดท้อง) มาแต่กรุงเทพฯ พามากราบหลวงพ่อ หลวงพ่อจำได้ไหมเจ้าคะ”
“นี่ไม่ใช่น้องชายหล่า” ท่านตอบ
ผม ไม่รู้ปริศนาธรรมอันนี้ แต่ผมจำได้แม่นไม่เคยลืม
ไม่มีอะไรใช่ ทุกอย่าง
ไม่ใช่ไปหมดทุกอย่าง
จนถึงวันนี้ วันที่หลวงพ่อจากไปแล้ว และขณะที่กำลังรำลึกถึงท่านตามแบบของผม ก็ยังไม่รู้ว่าใช่หรือไม่
บางที่จะค้นพบแสงสว่างแห่งธรรม แล้วเข้าใจว่านั่นไม่ใช่แสงสว่างแห่งธรรม จึงจะเป็นวันที่เข้าใจปริศนาของคำว่าไม่ใช่ ก็ได้ใครจะรู้
…………………………………………..
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารศักดิ์สิทธิ์ฉบับที่ 516 วันที่ 1 กรกฎาคม 2547