ว่าไปแล้ว พระเครื่องหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ ได้เป็นที่รู้จักแก่คนทั่วไปก็ราวๆ ปีสองพันห้าร้อยกว่า เพราะว่ามีพระเครื่องหลวงพ่อทวดออกแพร่หลายไปทุกหนทุกแห่งตลอดเมืองไทย จะถือว่ารู้จักหลวงพ่อทวดกันตอนนั้นก็ได้คำที่เป็นพระเครื่องป๊อปปูล่าร์สุด ขีด
ในภาคไหนๆ เมื่อไปเที่ยวเมืองใต้ ก็มักแวะวัดช้างให้และถือเอาพระเครื่องหลวงพ่อทวดติดมือกลับบ้าน การเดินทางของหลวงพ่อทวดจึงแตกสายออกไป ทุกครั้งที่คนต่างถิ่นไปถึงวัดช้างให้ทุกวัน
ผู้ที่จุดประกายหลวงพ่อทวดให้เป็นที่รู้จัก และเลื่อมใสศรัทธาอย่างแท้จริง คือ ท่านอาจารย์ทิม (พระครูวิสัยโสภณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดช้างให้ ท่านเป็นปฐมบุคคลในการสร้างพระเครื่องหลวงพ่อทวด จนแพร่หลายอยู่ทุกวัน
มีเรื่องเล่าว่าเมื่อครั้งท่านอาจารย์ทิม มาครองวัดช้างให้ใหม่ๆ เกิดสงสัยเรื่องอาณาเขตวัด สอบถามชาวบ้านก็ไม่มีใครยืนยันได้ว่าเขตวัดมีไปถึงไหนอย่างไร คืนวันหนึ่งท่านอาจารย์ทิมฝันไปว่ามีคนแก่ยืนอยู่กลางลานวัด จึงเข้าไปถามว่าเขตวัดเป็นเช่นใด คนแก่บอกว่าต้องไปถามท่านเหยียบน้ำทะเลจืด แล้วนำท่านอาจารย์ทิมไปที่เขื่อน เห็นภิกษุผู้เฒ่าเดินออกมาจากในเขื่อน 3 รูป องค์สุดท้ายถือไม้เท้า 3 คด เดินยันออกมางกเงิ่น เพราะความชรากว่าเพื่อน คนแก่จึงบอกว่านี่แหละท่านเหยียบน้ำทะเลจืด ซึ่งภิกษุชราก็ได้กอดคอท่านอาจารย์ทิมออกเดินชี้อาณาเขตวัดจนเป็นที่เข้าใจ และยังบันดาลให้ท่านอาจารย์ทิมเห็นวัตถุต่างๆ ซึ่งไม่มีค่าอะไร เช่น พระพุทธรูปหล่อด้วยเงิน 1 องค์ แล้วกลับเข้าในเขื่อน ก่อนกลับบอกอีกด้วยว่า ถ้าท่านอาจารย์ทิมต้องการอะไรก็ให้บอก
สมัยปี 2497 ที่ได้มีการสร้างรูปหลวงพ่อทวดเป็นพระเครื่องเนื้อว่านครั้งแรก ต่างพากันให้ชื่อพระเครื่องว่า “ท่านช้างให้” แต่ท่านไม่เอา ท่านบอกให้ใช้ชื่อ “หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด” ชื่อหลวงพ่อทวดจึงปรากฏมาแต่นั้น
“ท่าน” ที่บอกว่าให้ใช้ชื่อหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืดก็คือภิกษุชราถือไม้ 3 คด ซึ่งก็คือหลวงพ่อทวดนั่นเอง
สื่อกลางในการติดต่อกับหลวงพ่อทวดเห็นจะเป็นท่านอาจารย์ทิมคนเดียว
คล้ายๆ กับหัวหน้าศาลเจ้าที่ เป็นร่างทรงจอมเซียน แต่ท่านอาจารย์ทิมไม่ได้เป็นร่างทรง ท่านมีวิธีของท่านในการสื่อสารกับหลวงพ่อทวด ซึ่งเป็นวิธีใดผมไม่ทราบ แต่รับประกันว่าท่านอาจารย์ทิมติดต่อหลวงพ่อทวดได้ถนัดชัดเจนกว่าใคร
เรื่องเหยียบน้ำทะเลจืด ก็มีเล่าไว้ 2 เหตุการณ์ อันแรกเกิดแต่สมัยหลวงพ่อทวดเรียนธรรม อยู่สำนักพระครูกาเดิม วัดสีมาเมือง เมืองนครศรีธรรมราช ท่านเรียนอยู่ 3 ปี จึงลากลับบ้านเกิด และได้โดยสารสำเภาของนายอินทร์ จากบ้านเกิดคือเมืองจะทิ้งพระ (สงขลา) ไปกรุงศรีอยุธยา เพื่อศึกษาธรรมเพิ่มเติม ระหว่างทางเกิดพายุใหญ่ เรือแล่นต่อไปไม่ได้จึงทอดสมอรอคลื่นลมสงบอยู่ 3 วัน 3 คืน น้ำจืดที่ตุนไว้ดื่มก็หมด นายอินทร์จึงกล่าวโทษหลวงพ่อทวดว่าเป็นเหตุให้เกิดภัยพิบัติ ขับไล่ลงจากสำเภา ครั้นหลวงพ่อทวดลงเรือเล็กที่จะนำท่านส่งขึ้นฝั่ง ท่านได้ยื่นเท้าลงเหยียบน้ำทะเลแล้วบอกให้ลูกเรือตักน้ำขึ้นมาดื่ม
น้ำทะเลกลายเป็นน้ำจืดสนิท
จืดเป็นวงกว้างราวล้อเกวียน
นายอินทร์เห็นเป็นเหตุอัศจรรย์ จึงทำการขอขมาลาโทษแล้วนำท่านส่งถึงกรุงศรีอยุธยาต่อไป
ครั้งที่ 2 เกิดสมัยท่านอายุราวๆ 80 ท่านเดินเล่นที่ชายหาด เรือโจรสลัดผ่านมาเห็นเข้า นึกแปลกใจว่าท่านเป็นคนประหลาด แต่งกายไม่เหมือนใคร (ห่มจีวร) จึงขึ้นฝั่งจับตัวลงเรือไป แต่เรือกลับนิ่งอยู่กับที่ ไม่สามารถแล่นออกไปไหนได้ โจรสลัดพยายามแก้ไขอยู่หลายวันก็ไม่สำเร็จ จนกระทั่งน้ำจืดหมด ท่านจึงทำอภินิหารเช่นเดิม คือเหยียบกราบเรือจนเอียงแล้วยื่นเท้าเหยียบน้ำทะเล น้ำเค็มก็จืดสนิท ก่อความอัศจรรย์แก่โจรทั้งปวง จึงพากันขอขมาลาโทษ และนำท่านส่งขึ้นฝั่ง
นี่จึงเป็นที่มาของสมญานาม หลวงพ่อทวด เหยียบน้ำทะเลจืด
เดิมหลวงพ่อทวด เป็นปูชนียบุคคลแต่เพียงภาคใต้ แต่ทุกวันนี้ท่านเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของคนทั่วประเทศ เรียกว่าเป็นสากลไปแล้ว
ที่เป็นสากล ยกเว้นพระพุทธองค์ ก็จะเห็นได้ว่ามีพุทธสาวกไม่กี่องค์ที่เป็นสากล เช่น พระสิวลี พระสังกัจจายน์ เป็นต้น ยุคหลังพุทธสมัยก็เห็นจะเป็นสมเด็จโต วัดระฆัง และหลวงพ่อทวด เป็นต้น
ความเป็นสากลดูได้ที่ความนิยมในการสร้างรูปของท่านทั้งปวงไว้กราบไหว้บูชา และถือติดตัวไว้เป็นเครื่องกันภัย หลวงพ่อทวดได้รับความนิยมในการสร้างรูปของท่านมากมายทั่วไป ไม่เลือกจะต้องเป็นแต่เพียงภาคใต้เท่านั้น ภาคอื่นๆ ก็ทำเช่นกัน ไม่ว่าใครจะทำและทำอยู่ที่ไหน ก็ดูจะได้รับความนิยมชมชอบไปทั้งสิ้น
หลวงพ่อทวดที่หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ วัดสะแก อยุธยา ปลุกเสก ดูจะเป็นที่นิยมมากกว่าที่อื่นๆ ส่วนหลวงพ่อด่วน จังหวัดระนอง ก็มีผู้นิยมไม่น้อยหรือ แม้แต่สำนักวัดสุทัศน์ฯ ก็สร้างจนประสบความสำเร็จมาแล้วในรุ่นเบ้าทุบ แต่ที่นิยมกันมากที่สุดในขณะนี้เห็นจะเป็น หลวงพ่อทวด วัดประสาทบุญญาวาส รุ่นเก่า ซึ่งท่านอาจารย์ทิมก็มาร่วมพิธีปลุกเสกด้วย
ปัจจุบันผู้ปลุกเสกหลวงพ่อทวดที่ได้รับความเชื่อถือที่สุดนั้นคือ ท่านอาจารย์นอง วัดทรายขาว นัย ว่าได้รับการถ่ายทอดวิทยายุทธ์ และกลวิธีอาราธนาหลวงพ่อทวดจากท่านอาจารย์ทิมมาเป็นอย่างดี หลวงพ่อทวดยุคนี้จึงโดดเด่นอยู่ที่วัดทรายขาว แต่วัดช้างให้เองก็ใช่ว่าจะหม่นหมองไป ยังคงเรืองรองอยู่ด้วยศรัทธาของสาธุชนทั้งหลายอยู่เสมอ มาตรว่าจะไม่มีท่านอาจารย์ทิมแล้วก็ตาม
ในบรรดาผู้สร้างรูปหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด นอกเหนือจากท่านอาจารย์ทิม วัดช้างให้แล้ว ล้วนแต่สร้างด้วยความเคารพเลื่อมใสในองค์หลวงพ่อทวดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นยุคไหนสมัยใด หลวงพ่อทวดถูกสร้างขึ้นด้วยความเชื่อมั่นในคุณวิเศษของท่านเสมอมา จนแม้คำพูดที่ว่า “ขอให้เป็นรูปหลวงพ่อทวดเท่านั้น จะเป็นรุ่นไหน ใครสร้างเป็นอันดีหมด” ก็มีให้ได้ยิน นี่ย่อมแสดงถึงศรัทธาในบารมีของหลวงพ่อทวดอันแพร่ไกลไพศาลจริงๆ
คุณสุชิน วีระนิติกุล หจก.เชียงใหม่วีระกิจ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอีกผู้หนึ่งที่เลื่อมใสศรัทธาในองค์หลวงพ่อทวดตลอดมา มีหลวงพ่อทวดติดสร้อยคอมาแต่สมัยวัยหนุ่มไม่เคยห่าง ซึ่งเรื่องนี้เป็นที่รู้จักในหมู่บ้านพ้องอย่างแท้จริงว่า คุณสุชินนับถือหลวงพ่อทวด และโดยส่วนตัวแล้วคุณสุชินก็ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับวงพระเครื่อง นอกจากจะเป็นเพียงผู้เช่าและบริจาคเข้ากองการกุศลแล้วได้รับพระเครื่องกลับมา เรียกว่าไม่ใช่นักเล่นพระ และไม่เคยเป็นนักสร้างพระเครื่องอีกด้วย
เมื่อจะได้สร้างพระเครื่องเป็นครั้งแรกในชีวิต คุณสุชินก็สร้างรูปหลวงพ่อทวด ที่เคารพนับถือเป็นปฐม
เดิมความคิดในการสร้างรูปหลวงพ่อทวดยังไม่เกิด แต่เกี่ยวเนื่องกับกองผ้าป่าที่ภรรยาคุณสุชินจะทำ เพื่อนพ้องจึงเสนอและหนุนให้ทำพระเครื่องแจกในงานผ้าป่าที่ทอดกันอยู่ทุกปี คุณสุชินก็เห็นดีด้วย และเลือกสร้างรูปหลวงพ่อทวดที่เคารพนับถือโดยไม่ลังเล
หลวงพ่อทวด รุ่นคุณสุชินสร้าง ถือเป็นพระดีที่น่าเลื่อมใสอีกรุ่นหนึ่ง ค่าที่องค์ประกอบ 3 ประการ ที่เป็นบรรทัดฐานของพระดีนั้นมีอยู่ครบถ้วน ทั้งเจตนา, มวลสาร และการเสก ซึ่งจะได้แสดงรายละเอียดให้ทราบต่อไป
นอกเหนือไปจากเจตนาจะสร้างแจกผู้ร่วมกุศลถวายผ้าป่า (ยังไม่กำหนดว่าเป็นวัดใดในปีนี้) ก็คิดแบ่งถวายตามวัดต่างๆ โดยเน้นที่วัดซึ่งเป็นสำนักของครูบาอาจารย์ที่มีส่วนร่วมปลุกเสกหรือร่วมกัน อำนวยความสะดวกหลังจากเหลือแบ่งถวายแล้วจะนำเข้ากองผ้าป่าทั้งหมด
ในการดำเนินการสร้างหลวงพ่อทวดรุ่นนี้มีหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่เป็น คุณพิชย จารุทัศนางกูร บ.สยามซานิทารีแวร์ คุณสุวัฒน์ พบร่มเย็น (อาจารย์เบิ้ม) ส่วนคุณสุชินไม่ได้ลงมาเต็มที่ เพราะป่วยอยู่ แต่เป็นผู้คอยอนุมัติเรื่องการดำเนินงานในฐานะประธานใหญ่ ทั้งคุณพิชย และอาจารย์เบิ้มก็ทุ่มโถมกำลังทำงานนี้กันอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย อย่างน่าชื่นใจยิ่ง
ในการรวบรวมมวลสารก็ทำโดยไม่เสียดมเสียดาย พระเครื่องแพงๆ และดีมีจำนวนมากมาย ถูกนำมาบดเป็นผงเป็นมวลสาระสำคัญในองค์หลวงพ่อทวดเนื้อผงว่าน และเนื้อโลหะก็รวมเอาพระกริ่งและเหรียญคณาจารย์สำคัญ รวมน้ำหนัก 14 กิโลกรัม หลอมลงเป็นเนื้อหลวงพ่อทวดโลหะ
ยกตัวอย่างมวลสาร เนื้อผงว่านก่อน
หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก ปี 2485, พระพรหม 4 หน้า หลวงปู่ดู่ เนื้อสีชมพู, พระผงหลวงพ่อทวด รุ่นเปิดโลก ฝังพระธาตุ หลวงปู่ดู่, พระ 5 เหลี่ยมเล็ก รุ่นสุดท้ายของหลวงปู่ชา, วัดหนองป่าพง, หลวงพ่อทวด วัดดีหลวง, หลวงพ่อทวด วัดเมืองยะลา ปี 2505, หลวงพ่อทวด รุ่นเอ็ม.16, หลวงพ่อทวดเนื้อ ว่านลงยาวัดบวรฯ, หลวงพ่อทวด วัดนวล, หลวงพ่อทวด วัดประสาทบุญญาวาส, หลวงพ่อทวดวัดระเว, หลวงพ่อทวดวัดสุทัศน์, ลูกอมหลวงปู่ดู่, เม็ดยาจินดามณีหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว, สมเด็จวัดพลับพลา ปี 2518, ปรกงู หลวงปู่พรหมมา, หลวงพ่อโต หลวงปู่ดู่, รูปเหมือนหลวงพ่อเกษมหลายรุ่น หลายพิมพ์, ชินราชผง หลวงปู่หม่น วัดคลองสิบสอง, ผงดินพระธาตุพนม, ผงพระสมเด็จหลวงปู่คำพันธ์ รุ่นแรก(มาก), ผงพระกำแพงศอก หลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่สาม, หลวงปู่ผาย, ผงหลวงพ่อทวดวัดทรายขาว ของท่านอาจารย์นอง, ผงของท่านอาจารย์ศรีเงิน วัดดอนศาลา, ผงกรุเจดีย์บางขุนพรหม, ผงพระธาตุท่าอุเทน, ผงพระสมเด็จ พระปิดตา รุ่นแรก หลวงปู่พรหมมา, ผงอิทธิเจหลวงปู่พรหมมา, ผงว่านหลวงพ่ออุตตมะ, ผงธูปศาลหลักเมือง กทม., ผงธูปศาลเจ้าพ่อเสือ, ผงธูปวัดเล่งเน่ยยี่, ผงพระธาตุจอมทอง และผงอังคารธาตุหลวงปู่ขาว อนาลโย ฯลฯ
นี่ยังลำดับไม่ครบ ถ้าจะให้ครบทุกผง จะต้องเปลืองเนื้อที่มากมาย แต่บอกได้ว่ายังมีอีกไม่น้อยกว่า 390 รายการที่ไม่ตีพิมพ์
ส่วนเนื้อโลหะก็ไม่เป็นรองเรื่องมวลสารเลย
รูปหล่อลอยองค์หลวงพ่อทวด สร้างโดยค่ายเสณาณรงค์ สงขลา, รูปเหมือนปั๊ม หลวงพ่อแช่ม วัดดอนยายหอม, พระกริ่ง พระพุทธชินราช รุ่นมาลาเบี่ยง, พระกริ่ง หลวงปู่บุญ วัดบ้านนา, พระกริ่ง หลวงปู่คร่ำ วัดวังหว้า, พระกริ่งต้าหยินทะ รุ่นกาญจนาภิเษก, หลวงพ่อคูณ รุ่นกาญจนาภิเษก, กริ่งรูปเหมือนรุ่นแรก หลวงปู่เจียม จ.สุรินทร์, กริ่งธรรมรังสี วัดเขาพนมดิน, กริ่งหลวงพ่อทวด วัดช้างให้, ตะกรุด หลวงปู่ดู่, เหรียญหลวงพ่อคูณรุ่นสร้างกุฏิวัดสระแก้ว, เหรียญหลวงปู่มั่น วัดป่าสุทธาวาส ปี 2519, เหรียญหลวงปู่ขาว วัดถ้ำกลองเพล, เหรียญเจ้าคุณนรฯ วัดเทพศิรินทร์ ปี 2513, อาจารย์ฝั้น วัดบ้านนาหัวช้าง ปี 2507, หลวงพ่อเกษมหลายรุ่น หลายพิมพ์ ทั้งเนื้อพิมพ์และเนื้อนวโลหะ, เหรียญหลวงปู่ดูลย์ อตุโล, ตะกรุดหลวงพ่อฤทธิ์ บุรีรัมย์, ตะกรุดหลวงปู่หงษ์ สุรินทร์, หลวงปู่คำพันธ์หลายรุ่นหลายพิมพ์หลายเนื้อ, ปรกใบมะขามรุ่นแรก หลวงปู่พรหมมา, เหรียญหลวงปู่จันทร์ วัด ศรีเทพฯ นครพนม ปี 2515, หลวงพ่อทวด วัดช้างให้, เหรียญหลวงปู่ฝั้น อาจาโร, เหรียญพัดยศ หลวงปู่เทสก์ เทสน์รังสี, หลวงพ่อทวด รุ่นชนะคน, พระกริ่งอวโลกิเตศวร หลวงพ่อเกษม, ตะกรุดหลวงพ่อเกษม, เหรียญหลวงพ่อตื้อ อจลธัมโม, เหรียญหลวงปู่แหวน ดอยแม่ปั๋ง, เหรียญหลวงปู่สิม ถ้ำผาปล่อง, พระอุปคุตรุ่นแรก หลวงพ่อฤทธิ์, ฤาษีรุ่น 7 เนื้อนวโลหะ, ฤาษี 3 หน้า หลวงพ่ออุตตมะ วัดวังก์วิเวการาม, เหรียญทรงผนวช ปี 2499, ฯลฯ
รวมๆ แล้ว 427 รายการ ซึ่งไม่สามารถลงพิมพ์ได้ครบในที่นี้
ในการรวบรวมมวลสารทั้งเนื้อผงและเนื้อโลหะชวนอัศจรรย์ใจ ไม่นึกว่าจะพากเพียรและตั้งอกตั้งใจกันขนาดนี้ ผมรับว่าเหนื่อยในการอ่านรายละเอียดมวลสารเป็นอย่างยิ่ง และที่นำลงพิมพ์ก็พอทำเป็นธรรมเนียมอย่างคร่าวๆ เท่านั้น
หลวงพ่อทวดรุ่นนี้ ประเดิมเสกในวันที่ 16 มกราคม ที่วัดป่าเทพนิมิตร กุดกว้าง จ.อุบลฯ มีหลวงปู่พรหมมา เขมจาโร หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ หลวงปู่กิ ธัมมุตตโม เป็นองค์ปลุกเสก และนำเข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษกที่วัดชิโนรส กทม. ซึ่งมีท่านอาจารย์นอง วัดทรายขาว เข้าเสกด้วยในวันที่ 24 ม.ค. เดือนเดียวกัน
หลังพิธีวัดชิโนรส ซึ่งที่จริงหลวงพ่ออุตตมะก็ไปร่วมพิธีด้วยแล้วก็จริง ยังนำเข้าสู่สำนักพุทธมณฑลสาย 2 ของหลวงพ่ออุตตมะ เพื่อรับการปลุกเสกเดี่ยวตามอัธยาศัยอีกประมาณ 7 วัน จึงรับพระกลับมา เพื่อขอรับการปลุกเสกเดี่ยวตามอัธยาศัยจากหลวงปู่คำพันธ์ (วัดธาตุมหาชัย) ณ วัดแก่งตอย จ.อุบลฯ ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ อีกเป็นครั้งสุดท้าย
เชื่อได้เต็มร้อยเต็มถังว่าหลวงพ่อทวดรุ่นนี้ดีแน่
คณะผู้สร้างได้นำหลวงพ่อทวดรุ่นนี้ถวายเข้าวัดป่าเทพนิมิตร 100 องค์, วัดแก่งคอย 200 องค์, หลวงพ่ออุตตมะ 400 องค์ และหลวงปู่คำพันธ์ 400 องค์ ใครสะดวกที่ไหนไปขอรับกันได้ ซึ่งผู้สร้างมิได้กำหนดอัตราค่าบูชา ให้เป็นสุดแล้วแต่ว่าสำนักใดจะจัดการอย่างไร จะแจกฟรีหรือออกให้บูชาตามอัธยาศัย
สำหรับผู้อ่านที่สนใจ ทางผู้สร้างได้จัดจำนวนออกมาสำหรับการบูชาทางไปรษณีย์เพียงจำนวนเล็กน้อย โดยมอบความไว้วางใจไว้ที่ผม ให้รับเป็นธุระจัดการให้อย่างที่เคยทำตลอดมา โดยมีจำนวนพระแต่ละพิมพ์แต่ละเนื้อดังนี้
เนื้อผงว่านขนาดบูชาหน้าตัก 2 นิ้วครึ่ง 20 องค์
เนื้อโลหะ (สัตตโลหะจะกลับดำ) ขนาดบูชาหน้าตัก 2 นิ้วครึ่ง 7 องค์
เนื้อผงว่านพิมพ์ใหญ่ ชนิดแขวนสร้อยคอ 200 องค์
เนื้อผงว่านพิมพ์เล็ก ชนิดแขวนกับสร้อยคอ 200 องค์
เนื้อสัตตโลหะ พิมพ์ใหญ่ ชนิดแขวนสร้อยคอ 20 องค์
เนื้อสัตตโลหะ พิมพ์เล็ก ชนิดแขวนสร้อยคอ 20 องค์
ทั้งหมดนี้คือจำนวน และชนิดพระที่อยู่ในความรับผิดชอบของผม
สุดท้ายก็จะขอเล่าเรื่องอุบัติเหตุรถคว่ำ แต่คนกลับปลอดภัย ให้ฟังสักเรื่อง
เหตุเกิดเมื่อวันขึ้นปีใหม่ที่ผ่านมา กลุ่มญาติพี่น้องของนายสนธยา ดอนโค ประมาณ 10 คน ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ทั้งหญิงทั้งชาย เช่าเหมารถตู้ไปเที่ยวงานปีใหม่ที่ทุ่งศรีเมืองอุบลฯ ปรากฏว่ารถไปชนกับมอเตอร์ไซค์ระหว่างเดินทางบนถนนวงแหวน ใกล้ ทางแยกข้ามสะพานมูลน้อย มอเตอร์ไซค์ตายคาที่ ส่วนรถตู้เสียหลักพุ่งตกจากถนนสูงประมาณ 3 เมตรกว่า ตกลงไปกองสนิทข้างล่างรถพังยับเยิน คนขับได้พวงมาลัยอันเดียวเดินถือออกมาจากซากรถ ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายซ่อมไม่น้อยกว่า 1 แสนบาท
ทุกคนในรถตู้ปลอดภัยจะมีบางคนฟกช้ำดำเขียวเล็กน้อย แต่เด็กๆ ไม่เป็นอะไรเลย ถามไถ่ดูปรากฏว่าแขวนพระเครื่องที่เคยได้รับจากผมไปทุกคนทั้งครอบครัว ซึ่งก็มีพระชนิดต่างๆ แต่ละรุ่นไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะเด็กๆ ซึ่งแขวนปรกชนะสงคราม ที่หลวงพ่อฤทธิ์และหลวงปู่คำพันธ์ปลุกเสกนั้นไม่ได้รับบาดเจ็บเลย คนอื่นๆ แขวนฤาษีรุ่น 7 บ้าง ราหูหลวงพ่อฤทธิ์บ้าง แม้ปลัดขิกหลวงปู่พรหมา ก็มีผู้หญิงคนหนึ่งพกอยู่ คงมีแต่คนขับเท่านั้นที่คาดว่ามีหลวงพ่อชาอยู่กับตัว เพราะเป็นศิษย์หลวงพ่อชามาช้านาน
ผมดีใจที่ได้ยินข่าวนี้ เพราะนั่นเท่ากับได้บรรลุจุดประสงค์ที่เคยหวังเอาไว้ทุกครั้งที่สร้างหรือ แจกพระออกไปว่า ในแต่ละรุ่นที่มีจำนวนมากน้อยต่างกัน หากได้ช่วยคนให้พ้นภัยสักครั้งเดียว ก็คุ้มค่าที่สุด
นี่นับว่าเกินคุ้มไปแล้วที่คนนับ 10 ปลอดภัยเป็นอันดี
ขอให้ทุกๆ คนปลอดภัยเหมือนคนเหล่านี้โดยทั่วกัน ในยามมีภัยมาถึงตัว
และขอขอบคุณทุกๆ ท่านที่เชื่อถือกันตลอดมา
ให้สาสมกับที่หลวงปู่คำพันธ์มักอธิษฐานพระเครื่องไว้ว่า ขอให้มีอำนาจป้องกันภัยอันตราย ป้องกันอาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งที่มีอยู่ในปัจจุบัน และจะมีในอนาคตเทอญ
สาธุการ…
ความคิดเห็น
** โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างมีวิจารณญาน