กศปมหาฤษีและพระนาคเกี้ยว
ผมอยากทำพระกศปมหาฤษีมานานแล้ว เพิ่งจะได้โอกาสเหมาะก็คราวนี้
ทีแรกกะจะทำไว้เป็นของส่วนตัว แต่เพื่อนพ้องน้องพี่พอรู้ข่าวต่างไม่ยอมให้ทำเช่นนั้น
เสียแต่ว่าสร้างไว้น้อยไปหน่อย คือ 236 องค์ ถวายหลวงปู่ทองสาองค์ปลุกเสกไป 77 องค์ แจกไปอีกส่วนหนึ่ง เลยเหลือแค่ 90 องค์ จะทั่วถึงกันหรือเปล่า ยังคิดไม่ถึง
มีผู้สงสัยถามไถ่กันอยู่หลายเติบว่า ทำไมต้องเป็นกศปมหาฤษี ผมก็ผัดไปว่า ว่าง ๆ จะตอบให้ ยั่วให้คันคะเยอในหัวใจไปยังงั้นเอง
จริงๆ แล้ว กศปมหาฤษี ถือเป็นฤษีองค์สำคัญองค์หนึ่ง จัดอยู่ในคณะเทพ และอยู่ในกลุ่มสัปตฤษี ที่เรียกว่าเป็นฤษีสำคัญ 7 ตน คือ 1. โคดม 2. ภรัชวาช 3. วิศวามิตร 4. ชมทัคนี 5. วสิษฐ์ 6. กศป 7. อัตริ
สัปตฤษีเขาถือกันว่าเป็นดาว 7 ดวง ในฟากฟ้าที่เราเรียกกันว่าดาวจระเข้ ซึ่งฝรั่งเรียกว่า ดาวหมีใหญ่
แปลกที่ในภาษาสันสกฤตเรียกดาวจระเข้ ว่าดาวฤกษ์ และคำว่าดาวฤกษ์ ก็ แปลว่า หมี ตรงกับฝรั่งได้ไงไม่รู้
เกี่ยวกับฤษีนี้ พระยาสัจจาภิรมย์ (สรวง ศรีเพ็ญ) ได้อธิบายไว้ในหนังสือเทวกำเนิดว่า โดยรูปศัพท์แล้ว ฤษี จะแปลว่า ผู้มีปัญญาอันได้มาจากพระผู้เป็นเจ้า โดยกำเนิดถือว่าเป็นพรหมณ์ชั้นสูง ซึ่งก็มีตำราจัดลำดับฤษี ไว้ด้วยว่ามี 4 ชั้น คือ
1. ราชรรษี (เจ้าฤษี)
2. พรหมรรษี (พรหมฤษี)
3. เทวรรษี (เทพฤษี)
4. มหรรษี (มหาฤษี)
แต่ละชั้นของฤษีจะเป็นอย่างไรผมยังรู้ไม่ถึงตรงนั้น
ในจีนเองก็ดูเหมือนจะเรียกฤษีว่า เซียนเหย่ง หรือ เซียนเต๋า มีความหมายว่าเป็นผู้ไม่ตาย มีตำราแบ่งฤษีไว้เป็น 5 จำพวก คือ 1. เถียนเซียน คือ เทพฤษีอาศัยอยู่รอบเขาพระสุเมรุ 2. เซียนเซียน คือ บุรุษฤษี เร่ร่อนอยู่ทั่วไปในอากาศ 3. เหย่งเซียน คือนรฤษี อาศัยปะปนอยู่ในหมู่คน 4. ถี้เซียน คือภูมิฤษี อยู่ตามถ้ำต่าง ๆ 5. กุ้ยเซียน เป็นเปรตฤษี ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง เร่ร่อนทำนองอสูรกาย
จะว่าไปแล้ว ฤษีเป็นภูมิที่แปลกประหลาดมีทั้งชั้นสูงและต่ำ เหมือนมนุษย์ทั่วไป บางภูมิน่าเลื่อมใสยิ่ง บางภูมิออกจะน่าหวาดเสียว เมื่ออยู่ใกล้ ๆ แต่ละภูมิก็เป็นผลที่เกิดจากการบำเพ็ญ เห็นจะคล้าย ๆ กับชั้นภูมิของพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา คือมีตั้งแต่โสดาบัน ไปจนถึงอรหันต์ ผมก็เห็นว่าจะเป็นเช่นนี้ไม่เป็นอย่างอื่น
ความจริงคำที่ใช้เรียกฤษีมีอยู่หลายคำ “สิทธา” ก็ใช่ ซึ่งหมายถึงฤษีที่ทรงคุณธรรมอย่างมั่นคง มีที่สถิตเป็นวิมานอยู่ระหว่างพื้นดินกับพระอาทิตย์ ถ้าจะตีความก็น่าจะเป็นพวกที่อยู่บนภูเขา
โยคี ก็อีกคำหนึ่งและหมายถึงผู้สำเร็จแล้วหรือกำลังศึกษาอยู่ก็ได้ แต่ต้องอยู่ในแนวทางการศึกษาแบบโยคะ โดยมากใช้เรียกพวกที่เที่ยวทรมานตนอยู่ในป่า ในที่กันดาร พวกที่เปลือยกายอยู่ในอินเดียทุกวันนี้ก็น่าจะเป็นโยคีทั้งนั้น
มุนี เป็นคำที่หมายถึงพราหมณ์ที่มีความรู้ชั้นสูงเท่านั้น ส่วนจะเป็นธรรมที่สูงขนาดไหน และเป็นธรรมชนิดไหน ผมก็รู้ไม่ถึงอีกเหมือนกัน
ดาบส คือ ผู้ที่บำเพ็ญตบะ เพื่อเผากิเลส คือจะทรมานทั้งกาย และจิตของตน เพื่อหวังผลใน โลกุตตรภูมิ พวกนี้แนวทางการปฏิบัติคล้ายกับพุทธศาสนา คือ มุ่งความหลุดพ้นเป็นหลัก
ชฎิล มีความหมายว่าเป็นนักพรตจำพวกหนึ่งที่มีผมมุ่นเป็นชฎา
นักสิทธิ์ เป็นฤษีอีกพวกหนึ่ง ครึ่งเทวดาครึ่งมนุษย์ มีความบริสุทธิ์ยิ่งนัก มีที่สถิตอยู่ในอากาศระหว่างโลกมนุษย์กับพระอาทิตย์ ตำราว่ามีอยู่ประมาณ 88,000 ตน ปัจจุบันนี้จะเพิ่มหรือลด จำนวนก็ไม่ทราบ เพราะว่าตำราบันทึกไว้นานแล้ว
ทั้งหมดนี้ว่าไปตามตำราเท่านั้น ข้อเท็จจริงก็คงจะค้นหาไม่ได้แล้วในปัจจุบัน เพราะไม่ทราบว่าบรรดาฤษีที่ยังมีอยู่ในปัจจุบันจะอยู่ที่ไหน มีตัวตนอย่างไรก็เหลือจะสืบค้น เท่าที่ปรากฏว่าเป็นฤษี อย่างเช่น ฤษีคำปุ่น อยู่นครพนมก็เสียชีวิตไปแล้ว ไม่รู้ภูมิของฤษีคำปุ่นว่าอยู่ในชั้นไหน หรือเป็นจำพวกไหน แต่ฤษีคำปุ่นก็แสดงให้เห็นว่าการบำเพ็ญตนโดยธรรมของฤษียังมีผู้ปฏิบัติอยู่
ชื่อว่าฤษีแล้ว มักจะคิดถึงแต่เรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฎิหาริย์ ซึ่งชอบจะมีอยู่กับหมู่พวกฤษี สำหรับฤษีคำปุ่นเองก็เคยแสดงอภินิหารหนีออกจากวัดป่าแสนอุดม ตอน 7 โมงเช้า ไปโผลที่วัดผานางคอยของ หลวงปู่พรหมาเขมจาโรเมื่อเวลา 7:30น. (ระยะทางห่างไกลไม่น้อยกว่า100กม.) ได้อย่างน่าแปลกประหลาด หลวงปู่พรหมาเองก็นับถือฤษีคำปุ่นอยู่ไม่น้อย ส่วนผมเองเคยพบฤษีคำปุ่นเพียงครั้งเดียว เห็นว่าท่านประพฤติตนเหมือนเป็นคนสติไม่ดี เขาว่าท่านกลบเกลื่อนตัวเองให้พ้นคนรบกวน
ทีนี้มาพูดถึง กศปมหาฤษี ก็มีตำราบันทึกประวัติ และเรื่องราวไว้พอสมควร จะถือโอกาสเล่าและตอบคำถามผู้สงสัยไปพร้อมกัน
กศปมหาฤษี มีเรียกอยู่หลายชื่อ พระกศป, พระประชาบดี และด้วยเหตุที่เป็นผู้ให้กำเนิดเทพเทวดา มนุษย์ และสรรพสัตว์ทั้งหลาย เช่น แทตย์, ทานพ, นาค, ครุฑ และปีศาจ จึงได้อีกชื่อว่า กัศยปเทพบิดร
กศปมหาฤษี มีที่สถิตอยู่เขาเหมกูฎบรรพตเป็นผู้แต่งโศลกต่าง ๆ ในฤคเวทเป็นอันมาก แต่งพระเวทอื่นๆบางตอนด้วย ว่ากันว่ากศปฤษีองค์นี้ยังเป็นพระอาจารย์สอนศิลปะศาสตร์แก่ปรศุราม (รามสูร) และพระรามจันทร์ อีกด้วย
ทั้งคัมภีร์รามายณะปุราณะ และมหาภารตะกล่าวว่า กศปมหาฤษี เป็นโอรสของ พระมารีจิมุนี แต่ก็มีผู้วิเคราะห์ว่า กศปมหาฤษีนี้เป็นชาวคอเคซัส หรือชาวกัศมีรอด ซึ่งอยู่ในแถบทะเลคัสเปียน นับว่าน่าสนใจมาก ฟังดูแล้วพระกศปมหาฤษีจะอยู่ใกล้ชิดความเป็นมนุษย์มากขึ้น แต่เสียดายไม่ทราบเหตุผลที่มีการวิเคราะห์ไว้เช่นนั้น
กศปมหาฤษี มีอัครมเหสีชื่อ พระอทิติ และมีมเหสีฝ่ายซ้าย (องค์รอง) คือ นางทิติ แล้วก็มีชายาอีก 12 องค์ บางตำราก็ว่ามี 13 องค์
กศปมหาฤษี หรือกัศยปเทพบิดร มีโอรสอยู่มาก เช่น พวกอาทิตย์ทั้ง 8 คือ สุริยาทิตย์, วรุณาทิตย์, มิตราทิตย์, อรยมนาทิตย์, ภคาทิตย์, องศาทิตย์, อินทราทิตย์ และธาตราทิตย์ โดยเป็นโอรสที่เกิดกับนางอทิติอัครมเหสี
อีกองค์หนึ่งคือ พระวามน ซึ่งตำราว่าเป็นพระนารายณ์อวตารปางที่ 5 โดยเกิดกับพระนางอทิติเช่นกัน
ส่วน ครุฑ นั้นเกิดกับ นางวินตา
นาค กับ อรุณ เกิดกับนางกัทรุ
มารุต (ลม) และแทตย์ เกิดกับนางทิติ
ทานพ เกิดกับนางทนุ
ปีศาจ เกิดกับนางโกรธศา
จะเห็นได้ว่าชื่อกัศยปเทพบิดร ก็มาเพราะเหตุที่มีลูกเป็นเทพ ที่คนรู้จักกันมากมายหลายองค์นี่เอง
กศป หรือ กัสสป มีความหมายเดียวกันคือ แปลว่า ผู้มีฟันดำ ชื่อนี้มีผู้ใช้กันมาก พระพุทธเจ้าองค์ที่ 3 ก็มีชื่อนี้ รวมทั้งพระอรหันต์สาวกองค์แรกที่เป็นประธานในการทำสังคายนาครั้งแรกก็ชื่อ นี้ (พระมหากัสสป) ทั้งยังเป็นผู้สร้างพระธาตุพนม ตั้งแต่ พ.ศ. 8 อีกด้วย
อาจมีผู้สงสัยว่าแทตย์ กับ ทานพคืออะไร บอกได้ว่าเป็นอสูรจำพวกหนึ่งตามตำราว่า ชอบจะเป็นปฏิปักษ์กับพวกเทวดามักจะเข้าไปก่อกวนทำลายพิธีกับเทวดา และรบกันบ่อย ๆ
ส่วนปีศาจ ถือว่าเป็นผี มีฐานะต่ำกว่ารากษสและอสูร
ดู ๆ ไปก็เหมือนคนเราธรรมดานี่เอง มีลูกได้ทั้งดีและชั่วไม่ต่างกัน
ผมจึงชอบกศปมหาฤษีเป็นพิเศษ เพราะว่าดูให้สูงส่งถึงขึ้นเทพเทวดาก็ได้ ดูให้ต่ำลงมาถึงมนุษย์ก็ได้
เป็นฤษีที่ใกล้ชิดที่สุดไม่ดูเป็นฤษีที่ห่างไกลจนเกินไป
เรื่องของกศปมหาฤษียังมีให้พูดถึงอีกมาก แต่เห็นว่าจะเหมือนหนังอินเดียจนเกินไป เหาะเหินเดินอากาศตลอดทั้งเรื่อง และยืดยาวจนอาจทำให้หลับกันได้ง่าย ๆ จึงของดเอาไว้แค่นี้ ซึ่งนี่ก็ยืดเยื้อมาจนจะทำให้ไม่มีพื้นที่สำหรับกล่าวถึงองค์ปลุกเสก คือ หลวงปู่ทองสา ฐิตเปโม วัดป่าจิตตวิทยาราม อ.ปากคาด จ.หนองคาย ที่ผมเชื่อถือ และเคารพนับถือไม่น้อยกว่าครูบาอาจารย์องค์อื่น ๆ
หลวงปู่ทองสาพำนักอยู่วัดที่มีเรื่องศาลาผีดุ ซึ่งผมได้เขียนไปแล้วเมื่อหลายฉบับก่อน ซึ่งศาลาหลังนี้เป็นศาลาโบราณมีมาตั้งแต่สมัยก่อนที่หลวงปู่จะมาอยู่ที่นี่
เมื่อไม่นานมานี้ เสาศาลาผุกร่อนไปมากโดยเฉพาะส่วนที่ฝังอยู่ในดิน หลวงปู่จึงคิดจะบูรณะซ่อมแซมเพื่อรักษาศาลาไว้ใช้งานได้ต่อไป ท่านไปขอแรงชาวบ้านให้มาช่วยย้ายศาลาครั้งแรก ชาวบ้านก็เฉย ไปขอครั้งที่ 2 และ 3 ก็เฉย
ปรากฏว่า ในคืนวันหนึ่ง คืนเดียวผ่านไปชาวบ้านจึงเห็นว่า ศาลาเขยื้อนไปจากที่เก่า 10 เมตร ได้อย่างไรไม่รู้
ศาลานี้ใหญ่โตมาก จุคนได้ร่วมพันคน
เท่านั้นแหละชาวบ้านจึงได้แห่กันเข้ามาช่วย ซึ่งเวลานี้ก็เทปูนรองรับเสาศาลาและยกศาลากลับมาตั้งไว้ที่เดิมแล้ว
ตอนยกศาลากลับที่เก่าเป็นเรื่องโกลาหลใหญ่โต ต้องใช้กำลังคนและเครื่องมือช่วยอย่างเต็มที่จึงย้ายได้
ถามหลวงปู่ว่าท่านย้ายศาลาเองได้อย่างไร ท่านว่า “ใช้ไม้งัดเอา”
วัดนี้ส่วนใหญ่หลวงปู่อยู่เพียงลำพังองค์เดียวแต่วันที่ย้ายศาลานั้น มีพระลูกวัดอยู่ด้วยอีก 2 องค์รวมกับหลวงปู่เป็น 3 องค์ น่าแปลกประหลาดใจว่าทำได้อย่างไร
เรียกว่ากับศาลาไม้ที่มีเสาขนาด 1 คนโอบ 40 ต้น แค่ไม้ก็งัดให้เขยื้อนไปได้
หลวงปู่ทองสา เป็นศิษย์พระอาจารย์จวน กุลเชฎโฐ แต่ก็ทันพระอาจารย์มั่น ในขณะที่ยังเป็นสามเณร เราท่านอาจไม่รู้จักท่าน แต่ในหมู่พระกัมมัฐฐานโดยมากรู้จักท่านทั้งนั้น
กับกศปมหาฤษีรุ่นนี้ถือเป็นรุ่นแรกของท่าน โดยเสกพร้อมกับพระนาคเกี้ยวพิมพ์ใหญ่ ที่ตอนนี้ยังไม่นำออกเผยแพร่คงจะให้ผู้สนใจก็เพียง กศปมหาฤษีเท่านั้น ส่วนพระนาคเกี้ยวพิมพ์ใหญ่ยังเก็บไว้ก่อน
กศปมหาฤษี รุ่นแรกของหลวงปู่ทองสา เป็นเนื้อโลหะทองเหลืองผสมอุดผงสำคัญ คือ ดินจากภูหล่นในบริเวณถ้ำที่หลวงปู่มั่น และหลวงปู่เสาร์ใช้เป็นที่บำเพ็ญธรรม, ดินจากจิตตกาธาร (ที่เผาศพ) หลวงปู่หนุ่ย ปภังกโร, ผงไม้โพธิ์สำเร็จลุน ต้นที่เกิดบริเวณเผาสำเร็จลุน, ผงไม้กุฎิสำเร็จตันที่ท่านมรณภาพ และผงกระเบื้องมุงหลังคาอุโบสถวัดอำมาตย์ ประเทศลาว ที่หลวงปู่เสาร์มรณภาพ รวมทั้งผง สำคัญ 300 กว่าอาจารย์ทั่วประเทศ ดิน (ปูน) เตาเผาศพหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
ฤษีรุ่นนี้ปลุกเสกในคืนวันที่ 12 ธันวาคม 2547 ซึ่งหลวงปู่บอกว่าทำให้ 2 รอบ คือ ตอน 5 ทุ่ม ครั้งหนึ่ง และ ตี 3 อีกครั้งหนึ่ง ท่านบอกว่า “คัก คัก หลาย”
ผู้สนใจบูชาได้ในราคาองค์ละ 500 บาท
รายได้จะนำไปสมทบการบูรณปฏิสังขรณ์ศาลาหลังที่เล่าให้ฟังนี้
นี่ก็บอกบุญกันมาอีกแล้ว ใครมีศรัทธาจะทำบุญเชิญได้ทันที
____________________________________
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารศักดิ์สิทธิ์, 2547