เหรียญพระแก้วมรกต ปี 2475 ที่ระลึกฉลองกรุง 150 ปี

 

จริง ๆ แล้วผมยังไม่ทันจะอยากกล่าวถึงเหรียญพระแก้วรุ่นฉลองกรุงเทพฯ 150 ปี ในตอนนี้หรอกครับ เพราะว่าได้รับคำทัดทานจากท่านอาจารย์ประโยชน์คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่านว่าให้ยั้งมือไว้ก่อน เพื่อรอข้อมูลที่แน่ชัดจากท่านอีกทีหนึ่ง
เนื่องจากว่าเรื่องเหรียญพระแก้วรุ่นนี้ท่านได้ติดตามสืบสวนด้วยตัวท่านเองมาเป็นเวลานานแล้ว

ที่สืบไม่เสร็จก็เพราะว่าสืบมั่ง พักสืบไปมั่ง

ล่าสุดก็ไหว้วานอาจารย์พจมาน วิทยาลัยนาฏศิลป์ให้ช่วยสืบอีกแรง คาดว่ารายละเอียดที่สมบูรณ์สุดขีด คงจะมีมาถึงผมในไม่ช้า

ถึงเวลานั้นค่อยว่ากันอีกที

แต่ตอนนี้ท่านอาจารย์ประโยชน์ก็อนุโลมตามใจผม

ให้ผมเขียนได้ก่อน เพราะว่ามีหนังสือพระเครื่องฉบับหนึ่ง ได้ลงเรื่องเหรียญนี้ไปในทางสร้างความสับสนให้กับประชาชนทั่วไปว่าเหรียญพระ แก้วมรกตที่ยังมีเหลือให้ประชาชนบูชาที่สำนักงานวัดพระแก้วนั้น เป็นของทำเสริมขึ้นมาภายหลัง

เรื่องนี้เสียหายมาก ไม่น่าจะเกิดขึ้น

ของดี ๆ มาเสียง่าย ๆ เพราะความเข้าใจผิดหรือเพราะคิดระแวงไปเอง โดยไม่มีเหตุผลที่สมควรมาสนับสนุน

อาจารย์ทวีพร ศูนย์พัฒนาหนังสือกรมวิชาการกระทรวงศึกษาธิการก็รายงานข่าวนี้ให้ผมทราบว่า ข่าวของเสริมที่หนังสือพระเครื่องฉบับหนึ่งที่กล่าวมานั้นได้ลงไว้ คนสะสมพระเครื่องละแวกเมืองนนท์คือ ซอยวัดบัวขวัญพากันเชื่อเป็นอันมาก ทุกคนเห็นว่าพระแก้วมรกตรุ่นนี้ที่เหลืออยู่เป็นของเสริมจริง ๆ

คนสะสมพระเครื่องที่อื่น ๆ ก็คงมีที่หลงเชื่อไปด้วยเหมือนกัน

กลุ้มใจ กลุ้มใจ

ท่านอาจารย์ประโยชน์จึงได้เห็นด้วยที่ผมควรจะต้องเขียนชี้แจงกันก่อนว่า เหรียญพระแก้วมรกตรุ่นฉลองกรุงเทพฯ 150 ปี ที่ยังมีเหลืออยู่ในวัดพระแก้ว

ไม่ใช่ของเสริม

ว่าไปแล้วก็ไม่ใช่ธุระอะไรของผมที่จะต้องเดือดร้อนมาชี้แจง เพราะไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับเหรียญพระแก้วมรกตแม้แต่นิดเดียว แถมไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องอีกด้วย ไม่รู้จักหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องแม้แต่ชื่ออีกต่างหาก

ก็ต้องชี้แจงอยู่ดีแหละครับ

เอาบุญเอากุศลว่างั้นเถิด

เห็นจะต้องนึกย้อนหลังไปสัก 5 หรือ 6 ปี ตอนนั้นผมทราบข่าวว่ามีเหรียญพระแก้วรุ่นนี้เหลืออยู่ที่วัดพระแก้ว เหลืออยู่เท่าไหร่ไม่ทราบ

คงทราบแต่ว่ามีเหลือเลยรีบไป เพราะเกรงว่าจะไม่ทันคนอื่น

เดี๋ยวได้อด

เมื่อไปถึงพบว่าเหรียญมีเหลืออยู่มาก เจ้าหน้าที่ก็บอกไม่ได้ว่ามากแค่ไหน

แต่มากจริง ๆ ผมถามไถ่ว่า ไงจึงได้มีเหลืออยู่จนทุกวันนี้ พระสร้างมาตั้ง 50 ปี

เจ้าหน้าที่ได้กรุณาอธิบายว่า
“หะแรกไม่รู้หรอกว่ามีเหรียญหลงเหลืออยู่ บังเอิญคราวน้ำท่วมกรุงเทพฯ ผมไม่แน่ใจว่าปีไหน เข้าใจว่าจะราว ๆ ปีสองห้าสองกว่าใกล้ ๆ สามศูนย์นั่นแหละครับ น้ำได้ท่วมเข้าไปในส่วนหนึ่งของพระบรมมหาราชวัง ตู้เหล็กหลายใบขนย้ายไม่ทันก็จมน้ำอยู่ มีตู้เหล็กใบหนึ่งไม่มีกุญแจเปิด เจ้าหน้าที่ไม่ทราบว่ามีอะไรอยู่ในนั้น ก็เลยงัด พอฝาตู้เปิดพบว่ามีเหรียญพระแก้วมรกตอยู่ในนั้นเต็มไปหมด เมื่อพบเช่นนี้ทางสำนักงานวัดพระแก้วก็เลยมีอันได้นำเหรียญพระแก้วมรกตรุ่น นี้ออกมาจำหน่าย โดยจำหน่ายต่อเนื่องกันมาจนทุกวันนี้”

เรื่องก็มีอยู่แค่นี้

ในตอนแรก ๆ ที่นำออกจำหน่ายนั้น ทางเจ้าหน้าที่ยังใจดีอลุ้มอล่วยให้เลือกเหรียญสวย ๆ ได้หรือเลือกเหรียญที่ลงชื่อผู้ปั๊มได้

ภายหลังไม่ใจดีแล้ว คงรำคาญ

เหรียญที่มีชื่อสถานที่ปั๊มเลยถูกเลือกไปจนหมดหรือเกือบหมดไปแล้ว ที่เหลือก็เป็นเหรียญลุ่น ๆ ไม่มีชื่อสถานที่ปั๊ม

ถ้าใครไปบูชาในตอนนี้จะได้เหรียญลุ่น ๆ เว้น แต่ฟลุกเท่านั้น

เรื่องปั๊มของเสริมนั้น ผมไม่เห็นเหตุผลอะไรที่ทางวัดพระแก้วจะต้องทำเช่นนั้นเหรียญทุกเหรียญจะถูก เบิกออกมาจากพระคลัง (ไม่ทราบว่าเรียกถูกหรือเปล่า) เอาออกมาจำหน่ายที่สำนักงานวัดพระแก้วซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าพระอุโบสถพระแก้ว มรกต

หมดเมื่อไหร่ก็ไปเบิกออกมาอีกอย่างนี้เรื่อยมา

ลองนึก ๆ ดูสิครับว่า ถ้าหากเหรียญพระแก้วรุ่นนี้เป็นของเสริม

ใครจะเป็นผู้ทำเสริม

คิดแล้วขนหัวลุก

คอจะขาดไม่รู้ตัว

อย่าไปเชื่อข่าวลือว่าเป็นของเสริมเลยครับ ผมก็เพิ่งไปบูชามาแจกพรรคพวกคนละเหรียญสองเหรียญเมื่อเร็ว ๆ นี้ แถมยังพกติดตัวอีก 2 เหรียญ เอามาเลี่ยมประกบกันสองหน้าสวยดีออก

ถ้าจะว่าไปแล้วเหรียญที่มีอายุตั้ง 50 กว่าปี ราคาแค่ 100 เดียวนั้น ไม่แพงเลยใช่ไหม

ยิ่งเป็นเหรียญที่มีความสำคัญมาก ๆ เพราะว่าถูกสร้างขึ้นอย่างเป็นทางการใหญ่โตอย่างนั้น

เรื่องประวัติการสร้างก็ยังยากลำบากที่จะระบุแน่ชัดลงไป เอาไว้รอข้อมูลจากท่านอาจารย์ประโยชน์ส่งมาให้เสียก่อน ค่อยว่ากันอย่างแน่ชัดอีก (ไม่รู้เมื่อไหร่)

ในตอนนี้จะว่าพอหลวม ๆ อย่างที่เรียกว่าคาดหมายดังนี้

หลักฐานการสร้างเหรียญพระแก้วรุ่นนี้เท่าที่มีผู้ประมวลออกมาแล้วคาดหมายว่า จะสร้างขึ้นในปี 2470 สร้างก่อนฉลองกรุง 150 ปี คือ ฉลองกันในปี 2475 ที่ต้องสร้างก่อนก็เพื่อจะได้มีเวลาจำหน่ายเหรียญหาทุนบูรณะวัดพระแก้ว หรือทำอะไรตามประสงค์อื่น ๆ ไปด้วย

เท่าที่พบ เหรียญพระแก้ว มีอยู่สองแบบ คือบล้อคนอกและบล้อคใน บล้อคนอกหมายถึงบล้อคที่สร้างจากต่างประเทศ คือ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และในประเทศอังกฤษ (บริษัทเดอลารู) ส่วนบล้อคในก็สร้างกันในประเทศไทย ซึ่งได้แยกย้ายกันสร้างหลายแห่ง เช่นที่เพาะช่าง กองกษาปน์ และร้านอื่น ๆ อีกหลายร้าน

ทุกแห่งที่สร้างก็จะประทับชื่อของตนลงในเหรียญด้วย เหรียญบล้อคในจึงมีชื่อผู้สร้างปั๊มติดอยู่ในเหรียญ ที่เป็นชื่อภาษาจีนก็ยังมี ใครชอบชื่อไหนก็เก็บชื่อนั้น

บางคนก็เก็บให้ครบทุกชื่อ แล้วแต่ใจสมัคร

จำนวนสร้างไม่ทราบแต่เข้าใจว่ามากมายมหาศาลเพราะว่าได้สร้างกันยิ่งใหญ่มหึมา

ทั้งสร้างจากต่างประเทศและในบ้านเราเอง ส่วนจะมากมายแค่ไหนเดากันเอาเอง

เท่าที่ทราบแน่ชัดก็คือเหรียญรุ่นนี้สร้างขึ้นด้วยเนื้อทองคำอย่างหนึ่ง เงินอย่างหนึ่ง นิคเกิ้ลและทองแดงอีกอย่างหนึ่ง

ปัจจุบันนี้เห็นเหลืออยู่เพียงเนื้อนิคเกิ้ลและทองแดง เงินและทองคำไม่เห็น

ใครไปบูชาก็จะได้เนื้อนิคเกิ้ลและทองแดงเท่านั้น นิคเกิ้ลราคา 200 บาท ทองแดงราคา 100 บาท เลือกกันได้ตามใจชอบ

สำนักงานวัดพระแก้ว หาไม่ยากหรอกครับ อยู่นอกกำแพงแก้ว ตั้งอยู่ด้านหน้าพระอุโบสถพระแก้ว ถ้าหันหน้าให้พระอุโบสถ สำนักงานฯจะอยู่เยื้อง ๆ ทางซ้ายมือ

ถ้าหาไม่พบก็ใช้ปากถามซีครับ

อย่าไปสงสัยเลยว่าทำไมเหรียญที่เหลือไม่มีชื่อผู้สร้างประทับเอาไว้ โถ … ที่เขาไม่ออกชื่อก็ต้องมีเป็นธรรมดา

รายละเอียดที่สำคัญที่สุดก็คือ ใครเป็นผู้ปลุกเสกเหรียญรุ่นนี้ เท่าที่ปรากฎในข้อเขียนทุกข้อเขียน ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ยังไม่เคยเห็นใครบอกได้

อาจารย์ทวีพร ได้เป็นผู้ไปจดรายชื่อครูบาอาจารย์ที่เข้าพิธีพุทธาภิเษกเหรียญพระแก้วมรกตรุ่นนี้มาให้ผม

ท่านไปจดมาจากสำนักงานวัดพระแก้ว อ่านรายชื่อแล้วอย่าตกใจนะครับ

ข้อความที่อาจารย์ทวีพรจดมานั้นมีดังนี้

เหรียญพระแก้วมรกต พ.ศ.2470 โดยพระราชดำริ ร.7 เพื่อรวบรวมเงินใช้ในงานสมโภชกรุงเทพฯ 150 ปี พ.ศ.2475

รายนามพระเถราจารย์ปลุกเสกในโบสถ์วัดพระแก้ว

1. พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เจ้าพิธีฝ่ายสงฆ์
2. สมเด็จพระวันรัต (แพติสสเทโว) วัดสุทัศน์
3. พระธิวงศาจารย์ (นวม) วัดอนงคาราม
4. สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เฃ้ม) วัดโพธิ
5. หลวงพ่อคง วัดซำป่าง่าม ฉะเชิงเทรา
6. หลวงพ่อเข้ม วัดม่วง ราชบุรี
7. หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว
8. หลวงพ่อจันทร์ วัดนางหนู ลพบุรี
9. หลวงปู่รอด วัดทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี
10. หลวงพ่อเปี้ยน วัดโพธาราม สุพรรณบุรี
11. หลวงพ่อกรัก วัดอัมพวัน ลพบุรี
12. เจ้าคุณอุบาลี สิริจันโท วัดบรมนิวาส
13. หลวงพ่อช่วง วัดปากน้ำ สมุทรสงคราม
14. หลวงพ่อแฉ่ง วัดพิกุลเงิน นนทบุรี
15. หลวงพ่อพุ่ม วัดบางโคล่
16. หลวงพ่อพริ้ง วัดบางปะกอก
17. หลวงพ่อฉาย วัดพนัญเชิง อยุธยา
18. หลวงพ่อลา วัดแก่งคอย สระบุรี
19. หลวงพ่อไปล่ วัดกำแพง
20. หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ นครสวรรค์
21. หลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม สมุทรสงคราม
22. หลวงพ่อลา วัดโพธิศรี สิงห์บุรี
23. หลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ กาญจนบุรี
24. หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ ชลบุรี
25. หลวงพ่อทอง วัดเขากบ นครสวรรค์
26. หลวงพ่อคง วัดท่าหลวงพล ราชบุรี
27. หลวงพ่อสอน วัดป่าเลไลย์ สุพรรณบุรี
28. หลวงพ่อคง วัดบางกะพร้อม สมุทรสงคราม
29. หลวงพ่อชท วัดพุทไธสวรรย์ อยุธยา
30. หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ สมุทรสงคราม
31. หลวงพ่อพวง วัดหนองกระโดน นครสวรรค์
32. หลวงพ่อคง วัดใหม่บำเพ็ญบุญ
33. หลวงพ่อญัติ วัดสายไหม ปทุมธานี
34. หลวงพ่อพร วัดดอนเมือง
35. หลวงพ่อเผือก วัดกิ่งแก้ว
36. หลวงพ่อศรี วัดพระปรางค์ สิงห์บุรี
37. หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก อยุธยา
38. หลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา
39. หลวงพ่อพิธ วัดระฆัง พิจิตร
40. หลวงพ่อจันทร์ วัดบ้านยาง ราชบุรี
41. หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ
42. หลวงพ่อเปี่ยม วัดเกาะหลัก ประจวบคีรีขันธ์
43. หลวงพ่อสนธิ์ วัดสุทัศน์

เป็นไงครับ เห็นรายชื่อครูบาอาจารย์ทั้งหลายแล้วเย็นใจไหวหรือ

เฉพาะหลวงปู่รอด วัดทุ่งศรีเมือง อุบลฯ นั้น คนอุบลฯ หาเหรียญของท่านกันวุ่นวาย

เหลือเกิน สวย ๆ ก็ห้าหกหมื่นบาท แต่เหรียญพระแก้วแค่ร้อยเดียว

หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ คนก็หาพระของขวัญของท่านกันอลหม่าน ราคาปาเข้าหลักแสนตั้งนานมาแล้ว

หลวงพ่อสนธิ์ วัดสุทัศน์ ก็ยังไม่ทันเป็นเจ้าคุณศรีสนธิ์ รายชื่อท่านรั้งท้ายเพื่อน คิดดูเอาเองก็แล้วกัน

นี่ยังหลวงพ่อเดิม และจาด,จง,คง,อี๋ มากันครบอีกต่างหาก

ถ้าคิดจะหาพระเครื่องของทุกท่านให้ครบ เห็นจะต้องใช้เงินเป็นล้านบาท

แต่นี่แค่ร้อยเดียว

Say you, Say me มาอย่างนี้แหละครับ

ใครจะทำไม่สน ก็เชิญทำไปโลด

———————————————————————–
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารศักดิ์สิทธิ์ ฉบับที่ 220
วันที่ 1 มีนาคม 2535
———————————————————————–
แชร์ :

ความคิดเห็น

** โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างมีวิจารณญาน