มวยโบราณอีสาน
มวยโบราณอีสาน
เมื่อไม่มีอาวุธอยู่ในมือแล้วยังคิดจะสู้ต่อไป สิ่งสุดท้ายที่จะใช้แทนอาวุธได้คือ กำปั้น
คนใช้กำปั้นเก่ง ๆ เรียกว่า “เป็นมวย” และถ้าใช้จนเป็นอาชีพเลี้ยงตัวเองได้เรียกว่า “นักมวย”
มวยไทยนอกจากจะใช้กำปั้นได้ดี ยังพ่วงเอาเข่า, ศอก, แข้งและตีนเข้าไปด้วย
ครบเครื่องว่างั้นเถอะ
พิษสงของมวยไทยเป็นอย่างไรให้ไปถาม คาราเต้ เทกวนโด หรือ กังฟู จะรู้
บางคนบอกว่ามวยไทยคือ ศิลปะการต่อสู้
บางคนบอกว่ามวยไทยคือ การต่อสู้ที่แท้จริงของมนุษย์ต่างหาก
รับได้อย่างมีประสิทธิภาพ รุกได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถสร้างความบาดเจ็บให้คู่ต่อสู้ได้ทั้ง ยามรับและรุก
อย่างไรก็ตาม การใช้อวัยวะเท่าที่มีอยู่ในร่างกาย เป็นอาวุธแบบนี้ก็คงถูกเรียกว่า “มวยไทย” ซึ่งเป็นโคตรเหง้าของ “คิกบ๊อกซิ่ง”
ลูกหลานบัดซบที่กำลังลืมพ่อแม่ของมัน
ก่อนการต่อสู้บนเวทีจะเริ่มต้น มวยไทยมีการไหว้ครูด้วยลีลาท่ารำ ฉวัดเฉวียนสวยงาม
ไหว้เพื่อบูชาคุณครูผู้ประสาทวิชา และข่มขวัญคู่ต่อสู้ไปในตัว
ไหว้ครูนี่แหละศิลปะ เพราะจะต้องร่ายรำออกไปให้สวยงามเข้าไว้
ความจริงที่ปรากฎโดยตลอดมามักพบว่า นักมวยอันตรายหลายคนไหว้ครูได้สวยงามด้วย
สกัด พรทวี ไหว้ครูแต่ละคราวนานราว ๑๐-๑๕ นาที เขาได้ชื่อว่าเป็นนักมวยที่ไหว้ครูได้งดงามที่สุดเวลานี้
ครั้งหนึ่งขึ้นชกกับนักมวยดาวรุ่งที่เวทีราชดำเนิน สกัดใช้เวลาน็อคคู่ต่อสู้เพียง ๑ นาที แต่ไหว้ครู ๑๕ นาที
ศิลปะในการไหว้ครู จึงเป็นสิ่งที่นักมวยเก่ง ๆ แสดงออก
ยิ่งเก่งยิ่งไหว้สวย
ไหว้ครูก็คือการรำมวยนั่นเอง
แต่การรำมวยที่ไม่เกี่ยวข้องกับการไหว้ครูก็มี
คนอีสานมีการรำมวยเพื่อความสวยงามมาแต่โบราณ นานก่อนจะมีมวยคาดเชือกเกิดขึ้นในประเทศไทย
ศิลปะการรำมวยอีสานน่าเป็นห่วงว่าวันหนึ่งคงจะหมดไป ไม่มีผู้ใดยินดีรับสืบทอด คนรุ่นใหม่ ๆ หันไปชกมวยบนเวทีกันจริง ๆ จัง ๆ มากกว่า เพราะว่าชกแล้วก็ได้เงิน
ชกเก่ง ๆ ยิ่งได้เงินแยะ เป็นหมื่นเป็นแสน
แต่รำมวยโบราณนั้น ไม่ได้เงินถึงได้เงินก็ได้แต่น้อย ไม่พอจะเลี้ยงชีพได้ มิหนำซ้ำส่วนใหญ่มักจะรำมวยเพื่อถวายทานเป็นหลัก ใครบริจาคทรัพย์ก็จะเอาเข้าวัดหมด
ไม่ได้เงินแต่ได้บุญ
ทุกวันนี้ยังพอจะหาดูการรำมวยอีสานได้ที่จังหวัดสกลนคร ในเวลาเทศกาลแห่เทียน เข้าพรรษา
นักมวยเหล่านี้ที่ยังเหลืออยู่จะมาเข้าขบวนแห่ แต่ละคนนุ่งผ้าโจงกระเบนหยักรั้ง แล้วปล่อยชายกระเบนห้อย ลงมาข้างหลัง
ก็เลยมีคำเรียกนักมวยเหล่านี้อีกคำว่า “พวกเสือลากหาง”
ชาวบ้านสองข้างทางเห็นเสือลากหางเข้า ถ้าอยากดูวิชารำมวยก็ชวนกันบริจาคทรัพย์แล้วจะได้ดู
ความงามของมวยโบราณ อยู่ที่การเลียนแบบท่าทางของสัตว์ เช่น เสือ ช้าง ม้า งู วัว ควาย
ถ้านึกไม่ออกว่าเลียนแบบอย่างไรให้นึกถึงมวยกังฟู มวยจีนเข้าไว้ มวยงู มวยจิ้งจก ตุ๊กแก นั่นแหละ แต่ของอีสานเราสวยงามกว่าหลายเท่า
อย่ามาเทียบกันเลย
ท่ารำมวยโบราณมีมากมาย เช่น ท่าเสือสำอางย่างสามขุม, กุมภัณฑ์ถอยทัพ, สับหอกโมกขศักดิ์, ตบผาบปราบมาร, ทะยานเหยื่อเสือลากหาง, ไก่เลียบเล้า, พระรามน้าวศร, กินนรเข้าถ้ำ, ล่อแก้วเมขลา, ช้างโขลงทลายป่า เป็นต้น
นักมวยโบราณส่วนมาก เชื่อถือคาถาอาคมคงกระพันชาตรี มีการสักลาย แขวนตะกรุด สวมมงคล เสกหมัดมนต์ฟ้าผ่า
เวลาสู้กันก็งัดเอาวิชาอาคมและเพลงมวยมาแข่งขันกัน สู้กันอย่างสวยงามสนุก สนานไม่ได้มุ่งจะเอาให้ตายไปข้างหนึ่ง เพราะว่ามุ่งให้คนดูสนุกและเพลิดเพลิน ไปกับลีลา ท่าทางรำมวยเท่านั้น
อาจถือเป็นประเพณีการละเล่นอย่างหนึ่งก็ได้ แต่เป็นการละเล่นที่ดูจริงจังเป็นเรื่องเป็นราว
เรียกว่าเป็นศิลปะ อย่างแท้จริง มิใช่การต่อสู้เลย
ดังนั้นถ้าจะนึกถึงศิลปะมวยไทยก็ต้องนึกถึงการไหว้ครู หรือการรำมวยโบราณอีสาน
ซึ่งนักมวยชาติอื่นไม่มี
คิกบ๊อกซิ่ง ก็ไม่มี
ถึงจะเคยเห็นมันไหว้ครู ในที.วี.บ้าง ก็ไม่ถือว่ามันมี
มันไหว้เก้งก้างไปตามเรื่อง ก็เพราะเห็นว่าเราไหว้ก็ไหว้ตามเท่านั้น
ไม่ได้เพื่อแสดงความงาม หรือเพื่อบูชาวิชาครูมวยเลย
มวยไทยเป็นมวยไทย ก็ตรงศิลปะในการไหว้ครู ด้วยการร่ายรำนั่นเอง
งานเขียนของคุณอาอำพล เจน … จากหนังสือแปลก ฉบับที่ 548
วันที่ 2 กันยายน 2529
————————————————————————