หลวงพ่อชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี

การนำปุจฉา, วิสัชนาธรรมมาสู่ผู้อ่าน ผมเกรงอยู่มากว่าจะทำให้บางท่านเบื่อหน่ายหรือไม่ แต่เชื่อว่าในทางตรงกันข้ามก็ควรมีผู้ดื่มด่ำฉ่ำใจอยู่บ้าง

เมื่อได้เริ่มมาแล้วอย่างนั้นก็ไม่อยากให้ค้างเติ่งเอาไว้ จะนำลงติดต่อไปจนถึงที่สุดในคราวนี้เลย

บทสนทนานี้เป็นของพระอาจารย์ชา สุภทโท กับภิกษุชาวต่างประเทศร่วมกันไต่ถาม เดิมเป็นภาษาอังกฤษบัดนี้ได้ถอดกลับมาเป็นไทยอีกครั้ง


ถาม
เราจะเอาชนะกามราคะได้อย่างไร บางครั้งในระหว่างปฏิบัติผมรู้สึกเป็นทาสของความต้องการทางเพศ

ตอบ
กามราคะจะบรรเทาลงได้ด้วยการพิจารณาไตร่ตรองถึงความ น่าเกลียด โสโครก การหลงติดอยู่ในรูปกายเป็นสุดโต่งข้างหนึ่ง ซี่งเราต้องมองให้เห็นสิ่งตรงข้าม จงพิจารณาร่างกายเหมือนทรากศพและเห็นการเปลี่ยนแปลงเน่าเปื่อย หรือพิจารณาอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายเช่นปอด ม้ามไขมัน อุจจาระและอื่น ๆ พิจารณาให้เห็นจริงถึงความน่าเกลียดโสโครกของร่างกายเมื่อมีกามราคะเกิดขึ้น
ก็จะช่วยให้ท่านเอาชนะกามราคะได้

ถาม
เมื่อผมโกรธ ผมควรจะทำอย่างไรดีครับ

ตอบ
ท่านต้องแผ่เมตตา ถ้าท่านมีโทสะในขณะภาวนาให้แก้ด้วยเมตตาจิต ถ้ามีใครทำไม่ดีหรือโกรธอย่าโกรธตอบ ถ้าท่านโกรธตอบ ท่านจะโง่ยิ่งกว่าเขา จงเป็นคนฉลาด สงสารเห็นใจเขา เพราะว่าเขากำลังได้ทุกข์ จงมีเมตตาเต็มเปี่ยมเหมือนหนึ่งว่าเขาเป็นน้องชายที่รักยิ่งของท่าน เพ่งอารมณ์เมตตาเป็นอารมณ์ภาวนาแผ่เมตตาไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลายในโลก เมตตาเท่านั้นที่จะเอาชนะโทสะได้
บางครั้งท่านอาจเห็นพระภิกษุอื่นปฏิบัติไม่สมควร ท่านอาจรำคาญใจทำให้ท่านเป็นทุกข์โดยใช่เหตุ นี่ไม่ใช่ธรรมะของเรา ท่านอาจจะคิดอย่างนี้ว่า เขาไม่เคร่งเท่าฉัน เขาไม่ใช่พระกรรมฐานที่เอาจริงเอาจังเช่นฉันเขาไม่ใช่พระที่ดี นี่เป็นกิเลสเครื่องเศร้าหมองอย่างยิ่งของตัวท่านเองอย่าเปรียบเทียบ อย่าแบ่งเขาแบ่งเราจงละทิฐิของท่านเสีย และเฝ้าดูตัวท่านเอง นี่แหละคือธรรมะของเราท่านไม่สามารถบังคับทุกคนให้ประพฤติปฏิบัติตามต้องการ ของท่าน หรือเป็นเช่นท่านได้ ความต้องการเช่นนี้มีแต่จะทำให้ท่านเป็นทุกข์ ผู้ปฏิบัติภาวนามักจะพากันหลงผิดในข้อนี้ การจับตาดูผู้อื่นไม่ทำให้เกิดปัญญาได้ เพียงแต่พิจารณาตนเองและความรู้สึกของตนแล้วท่านก็จะเข้าใจได้

ถาม
ผมง่วงเหงาหาวนอนอยู่มากครับ ทำให้ภาวนาลำบาก

ตอบ
มีวิธีเอาชนะความง่วงได้หลายวิธี ถ้าท่านนั่งอยู่ในที่มืดให้ย้ายไปที่สว่าง ลืมตาขึ้น ลุกไปล้างหน้า ตบหน้าตนเอง หรือไปอาบน้ำ ถ้ายังง่วงอยู่อีกให้เปลี่ยนอิริยาบถ เดินให้มากหรือเดินถอยหลัง ความกลัวว่าจะไปชนอะไรทำให้หายง่วงได้

ถ้ายังง่วงอยู่อีกก็จงยืนนิ่ง ๆ ทำใจให้สดชื่น และสมมติว่าขณะนั้นเป็นเวลากลางวันหรือนั่งริมหน้าผาสูงหรือบ่อลึกท่านจะไม่กล้าหลับ

ถ้าทำอย่างไรแล้วยังไม่หายง่วงก็จงนอนเสีย เอนกายลงอย่างสำรวมระวังและรู้ตัวอยู่จนกระทั่งหลับไป เมื่อรู้สึกตัวตื่นขึ้นจงลุกทันที อย่ามองดูนาฬิกาแล้วพลิกไปพลิกมา เริ่มมีสติระลึกรู้ทันทีที่ตื่น

ถ้าหากง่วงอยู่ทั้งวัน ลองฉันอาหารน้อยลง สำรวจตัวเอง ถ้าหากอีกห้าคำอิ่มจงหยุดแล้วดื่มน้ำเสียความหิวความง่วงที่เกิดขึ้นจงเฝ้า ดู ท่านต้องฉันอาหารให้พอดี เมื่อฝึกปฏิบัติต่อไปอีก ท่านจะรู้สึกกระปรี้กระเปร่าขึ้นและฉันน้อยลง ต้องปรับตัวเอง

ถาม
ทำไมเราต้องกราบกันบ่อย ๆ

ตอบ
การกราบเป็นสิ่งสำคัญมากเป็นอิริยาบถภายนอกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติ การกราบต้องทำให้ถูกต้อง ก้มลงจนหน้าผากจรดพื้นวางศอกห่างจากเข่าประมาณสามนิ้ว กราบลงช้า ๆ มีสติรู้อาการของกาย การกราบช่วยแก้ความถือตัวของเราลงได้เป็นอย่างดี เราควรกราบบ่อยๆ เมื่อกราบให้ตั้งจิตระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ นั่นคือคุณลักษณะแห่งจิตอันบริสุทธิ์ดังนั้นเราจึงอาศัยอิริยาบถภายนอกนี้ ฝึกตน กายและจิตจะประสานกลมกลืนกัน กราบบ่อย ๆ ขจัดความหยิ่งทะนงตนออกไป, ผู้เข้าถึงธรรมแล้วท่านจะอยู่เหนืออิริยาบถภายนอกทุก ๆ อย่างที่ท่านทำก็มีแต่การอ่อนน้อมถ่อมตน เดินถ่อม ฉันถ่อม ถ่ายก็ถ่อมทั้งนี้เพราะพ้นจาการเห็นแก่ตัวแล้ว

ถาม
อุปสรรคใหญ่ของลูกศิษย์ใหม่ของท่านอาจารย์คืออะไร

ตอบ
ทิฐิ, หลายๆท่านที่มาที่นี่มีตำแหน่งการงานสูงในสังคม บางคนเป็นพ่อค้ามั่งคั่ง หรือได้ปริญญาต่าง ๆ มาเป็นครูและข้าราชการ สมองของพวกเขาเต็มไปด้วยความคิดเห็นต่อสิ่งต่าง ๆ เขาฉลาดเกินกว่าจะฟังผู้อื่น เปรียบเหมือนน้ำในถ้วย ถ้าถ้วยมีน้ำสกปรกอยู่เต็ม ถ้วยนั้นก็ใช้ประโยชน์ไม่ได้ เมื่อเทน้ำเก่าทิ้งแล้วเท่านั้นก็จะใช้ประโยชน์ได้ ท่านต้องทำจิตให้ว่างจากทิฐิ แล้วท่านจะได้เรียนรู้การปฏิบัติก้าวเลยความฉลาด ความโง่ ถ้าท่านคิดว่า ฉันเก่ง ฉันรวย ฉันเป็นคนใหญ่โต ฉันเข้าใจพุทธศาสนาแจ่มแจ้งหมดแล้ว
ท่านจะไม่เห็นความจริงในเรื่องของอนัตตา
ท่านจะมีแต่อัตตา ตัวตน ตัวฉัน ของฉัน
แต่พระพุทธศาสนาคือการละตัวตน เป็นความว่าง เป็นความไม่มีทุกข์ เป็นความดับสนิท

ถาม
ผมเจริญสมาธิภาวนาจนจิตสงบลึก ผมควรจะทำอย่างไรต่อไปครับ

ตอบ
นี่ก็ดีแล้ว ทำจิตสงบและเป็นสมาธิและใช้สมาธินี้พิจารณากาย ถ้าจิตเกิดไม่สงบก็จงเฝ้าดูด้วย แล้วท่านจะรู้ถึงความสงบที่แท้จริง
เพราะอะไร เพราะท่านจะได้เห็นความไม่เที่ยงแม้ความสงบเองก็ดูให้เห็นว่าเป็นของไม่ เที่ยง ถ้าท่านติดอยู่ในความสงบแล้วท่านจะทุกข์เมื่อจิตไม่สงบ
ฉะนั้น จงปล่อยวางหมดทุกสิ่ง แม้แต่ความสงบ

ถาม
ผมได้ยินท่านอาจารย์พูดว่าท่านเป็นห่วงลูกศิษย์ที่พากเพียรมากใช่ไหมครับ

ตอบ
ถูกแล้ว ผมเป็นห่วงว่าเขาเอาจริงเอาจังเกินไป เขาพยายามมากเกินไป แต่ขาดปัญญา เขาเคี่ยวเข็ญตนเองไปสู่ความทุกข์ยากโดยไม่จำเป็นบางคนมุ่งมั่นที่จะรู้แจ้ง เขากัดฟันแน่นและใจดิ้นรนตลอดเวลา อย่างนี้เป็นความพยายามมากเกินไป คนทั่วไปเป็นเช่นเดียวกันเขาไม่รู้ถึงสภาพเป็นจริงของสิ่งทั้งปวง สังขารรูปทั้งปวง จิต และร่างกายล้วนเป็นของไม่เที่ยงจงเฝ้าดูและอย่ายึดมั่นถือมั่น
บางคนคิดว่าเขารู้ เขาวิพากษ์วิจารณ์ จับตามองและลงความเห็นเอาเอง อย่างนี้ก็ตามใจเขา ทิฐิของใครก็ปล่อยให้เป็นของคนนั้น การแบ่งเขาแบ่งเราเป็นอันตราย แบ่งเขาแบ่งเราเป็นทุกข์

ถาม
ผมเจริญภาวนาและสมาธิมาแล้วหลายปี ใจผมเปิดกว้างและสงบระงับเกือบจะในทุกสภาพการณ์ เวลานี้ผมอยากจะย้อนหลังและฝึกทำสมาธิชั้นสูงหรือฝึกญาณดีครับ

ตอบ
จะทำอย่างนั้นก็ได้ เป็นการฝึกจิตที่มีประโยชน์ ถ้าท่านมีปัญญาท่านจะไม่ชะงักติดอยู่ในสมาธิจิต แต่จริง ๆ แล้วการฝึกนี้แยกออกจากอิริยาบถต่าง ๆ เป็นการมองตรงเข้าไปในจิตนี่คือปัญญา เมื่อท่านพิจารณาและเข้าใจชัดในจิตแล้ว ท่านจะเกิดปัญญารู้ถึงขอบเขตสมาธิหรือขอบเขตของตำรับตำราก็ได้ เปรียบเหมือนได้ขนมหวานจะช่วยท่านในการสอนผู้อื่นหรือท่านอยากจะหวนกลับไป ฝึกญาณก็ได้ ถ้าท่านมีปัญญารู้แล้วที่จะไม่ยึดในสิ่งใด

ถาม
ขอความกรุณาท่านอาจารย์ทบทวนใจความของการสนทนานี้ด้วยครับ

ตอบ
ต้องสำรวจตัวเอง, รู้ว่าท่านเป็นใคร, รู้ทันกายและจิตของท่านโดยการเฝ้าดู ในขณะนั่งภาวนา, หลับนอน, ขบฉัน, จงรู้ความพอดีพอเหมาะสำหรับตัวท่าน

ในการปฏิบัติต้องละความอยากที่จะบรรลุผลใด ๆ

จงมีสติรู้ว่าเป็นอะไรอยู่

การเจริญภาวนาคือการมองตรงเข้าไปในจิต ท่านจะมองเห็นทุกข์ เหตุแห่งทุกข์และความดับไปแห่งทุกข์ แต่ท่านต้องมีความอดทน, อดทนอย่างยิ่งและทนได้ ท่านจะค่อย ๆ ได้เรียนรู้

พระพุทธเจ้าสอนให้สาวกอยู่กับอาจารย์อย่างน้อยห้าปี ท่านจะต้องเห็นคุณค่าของการให้ทาน ของความอดทน ของการเสียสละ

อย่าปฏิบัติเคร่งครัดเกินไป
อย่ายึดติดอยู่กับรูปแบบภายนอก
การจับตาดูผู้อื่นเป็นการปฏิบัติไม่ถูกต้อง
จงเป็นปกติตามธรรมชาติและเฝ้าดูสิ่งนี้อยู่

พระวินัยของพระสงฆ์และกฎระเบียบของวัดสำคัญมาก ทำให้เกิดบรรยากาศที่เรียบง่ายและประสานกลมกลืน จงใช้ให้เป็น

แต่จำไว้ว่า ความสำคัญของพระวินัยของพระสงฆ์คือการตั้งใจเฝ้าดูและสำรวมจิต ท่านต้องใช้ปัญญา อย่าแบ่งเขาแบ่งเรา

ถ้าจะขัดเคืองใจหรือไม่ ถ้าหากเห็นว่าต้นไม้เล็ก ๆ ในป่าไม้สูงใหญ่และตรงอย่างต้นอื่น ๆ นี่เป็นเรื่องโง่เขลา อย่าไปตัดสินคนอื่น คนเรามีหลายแบบต่าง ๆ กัน

อย่าคอยแต่หมายมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงใคร ๆ ไปหมดทุกคน

ดังนั้นจงอดทนและฝึกปฏิบัติให้มีคุณธรรมประจำจิตมีความเป็นอยู่อย่างง่าย ๆ เป็นปกติตามธรรมชาติ และเฝ้าดูจิต

นี่แหละคือการปฏิบัติของเรา ซึ่งจะนำไปสู่ความไม่เห็นแก่ตัว และความสันติสุข

 

———————————————————————–
งานเขียนของคุณอาอำพล เจน  … จากหนังสือแปลก ฉบับที่ 672
วันที่ 10 มกราคม 2535
————————————————————————


แชร์ :

ความคิดเห็น

** โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างมีวิจารณญาน