หลวงปู่ทองรัตน์ กนฺตสีโล

 

มหานิกายผู้ไร้ร่องรอย
เรื่องนี้มีพื้นฐานจากความจริง
อาศัยข้อมูลจากหนังสือมณีรัตน์และคำบอกเล่าของหลวงปู่กิ
เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดคลาดเคลื่อน จะเล่าแต่โดยย่อ รวบรัด แต่ยังคงรักษาข้อเท็จจริงเท่าที่ปรากฏเอาไว้
บางเรื่องฟังมาแค่ไม่กี่คำหรืออ่านมาไม่กี่บรรทัด จะไม่อวดเก่งขยายความให้รุ่มร่ามรำคาญ
เรื่องเล่าต่อไปนี้จึงไม่อาจถือเป็นบทประพันธ์
เป็นเพียงบันทึกอีกเล่มหนึ่งแทรกอยู่ในห้องสมุดใหญ่
—————————————————————————

หลวงปู่ทองรัตน์ กนฺตสีโล

พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายมหานิกาย สายวิปัสสนาธุระ
ศิษย์หลวงปู่เสาร์ –หลวงปู่มั่น

ชาติกำเนิด
เกิดเมื่อปีพ.ศ.2431 ที่บ้านสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม
นามเดิม-ทองรัตน์ นะคะจัด
สกุล-นะคะจัด มาจากนครพนมและชื่อบิดาหลวงกำจัด
บิดา-หลวงกำจัด
มารดา-แก้วบุปผา
มีพี่น้องทั้งหมด9คน องค์ท่านเป็นคนที่4
บุคลิกลักษณะ-สูงใหญ่ กำยำ น่าเกรงขาม ไม่เกรงกลัวสิ่งใด

อุปนิสัย-ดุดัน มุทะลุ แต่มีอารมณ์ขัน

บวชเพราะผู้หญิง
ธรรมดาของคนหนุ่ม ต้องมีเรื่องเกี้ยวสาว ทั้งทีเล่นทีจริง ประสาวัยคะนอง
สาวนั้นบังเกิดรักอย่างจริงจัง ขอร้องแกมบังคับให้องค์ท่านนำผู้ใหญ่ไปสู่ขอ
ถ้าไม่ไปสู่ขอหล่อนจะหอบผ้าหนีตาม
องค์ท่านเข้าหาบิดาขอคำปรึกษา
แล้วก็กลายเป็นขออนุญาตออกบวช
อ้างว่ายังไม่อยากมีเมีย
ได้บวชขณะมีอายุ26ปี(พ.ศ.2459)ที่วัดโพธิ์ไทร อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม(ปัจจุบันเป็นวัดโพธิ์ไชย)
พระอุปัชฌาย์-หลวงปู่ คาร คนฺธิโย
พระกรรมวาจาจารย์-หลวงปู่เกิ่ง อธิมุตฺตโม
เมื่อบวชแล้วก็หายสาบสูญไปจากบ้านเกิด ไม่เคยย้อนกลับ หรือแม้แต่ส่งข่าว เป็นเวลาเนิ่นนานหลายปี

ปรากฏนามครูบาอาจารย์ใหญ่
บวชได้แค่2ปี เกิดความรู้สึกอยากสึกอย่างรุนแรง
ความไม่อยากสึกก็ลุกขึ้นต่อสู้กัน ยังไม่รู้ผลแพ้ชนะอยู่หลายวัน ดูไปความรู้สึกอยากสึกชักเป็นต่อ
ตัดสินใจธุดงค์ออกจากวัดโพธิ์ไทรเผื่อจะช่วยลบล้างความอยากสึกได้
เดินเรื่อยเปื่อยเข้าสู่ป่า มุ่งหน้าขึ้นภูพาน ยิ่งเดินยิ่งเหนื่อย ยิ่งเหนื่อยยิ่งท้อแท้อยากสึก
ถึงภูพานหยุดพักหาสถานที่ทำเพียรซึ่งตนเองก็ยังไม่รู้เรื่องไม่เชี่ยวชาญ
ยิ่งทำเพียรยิ่งอยากสึกเข้าให้อีก
ตัดสินใจอดอาหาร
6-7วันชาวบ้านไม่เห็นท่านลงจากเขามาบิณฑบาต คิดว่าคงตายอยู่บนนั้นแล้ว
ชวนกันขึ้นไปดู
เห็นท่านเดินจงกรมทำความเพียร จึงวางใจ
พอมีโอกาสสนทนากัน ก็กราบเรียนองค์ท่านว่า แถวนี้หลวงปู่เสาร์กับหลวงปู่มั่นเคยมาทำเพียร
ท่านควรไปขอคำแนะนำในการประพฤติปฏิบัติ ด้วยว่าท่านหาได้มีครูบาอาจารย์ที่เชี่ยวชาญอบรมสั่งสอนไม่
องค์ท่านจึงออกเดินทางสืบเสาะหาครูบาอาจารย์ทั้งสอง
ในที่สุดได้พบหลวงปู่มั่นที่วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร
เข้ารับการอบรมสั่งสอนและอยู่ปฏิบัติกับหลวงปู่มั่นจนความอยากสึกคลี่คลายหายสูญไปเอง

ทฤษฎีหรือจะสู้ปฏิบัติ
มีผู้ถามหลวงปู่ทองรัตน์ว่า
“ที่หลวงปู่กล่าวว่าคำสอนไม่เทียบเท่าปฏิบัตินั้นเป็นอย่างไร”
องค์ท่านวิสัชนาว่า
“คำสอนออกจากปากผู้สอนบอกรสของผลปฏิบัติไม่ได้ คำสอนเป็นแค่แนวทาง การปฏิบัติจึงเป็นทางเดียวที่จะเห็นผลตามคำสอน ผลนั้นเป็นเรื่องผู้ปฏิบัติจะรู้รสเอง เห็นเอง”
เฉกเช่นคนมีแผนที่ในมือ แต่ไม่เคยออกเดินทาง
ดูแผนที่จนเข้าใจแจ่มแจ้งว่าวิธีจะเดินทางจากกรุงเทพไปอุบลราชธานีไปได้อย่างไร ใช้เส้นทางได้กี่เส้นทาง
เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาตรงไหน กม.ที่เท่าไหร่ รู้และจำได้หมด
สามารถแนะนำผู้เดินทางอื่นได้ถูกต้องแม่นยำไม่ผิดพลาด
แต่ว่าตนเองกลับไม่เคยเดินทางจริงเพื่อให้ไปถึงอุบลฯด้วยตนเอง

เอาชนะความกลัว
มีความเชื่อมั่นในตนเองเป็นที่สุด เชื่อว่าตนเองไม่กลัวสิ่งใด
ขณะนั้นติดตามหลวงปู่มั่นไปเชียงใหม่ หลวงปู่มั่นถามว่าหมดกลัวหรือยัง ถวายคำตอบไปว่าหมดแล้ว
ถ้าอย่างนั้นท่านไปอยู่ที่ถ้ำบังบด หากอยู่ยังไม่ครบ3พรรษาห้ามออกจากที่นั่น (ไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน)
ถ้ำแห่งนี้หลวงปู่มั่นเคยอยู่มาก่อน ขู่อีกด้วยว่าถ้าใจไม่แข็ง ภูมิธรรมไม่ถึง ศีลไม่บริสุทธิจะอยู่ไม่ได้
ความห้าวหาญ องอาจเป็นนิสัย ทำให้ไม่ลังเลที่จะรับบัญชา
องค์ท่านเล่าว่า
คืน15ค่ำข้างขึ้น เดือน10 พรรษาแรก
กำลังสงบอยู่ในสมาธิ พลันบังเกิดเสียงสนั่นลั่นไหว ในเบื้องต้นแยกไม่ออกว่าเป็นเสียงอะไร ภูเขาทั้งลูกก็เสทือนเลื่อนลั่นปานจะถล่มทลาย ต่อมาเสียงโกลาหลยิ่งขึ้น ทั้งเสียงหวีดร้องของคนและสัตว์โหยหวนชวนขนลุกขนพอง คิดอยากลุกขึ้นออกจากถ้ำไปดูให้รู้แจ้งก็หวั่นไหวไม่แน่ใจ ความกลัวที่เคยเชื่อว่าหมดก็มีขึ้นมาอย่างระงับไม่ได้ ขนหัวลุกชันทั้งหัว พุทโธก็หาย สมาธิก็ถอน จีวร สบงชุ่มเหงื่อ
ในขณะที่จวนเจียนจะสติแตก
มีเสียงกระซิบที่ข้างหู
สกลพิภพนี้ เทพ พรหม ยมยักษ์ สรรพสัตว์ทั้งหลายล้วนเกรงกลัวพระพุทธเจ้า ท่านเป็นศิษย์ตถาคตใยจะต้องเกรงกลัวสิ่งใดเล่า
สติก็หวนกลับคืนทันที
ความกลัวหายไปไหนไม่รู้ตัว เกิดความอาจหาญอย่างบอกไม่ถูก คิดจะให้กลัวสิ่งใดก็ไม่กลัว คิดให้กลัวเสือกลัวช้างก็ไม่กลัว อาการหมดกลัวครั้งนี้มีอานุภาพกว่าเดิมร้อยเท่าพันทวี จะเดินจงกรม นั่งสมาธิเกิดความเยือกเย็นสบาย ข้าวปลาอาหารไม่รู้สึกหิว อิ่มเอิบไม่ฉันแม้แต่น้ำอยู่นาน7วัน ทั้งยังไม่รู้จักอยากหลับนอนอีกต่างหาก
เป็นเช่นนั้นอยู่ตลอด3พรรษา
ครั้นได้เข้านมัสการหลวงปู่มั่นอีกครั้ง หลวงปู่มั่นออกใบประกาศนียบัตรรับรองด้วยวาจาว่า
“ทองรัตน์ บัดนี้จิตท่านเสมอจิตผมแล้ว”
หลังจากนั้นมา หลวงปู่ทองรัตน์คือพญาอินทรีที่เติบใหญ่กล้าแข็งพอจะบินเดี่ยวตามลำพัง และเป็นที่พึ่งพิงแก่ผู้อื่นได้
เป็นครูบาอาจารย์สอนผู้อื่นก็ได้
และหลังจากนี้ไป การเล่าเรื่องของหลวงปู่ทองรัตน์จะเป็นอย่างที่เรียกว่าจับต้นชนปลายไม่ถูก

ดังนั้นจะเล่าต่อไปในลักษณะของเหตุการณ์แต่ละช่วง โดยไม่ยืนยันว่าอะไรเกิดขึ้นก่อนหลัง คือนึกเรื่องใดออกเล่าเรื่องนั้น จนกว่าจะหมดเรื่องเล่า

 

แชร์ :

ความคิดเห็น

** โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างมีวิจารณญาน