ผ้าเหลือง

“ผ้าเหลือง”
ปิตุฆาต
มาตุฆาต

ยุยงพระสงฆ์ให้
แตกแยกกัน

สามประการนี้ (หรือจะมีมากกว่านี้ก็ไม่ทราบ) พระพุทธเจ้าตรัสว่าห้ามนิพพาน

เป็นปาบอันร้ายแรงว่างั้นเถิด

เดี๋ยวนี้พระสงฆ์กำลังแตกแยกกันเป็นฝักเป็นฝ่าย เป็นกลุ่มเป็นพวกก็ประจักษ์กัน

ชื่อว่าพระสงฆ์แล้ว แม้นไม่เป็นอริยก็สมควรแก่การกราบไหว้บูชาดังพุทธวาจาว่า “การได้เห็นสมณะเป็นบุญอันประเสริฐ”

เปรียบเหมือน “พลอย” ก็มีทั้งพลอยดีและไม่ดี, พลอยเนื้อดีย่อมมีราคาแพง พลอยเนื้อไม่ดีราคาก็ไม่แพง แต่พลอยเนื้อไม่ดีราคาก็ไม่แพง แต่พลอยนั้นอย่างไรก็มีค่ากว่ากรวดหิน และก็ยังเป็นพลอยที่ถูกเรียกว่าพลอยอยู่เสมอ

พระสงฆ์ก็เช่นเดียวกัน แม้นเป็นสงฆ์ดีหรือไม่ดีก็เป็นสงฆ์อยู่วันยังค่ำ ส่วนการจะแยกว่าสงฆ์ดีหรือไม่ดีอย่างไรก็เป็นความสามารถของแต่ละคน เช่นเดียวกับพลอยดีหรือไม่ดีก็อยู่ที่ตาของผู้ตรวจดูเท่านั้น การจะดูว่าพลอยดีไม่ดีก็ใช่ว่าจะสามารถทำได้ทุกคนก็หาไม่ หากไม่ใช่ผู้รู้เฉพาะวิชาพลอยแล้วก็เป็นเรื่องยากลำบากจะวินิจฉัย ผู้ไม่รู้ว่าพลอยดีไม่ดีอย่างไรมักได้พลอยอัดเม็ดเท่าเมล็ดมะขามประดับนิ้ว ทุกคนไป

และไม่ว่าจะเป็นพลอยแท้หรือพลอยอัดก็ล้วนเรียกว่าพลอยเช่นกันไม่เป็นอื่นไปได้

พลอยจึงเปรียบเหมือนสมณะเพศหรือพระสงฆ์

พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีมีกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า ในปีฉลู พ.ศ. ๒๓๒๔ พระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระสติวิปลาศ สำคัญพระองค์ว่าได้บรรลุโสดาปัตติผล จึงมีพระราชปุจฉาถามพระราชาคณะทั้งหลายทั้งปวงว่าพระสงฆ์ปุถุชนจะไหว้นบ คฤหัสถ์ซึ่งเป็นพระโสดาบุคคลนั้นจะได้หรือมิได้ประการใด สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆัง) ๑, พระพุฒาจารย์ วัดบางหว้าน้อย (วัดอมรินทร) ๑, พระพิมลธรรมวัดโพธาราม ๑ จึงถวายพระพรว่า “ถึงมาดว่าคฤหัสถ์เป็นพระโสดาก็ดี แต่เป็นหินเพศต่ำ อันพระสงฆ์ถึงเป็นปุถุชนก็ตั้งอยู่ในอุดมเพศอันสูง เหตุทรงผ้ากาสาวพัตรและพระจตุปาริสุทธิ์ศีลอันประเสริฐ ซึ่งจะไหว้นบคฤหัสถ์อันเป็นพระโสดานั้นก็มิควร”

นี่ก็พอจะทำให้นึกเห็นคำกล่าวว่า “เห็นแก่ผ้าเหลือง” “ไหว้ผ้าเหลือง” ซึ่งคำกล่าวนี้ไม่ได้แสดงความนับถือเลื่อมใสผู้ครองผ้าเหลืองซึ่งก็คงไม่มี คุณสมบัติเหมาะสมแก่เพศอันอุดมนั้นแต่ผู้กราบไหว้นั้นก็เห็นแก่การครองเพศ สมณะจึงงด
เว้นไว้ไม่ก้าวร้าวล่วงเกินหยาบคาย< จึงนับว่าเป็นสิ่งสมควรอย่างยิ่ง และผู้สามารถกล่าวว่าเห็นแก่ผ้าเหลือง, ไหว้ผ้าเหลือง โดยรู้แจ้งถ่องแท้ ก็คงจะต้องเป็นผู้ดูพลอยออกว่า ว่าเป็นพลอยดีหรือไม่ดี แต่แม้ดูออกถ่องแท้ก็มิได้ก้าวร้าวล่วงเกินแต่อย่างใดนับว่าเป็นผู้สมควรแก่ การสรรเสริญ เนื่องจากว่าแม้เป็นปุถุชนอยู่ก็ตาม หากได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว ได้ห่มผ้าเหลืองแล้ว ยังคงความเป็นปุถุชนอยู่ก็ยังได้ชื่อว่าอยู่ในอุดมเพศอันสูง คือมีโอกาสจะเจริญจิตใจให้สูงขึ้นกว่าปุถุชนทั่วไปซึ่งแม้จะมีโอกาสเท่าเทียมก็ว่าได้ ปุถุชนอย่างเราท่านระลึกรู้อย่างนี้แล้วก็ควรอยู่ ในส่วนของพระสงฆ์เองนั้นระลึกรู้ไว้ก็สมควรเช่นกัน ดังที่สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฒโน) เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศฯ องค์ปัจจุบันกล่าวไว้ว่า “การเข้ามาบวชนั้น อันประกอบด้วยการถือเพศเป็นบรรพชิตคือผู้บวช ครองผ้ากาสาวพัสตร์ โกนผมและพระสงฆ์ได้ประกอบสังฆกรรมให้อุปสมบทตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติ ไว้ และเมื่อได้กระทำถูกต้องบริบูรณ์ด้วยคุณสมบัติของการอุปสมบท ก็สำเร็จเป็นพระภิกษุตามพระวินัยบัญญัติ นี้เรียกว่าการบวชกายจึงต้องมีการปฏิบัติทางจิตใจ ให้จิตใจมีความสงบสมกับที่ชื่อว่าเป็นสมณะคือผู้สงบ หรือที่ไทยเรียกพระ ก็มีความหมายเดียวกัน ก็จะต้องปฏิบัติจิตใจให้เป็นศีล จิตใจเป็นสมาธิ จิตใจเป็นปัญญา คือให้จิตใจนี้สงบปกติตั้งมั่นและรู้เข้าถึงธรรม ดั่งนี้เป็นการบวชใจ, เมื่อมีการบวชกายตามพระวินัยบัญญัติและมีการบวชใจ ถือปฏิบัติอบรมจิตใจของตนพร้อมทั้งกายวาจา ให้เป็นศีลเป็นสมาธิ เป็นปัญญาดังกล่าว ก็เป็นการบวชใจ, เมื่อมีการบวชกาย มีการบวชใจสมบูรณ์ทั้งสองนี้ จึงจะเป็นการบวชที่สมบูรณ์ทั้งกายทั้งใจ” “แม้ว่าจะได้ปัจจัยทั้ง ๔ ดีก็ตาม, เลวก็ตาม ก็จะไม่ตื่นเต้นยินดี จะไม่ฟุบแฟบเสียใจ เพราะจะมีสำนึกว่าถึงอย่างไร ๆ ก็ยังดีกว่าที่เป็นนิสสัยทั้ง ๔ อันพระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนไว้ และก็จะทำให้มีความสำนึกตน เมื่อได้รับบำรุงอดิเรกลาภดีเท่าใดก็ยิ่งที่จะตั้งใจปฏิบัติความดีความชอบ ให้ยิ่งขึ้นเท่านั้นเพราะว่าอันสิ่งที่ผู้มีศรัทธาจัดถวายนั้นเขาต้องการจะ ถวายแก่ภิ
กษุ สามเณรผู้ทรงศีล< ผู้ตั้งใจปฏิบัติพระพุทธศาสนาอย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้นเมื่อได้ใช้ปัจจัยของเขา ยิ่งเขาถวายดีเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องตั้งใจปฏิบัติดีเท่านั้น และก็ตั้งใจแผ่เมตตาจิตแก่ผู้ที่ถวายนั้น เมื่อเป็นดังนี้แล้วก็ตรัสสอนไว้เหมือนกันว่า การตอบแทนก้อนข้าวของชาวเมืองที่เขาถวายนั้น คือการตั้งใจแผ่เมตตาจิตไปให้เขาโดยตรง ก็เมื่อฉันอาหารของเขาแล้วก็ต้องตั้งใจศึกษาเล่าเรียนปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เพราะฉะนั้น จึงได้มีการแสดงถึงการบริโภคปัจจัยทั้ง ๔ ไว้ว่ามี ๔ อย่าง คือ ๑. เถยยบริโภค
แปลว่าการบริโภคของผู้ทุศีล ซึ่งเป็นเหมือนอย่างว่ามาขโมยของสงฆ์ไปบริโภคก็เพราะว่าวัดวาอารามที่สร้าง ขึ้น กุฏิวิหารที่สร้างขึ้น ปัจจัยทั้งหลายมีอาหารผ้านุ่งห่ม ยาแก้ไข้และอื่น ๆ ที่เขาถวายทั้งหมดนั้น ผู้มีศรัทธาต้องการถวายผู้ที่มีศีลตั้งใจรักษาศีล เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นคนทุศีล คือมีศีลชั่ว ศีลขาด ศีลด่างพร้อย ไม่ตั้งใจปฏิบัติศีลให้ดีมาครองผ้าเหลือง แล้วมาอยู่กุฏิที่เขาถวาย ฉันอาหารที่เขาถวาย อะไรเหล่านี้ เป็นต้น ก็เท่ากับว่ามาขโมยของสงฆ์ไปบริโภค จึงชื่อว่าเถยยบริโภค บริโภคโดยความเป็นขโมย หมายความว่า ผู้ทุศีลมาบริโภคใช้สอยของสงฆ์ของวัดของที่เขาถวายด้วยศรัทธา

๒. อิณบริโภค
บริโภคโดยเป็นหนี้ ก็หมายความว่า ถึงแม้ไม่ใช่เป็นผู้ทุศีลเหมือนอย่างนั้น ปฏิบัติดีอยู่ ในศีล แต่ว่าในขณะรับก็ดี บริโภคก็ดี บริโภคแล้วมิได้พิจารณาในสิ่งที่ไม่ได้พิจารณาในขณะบริโภคก็ดี ก็ชื่อว่าบริโภคโดยความเป็นหนี้ คือเหมือนว่ากู้ยืมทรัพย์สินของเขามาบริโภค

๓. ทายัชบริโภค
บริโภคโดยความเป็นทายาท ท่านแก้ไว้สูงว่าเป็นการบริโภคของพระเสขะทั้ง ๗ คือพระอริยบุคคล ๗ จำพวก ตั้งแต่ผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค จนถึงพระผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตมรรค แต่เมื่อพิจารณาดูแล้ว แม้ว่าจะยังมิใช่พระเสขะแต่ว่าเป็นผู้ตั้งใจปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบตามบทพระสังฆคุณ หรือปฏิบัติเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพานเพื่อทำทุกข์ให้สิ้น ดั่งนี้เป็นทายัชบริโภค บริโภคโดยความเป็นทายาทได้ คือพระเสขะดังกล่าวก็ดี สรุปเอาท่านที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ คือบวชมาแล้วก็ตั้งใจปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ตั้งใจปฏิบัติในศีล สมาธิ ปัญญา หรือไตรสิกขาอยู่เพื่อความสิ้นทุกข์ตามกำลังสามารถ ก็ชื่อว่าเป็นทายาทของพระพุทธเจ้า เมื่อเป็นทายาทของพระองค์ที่เป็นสมณศากยบุตร เป็นบุตรพระพุทธเจ้า ก็มีสิทธิที่จะบริโภคใช้สอยทรัพย์สมบัติของบิดาได้

๔. สามิบริโภค
บริโภคโดยความเป็นเจ้าของ ท่านแสดงไว้อย่างสูง ก็คือว่า การบริโภคของพระอรหันตขีณาสพผู้สิ้นอาสวะแล้ว การบริโภคปัจจัยทั้ง ๔ ที่เขานำมาถวายนั้นเป็นการบริโภคอย่างเป็นเจ้าของโดยแท้ เพราะท่านเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยประการทั้งปวง

มาถึงตรงนี้แล้วก็พอจะระลึกได้ว่าทั้งพระสงฆ์และฆราวาสต่างมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติทั้งนั้น

ไม่ว่าท่านผู้ใดจะเป็นพระสงฆ์

ไม่ว่าท่านผู้ใดจะเป็นฆราวาส

ขอได้โปรดเห็นแก่ผ้าเหลืองด้วยเถิด

——————————————————————————–
งานเขียนของคุณอาอำพล เจน  … จากหนังสือแปลก ฉบับที่ 654
วันที่ 6 กันยายน 2531
———————————————————————————
แชร์ :

ความคิดเห็น

** โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างมีวิจารณญาน