สมเด็จพระพุทธปรางค์

สมเด็จพระพุทธปรางค์
วัดอรุณราชวราราม กทม.



ถ้าใครมีศรัทธาในพระเครื่องวัดระฆัง รุ่น 118 จะเมินสมเด็จพระพุทธปรางค์ ที่ผมกำลังจะกล่าวถึงนี้ไม่ไหว

เดิมผมไม่ทันรู้จักสมเด็จพระพุทธปรางค์หรอกครับ จู่ ๆ คุณนัดดา เศรษฐบุตร ก็ได้ชี้แนะให้ผมทราบในค่ำวันหนึ่งที่ศรีย่าน

เมื่อแนะนำและสาธยายคุณงามความดีของสมเด็จพระพุทธปรางค์แล้วก็ขอให้ผมเขียนถึงบ้าง

เพื่อหวังให้ผู้ศรัทธาได้ไปบูชามาไว้ประจำตัว และยังจะเกิดกุศลแก่วัดอรุณฯ เพราะว่าการสร้างพระชุดนี้มีเจตนาอยากจะสร้างศาลาอนุสรณ์ไว้ที่บริเวณฌาปน สถานของวัดอรุณฯ ชื่อว่าศาลาอนุสรณ์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (วน ฐิติญาณมหาเถร) ซึ่งเป็นอาจารย์ของพระครูประกาศ สมณคุณ ผู้สร้างพระชุดนี้ คือท่านพระครูมีเจตนาสร้างพระเพื่อจะสนองคุณอาจารย์ของท่านที่ล่วงลับไปแล้ว นั่นเอง

คงต้องบอกอีกครั้งว่า คติในการพิจารณาพระดีของผมนั้น ได้ถือเอาหลักการที่อาจารย์อนันต์ สวัสดิสวนีย์ กรมศิลปากร ได้ชี้นำเอาไว้ ดังนี้

พระดีต้องมีองค์ 3
1. เจตนาสร้างดี
2. มวลสารดี
3. เสกดี

พระครูประกาศสมณคุณหรือหลวงพ่อวิฑูรย์ นันทิโก ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณฯ ดูจะเป็นผู้มีวิญญาณของนักสร้างพระอยู่ไม่น้อย

เห็นได้จากการที่ท่านเป็นนักสะสมของเก่า ไม่ทิ้งของเก่า

ซึ่งของเก่าที่ท่านสะสม ล้วนแต่จะเป็นประโยชน์ในการสร้างพระทั้งสิ้น

ของเก่าทั้งหลายที่ท่านสะสมคือผงพุทธคุณของครูบาอาจารย์รุ่นเก่า ๆ ซึ่งมีทั้งที่เป็นผง เป็นพระหักชำรุด เป็นดินจากสถานที่มีมงคล เป็นไม้ที่ได้ชื่อว่าวิเศษพิสดารและก็เป็นอะไรอีกหลายอย่าง ที่กล่าวถึงให้ครบถ้วนโดยยาก

เฉพาะผงสำคัญนั้น เห็นจะเป็นผงพุทธคุณที่เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (วน) ได้ทรงเก็บรวบรวมไว้ก่อนแล้วชั้นหนึ่ง แล้วตกทอดมาถึงมือท่านพระครูประกาศฯ

ผงเหล่านี้ผ่านการเก็บสะสมมานานหลายสิบปี และได้ผ่านพิธีพุทธาภิเษกสำคัญมาหลายครั้ง

ท่านพระครูเมื่อมาเป็นผู้เก็บรักษาผงสำคัญของอาจารย์ท่านเข้าแล้ว ก็คงจะได้เก็บสะสมเพิ่มเติมด้วยตัวท่านเองอีกมากมายหลายผง

เก็บมากเข้า มากเข้า ท่านคงจะเกิดเป็นทุกข์ และทุกข์ของท่านคือวิตกไปว่าผงที่มีมากมายเหล่านี้อาจจะสูญหายหรือกระจัด กระจายไปไม่เกิดประโยชน์

พอดีพอเหมาะกับทางวัดอรุณฯ ดำริจะสร้างศาลาอนุสรณ์ถวายเป็นที่ระลึกแก่อาจารย์ของท่าน

จึงได้เกิดความคิดจะนำผงทั้งหมดที่สะสมไว้มาสร้างเป็นอุเทสิกะเจดีย์

คิดแล้วก็ลงมือทำทันที

ทำกันเองอยู่ในหมู่พระเณรในวัดอรุณฯ นั่นแหละครับ ไม่ได้ไปจ้างโรงงานที่ไหนทำให้

เวลาทำก็ทำกันอย่างเป็นมงคล ไม่ได้นึกอยากจะทำก็ทำตามอารมณ์ ท่านพระครูต้องดูฤกษ์งามยามดีในการกดพิมพ์พระด้วยทุกวัน

มีการตั้งสถานที่กดพิมพ์พระ และให้มีพระสงฆ์มาสวดพระพุทธมนต์ระหว่างกดพิมพ์ไปด้วย

วันหนึ่ง ๆ กดพิมพ์พระได้ไม่กี่องค์ เลยมีอันต้องเสียเวลาสร้างพระชุดนี้ไปนานปี

โดยเริ่มกดพิมพ์พระตั้งแต่ปี 2530 มาแล้วเสร็จเอาปี 2532
ได้พระจำนวน 28,000 องค์ พระทั้งหมดมี 7 พิมพ์
1. พิมพ์พระประธานทรงนิยม (องค์ละ 100 บาท)
2. พิมพ์พระประธานฐานแซม (องค์ละ 100 บาท)
3. พิมพ์เทวดา 1 (องค์ละ 100 บาท)
4. พิมพ์เทวดา 2 (องค์ละ 100 บาท)
5. พิมพ์คะแนน (องค์ละ 50 บาท)
6. พิมพ์นางพญาเนื้อขาว (องค์ละ 30 บาท)
7. พิมพ์นางพญา ไม้งิ้วดำ (องค์ละ 30 บาท)
ส่วนพิมพ์ที่ 8 คือพิมพ์รุ่งอรุณซึ่งจำหน่ายองค์ละ 100 บาทนั้น เป็นพระที่สร้างขึ้นภายหลังต่างหาก

มาดูมวลสารที่ประกอบกันขึ้นเป็นองค์พระว่ามีอะไรบ้าง

ไม่ต้องนับผงของสมเด็จฯ วน แล้ว

1. ผงสมเด็จเสาร์ 5 ปี 2509 ของวัดอรุณฯ ที่ชำรุดแตกหัก
2. ผงสมเด็จนางพญา วัดแจ้ง ของพระครูภาวนาวิจารรณ์ (พระครูลืม) วัดอรุณฯ ซึ่งทำไว้แต่ปี 2459

ผงทั้งหมดนี้เป็นผงเก่าที่มีอยู่แต่เดิม และได้ผ่านการปลุกเสกอธิษฐานจิต จากครูบาอาจารย์มาแล้วหลายองค์ เช่น
พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์ วัดสวนขันธ์,
หลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ,
หลวงปู่เทียน วัดโบสถ์,
หลวงพ่อศุข วัดโตนดหลวง,
หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ฯลฯ

นอกเหนือจากนี้ก็มีผงเพิ่มเติมขึ้นดังต่อไปนี้
ผงดินจากสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานและแสดงพระธรรมเทศนาในประเทศอินเดีย
ผงอิทธิเจของวัดอรุณฯ ทำไว้แต่ปี 2497
ผงอิทธิเจของวัดใหม่อมตรส บางขุนพรหม
ผงอิทธิเจ ผงไม้จันทน์หอม วัดพระพุทธบาทเขาลูกช้าง
ผงอิทธิเจของหลวงปู่พิณ หลวงพ่อนอ หลวงปู่คล้าย อยุธยา
ผงอิทธิเจของครูบาธรรมชัย วัดทุ่งหลวง, หลวงปู่โต๊ะ วัดทำนบ
ผงปลุกเสกของหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี
ไม้สักดำ, ไม้งิ้วดำ, ไม้ตะเยนทองพันปี กลายเป็นหิน ว่าน 108 แก่นไม้พญางิ้วดำ และยังมีแร่นิลแร่ปูนหิน ผงทรายเงิน ทรายทอง ผงพระธาตุจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ใบโพธิ์จากอินเดีย

ที่สำคัญยิ่งคือมีทองเปลวปิดองค์หลวงพ่อโสธร, หลวงพ่อมงคลบพิตร, หลวงพ่อวัดไร่ขิง, หลวงพ่อโต วัดสะตือ, หลวงพ่อวัดเขาตะเครา

ที่ยังกล่าวไม่หมดแปลว่ามีอยู่อีกมากที่เรียกขานชื่อไม่ถูก

ปรากฏอยู่ในลักษระพระแตกหักชำรุดจากคณาจารย์ทั่วประเทศ

ตอนกดพิมพ์พระนั้น ยังได้น้ำมนต์จากพระอุโบสถวัดพระแก้ว, วัดอรุณฯ, วัดระฆังฯ, วัดบ้านแหลม, วัดไร่ขิง, วัดหลวงพ่อโสธร และน้ำจากสระสวนลุมพินีวัน ประเทศอินเดีย มาผสมขณะตำผงสำหรับกดพิมพ์พระอีกด้วย

เมื่อสร้างพระได้เป็นที่พอใจแล้ว

พระทั้งหมดได้นำเข้าพิธีพุทธาภิเษกที่วัดระฆังฯ พร้อมพระสมเด็จวัดระฆังรุ่น 118 ปี เฉพาะการนำเข้าพิธีนั้นไม่ได้ทำงุบงิบ ซุกซ่อนเหมือนอย่างที่เคยได้ยินว่าเกิดขึ้นแก่พระหลายรุ่น

หากแต่ได้นำเข้าอย่างถูกต้องเปิดเผย

มีการทำหนังสือขออนุญาตนำเข้า

ซึ่งก็ได้รับอนุญาตจากเจ้าอาวาสวัดระฆัง และพระได้นำเข้าวางในปะรำพิธีอย่างแท้จริง

เสร็จจากพิธี 118 ปี วัดระฆังแล้ว ยังได้นำเข้าพิธีที่กรมอู่ทหารเรือ ซึ่งพิธีนั้นมีสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช เป็นองค์ประธาน

ต่อจากนั้นนำเข้าพิธีที่วัดบังปืน สมุทรสงคราม วัดหนัง บางขุนเทียน และยังมีการปลุกเสกเดี่ยวจากหลวงพ่อช้วน วัดหนัง หลวงพ่อเชิญ วัดโคกทอง

ที่นึกไม่ออกว่าเข้าพิธีอะไรอีกก็ยังนึกไม่ออกอยู่นั่นเอง

รวมแล้วมากมายหลายพิธีอย่างเหลือจะกล่าว

นี่เรียกว่าครบองค์ 3 ได้ เจตนาสร้างก็ดี มวลสารก็ดี พิธีเสกพระก็ดี

เมื่อดีครบอย่างนี้แล้วก็ไม่เห็นว่าจะต้องมีความจำเป็นต้องกล่าวพิรี้พิไรถึงพระชุดนี้อีก

ใครสนใจศรัทธา ไปบูชาได้ที่วัดอรุณฯ ทุกวัน

คนทางไกลมาไม่ได้ สามารถขอบูชาทางไปรษณีย์ได้ โดยติดต่อทางจดหมายกับ

พระครูประกาศสมณคุณ
วัดอรุณราชวราราม
ถนนอรุณอมรินทร์
เขตบางกอกใหญ่
กรุงเทพฯ 10600
เพิ่มค่าส่งเสียด้วยนะครับ ค่าส่งองค์ละ 10 บาท

วัดอรุณฯ มีรถเมล์ผ่านหลายสายเช่น สาย 19, 57, 83 ข้ามเรือที่ท่าเตียนก็ได้ เรือจะส่งขึ้นท่าวัดอรุณฯ พอดี หรืออยากจะสนทนาหาความมั่นใจเสียก่อนก็โทรศัพท์ไปที่หมายเลข 4721951

ได้บอกเรื่องพระเครื่องดีแล้วยังได้กุศลอย่างนี้สบายใจดีจังเลย

———————————————————————–
งานเขียนของคุณอาอำพล เจน หนังสือศักดิ์สิทธิ์ฉบับที่ 230
วันที่ 1 สิงหาคม 2535
———————————————————————–
แชร์ :

ความคิดเห็น

** โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างมีวิจารณญาน