อีสานไม่สนุก

“อีสานไม่สนุก”

เรื่องของผู้อพยพเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก

ใหญ่อย่างคงเส้นคงวามานับสิบๆปี

กระทั่งถึงทุกวันนี้ ก็ยังเล็กไม่ลง

ปัจจุบันอเมริการับผู้อพยพเข้าประเทศแล้วประมาณ ๒ ล้านกว่าคนในระยะสิบกว่าปีที่ผ่านมา นี่ยังไม่นับประเทศฝรั่งเศส หรือประเทศอื่น ๆ เข้าไปด้วย ซึ่งก็มีจำนวนนับล้านเช่นกัน

ผู้อพยพเหล่านี้ต่างประสบปัญหาเดียวกันทั้งสิ้นคือ ขัดแย้งกันเอง จนต้องถึงกับบ้านแตกสาแหรกขาด ฝ่ายแพ้อยู่ไม่ได้ก็หนีร้อนไปพึ่งเย็นในที่ต่างๆทั่วโลก ตามแต่จะไปกันได้

คนบ้านแตกสาแหรกขาดเหล่านี้ ก็ล้วนแต่เป็นคนบ้านใกล้เรือนเคียงกับประเทศไทย คือ เวียดนาม, ลาว, และเขมร

เราจึงเป็นด่านแรกที่พวกเขาจะอพยพเข้ามาพักพิง ก่อนจะผ่านไปประเทศที่ ๓

เมื่อก่อนเราก็เป็น เดี๋ยวนี้เราก็ยังเป็น

เมื่อก่อนไม่เป็นปัญหาเท่าไหร่ แต่เดี๋ยวนี้เป็นปัญหาใหญ่ขึ้นไปทุกที เพราะว่าประเทศที่ ๓ ซึ่งเคยรับผู้อพยพจากบ้านเราไปก็ทำท่าจะไม่รับ หรือรับน้อยลงไป ทำให้จำนวนผู้อพยพตกค้างในประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ และยังไม่ทราบว่าจะไปสิ้นสุดกันที่ไหน

เพราะว่าทุกวันนี้บ้านเขา ก็ยังรบกันไม่เสร็จ

รบกันให้ดีๆ ฆ่ากันให้มิดชิดอยู่เฉพาะในเขตบ้านเขาเอง ก็คงไม่เท่าไหร่ นี่มารบกันใกล้รั้วบ้านเราเข้าอีก ชะดีชะร้ายก็มีลูกหลงเข้ามาตกให้พี่น้องเราบาดเจ็บล้มตาย

บางทีก็จงใจเอาจริงๆเสียด้วย คล้ายๆกับจะชวนเรารบอีกคน

ที่เห็น ๆ ก็ตายกันทั้งฐานที่บ้านตาตุมมาแล้ว เมื่อไม่นานมานี้

เราอยู่กันแค่กองร้อยเดียว แต่มันขึ้นมาเป็นหมื่น

ช่างทำได้ลงคอ !

ยังชาวบ้านร้านถิ่น ทำมาหากินไปตามประสาอีกล่ะ ไม่รู้เท่าไหร่ ต้องพลอยประสบเหตุเภทภัย ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ไปกะเรื่องวิวาทของเขา

เคยเข้าป่าขุดมัน, เก็บเห็ด, ตัดหวาย ได้ของกินได้อาชีพ แต่เดี๋ยวนี้ป่าที่เคยเข้าไปก็กลายเป็นเขตหวงห้าม เป็นที่วางกับระเบิด ทนหิวไม่ไหวเสี่ยงเข้าไป บ่าย ๆ มีเสียงตูม อีก ๑ ช.ม. ไปเอาศพออกมา

เละเหมือนเคี่ยวเศษเนื้อ

ลูกเต้า ๔-๕ คนข้างหลังแพแตกเตลิดเปิดเปิงไปทางไหนบ้าง ไม่มีเพื่อนบ้านคนไหนรู้

โธ่ !

สุภาพสตรีท่านหนึ่ง เป็นครูชายแดนสอนหนังสืออยู่ตรงรอยตะเข็บของทั้งสองประเทศ คือไทย-เขมร ด้านจังหวัดสุรินทร์ ระบายความอัดอั้นมา ๕ หน้ากระดาษฟุลสแก๊ป

เหมือนกระจกเงาบานน้อย ๆ บอกปัญหา และสะท้อนภาพชายแดนอย่างชัดเจนตามสภาพของเธอ

อ่านกันสักบางส่วนดีไหม

“ประเทศที่ ๓ เน้นอยู่ตลอดเวลาถึงหลักการ อุดมการณ์ มนุษยธรรม อันมีต่อผู้อพยพลี้ภัยสงคราม พร้อมที่จะช่วยเหลือและรับผู้อพยพนั้นไปยังประเทศของเขา แต่ในความพร้อมนั้นมีการเน้นและเฟ้น เอาเฉพาะสุดยอดของผู้อพยพไปเท่านั้น

เหลือเพียงผู้อพยพระดับชาวบ้านธรรมดา ๆไว้ให้ม้าอารีพี่ไทยชาวพุทธผู้โอบอ้อมรับภาระต่อไป

เขาให้เงินช่วยเหลือค่าครองชีพ อาหาร, ยารักษาโรค แต่ในสถานการณ์อย่างนี้ที่ชายแดน ลูกปืนมันไม่มีลูกตา มันวิ่งมาชนโดยไม่ดูว่าจะเป็น “ชาวเขา” หรือ “ชาวเรา”

มนุษยธรรมดี หรือ ความอยู่รอดดี ?

สภาพความเป็นอยู่ตลอดจนดินฟ้าอากาศแถบนี้ แย่ยิ่งกว่าแย่ แม้ขณะปกติไร่นาก็แทบจะไม่ได้ผล นี่ยังมามีปัญหาทำนาไร่กันไม่ถนัดเข้าอีก มิหนำซ้ำยังต้องมารับและร่วมชะตากรรมกับชาวเขาที่อพยพเข้ามา

เขามีที่พักฟรี อาหารฟรี แต่เราอยู่บ้านเช่า ข้าวต้องซื้อ

พอมีเสียงปืนลั่น ระเบิดลงดิน ที่ฝ่าเท้าสะเทือนต้องวิ่งลงหลุมหลบภัย ซึ่งทางเจ้าหน้าที่สั่งให้ทำไว้ทุกบ้าน

ถ้ามีเหตุการณ์รุนแรง ใครบังอาจตายนอกหลุมหลบภัย จะไม่ได้รับการช่วยหลือค่าทำศพแต่อย่างใด

มีบ้านก็ตายบนบ้านไม่ได้

เราผิดหรือที่ต้องเกิดและเติบโตอยู่ในแถบถิ่นนี้

ต้องรับผิดชอบชีวิตตนเองด้วยมีดทำครัว, เคียวเกี่ยวข้าว, คันไถ หรืออะไรก็ได้ ตามแต่จะหยิบขึ้นมาป้องกันตัวเอง, ลูก, เมีย และทรัพย์สิน

เมื่อต้นปี ๒๗ ลูกสาวของชาวบ้านอุโลก โดนทหารจากประเทศเพื่อนบ้านฉุด ผู้เป็นแม่ตามไปช่วยลูก และทหารของเราก็ตามไปช่วยอีกแรง

ได้มาแต่ศพแม่

ลูกสาวของเธอ ขณะนี้ชะตากรรมเป็นอย่างไร ใครบอกได้

ในระหว่างเวลาของความตึงเครียดจากการสู้รบ ชาวบ้านทำมาหากินไม่ได้ต้องวิ่งเข้าวิ่งออกในหลุมหลบภัย

บีบคั้น แร้นแค้น ทนหิวไม่ได้ก็ต้องกู้นายทุน

เงิน ๑๐๐ บาท ต้องใช้คืนด้วยข้าวหอมมะลิ ๑ กระสอบ
ปุ๋ย ๑ ถุง ต้องคืนข้าวให้นายทุน ๘ กระเฌอ
เงิน ๒.๕๐ บาท ต้องใช้ปอคืนให้ ๑ กิโลกรัม
เงิน ๓๐๐ บาท ใช้มันคืนให้ ๑ ตัน

มนุษยธรรม อยู่บนสวรรค์วิมานชั้นไหน?

นโยบายผลักและดันของเรานั้น กระทำกันอยู่ตลอดเวลา ต้องใช้ชีวิตเลือดเนื้อของตำรวจทหาร อส. ไปเท่าไร

จริงล่ะ มันคืออาชีพ และไม่มีใครปฏิเสธว่า สามล้อต้องรับจ้างปั่นจนเส้นเอ็นปูดโปน

ครูต้องรับจ้างสอน

ตำรวจ ทหาร รับจ้างรบ

แต่ละฝ่ายล้วนถูกฝึกมาคนละแบบ

ทว่าชาวบ้านกลับถูกฝึกให้หนี

ฝึกจริงๆ ฝึกอพยพกันทั้งหมู่บ้าน หากมีภัยร้ายแรงเหลือกำลังจะต้านทานพวกมันได้ไหว

เมื่อได้หนีอย่างของจริงแล้ว เขาก็กลับมาตั้งต้นชีวิตใหม่กันอีก ครั้งแล้วครั้งเล่า ภายหลังจากเจ้าหน้าที่เคลียร์พื้นที่สำเร็จครั้งแล้วครั้งเล่าเหมือนกัน

ด้วยการกู้เงินงวดใหม่ซื้อ มีด, จอบ, คันไถ และควายตัวใหม่

โดยมีความเจ็บปวด,ความพลัดพราก, ความบอบช้ำ, แร้นแค้น, ทุกข์เข็ญ เป็นลมหายใจเข้าออก

จรรโลงชีวิตใหม่ที่เริ่มต้นในที่เก่า

พร้อมกันนั้นก็เตรียมตัวไว้ รอเผชิญปัญหาเก่า ๆ ที่จะต้องเกิดกันใหม่อีกแน่ ๆ ไม่ช้าก็เร็ว

นี่ชีวิตใหม่ที่แสนขม”

คุณครูครับ ขมจริง ๆ แหละครับ !

———————————————————————–
งานเขียนของคุณอาอำพล เจน  … จากหนังสือแปลก ฉบับที่ 510
วันที่ 3  ธันวาคม  2528
————————————————————————
แชร์ :

ความคิดเห็น

** โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างมีวิจารณญาน