ทุ่งมังสตอรี่

ทุ่งมังสตอรี่


หมู่บ้านที่จะปรากฎเป็นฉากสำหรับเรื่องต่อไปนี้ สมมติว่าชื่อ “บ้านทุ่งมัง” ก็แล้วกัน เป็นหมู่บ้านชายแดนเขมร ซึ่งอดีตของมันเคยเคยชะอุ่มด้วยป่าไม้อันเป็นผืนเดียวที่พรืดต่อเข้ามาจาก ฝั่งเขมร แต่เดี๋ยวนี้มันแห้งแล้งไปแล้ว อย่าว่าแต่แผ่นดินโล้นโจ้น เพราะป่าเตียนเลย กระทั่งน้ำดื่มก็เริ่มจะหายากเข้าทุกวัน

สาวบ้านทุ่งมังสวย ๆ พอมีอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่เหมือน “กูด” ไปเสียทั้งนั้น จะบอกว่าเหมือนก็ไม่ถูกทีเดียว กูดขี้เหร่กว่าสาวขี้ฮ้ายเหล่านั้นไปอีก

กูดเป็นสาววัยรุ่นแต่เพียงวัย ผิวพรรณใบหน้าและรูปร่างเกินรุ่นสาวไปแล้วหลายปี ถ้าจะบอกว่าเพราะแดดลมซัดเอาเสียแก่เกินไปก็พอไหว ความจริงสาวอื่นๆมันก็โรยเร็ว ราวรสสุคนธ์ยามสาย แต่ก็มักจะโรยหลังมีผัวเสียก่อน สำหรับกูดยังไม่เคยมีผัวก็โรยล่วงหน้าไปก่อนหลายกิโลเมตรเสียแล้ว

ถ้าจะจับความคิดของกูดมาดูกันจะเห็นว่า ในขณะหนึ่งขณะใดกูดมักสงสัยว่า ทำไมผัวมันจึงหายากกว่างานนัก

ทอดสะพานไปทั่วแผ่นดินยังไม่มีใครเห็น

สาวอีสานรอรักตัวจริงคือกูดนี่แหละ

ความจริงเรื่องอยากมีผัวของกูดไม่ใช่ประเด็นที่จะต้องพูดถึงเพราะว่าไม่ เกี่ยวกับ เรื่องต่อไปนี้อีกเหมือนกัน แต่ถ้าจะให้เกี่ยวบ้างก็คงได้แต่เอามาเปรียบมาเปรยว่า กูดมันแล้งความงามแล้วก็เลยพลอยแล้งผัว เหมือนแผ่นดินบ้านเกิดที่มันแล้งแห้งจนหนังจะเกรียมได้ไม่ยาก

เปรียบอย่างงี้ค่อยเข้าทีหน่อยว่างั้นเถอะ

เมื่อเปรียบได้แล้วก็คงจะเข้าเรื่องได้เสียที

“กูดเอ๊ย ! น้ำในตุ่มนี่ไม่พอจะอาบแน่ ๆ มันยังไงกั๊น” ครูดวงเดือนเพิ่งจะผลัดผ้าเปื้อนฝุ่นที่คลุกมาบนรถสองแถวตลอดทางจากจังหวัด เข้าบ้านทุ่งมัง แว๊ดเสียงไม่สบอารมณ์ซึ่งปกติแล้วเย็นเอามาก ๆ อย่างอุ่น ๆ
“ยังไงกันล่ะโธ่ ทั้งเหนียวทั้งเขรอะเต็มฝืน…..ครูไม่อยู่บ้านสามวันใจคอกูดจะพักร้อนเสียยังงั้นหรือ”
“น้ำในบ่อก็แห้งเหมือนในตุ่มแหละค่าครู”
“ตะเปียงล่ะ”
“มีแต่โคลน โนงในโรงเรียนก็ไม่มีตึ๊ก”

(ตอนนี้เป็นเสียงในฟิลม์ ตะเปียงแปลว่า ห้วย, คลอง, บึง, ในที่นี้คือ ห้วย/โนง แปลว่าบ่อน้ำ, ตึ๊ก แปลว่า น้ำ)

กูดเป็นเด็กที่ครู ดวงเดือนชวนมาอยู่รับใช้ใกล้ชิด มีเงินเดือนซึ่งครูดวงเดือนแบ่งให้ใช้เดือนละ ๒๐๐ บาท ซึ่งเป็นที่พอใจของทั้งครูและเด็ก ซึ่งไม่ละอออย่างกูด เป็นเงินเดือนที่ยุติธรรม ที่สุดในแผ่นดินส่วนนั้น ถ้าต่ำกว่านี้หรือแพงกว่านี้ก็จะเลยขีดยุติธรรมไปทันที

ถ้าพิจารณาให้ถ่องแท้จะสามารถค้นพบร่องรอยความสวยงามของครูดวงเดือนได้บ้าง แต่อย่าพรรณนาร่องรอยนั้นดีกว่า เพราะว่ามันยากมาก ที่จะสะกดรอยความงามจากร่องรอยนั้นแล้ว พรรณนาออกมาให้เห็นภาพ แต่ภาพที่เห็นขณะนี้ครูดวงเดือนแกร่งและกร้านทั้งงานหน้าที่ และนอกหน้าที่อย่างแท้จริง กูดเฝ้ามองและอยากเป็นเช่นนั้นบ้าง ความอยากนั้นก็เหมือน กูดอยากมีผัวนั่นแหละ มันเป็นไปแทบไม่ได้ กูดรู้ว่าความฉลาดมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นยากจริง ๆ

ถึงแม้กูดจะคิดไม่เป็น แต่ความจำกูดไม่แพ้ใคร

ในวันหนึ่งครูดวงเดือนบอกกูดว่าครูไปรับงานจากโครงการที่ดีมากมาอย่างลับ ๆ หน้าที่ที่นอกเหนือจากสอนหนังสือครูจะต้องปลุกระดมชาวบ้านให้เลิกตัดไม้ ทำลายป่า และจะต้องทำการปลุกระดมเงียบ ๆ แบบซึมลึก โดยที่ชาวบ้านทุ่งมังไม่รู้ว่านี้เป็นนโยบายหรือเป็นโครงการอะไร

ที่จำได้แม่นที่สุดคือครูดวงเดือนบอกว่า งานนี้ยังไม่รู้ว่าจะไปสะดุดแข้งผู้มีอิทธิพลคนใดบ้าง ถ้ามีการสะดุดเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ว่าจะถึงกับตายหรือเปล่า และครูก็สั่งกูดว่า เรื่องนี้เล่าให้ฟังแล้วจงเหยียบเสีย

สิ่งแรกที่ครูดวงเดือนทำคือ บอกชาวบ้านทุกคนที่มีโอกาสจะได้บอกเพื่อให้ทราบถึงผลเสียจากการไม่มีป่าไม้ ซึ่งผลเสียนี้ไม่ต้องบรรยายอีกก็ได้เพราะว่ามีการบรรยายอยู่แล้วในทุก ๆ แห่ง

ครูดวงเดือนใช้เวลาหลายเดือนสำหรับการบรรยาย คุณและโทษของการมีและการไม่มีป่าไม้

“ไม่ให้พวกเฮาโตวตรุ แล้วจะให้ทำไร” (โตวตรุ แปลว่า ไปถางที่เตรียมทำไร่)

ครูดวงเดือนจึงปลุกระดมให้ชาวบ้านหันมาทำงานฝีมือ ซึ่งเรียกแล้วไม่ต้องพรรณาอีกว่าหัตถกรรม โดยงานหัตถกรรมจากชาวบ้าน ทุกชิ้นทุกอันครูดวงเดือนรับจะนำไปขายให้

ปรากฎว่านโยบายนี้ได้ผล ชาวบ้านเริ่มมีรายได้กันเกือบจะถ้วนหน้าและยังขยายไปถึงการเพาะปลูกพืชไร่ บางชนิดที่เหมาะสมกับสภาพภูมิศาสตร์ของบ้านทุ่งมัง โดยเฉพาะมะม่วงหิมพานก็ดูจะเป็นพืชที่ปลูกได้ผลดีมาก ซ้ำยังมีราคาดีอีกด้วย ดังนั้นแผ่นดินตรงไหนที่แห้งแล้ง ก็เริ่มจะเขียวด้วยมะม่วงหิมพานมากขึ้นทุกที

เรียกว่าโครงการอีสานเขียวของบ้านทุ่งมัง เริ่มเป็นรูปร่างชัดเจนเข้าเรื่อย ๆ

“รู้แล้วเหยียบอีกนะกูด ที่เธอสงสัยว่าฉันไปเอาเงินมาช่วยชาวบ้านปลูกโน่นทำนี่มาจากไหน จะบอกให้มันเป็นเงินอุดหนุนจากต่างประเทศผ่านเข้ามาทางรัฐบาลเราไงล่ะ นี่เธอเหยียบไปกี่เรื่องแล้วน่ะฮึ…..เหยียบอีกเรื่องก็แล้วกัน งานนี้ฉักชักอาการไม่ค่อยดีแล้วล่ะ เสี่ยเมาโรงเลื่อยนั่นไงล่ะเขาเหม็นหน้าฉันเข้าทุกวั๊นทุกวันจะบอกให้นะกูด ถ้าฉันเกิดเหม็นเพราะเน่าไป เขาจะได้เงินจากฉันหลายเติบล่ะนะ”
“เงินอะไรครู”
“เออน่ะ…..เงินหลาย ๆ ชนิดที่เธอมีมันแล้ว ไอ้พวกหนุ่มรูปหล่อมันจะแห่มาจีบเธอกันทั้งหมู่บ้านนั่นแหละ”

ความจริงครูดวงเดือนไม่ใช่จะไปสะดุดแข้งเสี่ยเมาคนเดียวหรอก โรงเลื่อยใหญ่น้อยก็โดนสะดุดหน้าแข้งกันทั้งนั้น อันนี้ก็ไม่ต้องบรรยายอีกแล้วว่าการไปขัดประโยชน์ของผู้มีอิทธิพลเป็นยังไง เอาเป็นว่าครูดวงเดือนกำลังตกอยู่ในอันตรายแบบเดียวกับครูปิยะในหนังครูบ้าน นอกเถอะ

กลางดึกวันหนึ่ง ชาวบ้านคนหนึ่งกำลังไต้ไฟหาแมงจินูน เห็นชายสองคนถือปืนเอ็ม .๑๖ เดินผ่านไปทางบ้านครูดวงเดือน ต่อจากนั้นคนทั้งหมู่บ้านก็ได้ยินเสียงปืนรัวสนั่นหวั่นไหว

ครูดวงเดือนหายใจผงาบ ๆเลือดท่วม กูดตะกายเข้ามากอด ทั้งสองเลือดท่วมไปด้วยกัน


“กูดเอ๊ย…..เธอมีพ่อมีแม่นะ แต่ครูมันตัวคนเดียวแค่นั้น เสียใจจริง ๆ นะกูดนะ…..แนะมันขึ้นมากันแล้วล่ะ…..จับมือครูไว้…..เออ…..”

ในคืนนั้นหลังจากเสียงรัวสนั่นเงียบไปชั่วครู่ มีเสียงปืนดังเป็นครั้งสุดท้ายอีกสองนัด

(เรื่องนี้ถ้าเป็นหนังจะมีตัวหนังสือขึ้นเป็นแถวในตอนจบนี้ว่า…..ต่อมา บ้านทุ่งมังก็เป็นสีเขียวเต็มที่ หลังจากโรงเลื่อยถูกกำจัดโดยกฎหมาย ไม่มีโรงเลื่อยอีกแม้แต่โรงเดียวในภาคอีสาน อิทธิพลก็ไม่มีเพราะถูกเจ้าหน้าที่ทำลายได้หมดสิ้นไม่มีเหลือแม้แต่รากฝอย)

บทในตอนท้ายเรื่องอ่อนไปหน่อย รวบรัดไปหน่อยเพราะบรรยายมากไม่ได้ ขืนบรรยายไปก็ไม่ผ่านเซ็นเซ่อร์อยู่ดี

————————————————————————
งานเขียนของคุณอาอำพล เจน  … จากหนังสือแปลก ฉบับที่ 644
วันที่ 28 มิถุนายน 2531
————————————————————————
แชร์ :

ความคิดเห็น

** โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างมีวิจารณญาน