ไปขอบฟ้า

ไปขอบฟ้า

เขียนโดย อำพล เจน

—————-

กาลเวลาเดินทางไม่เคยหยุด,บางคนยกย่องให้กาลเวลาเป็นนักเดินทางผู้ยิ่งใหญ่
มันไม่เคยหยุดพัก ไม่เคยเหนื่อยอ่อน ไม่เคยเร่งร้อน
แต่มันเดินทางได้เรื่อย ๆ อย่างสม่ำสมอและแน่นอน
มันซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ และทำงานของมันอย่างเที่ยงตรง

กาลเวลาไม่มีมันสมอง ไม่มีความคิด ไม่มีความจำ
แต่มนุษย์ผู้เกิดมาและดำรงอยู่ในระหว่างกาลเวลารู้จักคิดรู้จักจำและฉลาดที่จะรู้จักกำหนดให้กาลเวลาเดินทางอยู่ในวงกลมสมมติ

วงกลมสมมติถูกกำหนดให้มีรูปร่างเป็นนาฬิกาบอกวินาที นาที ชั่วโมง
บอกให้รู้ว่ากาลเวลาเดินไปถึงไหนในวันหนึ่ง ๆ
และยังถูกกำหนดให้มีรูปร่างเป็นปฏิทินเป็นวงกลมสมมติที่ใหญ่โตขึ้นไปอีก
มันบอกวัน เดือน และปี

มันคือวงกลมวงจร ที่มนุษย์ผู้ฉลาดกำหนดให้กาลเวลา เดินทางอย่างมีระบบและมีระเบียบ มีจุดเริ่มต้น มีจุดจบ

แต่แท้จริงแล้ว มีใครบ้างที่รู้ว่ากาลเวลาเริ่มต้นเมื่อไหร่ และจะจบลงที่ตรงไหน
มันเริ่มต้นเดินทางตั้งแต่ยังไม่มีมนุษย์คนแรกเกิดขึ้นในโลกด้วยซ้ำไป
และวันสิ้นสุดการเดินทางของมันก็อาจไม่มีมนุษย์เหลืออยู่ในโลกแม้สักคนเดียวก็ได้

ผมคิดถึงการเดินทางและผลงานของมัน คิดถึงวันเก่า ๆ ด้วยความทรงจำที่มีฝุ่นละอองเกาะอยู่เต็ม

พยายามปัดมันออกเพื่อให้ภาพอดีตและเนื้อแท้ของมันชัดเจนขึ้นมาบ้าง
และผมก็พบมัน

ในวัยเด็กอันไม่ประสา จำกลิ่นดินกลิ่นหญ้าและภาพท้องนาน้ำเจิ่งได้แม่น
คิดถึงเสียงกบเขียดที่ร้องรับฝนและครวญหาคู่ระงมทุ่ง
คิดถึงถนนสายเดียวที่ทอดผ่านหน้าบ้านแล้วเลยไปไกลจนถึงไหนๆ ซึ่งผมเคยคิดเสมอว่ามันคงทอดไปจนถึงสุดขอบฟ้า
และพยายามวาดภาพว่าตรงขอบฟ้ามีอะไร

เส้นทางนี้รู้จักกันทั่วไปว่าทอดยาวไกลจนถึงตัวอำเภอเมือง ..ผู้คนที่เคยไปกับถนนสายนี้ และเคยไปจนถึงที่นั้นเล่าว่า ที่นั่นมีท้องนา มีข้าวท้องแก่ มีกบ เขียดร้องเหมือนบ้านเรา แต่ที่ไม่เหมือนและดีกว่านั้น ที่นั่นมีไฟฟ้าใช้แสนสะดวกสบาย แต่ของเราใช้ขี้ใต้หรือตะเกียงน้ำมันก๊าด

ตึกรามบ้านช่องใหญ่โต ร้านค้าร้านขายเกลื่อนกลาด ทุกคนร่ำรวยใช้เงินวันหนึ่งๆมากกว่าเราใช้หลายเท่า ไปไหนมาไหนสบายด้วยรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ แต่เราใช้เท้าเดินหรือขี่ควาย

ผมถามถึงถนนสายนี้ว่ามันสิ้นสุดลงตรงนั้นใช่หรือไม่ เขาเล่าว่ามันเลยไปอีก ไม่รู้เหมือนกันว่ามันจะไปสิ้นสุดลงที่ตรงไหน แต่พ่อบอกมันไปจนถึงเมืองกรุงเทพฯ และพ่อก็บอกไม่ได้ว่ามันสิ้นสุดลงตรงนั้น เพราะพ่อไม่เคยไปกรุงเทพฯ

ภาพตรงขอบฟ้าของผมจึงเป็นกรุงเทพฯ และผมก็วาดมันเสียเลิศลอยสมชื่อเมืองเทพเทวา

มองตรงไปที่ขอบฟ้าซึ่งถนนวิ่งไปหาอยู่ทุกวัน รู้ว่าถ้าเดินไปตามถนนสายนี้ก็ต้องไปถึงอย่างแน่นอน และผมก็ตัดสินใจเดินไปขอบฟ้าในวันหนึ่ง โดยออกเดินแต่เช้า โกหกพ่อว่าจะไปเฝ้านา แต่เดินเลยนาไปจนพลบค่ำ

หมดแรง หิวโหย กลับบ้านไม่ไหว เพราะเดินมาไกลเกินไป
กลัวและร้องไห้อยู่ริมทาง
ขอบฟ้าที่เฝ้ามองและหวังให้มันใกล้เข้ามาบ้างยังคงอยู่ไกลเหมือนเดิม

มีผู้หญิงคนหนึ่งมาพบ และพาผมกลับไปบ้านของเธอ ทุกคนไม่เชื่อว่าผมมาจนถึงที่นี่เพราะอยากจะไปขอบฟ้า เขาเชื่อว่าผมหนีออกจากบ้านและพยายามสอบถามถึงบ้านพ่อแม่ของผม

รุ่งเช้าผู้หญิงใจดีคนนั้นพาผมกลับมาส่ง
คิดในใจว่าจะต้องถูกพ่อตี แต่พ่อกลับอุ้มผมไว้
พ่อบอกว่าเมื่อคืนระดมเพื่อนบ้านออกค้นหาผมถึงในป่า
พ่อนอนไม่หลับทั้งคืน
เมื่อได้ตัวผมกลับคืนมาโดยปลอดภัยก็ดีแล้ว
และพ่อเฝ้าแต่พร่ำถึงบุญคุณของผู้หญิงคนนั้น

ต่อมาผู้หญิงคนนั้นก็มาอยู่ร่วมกันในบ้านของผม และเลี้ยงดูผมอย่างลูกแทนแม่ซึ่งเสียชีวิตไปตั้งแต่ผมจำความไม่ได้

เมื่อไหร่ที่ทั้งสองคุยกันถึงความหลัง มักจะกล่าวถึงความดีความชอบของผม ว่าเพราะการเดินทางไปขอบฟ้า พ่อจึงได้เธอมาและสัญญากับผมว่า ปีหน้าจะพาผมไปขอบฟ้าอย่างที่หวังตั้งใจ

ผมรู้แต่เพียงว่าหากปฏิทินหมดเมื่อไรปีใหม่จะมาถึง ผมเร่งวันเดือนปีด้วยการแอบลอบฉีกปฏิเพื่อให้ปฏิทินหมดปี

ผมทำเช่นนั้นเพื่อเร่งวันไปขอบฟ้าของผมให้มาถึงโดยเร็ว

ปฏิทินพร่องไปหลายเดือน พ่อรู้ว่าเป็นฝีมือของผมนั่นเอง
ผมจึงต้องเรียนรู้จักกาลเวลาเป็นครั้งแรกจากพ่อ
ปฏิทินไม่ใช่ตัวเร่งกาลเวลา แต่มันเป็นตัวบอกให้รู้ว่ากาลเวลาเดินทางไปถึงไหน
ฤดูกาลต่างหากที่จะบอกวันสิ้นปีได้อย่างแน่นอนชัดเจน
ผมต้องสังเกตฤดูกาล
เมื่อหมดหนาวเก็บเกี่ยวข้าวขึ้นยุ้งคราวหน้าซึ่งกำลังจะมาถึงนั่นแหละ ขอบฟ้าที่ผมฝันถึงก็จะได้ไป

ผมจึงรั้งรอและเร้าใจกับตะวันขึ้นและตก ตื่นเต้นเมื่อได้ยินเสียงว่าวสะนูลอยลงมาจากเบื้องบน ซึ่งลมหนาวกำลังโบกพัดวีไม่ขาดระยะ และแน่นอนยิ่งขึ้นเมื่องานบุญเข้ากรรมมาถึง ผมจดจ่ออยู่กับข้าวท้องแก่ และรอฟังเสียงพ่อลับเคียว

ในที่สุดพ่อก็เลี้ยงพระฉลองบุญคุณลาน เอาข้าวขึ้นยุ้ง และหลังจากแบ่งบางส่วนขายให้พ่อค้าคนจีน

วันไปขอบฟ้าก็ถูกกำหนดขึ้น

พ่อพาผมและทุกคนมุ่งหน้าไปตามถนนสายนั้น จนถึงเมืองกรุงเทพฯ เมืองขอบฟ้าจริงๆ

ในวันที่สามเราพ่อแม่ลูก มุ่งหน้าไปวัดอนงค์ฯซึ่งไม่มีใครรู้จัก ที่นั่นหลวงลุงองค์หนึ่งจำพรรษาประจำและเป็นญาติกับพ่อ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับการจะค้นพบวัดที่ต้องการ แม้แท็กซี่จะรู้จักวัดอนงค์ แต่ค่าโดยสารแพงเกินไป มันเบียดงบประมาณที่พ่อตั้งไว้จนยอมไม่ได้ พ่อจึงเลือกรถประจำทาง และเราก็พบวัดอย่างยากลำบาก

พ่อพาผมตะเวนเที่ยว เราเดินมากกว่านั่งรถ สุ่มไปตามประสาชาวบ้านนอก พ่อซึ่งเป็นความภูมิใจ และเป็นความยิ่งใหญ่สำหรับผม เมื่ออยู่ในกรุงเทพฯ พ่อดูกระจ้อยร่อย ไม่ได้ยิ่งใหญ่อย่างที่คิด

พ่อเดินงกๆ เงิ่นๆ แตกตื่นและวุ่นวายไม่แน่ใจในเมืองกรุง ไม่เหมือนพ่อเมื่อเดินอย่างสง่างามในท้องนาแบกไถคอนกล้า

พ่อไม่รู้จักผู้คน ไม่รู้จักถนน
ไม่รู้จักอะไรในกรุงเทพฯเลย
ไม่เหมือนอย่างที่พ่อรู้จักต้นไม้ใบหญ้าในท้องนา

มันทำให้ผมตื่นกลัวไปด้วย
มีความกังวลใจไปกับกิริยาของพ่อมากกว่าจะสนุกในเมืองขอบฟ้าที่ฝันหาแต่ปีที่แล้ว

เรากลายเป็นภาพแทรกของเมืองกรุงที่ทำให้ทุกคนจ้องมองเขม็งได้ง่ายๆ

เขาชวนชี้กันดูมาที่พ่อ,แม่และผม

ดูนั่น..บ้านนอกพวกนั้น

และบางครั้งพวกเราก็ทำให้พวกเขาขบขันหัวร่อ

คิดถึงบ้านจริงๆ ไม่รู้จะอยากมาถึงนี่ทำไม

หันกลับไปมองทิศทางที่เราจากมา

เอ๊ะ..! …บ้านของเราก็อยู่ที่ขอบฟ้าเหมือนกัน !

————————————————————————
 ตีพิมพ์ในหนังสือแปลกรายสัปดาห์ คอลัมน์ อีสานสนุก ราวๆปี๒๕๓๐
(มีการแก้ไขถ้อยคำสำนวนเพื่อเหมาะสมกับยุคปัจจุบัน)
————————————————————————
แชร์ :

ความคิดเห็น

** โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างมีวิจารณญาน