ล็อกเกตสำเร็จแก้ว หลวงปู่พรหมา เขมจาโร


บ่น ๆ แล้วเลิกร้างวางมือไปจริง ๆ หลายราย

อย่างเช่นคุณชินพร สุขสถิต ที่พวกเราน้อง ๆ นับญาติเรียกขาว่า “พี่ชิน” ก็แทบจะวางธุระดังคำบ่นนั้นเหมือนกัน

หลวงปู่ทิมสิ้นแล้ว พี่ชินก็ไม่ได้สร้างพระให้กับสำนักไหน หรืออาจารย์ใดเป็นจริงเป็นจังอีก นัยว่าพระอย่างหลวงปู่ทิมจะไปหาองค์ที่ 2 ได้อย่างไรจึงจะเหมือน

พี่ชินเป็นทั้งศิษย์และผู้สร้างพระของหลวงปู่ทิม อิสริโก ที่ได้รับความวางใจให้เป็นผู้เดียวหรือคณะเดียวสำหรับการสร้างพระในนามของ วัดละหารไร่ ตลอดมา

เรียกว่าเกือบหมดทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ของพระหลวงปู่ทิม เป็นพี่ชินสร้างทั้งนั้น

พระกริ่งชินบัญชร ที่วันนี้เล่นกันเป็นแสน หรือเหรียญเจริญพรที่เล่นกันเป็นหมื่น รวมทั้งปรกใบมะขามองค์จ้อย หรือขุนแผนพรายกุมาร และรุ่นอื่น ๆ ที่เล่นกันด้วยมูลค่ามหาศาลล้วนเป็นผลงานสร้างของพี่ชิน ตอกย้ำอีกจนแน่นปั๋งก็ได้ว่าเป็นผลงานเสกของหลวงปู่ทิมทั้งสิ้นด้วย

นับแต่ 16 ต.ค. 2518 ที่หลวงปู่ทิมมรณภาพไปแล้ว มือที่เคยเคลื่อนไหวคล่องแคล่วในการสร้างพระในยุคหนึ่งก็เกือบจะหยุดสนิทไป ตลอดเวลาเกือบ 20 ปีเต็ม แสดงถึงข้อเท็จจริงของคำบ่นที่ว่าสร้างแล้วหาใครที่ไหนเสกได้เหมือนหลวงปู่ ทิมผู้เป็นอาจารย์

“ทุกคนมักถามผมว่าเมื่อไหร่จะพบพระที่ถูกใจเหมือนหลวงปู่ทิมเสียที นั่นเป็นคำถามที่ผมตอบให้พวกเขาไม่ได้ตลอดมา” พี่ชินกล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่นเนิบนาบ เพื่อสะกดใจผู้ฟังกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นเพื่อน ๆ ของพี่ชินเอง
“แต่ในวันนี้ผมบอกทุกคนได้ว่าผมพบพระที่ถูกใจแล้ว”
คืนวันที่ 29 พฤษภาคม 2536 ในถ้ำสูงเหนือฝั่งลำโขงบนภูเขากระเจียว ที่ไม่มีถนนรถยนต์แล่นถึง นอกจากการเดินเท้าผ่านป่ากับการล่องเรือฝ่าแก่งหมาบ้าไปถึงเท่านั้น คืนที่ฟ้ามีแต่ประกายดาวและควันธูปอวลอยู่ในถ้ำใหญ่ หลวงปู่พรหมา เขมจาโร กำลังปลุกเสกล็อกเกตรูปของท่านเองจำนวน 2 พันอัน ซึ่งเป็นการตัดสินใจสร้างครั้งสำคัญของพี่ชินสำหรับพระที่ถูกใจในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

คืนอันยิ่งใหญ่ซึ่งมีเหตุการณ์น่าประทับใจยากบรรยายได้ในเนื้อที่และเวลาอันจำกัด เป็นคืนที่ผู้มาใหม่หลายคนจะลืมไม่ได้ เพราะมันเป็นคืนอันมากมายด้วยความหมายที่ใคร ๆ ได้รับเอาหลวงปู่พรหมาเข้าไปนั่งในหัวใจแห่งศรัทธาอย่างสนิทแนบ

ที่สำคัญยิ่งคือหัวใจดวงที่มีพี่ชินเป็นเจ้าของอยู่

อีกราว 1 สัปดาห์ ต่อมา ข้อเขียนชิ้นหนึ่งถูกส่งมาถึงผม เป็นข้อเขียนที่แสดงการประชาสัมพันธ์ล็อกเกตชุดนี้ มันคงจะถูกเขียนขึ้นโดยฝีมือของใครคนใดคนหนึ่งในคณะเดินทางไปถ้ำเหนือฝั่งลำโขง ที่ผมได้อ่านแล้วพบว่านี่คือข้อเขียนที่แสดงความจริงใจและสามารถแนะนำหลวงปู่พรหมาให้ทุกคนทำความรู้จักได้อย่างรวดเร็วด้วยใจความสั้น ๆ ทันที

โปรดอย่าหมั่นไส้ผมนะครับ เนื่องจากว่าข้อเขียนต่อไปนี้มีเนื้อความกล่าวพาดพิงถึงผมมากมายอยู่ และบางทีอาจจะมีผู้เคยอ่านพบในหนังสือเล่มไหนๆ มาก่อน เพราะว่ามันคือโฆษณา แต่เป็นโฆษณาประกาศศรัทธาและแจ้งเจตนาจะหาทุนสร้างศาลาการเปรียญให้แก่วัดใน พระพุทธศาสนาแห่งหนึ่ง

เชิญอ่าน
ตะลึงอิทธิฤทธิ์หลวงปู่พรหมา เขมจาโร “สำเร็จแก้ว”

พระทรงอภิญญาระดับนี้ยังมีอยู่อีกหรือ

อำพล เจน ผู้เขียนประวัติและพระเครื่องพระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภทฺโท) ที่ได้รับความนิยมและหมดไปจากแผงหนังสือเมื่อเร็ว ๆ นี้ เคยติดตามหลวงพ่อชาตั้งแต่อายุ 12 – 13 ขวบ ได้ยินกิตติศัพท์พระภิกษุรูปหนึ่ง จำพรรษาอยู่บนภูเขาเหนือหมู่บ้านดงนา ตำบลหนามแท่ง อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี จึงดั้นด้นไปหาและเกิดความประทับใจในวัตรปฏิบัติและอภิญญาของท่าน จึงได้มาเล่าให้อาจารย์เบิ้ม (สุวัฒน์ พบร่มเย็น) ศิษย์ฆราวาสผู้เคยติดตามรับใช้ใกล้ชิดหลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี และนายชินพร สุขสถิต ศิษย์หลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ ผู้สร้างพระเครื่องหลวงปู่ทิมชุดชินบัณชร จนมีชื่อเสียงโด่งดัง เพื่อชวนบุคคลทั้งสองไปสัมผัสหลวงปู่พรหมา

คุณชินพร กล่าวว่า “เมื่อผมได้ยินอำพล บอกว่าหลวงปู่มีอายุ 93 ปี ฟันยังอยู่ครบทุกซี่ ไม่มีหักหรือผุกร่อน ซ้ำหน้าตาก็ดูหนุ่มกว่าอายุจริงหลายปี ดูแล้วคล้ายมีอายุราว ๆ 60 กว่าก็ยังไม่ค่อยจะเชื่อ จนงานปลุกเสกพระที่วัดบวรนิเวศเมื่อเร็วๆนี้ พวกเราได้เอาภาพถ่ายหลวงปู่พรหมาให้หลวงปู่คำพันธ์ วัดธาตุมหาชัย จ.นครพนม ดู ท่านเห็นภาพถ่ายก็บอกว่าจำได้ ไม่พบกันมานานกว่า 40 ปีแล้ว รู้สึกคิดถึงกันอยู่ อยากจะได้พบ ครั้งสุดท้ายที่ได้พบกันก็ตั้งแต่สมัยยังมีแรงธุดงค์ไหวอยู่ในเมืองลาว หลวงปู่คำพันธ์ยังบอกอีกว่าหลวงปู่พรหมามีอายุเลยท่านไปหลายปี และท่านเป็นครูบาอาจารย์ที่เชี่ยวชาญทางธุดงควัตร มีความรู้ในการเดินป่า สามารถให้ความรู้แก่พระเณรได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันหลวงปู่คำพันธ์อายุ 78 ปี จึงทำให้เชื่อได้ว่าหลวงปู่พรหมามีอายุ 93 ปีจริง ๆ”

หลวงปู่พรหมา เขมจาโร เป็นคนอุบลราชธานี เกิดในสกุลอ่อนจันทึก เมื่อปี 2443 บวชเป็นสามเณรกับสำเร็จลุน พระภิกษุผู้ทรงอภิญญาแห่งสองฝั่งโขง ไทย – ลาว เมื่อสำเร็จลุนมรณภาพแล้ว หลวงปู่พรหมาได้ติดตามพระครูสีทัตถ์ ศิษย์ผู้พี่อยู่หลายปี ต่อจากนั้นได้ไปศึกษาเล่าเรียนกับพระฤาษีอยู่ในถ้ำบนภูเขาควาย ประเทศลาวเป็นเวลายาวนานที่สุด คือ 45 ปี พอลงจากภูเขาควายไม่นาน ลาวก็แตก คอมมิวนิสต์ เข้าครอบครองลาว ท่านจึงย้ายข้ามโขงมาอยู่ฝั่งไทย โดยอาศัยตามถ้ำและภูเขาริมแม่น้ำโขงตลอดมา ได้สงเคราะห์ชาวบ้านป่าผู้ยากไร้ด้วยการรักษาพยาบาลด้วยสมุนไพร

แม้จะหลบผู้คนอยู่ในหลืบแห่งป่าเขาลำเนาไพร แสนกันดารและไกลลิบ แต่แล้วในที่สุดก็ยังมีผู้คนดั้นด้นไปหาหลวงปู่พรหมา ทั้งๆที่หนทางไปหาท่านแสนลำบากที่สุดเท่าที่ในชีวิตผู้เขียนจะได้เคยประสบมา

ก่อนที่อำพล เจน จะพาอาจารย์เบิ้มไปหาหลวงปู่พรหมา ได้นำเอาภาพถ่ายที่ท่านปลุกเสกแล้วมาให้อาจารย์เบิ้มตรวจโดยสมาธิ และปรึกษาหาข้อสรุปว่าถ้าจะสร้างพระเครื่องของท่านเอาไว้ใช้กันจะสร้างพระ อะไรดี อาจารย์เบิ้มบอกว่าหลวงปู่องค์นี่เกี่ยวพันกับพวกฤาษี ถ้าสร้างพระฤาษีตาไฟบรมครูให้ท่านปลุกเสกจะดีมาก

ฤาษีที่อำพล เจน และอาจารย์เบิ้มสร้างไปให้ท่านปลุกเสกเมื่อปลายปีที่แล้ว เวลานี้กำลังโด่งดังในพวกนิยมพระจังหวัดอุบลฯ เพราะมีผู้เอาไปทดลองยิงแล้วเกิดยิงไม่ออก สนนราคาเช่าหากันตอนนี้ ราคากว่า 5 พันบาทแล้ว

เมื่อนำปัจจัยที่ได้จากการสร้างและจำหน่ายพระฤาษีไปสร้างถ้ำ สร้างห้องน้ำ ห้องส้วม สร้างศาลาเล็ก หน้าถ้ำนั้น หลวงปู่พรหมาได้ปีนขึ้นไปช่วยสร้างช่วยทำด้วย ท่านได้พลัดตกลงไปในเหวเบื้องล่างซึ่งมีแต่แง่และโขดหินใหญ่ ๆ ตะปุ่มตะป่ำลึกหลายเมตรอีกต่างหาก ครั้นลูกศิษย์ที่อยู่ในเหตุการณ์ได้ไต่ลงไปช่วยท่าน กลับปรากฏว่าท่านปลอดภัยดี ไม่ได้รับบาดเจ็บอะไรเลย

พวกชาวบ้านที่เป็นลูกศิษย์ติดตามรับใช้ใกล้ชิดเล่าว่า อย่าว่าแค่ตกเหวเลย เมื่อ 2 ปีก่อน ท่านกับพวกผมได้ข้ามไปเก็บพืชสมุนไพรที่ฝั่งลาว โดนทหารลาวแดงยิงด้วยปืนอาร์ก้าและจรวดอาร์พีจีหลายกระบอก กระสุนอาร์พีจีตกใกล้ตัวท่านหลายสิบนัดก็ยังไม่ระเบิดเลยแม้แต่นิดเดียว

ชาวบ้านคนนั้นเล่าให้พวกเราฟังอีกว่า ในตัวท่านฝังเหล็กไหลหนัก 4 บาทเอาไว้ภายหลังได้ขอท่านดู ท่านเรียกออกมาให้พวกเราดูท่ามกลางผู้คนที่ไปนมัสการท่าน และค้างคืนที่ถ้ำเกือบ 20 คน หลายคนออกปากว่าไม่เคยพบพระ ที่มีฤทธิ์เดชและทรงอภิญญาอย่างนี้มาก่อนเลย

ในการไปหาท่านครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2536 อำพล เจน, อาจารย์เบิ้ม และคุณชินพร สุขสถิต ได้นำล็อกเกตรูปเหมือนของท่านซึ่งได้รับอนุญาตจากท่านให้สร้างขึ้นเป็นจำนวน 2 พันอัน โดยทำเป็น 2 แบบคือ รูปไข่และสี่เหลี่ยมอย่างละ 1 พันอัน โดยฝังผงพุทธคุณว่าน 108 ชนิด และเหรียญกษาปณ์รุ่นใหม่ใหม่ไว้ด้านหลัง ในล็อกเกตจารึกคำว่า “สำเร็จแก้ว” ไว้ด้วย คำนี้นอกจากจะเป็นชื่อดั้งเดิมของท่านแล้ว ยังแฝงเคล็ดลับไว้เพื่อให้ผู้รับไปบูชาประสบความสำเร็จนั่นเอง ส่วนด้านหลังมีรูปเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินอันทรงเป็นพระธรรมราชาอยู่ด้วย เพื่อเป็นนิมิตหมายว่าจะผ่านได้ทุกสถานที่ทุกเวลาพร้อมทั้งอุดมด้วยลาภ สักการะ

ล็อกเกตทั้ง 2 แบบนี้ถือเป็นล็อกเกตรุ่นแรกของท่านสร้างเพียง 1,000 ชุด (ชุดละ 2 อัน คือแบบรูปไข่และแบบสี่เหลี่ยม) ออกให้บูชาชุดละ 500 บาท เพื่อนำปัจจัยไปช่วยท่านสร้างศาลาการเปรียญที่กำลังค้างคาอยู่ ล็อกเกตทั้งหมดนี้หลวงปู่พรหมาได้ปลุกเสกเดี่ยวในถ้ำของท่านตลอดคืนวันที่ 29 พ.ค. 2536 ที่ผ่านมานี้ สำเร็จเป็นของศักดิ์สิทธิ์แล้วทุกประการ

ข้อเขียนทั้งหมดมีเนื้อความแค่นี้และมีดังนี้
ผมคงจะต้องประชาสัมพันธ์ซ้ำลงไปอีกว่า ผู้อ่านทุกท่าน ไม่ว่าจะรู้จักหลวงปู่พรหมาหรือไม่รู้จักก็ตาม ขอให้เชื่อผมเถิดครับ ล็อกเกตชุดนี้ควรจะบูชาเอาไว้ประจำตัวเป็นอย่างยิ่ง พระแบบหลวงปู่พรหมานั้น ทุกวันนี้ไม่น่าจะยังมีอยู่ ท่านคือรูปแบบของพระคณาจารย์โบราณผู้ทรงวิทยาคุณทางขลังอย่างชนิดที่เรียก ว่าระดับมหากาฬอย่างแท้จริง

ต่อไปจะได้นำเรื่องราวของท่านมาเผยแพร่ในศักดิ์สิทธิ์อย่างชัดเจนเร็ว ๆ นี้ ขอให้ติดตามไป อย่าลดละเสียก่อน

เรื่องฤาษี ที่มีผู้นำไปลองยิงแล้วไม่ออกก็จะได้แสดงรายละเอียดไว้อีกด้วย

ล็อกเกตชุดนี้สร้างขึ้น 2 แบบ ดังที่กล่าวมาแล้ว แต่ละแบบมีรูปแตกต่างกัน คือรูปไข่ทำเป็นรูปหลวงปู่พรหมาครองจีวรภิกษุปกติธรรมดา ส่วนรูปสี่เหลี่ยม หลวงปู่จะครองผ้าเป็นอย่างพระฤาษี ทั้ง 2 แบบนี้รวมกันเป็น 1 ชุด ถ้าจะบูชาทั้งชุดก็ราคา 500 บาท หรือจะแยกเป็นอันเดียว คือเอาเฉพาะรูปไข่ หรือรูปสี่เหลี่ยม อย่างใดอย่างหนึ่งก็คิดราคาครึ่งเดียวคือ 250 บาท

ขอย้ำตรงนี้ ให้น้ำหนักเพิ่มยิ่งขึ้นว่า ถ้าเงิน 500 บาทหรือ 250 บาท ไม่ใช่เงินมากมายสำหรับท่านแล้ว ขอให้ติดต่อบูชาล็อกเกตชุดนี้ไว้เถิด ผมกล้าบอกได้ว่าต่อไปล็อกเกตชุดนี้จะมีราคาแพงมากกว่านี้อีกหลายเท่า แม้ว่าล็อกเกตรุ่นนี้จะดูไม่สวยเท่าที่ควรก็ตาม

เชื่อเครดิตพี่ชิน, อาจารย์เบิ้ม และอำพล เจน เถิดครับ

รับรองไม่ขาดทุน

………………………………….

(ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารศักดิ์สิทธิ์ ฉบับที่ 256 วันที่ 1 กันยายน 2536)

แชร์ :

ความคิดเห็น

** โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างมีวิจารณญาน