1 / นาคาธิบดีสีสัตตนาคบาดาล


ความเชื่ออันมั่นคงของชาวพุทธที่ว่า เหล่าพญานาคทั้งปวงเป็นผู้พิทักษ์พระศาสนามาช้านานนับพันปีนั้นเป็นความจริง ที่ปรากฏในวัดพุทธทั่วโลก  พญานาคเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนามาโดยตลอด

ครั้งแรกที่พญานาคปรากฏตัวในพุทธศาสนา น่าจะเป็นคราวที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ใต้ร่มพระศรีมหาโพธิ์  แล้วเสด็จออกจากที่นั่นมาประทับที่ใต้ร่มต้นจิก และทรงเสวยวิมุติสุข (สุขจากการหลุดพ้น) อยู่ 7 วัน

ไม้จิกที่พระพุทธองค์ทรง ประทับเสวยวิมุติสุขนั้นอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลา และอยู่ห่างจากต้นพระศรีมหาโพธิ์ออกมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้เล็กน้อย

ในมุจจลินทสูตรกล่าวว่า “สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสรู้ใหม่ๆ ประทับอยู่  คอกไม้มุจลินท์ (จิก) ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคประทับนั่งเสวยวิมุติสุขด้วยบัลลังก์อันเดียวตลอด 7 วัน”

บัลลังก์อันเดียว คือประทับนั่งอยู่กับที่แห่งเดียวตลอด 7 วัน
“สมัยนั้น อกาลเมฆใหญ่บังเกิดขึ้นแล้ว ฝนตกพรำตลอด 7 วัน มีลมหนาวมาประทุษร้าย (อกาลเมฆ คือเมฆฝนนอกฤดูกาล) ครั้งนั้นแลพระยามุจลินท์นาคราช ออกจากที่อยู่ของตนมาวงรอบพระกายของพระผู้มีพระภาคด้วยขนดหาง 7 รอบ แผ่พังพานใหญ่เบื้องบนพระเศียร ด้วยตั้งใจว่า ความหนาวอย่าได้เบียดเบียนพระผู้มีพระภาค ความร้อนอย่าได้เบียดเบียนพระผู้มีพระภาค สัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลานอย่าได้เบียดเบียนพระผู้มีพระภาค”

พญามุจลินท์สัตตมัง เป็นพญานาค 7 เศียร ได้ถวายการอารักขาพระพุทธองค์จนพ้นจากแดดลมฝน และสรรพสิ่งที่อาจรบกวนพระองค์ตลอด 7 วัน

นี่คือเหตุแห่งการเกิดพระพุทธรูปปางนาคปรก ซึ่งเชื่อว่าเป็นปางที่เป็นที่สุดแห่งความสุขสมบูรณ์ พร้อมกันนั้นก็เป็นครั้งแรกสุดของการปวารณาตนของพญานาค เพื่อทำหน้าที่พิทักษ์พระพุทธศาสนาตลอดมาจนวันนี้

พญานาค  มีจริงหรือไม่

บนพื้นฐานของความเชื่อในเรื่องพญานาคนั้น มีพระไตรปิฎกเป็นหลัก ด้วยมีการกล่าวถึงพญานาคอยู่หลายวาระ แม้ผู้ไม่เชื่อในเรื่องพวกนาคก็ยังคงสงบปาก ไม่วิจารณ์เพราะเกรงว่าบางทีพญานาคอาจมีจริง

ผู้เข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนาแม้ไม่เชื่อ  หรือไม่รู้จักพญานาค  ย่อมรู้จักอัตรายิกธรรมทุกคน

อัตรายิกธรรม  คือข้อขัดข้องที่จะทำให้ผู้นั้นบวชเป็นพระภิกษุไม่ได้  ซึ่งมีอยู่ 8 ข้อ อันพระอุปัชฌาย์จะต้องถามผู้ขอบวช 8 คำถาม

1 ใน 8 คำถามนั้นคือ

“ท่านเป็นมนุษย์หรือไม่”

ความจริงของเรื่อง นี้มีปรากฏชัดเจนในพระไตรปิฎก พญานาคตนหนึ่งฟังธรรมของพระพุทธองค์จนบังเกิดความเลื่อมใส คิดออกบวชเพื่อติดตามพระพุทธองค์ ซึ่งเวลานั้นเป็นห้วงครึ่งพุทธกาล อันพระพุทธองค์ได้ทรงอนุญาตให้คณะสงฆ์เป็นคณะอุปสมบทผู้มีจิตศรัทธาในพระ พุทธศาสนาได้  พญานาคตนนั้นสบโอกาส จึงขอบวชกับคณะสงฆ์ และได้เป็นพระภิกษุสมใจปรารถนา

หลังจากบวชแล้ว พญานาคตนนั้นได้พำนักในวัดที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ (วัดชื่ออะไรไม่ทราบ….ลืม) เพื่อจะได้อยู่ใกล้ชิดพระพุทธองค์ แต่ความที่เป็นพญานาคจึงมีความเป็นอยู่แตกต่างไปจากมนุษย์ คือในขณะหลับโดยไร้สติในกุฏิของตนนั้น ร่างเดิมของพญานาคก็จะปรากฏขึ้น บังเอิญมีพระภิกษุรูปหนึ่งมาเห็นเข้าจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระพุทธองค์ และได้ทรงเรียกพญานาคตนนั้นเข้าเฝ้าให้พญานาคสิ้นสุดความเป็นภิกษุ แล้วทรงเมตตาประทานโอวาทธรรมเพื่อเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติแก่พญานาค

เมื่อพญานาคผิดหวังในการบวช จึงทูลขอถวายคำว่า  นาค  ให้แก่ผู้ขอบวชเพื่อเป็นอนุสรณ์ พระพุทธองค์ทรงเมตตาตามคำทูลขอนั้น จึงเป็นเหตุให้เกิดคำว่า บวชนาค และเกิดอัตรายิกธรรม เป็นต้นมา

บางทีการที่ทรงประทานอนุญาตนามนาคก่อนบวชเป็นพระภิกษุ อาจด้วยเหตุอีกประการหนึ่งหนุนอยู่ นั่นคือ สมัยอดีตชาติหนึ่งของพระพุทธองค์ ทรงเคยเสวยชาติเป็นพญานาคชื่อว่า ภูริทัตต์ รวมถึงพุทธสาวกอีกหลายองค์ ที่มีอดีตชาติเป็นพญานาค อย่างเช่น พระสารีบุตรและพระอานนนท์ ซึ่งเคยเป็นพญานาคชื่อว่า เทวทัตนาคราช

พญานาคเกี่ยวข้องแน่นแฟ้นและลึกซึ้งกับพระพุทธศาสนาเช่นนี้จึงไม่มี ปัญหาอะไรกับการประทานนามนาค เอาไว้เป็นเครื่องรำลึกถึง

 

แชร์ :

ความคิดเห็น

** โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างมีวิจารณญาน