พระปิดตาชนะไพรี และพระปิดทวารสำเร็จลุน

 

มีกิจกรรมกุศลที่จะต้องทำกันอีกอย่างหนึ่งคือการสร้างศาลาพักศพประจำวัดห้วยไผ่ บ้านห้วยไผ่ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นศาลาพักศพที่ทั้งวัดและชาวบ้านห้วยไผ่ปรารถนาจะมีไว้ จึงได้ขอมา

ได้ไปตรวจดูแล้วก็เกิดศรัทธา อยากจะทำถวายวัดและทำให้ชาวบ้านทั้งหลาย เพราะว่าวัดแห่งนี้เป็นวัดประจำหมู่บ้าน แต่กลับไม่มีศาลามุงบังศพ เมื่อมีศพมาทำฌาปนกิจที่นี่ต้องทำกันกลางแจ้ง ซึ่งก็ดูพอจะทนกันได้อยู่แม้ว่าแดดจะร้อนไปหน่อย แต่พอฝนตกก็เกิดเรื่องวิ่งเข้าที่หลบฝนกันจ้าละหวั่น คงมีแต่โลงศพเท่านั้นที่กรำฝนอยู่ต่อไปจนหยุด

การก่อสร้างที่คิดไว้ มุ่งหวังให้ศาลามีความทนทานในการใช้ประโยชน์ ไม่มุ่งไปที่ความวิจิตรพิสดารฟุ่มเฟือย ซึ่งคาดว่าเงินทุนสำหรับการนี้คงไม่มากมายนัก และน่าจะสร้างได้เสร็จก่อนฤดูฝนมาถึง

คุณคงศักดิ์ แสงทองสุข กับคุณณรงค์ มีชีพกิจ ซึ่งเดินทางมาเยี่ยมเยียนผมระหว่างเทศกาลสงกรานต์ ได้ทราบเรื่องและลงนั่งคุยกันจนกระทั่งเห็นพ้องว่าจะต้องเอาพระปิดตาชนะไพรี และพระปิดตาสำเร็จลุน ที่ผมเก็บรักษาไว้เป็นการส่วนตัวออกมาทำประโยชน์อันนี้ เสียแต่ว่าพระมีจำนวนน้อย คงไม่ทั่วถึงทุกคน และอาจยังต้องรอเงินทุนด้านอื่นเข้ามาเสริม

ต้องคิดว่าลงมือเสียเดี๋ยวนี้ดีกว่ารอลงมือวันอื่นว่างั้นก็ได้

จะน้อยจะมากไม่สำคัญ, ที่สำคัญควรลงมือทันที

เกี่ยวกับพระปิดตา (หูสองข้างก็ปิดด้วย) ชนะไพรี เดิมทีไม่ได้คิดเลยว่าจะสร้างขึ้นมาทำไม หรือสร้างขึ้นเพื่ออะไร คงมีแต่เพียงความนิยมชมชอบในรูปแบบทรวดทรงขององค์พระเท่านั้น ผมชอบลักษณะของพระปิดตานี้เป็นอันมาก ดูเป็นลักษณะพิเศษเฉพาะตัว ไม่ถึงกับจะเลียนแบบพระปิดตาสำนักไหน ๆ เกสรมือของช่างก็แสดงออกว่าไม่น่าจะเป็นช่างที่อยู่ในเมืองไทย จึงได้นำพระปิดตาองค์ต้นแบบที่เป็นเนื้อสำริดมาถอดพิมพ์ และลงมือกดพิมพ์เป็นพระเนื้อว่าน 108 จำนวน 182 องค์ สร้างเสร็จแล้วก็เก็บเอาไว้ ไม่ได้นำออกแจกจ่ายใคร

พร้อมกับพระปิดตาชนะไพรี ผมได้สร้างพระนาคปรกชนะไพรีเนื้อว่าน 108 จำนวน 3 พันองค์อีกด้วย แต่พระนาคปรกสร้างอย่างมีเป้าหมาย คือคิดสร้างไว้แจกฟรีแก่ผู้ศรัทธาเชื่อถือ เมื่อสร้างสำเร็จแล้วก็ดำเนินการเสกพร้อมกับพระปิดตาชนะไพรีตลอดมา

เฉพาะพระนาคปรกชนะไพรี ได้สร้างทั้งหมด 3 พิมพ์ คือ เล็ก, กลาง, ใหญ่ แต่พิมพ์เล็กนั้นอย่าไปพูดถึงเลย เพราะมีน้อยมาก คงมีแต่พิมพ์กลางกับพิมพ์ใหญ่ที่มีมากหน่อย ซึ่งเมื่อเสกครบถ้วนสมบูรณ์แล้วได้นำออกแจกเป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิง ศพนายมี บริบาล พ่อตาของคุณหมอไพโรจน์ อำพนพิศลย์ แห่งโรงพยาบาลศรีสะเกษ และได้น้อมถวายพระอาจารย์หนูอินทร์ กิตติสาโร วัดพุทธคยา อีกจำนวนหนึ่ง ที่เหลือก็แจกแก่ผู้รู้จักกันมาเรื่อย ๆ จนบัดนี้พระยังมีเหลืออยู่ประมาณไม่เกิน 600 องค์ ก็จะนำส่วนที่เหลือนี้แจกต่อไปให้กับผู้อ่านทุกท่าน
แรงบันดาลใจในการนำเสกพระทั้งหมดในรุ่นนี้ได้รับมาจากคุณสุธันย์ สุนทรเสวี ที่ช่างขยันสร้าง ขยันนำเสก อย่างเช่นพระแก้วมรกตหมดห่วง

ซึ่งปรากฏผลสำเร็จในการทดสอบยิงอย่างน่าทึ่งมาแล้ว จึงคิดทำเช่นนั้นบ้าง

รายละเอียดในการนำเสกและมวลสารในองค์พระ มีดังนี้
มวลสาร-เป็นเช่นเดียวกับพระมหาฤาษีรุ่น 7 และรุ่น 8 ทุกประการ มีผงสำคัญมากมายสุดพรรณนา ซึ่งสามารถค้นอ่านรายละเอียดของผงสำคัญได้ในนิตยสารศักดิ์สิทธิ์ฉบับ 281 ประจำวันที่ 16 กันยายน 2537

การบรรจุอิทธิคุณ-ได้ดำเนินการไปด้วย ความพากเพียรจริงจัง เป็นเวลาเนิ่นนาน และเป็นระยะทางไม่น้อย เพื่อขอรับการบรรจุอิทธิคุณ ฤทธิคุณจากคณาจารย์ที่เชื่อมั่นว่าสมบูรณ์ด้วยพระเวทย์และรัตนคุณดังต่อไป นี้

ครั้งที่ 1 ประเดิมฤกษ์ในวันเพ็ญเดือน 12 ซึ่งตรงกับวันที่ 17 พ.ย. 2537 โดยการอธิษฐานจิตเดี่ยวบนมือ (วางบนตัก) โดยหลวงปู่จาม วัดป่าวิเวกวัฒนาราม จ.มุกดาหาร (13:49 น.)
ครั้งที่ 2 พระอาจารย์หนูอินทร์ กิตติสาโร วัดพุทธมงคล จ.กาฬสินธุ์ ปลุกเสกเดี่ยว เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2537 (12:19 น.)
ครั้งที่ 3 หลวงปู่หงษ์ พรหมปัญโญ วัดเพชรบุรี จ.สุรินทร์ อธิษฐานจิตเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2537 (14:49 น.)
ครั้งที่ 4 หลวงปู่ธรรมรังษี วัดเขาพนมดิน จ.สุรินทร์ ปลุกเสกเดี่ยววันที่ 7 ธ.ค. 2537 (12:09 น.)
ครั้ง ที่ 5 หลวงปู่หงษ์ พรหมปัญโญ วัดเพชรบุรี จ.สุรินทร์ ปลุกเสกเดี่ยวเป็นวาระที่ 2 ในวันที่ 7 ธ.ค. 2537 (14:49 น. เวลาตรงกันกับครั้งแรกโดยบังเอิญ)
ครั้งที่ 6 หลวงปู่พรหมา เขมจาโร ปลุกเสกตลอดคืนวันที่ 10 ธ.ค. 2537 พร้อมกับพระมหาฤาษีรุ่น 8
ครั้ง ที่ 7 หลวงพ่ออุตตมะ อุตตโม วัดวังก์วิเวการาม จ.กาญจนบุรี ปลุกเสกเดี่ยวพร้อมพระมหาฤาษีรุ่น 8 ในคืนวันที่ 29 ธ.ค. 2537 (เวลา 22:18 น. รวม 45 นาที)
ครั้งที่ 8 หลวงพ่อคำพอง ติสโส วัดถ้ำกกดู่ จ.อุดรธานี อธิษฐานจิตเดี่ยวในวันที่ 14 ม.ค. 2538 (10:10 น.)
ครั้งที่ 9 หลวงพ่อบุญเพ็ง เขมาภิรโต วัดถ้ำกลองเพล จ.อุดรธานี อธิษฐานจิตเดี่ยว วันที่ 14 ม.ค. 2538 (11:15 น.)
ครั้งที่ 10 หลวงพ่อเสน ปัญญาธโร วัดป่าหนองแซง จ.อุดรธานี อธิษฐานจิตเดี่ยว วันที่ 14 ม.ค. 2538 (13:32น.)
ครั้งที่ 11 หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล วัดป่าสันติกาวาส อ.ไชยวาน จ.อุดรธานี อธิษฐานจิตเดี่ยว วันที่ 14 ม.ค. 2538 (17:19 น.)
ครั้งที่ 12 หลวงปู่คำพันธ์ โฆษปัญโญ ปลุกเสกเดี่ยวในวันที่ 1 ก.พ. 2538 เป็นมหาพิธีพุทธาภิเษกวัดโนนใหญ่ จ.อุบลราชธานี (21:09 น.)
ครั้ง ที่ 13 หลวงพ่อฤทธิ์ รัตนโชโต วัดชลประทานราชดำริ จ.บุรีรัมย์ ปลุกเสกเดี่ยว วันที่ 9 ก.พ. 2538 เวลาตรงกันกับหลวงปู่หงษ์ พรหมปัญโญ ทั้ง 2 วาระ คือ 14:49 น. โดยบังเอิญ
ครั้งที่ 14 นำเข้ามหาพิธีพุทธาภิเษกที่ภูปอ จ.กาฬสินธุ์ โดยมีหลวงปู่พรหมา เขมจาโร กับหลวงปู่คำพันธ์ โฆษปัญโญ เป็นองค์หลักตลอด ในวันที่ 18 ม.ค. 2538 (พระอาจารย์หนูอินทร์ กิตติสาโร เป็นประธานพิธี)

เลขมงคล-จำนวนครั้ง ที่นำเสกและอธิษฐานจิตเป็นเลข 14 ถือเป็นเลขมหาจักรพรรดิย่อมมีอำนาจเหนือศัตรูทั้งปวง จงควรแก่การฉลองพระนาม “ชนะไพรี” ทุกประการ

พระปิดตาชนะไพรียินดีมอบให้ผู้บริจาค 250 บาทต่อ 1 องค์

ส่วนพระนาคปรกชนะไพรีแจกฟรี

เนื่อง จากพระปิดตาชนะไพรี มีจำนวนน้อย คือมีเพียง 182 องค์ เกรงว่าอาจจะไม่พอจึงได้นำพระปิดทวารสำเร็จลุน ของหลวงปู่พรหมา เขมจาโรมาสำรองไว้ ถ้าหากพระปิดตาชนะไพรีหมดไปก่อน ก็จะมอบพระปิดทวารสำเร็จลุนให้แทน เว้นแต่ท่านไม่ประสงค์จะรับพระปิดทวารสำเร็จลุน ผมก็จะส่งเงินคืนให้

ดังนั้นจึงขอให้ทุกท่านช่วยระบุด้วยว่าท่านต้องการอย่างไรหากว่าพระปิดตาชนะไพรีหมด ท่านจะต้องการพระปิดทวารสำเร็จลุนหรือไม่

เกี่ยวกับพระปิดทวารสำเร็จลุนนั้น เป็นการสร้างขึ้นถวายหลวงปู่พรหมา เขมจาโร ตามคำบัญชาของท่านในวันที่ 10 ธ.ค. 2537 คราวนำพระมหาฤาษีรุ่น 8 ขึ้นเสก ท่านสั่งให้ผมทำพระปิดทวารพิมพ์นี้ขึ้น และบัดนี้ได้ดำเนินการสำเร็จเรียบร้อยทุกประการ พระปิดทวารสำเร็จลุน มีจำนวนสร้างประมาณ 8 พันกว่าองค์ นำขึ้นถวายท่านหมด คงมีเพียงเนื้อพิเศษจำนวนประมาณ 300 องค์ ที่ผมไม่ถวาย และได้นำส่วนนี้มาสำรองกรณีพระปิดตาชนะไพรีหมดดังที่กล่าวมา

พระปิดทวารสำเร็จลุนมีมูลค่าบริจาคเท่ากับพระปิดตาชนะไพรีคือ 250 บาท คงจะสามารถทดแทนได้โดยไม่มีปัญหาอะไร

พระนาคปรกชนะไพรีที่หมายแจกให้ฟรีนั้น ก็จะแจกให้กับทุกคน

โดยจะแจกไปพร้อมๆ กับผู้ที่ขอบูชาพระปิดตาชนะไพรีหรือพระปิดทวารสำเร็จลุน

ส่วน ผู้ไม่ประสงค์จะบูชาพระปิดตาและปิดทวารทั้งสองแบบก็ยินดีแจกให้เช่นกัน ขอเพียงเขียนจดหมายแสดงความจำนงขอรับแจก พร้อมกับสอดซองเปล่าติดแสตมป์และจ่าหน้าซองถึงตัวท่านเองให้ชัดเจน (โปรดเลือกซองจดหมายที่ดูแข็งแรงสักหน่อย) ผมก็จะจัดส่งพระไปให้โดยไม่มีเงื่อนไข (เว้นแต่พระหมดก่อนก็จะแจ้งให้ทราบเช่นกัน)

ศาลาพักศพวัดบ้านห้วยไผ่ คือ ขันใบเล็ก ๆ ที่ทุกท่านช่วยกันลงขันได้

ขออนุโมทนา

…………………………………

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารศักดิ์สิทธิ์ฉบับที่ 297

แชร์ :

ความคิดเห็น

** โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างมีวิจารณญาน