หลวงปู่พรหมา เขมจาโร กับปรกใบมะขามรุ่นแรก

เรื่องที่เรียกว่าเป็นอัตตประวัติของหลวงปู่พรหมา เขมจาโร นั้น เห็นจะไม่ต้องกล่าวถึง เพราะว่าคุณพันฤทธิ์กำลังดำเนินการอย่างคร่ำเคร่งแล้ว เข้าใจว่า เร็ว ๆ นี้จะได้อ่านกัน แต่เรื่องของท่านก็ใช่ว่าจะไม่มีที่จะต้องพูดถึง

กล่าวโดยนัยแล้วเห็นจะบอกได้ว่า ในเมืองไทยชื่อของหลวงปู่พรหมาออกจะยังเงียบเกินไปเมื่อเปรียบกับในเมืองลาว ซึ่งกัมปนาทของปืนใหญ่ก็ดูจะเบาไปถ้าเปรียบกับชื่อของท่านในประเทศนั้น

ช่วงสุดท้ายก่อนลาวแตกประชาธิปไตยเฉาโรย แต่ดอกไม้คอมมิวนิสต์บานสะพรั่ง วัดของท่านได้เป็นที่หลบภัยของผบ. กองพล, ผบ.ภาค และเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของฝ่ายประชาธิปไตยลาวหลายคนก่อนจะจรออกสู่ประเทศที่ 3 ในฐานะผู้แพ้

ร.อ.สมหมาย แก้ววิจิตร ผบ.กองร้อย ที่ทุกวันนี้ลาวแดงทั้งหลายยังถวิลหาด้วยความแค้นและหวั่นกลัว ฐานที่เป็น ผบ.กองร้อยและกำลังพลเดียว ซึ่งนับแต่ตั้งมาไม่เคยแตก ไม่เคยถูกยุบ แม้รัฐบาลประชาธิปโตยจะล่มสลายจากแผ่นดินลาวแล้วก็ตาม ท่านผู้นี้ได้อยู่ในเหตุการณ์สุดท้ายที่บรรดาผู้บัญชาการกองกำลังคนสำคัญหลายคน เข้าลี้ภัยในวัดของหลวงปู่พรหมา วัดบ้านปากธาตุ ใกล้เมืองเวียงจันทน์ และได้เล่าว่า

“ในลานวัดมีเครื่องบินจอดอยู่ ผบ.ภาค, ผบ.กองพล อยู่กันเต็มวัด จะเข้าพบหลวงปู่ยากมาก ตอนนั้นค่ายญวนอยู่ด้านหน้าวัด ค่ารัฐบาลอยู่หลังวัด พวกญวนยิงถล่มใส่ แต่ไม่มีกระสุนนัดใดแตกในวัด ตัวหลวงปู่ออกมายืนโบกมือ พวกลูกศิษย์คือผู้ขนกระสุนปืนใหญ่อาร์พีจี. และอื่น ๆ ที่ตกลงมาแล้วด้านหมดออกไปทิ้งนอกวัดเป็นคันรถ จีวรของหลวงปู่ตากไว้ถูกแย่งกันฉีกเอามาพันคอเป็นเครื่องคุ้มภัย”

นี่เป็นคำบอกเล่าด้วยน้ำเสียงที่โชว์หัวใจศรัทธาอย่างเต็มเปี่ยมที่สุด เท่าที่ผมจะเคยได้ฟังกับหูตนเอง

นายพลภูมี หน่อสวรรค์ รักและเคารพหลวงปู่พรหมา แค่ไหน คุณไกรสอน พรหมวิหาร ทั้งเกลียดทั้งกลัวหลวงปู่พรหมาขนาดใด คนทั้งสองที่ยืนอยู่คนละฟากที่ตรงกันข้ามเป็นปฏิปักษ์กัน จะบอกได้ดีที่สุด และความรู้สึกอันนั้นยังตกทอดมาถึงคนข้างเคียงและกำลังพลจนทุกวันนี้

ทั้งสองคนลับโลกไปแล้ว แต่ลูกหลานและคนบริวารยังบอกได้

ความลับแห่งประวัติท่านและรายละเอียดทั้งหลาย ซึ่งถูกเก็บซ่อนไว้ในตู้แห่งความทรงจำนั้น คุณพันฤทธิ์จะได้ขยายออกมาในไม่ช้านี้ ขอให้ติดตามกันต่อไป

ทุกวันนี้หลวงปู่พรหมา เขมจาโร ได้รุกเงียบเข้าไปอยู่ในหัวใจของนักนิยมพระเครื่องเมืองไทยหลายคน อาจารย์อนันต์ สวัสดิเสาวนีย์ แห่งกรมศิลปากร, คุณชินพร สุขสถิตย์ ศิษย์เอกหลวงปู่ทิม, อาจารย์เบิ้มหรือสุวัฒน์ พบร่มเย็น, เฮียชิต, คุณนัดดา เศรษฐบุตร, คุณไพบูลย์ ทรงสวัสดิ์, อาจารย์เชาวน์, อาจารย์พจมาน และผมเอง ฯลฯ กับคนศรีย่านทั้งก๊วน

เรียกว่าถนนทุกสายมุ่งตรงสู่ภูกระเจียว บ้านดงนา อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี อันเป็นสถานที่พำนักในปัจจุบันของหลวงปู่พรหมา

อาจารย์อนันต์ สวัสดิสวนีย์ ผู้มีบทบาทสำคัญในการแสดงศรัทธาในองค์หลวงปู่ด้วยการแขวน “ฤาษีใหญ่” ไว้ในคอ ท่านผู้นี้มิได้แขวนพระเครื่องของหลวงปู่พรหมาไว้เพื่อการประชาสัมพันธ์ คอของท่านไม่ใช่เนื้อที่โฆษณาพระเครื่อง แต่พระเครื่องที่เรียกว่าจะได้ขึ้นคอของอาจารย์อนันต์นั้นแสนยาก ทุกองค์ถูกScreen แล้วอย่างสิ้น

มูลเหตุของฤาษีใหญ่จะได้เลี่ยมทองล้อมนพเก้าบนคอของอาจารย์อนันต์ เห็นจะต้องชักตำนานการลองยิงฉบับย่อออกมา

 

สมัยฤาษีใหญ่ สร้างเสร็จใหม่ ๆ ในราวกลางพรรษาปี 2535 อาจารย์อนันต์เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับฤาษีไปเป็นจำนวน 15 องค์ ได้แจกจ่ายแก่ผู้เคารพนับถือเช่นท่านอธิบดีกรมศิลปากร เป็นต้น อีกส่วนหนึ่งยังคงเก็บรักษาไว้อย่างแน่นแฟ้น

หนึ่งในจำนวนที่แจกจ่ายออกไปนั้น ได้ตกเป็นสมบัติของคุณจิตต์ณรงค์ คุปตัษเฐียร บุตรชายนายห้างขายยาตราพระจันทร์ ซึ่งคุณจิตต์ณรงค์นี่เองเป็นผู้เอาฤาษีใหญ่ไปทดลองยิง จนเป็นข่าวฮือฮาไปทั่วสังคมพระเครื่องกรุงเทพฯ

อาจารย์อนันต์ สวัสดิสวนีย์ ได้เปิดเผยเรื่องนี้ในค่ำวันหนึ่งของเดือนพฤศจิกายน ปี 2535 ที่ศรีย่านแอมบิวเล็ทโซไซเอตี้ ที่เย็นเจี๊ยบเป็นเครื่องดื่มประจำว่า คุณจิตต์ณรงค์ได้ดำเนินการทดลงยิงฤาษีใหญ่ด้วยตนเอง โดยนำเข้าไปทดลองยิงในสนามยิงปืนของกรมทหารแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ
“ผมจำชื่อสนามยิงปืนที่คุณจิตต์ณรงค์นำพระฤาษีใหญ่ไปลองยิงไม่ได้ ไว้พบกันคราวหน้าจะสอบถามให้ได้ความชัดเจนอีกที” อาจารย์อนันต์เล่า
“คุณจิตต์ณรงค์ได้บอกผมว่า กลุ่มทหารที่เป็นเพื่อน ๆ ของเขาเป็นผู้ลงมือยิง ตัวเขาไม่ได้ยิง หากแต่เป็นเพียงผู้ดำเนินการให้เกิดการลองยิงเท่านั้น และเขาเองได้เฝ้าดูอย่างใกล้ชิด”

อาจารย์อนันต์ยกถ้วยกาแฟเคลือบขาวนวลขึ้นจิบ ซึ่งในนั้นมีนมสดอุ่น ๆ ของโปรดเหมือนกำลังทรมานความสนใจของผู้ฟังรอบโต๊ะสี่เหลี่ยมทุกคน
“ในการทดลองยิงช่วงแรก ๆ ได้ใช้ปืนพกติดตัวยิงก่อน ปรากฏว่ายิงไม่ออกทุกกระบอก จึงสั่งการให้นำปืนเอ็ม.16 มาลองดู ปรากฏว่ายิงไม่ออกเหมือนกัน ได้เปลี่ยนปืนเอ็ม.16 กระบอกใหม่อีก 2 กระบอก รวมเป็นปืนเอ็ม.16 จำนวน 3 กระบอก ผลคือยิงไม่ออกทั้งหมด หลังจากนั้นคุณจิตต์ณรงค์ได้ถอดพระกำลังแผ่นดินจิตรลดาเลี่ยมทองในคอออกมาลองดู ผลคือยิงออกแต่ไม่ถูกพระแม้แต่นัดเดียว ในการลองยิงครั้งนั้นไม่ได้ลองแต่พระฤาษีใหญ่ กับพระจิตรลดา หากแต่ได้มีการลองยิงพระของอาจารย์อื่น ๆ อีกหลายองค์ มีเพียงพระฤาษีใหญ่กับพระจิตรลดาเท่านั้นที่ปลอดภัย นอกนั้นกระจุยหมด”

ข่าวลองยิงฤาษีใหญ่แพร่กระจายไปทั่ว และพัดกระพือเหมือนลมพายุใหญ่ซัดออกไปไกลถึงเมืองอุบลราชธานี ทำให้ฤาษีใหญ่โด่งดังขึ้นมาอย่างรวดเร็วและทำให้ชื่อของหลวงปู่พรหมา เขมจาโร ผู้ปลุกเสกเดี่ยวระบือขึ้นพร้อม ๆ กันด้วย

คุณชยันต์ รักเกียรติ แห่งร้านอุบลนิยมศิลป์ ได้เล่าให้ผมฟังว่า หลังจากข่าวยิงฤาษีใหญ่ในกรุงเทพฯ กระพือมา คนอุบลฯ ก็ไม่น้อยหน้า ได้นำฤาษีใหญ่ลองดูบ้าง

แต่ที่นี่ยิงออก

ออกแต่ไม่ถูกสักนัดเดียว

ผู้ลองยิงเป็นคนไม่เชื่อพระและเป็นคนคะนองปืน เวลานี้ขึ้นลงภูกระเจียวเป็นว่าเล่นเหมือนที่นั่นเป็นบ้านที่สองไปแล้ว

เมื่อครั้งฤาษีใหญ่ออกสู่ประชาชนใหม่ ๆ มีราคา 500 บาท แต่เวลานี้ไม่ทันถึงปีดี ก็ทานไปถึงองค์ละ 5 พันกว่าบาทแล้ว

อาจกล่าวได้ว่าฤาษีใหญ่ได้เป็นตำนานอีกรูปแบบหนึ่งของวงการพระเครื่องเมืองไทย เพราะมาเร็ว มาแรงเหมือนฝัน โดยไม่ต้องเชียร์ ไม่ต้อลุ้น ไม่ต้องประคับประคอง

ทุกอย่างดำเนินไปด้วยตัวของฤาษีใหญ่เองอย่างน่าพิศวง

ผู้มาไกลจากหลายจังหวัดหลายทิศทาง ทั้งกรุงเทพฯ ชลบุรี ปราจีนบุรี จันทบุรี สุพรรณบุรี เลย ศรีสะเกษ ฯลฯ มาถึงอุบลฯ เพื่อควานหาฤาษีใหญ่

บางคนคำรามลั่นว่าเท่าไหร่ก็สู้ราคา

นั่นเพราะเหตุว่าจำนวนสร้างของฤาษีใหญ่ไม่มาก มีเพียง 234 องค์ อาทิตย์แรกของการจำหน่ายก็หมดไปอย่างรวดเร็ว

ทุกวันนี้ สถานการณ์ที่เรียกว่าฤาษีฟีเวอร์ยังเกิดขึ้นในเมืองอุบลฯ

อาจมีคำถามว่าพระเครื่องของหลวงปู่พรหมา มีแค่ฤาษีใหญ่อย่างเดียวหรือ คำตอบคือ ไม่ใช่ เพราะว่าพระเครื่องของท่านมีมาแล้วหลายรุ่น แต่ละรุ่นมีจำนวนน้อย ผู้รู้จักเท่านั้นที่ขวนขวายค้นหา บางรุ่นมีราคาไม่น้อยกว่าฤาษีใหญ่เหมือนกัน

รายละเอียดของพระเครื่องหลวงปู่พรหมาคงยกไว้ให้คุณพันฤทธิ์ไขความต่อไป

ขณะนี้พระเครื่องของหลวงปู่พรหมาที่กำลังเปิดให้ผู้สนใจบูชาก็คือล๊อกเกตสำเร็จแก้ว ที่ผมได้เขียนถึงไปแล้วเมื่อไม่กี่ฉบับก่อน ขอให้กลับไปค้นอ่านกันได้ ล๊อกเกตชุดนั้นสร้างเพื่อหาทุนสำหรับสร้างศาลาการเปรียญบนภูกระเจียว ซึ่งเวลานี้กำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่ แต่ยังจะต้องใช้ทุนอีกมาก ลูกศิษย์แต่ละฝ่ายจึงร่วมแรงร่วมใจหาทุนกันจ้าละหวั่น ผู้มีเงินมากก็ถวายเป็นส่วนตัว เช่นพี่แป๋ก็ได้ถวายไปแล้ว 1 แสนบาทออกพรรษาก็ปวารณาหลวงปู่มารับเงินถวายอีกไม่น้อยกว่า 1 แสน รอ.ธนิต สโมสร ก็เพิ่งนำผ้าป่าขึ้นไปในวันที่ 28 ก.ค. ศกนี้ ได้เงินถวายแสนกว่าบาท ผมขออนุโมทนาในกุศลทั้งหลายของทุก ๆ ท่าน

จริงๆ แล้วผมไม่อยากพูดถึงล็อกเก็ตสำเร็จแก้วอีก เพราะเกรงคำครหาว่า “เข้าสูตรอีกแล้ว พรรณนาจนได้ที่ พอลงท้ายก็ประกาศขายพระ” แต่ผมไม่รู้จะเลี่ยงหาวิธีใดที่ดีกว่านี้ คงต้องบอกซื่อ ๆ กันแบบเปิดใจว่า อย่าไปคิดโน่นนี่ให้รุงรังศรัทธาเลย นึกเสียว่าลงขันในศาสนาด้วยกันเถิด

ล็อกเก็ตมีสองแบบคือ แบบรูปไข่และแบบสี่เหลี่ยม ราคาอันละ 250 บาท

ต่อไปนี้จะได้พูดถึงนาคปรกใบมะขามเสียที

ทวนไปถึงตอนแจกพระแก้วพุทธาจาโรอีกครั้ง

ตอนนั้นพระแก้วพุทธาจาโรมีจำนวนสำหรับแจกเพียง 83 องค์ เท่าอายุหลวงปู่สิม พุทธาจาโร แต่มีผู้อ่านที่ศรัทธามากมายกว่า 1 พันท่าน ส่งจดหมายมาขอรับพระแก้ว  พุทธาจาโร ทำให้ต้องผิดหวังไปเป็นจำนวนมากและผมได้ปลอบขวัญให้ทุกท่านด้วย หนังสือบุญญฤทธิ์พระโพธิญาณเถร หรือภาพประวัติพระเครื่องหลวงพ่อชา สุภทฺโท มูลค่า 40 บาทไปแล้ว

ผมได้สัญญาไว้ข้อหนึ่งว่าจะหาพระมาแจกให้ทุกท่านจนครบ และผมก็ได้พระนาคปรกใบมะขามมาในที่สุด

นั่นก็คือมูลเหตุแห่งการเกิดพระนาคปรกใบมะขาม

ผมสร้างพระนาคปรกใบมะขาม เพราะเห็นว่าเป็นพระเล็กๆ จัดส่งโดยสอดในซองจดหมายสะดวกดี คิดสร้างแล้วก็คิดหาตัวผู้เสกไว้ล่วงหน้า ซึ่งก็คือหลวงปู่พรหมา เขมจาโร ผลเลือกท่าน แม้ว่าครูบาอาจารย์ในเมืองไทยมีอยู่มาก แต่ผมกลับเห็นท่านในนาทีนี้ ค่าที่พระในแบบหลวงปู่พรหมานั้นทุกวันนี้หายากแล้ว ท่านคือรูปลักษณ์แห่งพระคณาจารย์โบราณที่พ้นจากท่านไปแล้วยังมองไม่เห็นใคร

พระนาคปรกใบมะขามชุดนี้สร้างขึ้นด้วยเพราะเห็นว่าเป็นพระเล็กๆ เท่านั้น ไม่ได้คิดไกลไปถึงว่าจะเป็นพระนาคปรกใบมะขามรุ่นแรกของหลวงปู่พรหมา เมื่อสร้างแล้วผลจึงปรากฏขึ้นอย่างไม่ตั้งใจว่าเป็นฯพระนาคปรกใบมะขามรุ่นแรกสุดจริง ๆ

ผมจะต้องขอบคุณคุณสงวน เกียรติคุณรัตน์ โปรดเจ็ค โค-ออร์ดิเนเตอร์ แห่งตรีทศ ซิตี้ มาริน่า ไว้ที่นี้ด้วย ถ้าไม่ได้คุณสงวน พระนาคปรกใบมะขามชุดนี้คงไม่สำเร็จขึ้นมา เพราะว่าคุณสงวนเป็นผู้วิ่งเต้นดำเนินการจัดสร้างให้ผมทุกอย่างจนแล้วเสร็จ

ผมฝากพระนาคปรกใบมะขามทั้งหมดให้กับคุณพิชิตพล แตงหวาน นำไปจากกรุงเทพฯ เพื่อเอาขึ้นภูกระเจียวถวายหลวงปู่พรหมาปลุกเสก พระได้เดินทางถึงหลวงปู่ วันที่ 24 มิถุนายน 2535 โดยบรรจุกล่องคล้องกุญแจอย่างแน่นหนา และพระทั้งหมดก็อยู่ในถ้ำของหลวงปู่นานนับครึ่งเดือน

วันที่ 8 กรกฎาคม ผมขึ้นไปกราบขอรับพระคืนด้วยตนเอง หลวงปู่สัพยอกว่า
“เอากุญแจเปิดกล่องมาหรือเปล่า ปู่เห็นใส่กุญแจกลัวเป่าไม่เข้า เลยเป่าเสียหนักเลย”
“เอามาครับ” ผมงัดกุญแจออกมา
“ปู่อยากดูว่าธาตุจะเข้าเต็มพระหรือไม่” ท่านกล่าว

เมื่อเปิดเอาพระนาคปรกออกมา ท่านก็รับไปตรวจดู

ผมไม่ขออธิบายว่าท่านตรวจอย่างไร แต่บอกได้ว่า คุณชยันต์ รักเกียรติ และอีกหลายท่านที่ร่วมเดินทางไปด้วยกันถึงตื่นเต้นทั่วกัน

คุณชยันต์เป็นคนแรกที่นำพระใบมะขามไปใส่ตลับทองแขวนคอทันทีในวันรุ่งขึ้น
ผมจึงขอใช้เครดิตที่มีทั้งหมดบอกได้อย่างเต็มปากเต็มคำตรงนี้ พระนาคปรกใบมะขามรุ่นนี้มหากาฬอย่างแท้จริง
แต่พระนาคปรกใบมะขาม ก็ไม่อาจจะแจกฟรีได้ แม้ว่าผมจะตั้งใจไว้อย่างนั้นแต่แรก เนื่องจากกรรมการหลายท่านลงความเห็นว่า ศาลาการเปรียญยังต้องการเงินอีกมากได้เงินบุญจากพระนาคปรกเข้าสมทบบ้างก็ยังดี
ขอให้ท่านผู้อ่านทำใจอ่อนโยนลงแก่ผมด้วย
สัญญาที่จะแจกให้ทุกท่านนั้น ผมจำเป็นต้องฉีกทิ้งลงไปกับมือ
และยอมรับคำตำหนิจากทุกท่านทุกประการ
คุณชินพร มหาลวเลิศ ผู้จัดการโรงแรมไทยเสริมไทย และผู้จัดการ หจก.นริศก่อสร้าง อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ เป็นท่านหนึ่งที่รับพระนาคปรกใบมะขามรุ่นแรกนี้ไปจำหน่ายให้แก่ผู้ศรัทธาในเมืองศรีสะเกษ คุณชินพร มหาลวเลิศ ได้ค้ำประกันแก่ทุกท่านที่มาบูชาพระนาคปรกว่า ถ้าบูชาไปแล้วไม่ถูกใจหรืออย่างไรก็ตาม เขายินดีรับซื้อคืนทุกองค์

ผมก็เช่นกัน จะขอค้ำประกันกับผู้อ่านตรงนี้

ยินดีรับซื้อคืนทุกองค์เหมือนกัน

พระนาคปรกถูกสร้างขึ้นมาทั้งหมด 3 เนื้อ คือ เนื้อเงิน เนื้อทองเหลือง และเนื้อทองแดง จำนวนทุกเนื้อรวมกัน 5,428 องค์

เนื้อเงินหลังเรียบ มีจารอักขระยันต์จำนวน 28 องค์, เนื้อเงินหลังยันต์ปั๊มในตัว 400 องค์, เนื้อทองเหลือง 1,000 องค์ และเนื้อทองแดง 4,000 องค์

เนื้อเงินไม่จำหน่าย ผมขอเก็บไว้เป็นส่วนตัว เพราะว่าผมรักพระชุดนี้มาก คงจำหน่ายแต่เนื้อทองเหลืองและทองแดงเท่านั้น
เนื้อทองเหลือง ราคาองค์ละ 40 บาท ส่วนเนื้อทองแดงราคาองค์ละ 25 บาท
ผู้อ่านที่มีศรัทธา เชิญได้ทันที

นี่ไม่ใช่พระโน-เนม นะครับ

วันนี้ราคา 25 บาท อนาคตแพงกว่านี้อย่างแน่นอน

ดูแค่ปรกใบมะขามหลวงปู่ทิม ที่เรียกว่าปรกองค์จ้อยเป็นตัวอย่าง สมัยออกใหม่ ๆ ทั้งออกให้บูชาและไล่แจกก็ยังไม่ค่อยมีคนสนใจ เดี๋ยวนี้หากันหน้ามืด องค์ละ 7 พันก็สู้ราคาไม่ยอมถอย

ใครจะไปรู้ว่าปรกใบมะขามรุ่นนี้จะเดินทับรอยปรกองค์จ้อยหลวงปู่ทิมหรือเปล่า แม้ว่าหลายคนจะเชื่อเช่นนั้น

ผมยังนึกถึงคำของคุณชินพร สุขสถิตย์ อยู่ไม่วาย
“มักมีคนถามผมเสมอว่า เมื่อไหร่จะพบพระที่ถูกใจเหมือนหลวงปู่ทิมเสียที ผมบอกได้เดี๋ยวนี้ว่าผมพบแล้ว ท่านคือหลวงปู่พรหมา เขมจาโร”

——————

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารศักดิ์สิทธิ์ พ.ศ.2536

แชร์ :

ความคิดเห็น

** โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างมีวิจารณญาน