พระผงแดงหลวงปู่ฝั้น

หลวงปู่ฝั้น อาจาโร

วงพระเครื่องเข้าใจดีว่า ครูบาอาจารย์ทรงคุณธรรมและคุณวิเศษ ทั้งเพียบพร้อมศีลาจารวัตรนั้นมีใครบ้าง แต่ไม่เข้าใจอยู่อย่างว่าทำไมมรดกขลัง หรือวัตถุมงคลของท่านเหล่านั้นไม่โลดแล่นโจนทยานเท่าที่ควร
สงสัยจัง ทำไมหลวงปู่กินรี จันทิโย ผู้เป็นพระอาจารย์ของสุวิสุทธิภิกขุองค์นั้นหลวงพ่อชา สุภทฺโท ไม่มีวัตถุมงคลดังเปรี้ยงสนั่นวงการ

พระกริ่งพิมพ์หนึ่งของท่าน (เข้าใจว่าเป็นรูปพระไพรีพินาศ) ท่านเสกแล้วออกปากว่า ระวังอย่าให้พระนี้ตกอยู่กับโจร

นี่คือ Certificate  ที่ออกโดยวาจาที่แสดงความมั่นใจสุดขีดของหลวงปู่กินรี

หลวงปู่แก้ว สุทโธ วัดดอยโมคคัลลาน์ เชียงใหม่ อีกองค์หนึ่งที่มรดกขลังเงียบเชียบอย่างเหลือเชื่อ

ประกาศนียบัตรสำคัญออกให้โดยหลวงปู่แหวน ผู้ประดุจอาทิตย์ดวงโตบนดอยแม่ปั๋ง ด้วยคำพูดหนักแน่นแต่สมัยดอยแม่ปั๋งยังกันดารในสัญจร

“บ่ต้องมาหาเฮาดอกเน้อ ทางมันยาก นู่นไปดอยโมคคัลลาน์เน้อ เหมือนกับเฮาทุกอย่าง”

มีกี่คนที่รู้จัก The three muskrrtier  แห่งสายกัมมัฏฐานศิษย์พระอาจารย์มั่น ผู้ร่วมทางสู่นครพิงค์?

1.หลวงปู่แหวน สุจิณโณ
2.หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม
3.หลวงปู่แก้ว สุทโธ

เบอร์ 1 กับเบอร์ 2 มรดกขลังของทั้งสองท่าน มีทายาทช่วงชิงเป็นเจ้าของด้วยมูลค่าที่เหมาะควรแล้ว ส่วนชื่อเสียงเห็นจะบอกได้ว่า ลอยอยู่บนฟ้าเช่นเดียวกัน

หลวงปู่แก้ว สุทโธ ทำไมไม่เหมือน

คำตอบเห็นจะต้องคว้าแพะที่ชื่อบารมีมารับโทษ

(หลวงปู่แก้ว วัดดอยโมคคัลลาน์)

บารมีเท่านั้นที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นของที่แต่ละคนมีได้ไม่เท่ากัน แม้อัฐิธาตุจะแปรสภาพเป็นพระธาตุเหมือนกันก็ตาม

ในสายกัมมัฏฐาน ศิษย์พระอาจารย์มั่น เห็นจะบอกได้ว่าความสำเร็จในแง่ของการสะสมมรดกขลังนั้นไม่น่าจะมีใครเกินหลวงปู่ฝั้น อาจาโร แห่งวัดป่าอุดมสมพร สกลนคร

แทบทุกรุ่นของหลวงปู่ฝั้น มีราคาสูงกว่า

ไม่ต้องพูดถึงเหรียญรุ่นแรกที่ได้ยินแว่วๆ ว่าเข้าหลักแสนจริงหรือ แต่ที่จริงแท้แน่นอนนั้นหลักหมื่นมานานแล้ว

คำนิยมที่มักเรียกว่าประสบการณ์ทางของขลังของท่าน ดูเหมือนจะเล่าไม่หมดง่าย

ปากต่อปากจนกระทั่งต้นตอแทบเลือนหาย

อย่างน้อยที่สุดชื่อของผู้มีประสบการณ์ก็หายไปจากความจำ

ตัวอย่างนี้เป็นเรื่องจริง เสียแต่ชื่อของท่านผู้นี้ไม่ทราบว่าซุกอยู่ที่ไหนในลิ้นชักเก็บความจำของผม ชื่อของท่านผู้นี้ยังอยู่ แต่ว่าค้นไม่ออก

ท่านเป็นบิดาของเพื่อนของเพื่อนผมอีกที วันหนึ่งนั่นรับประทานอาหารในร้านจำหน่ายอาหารแห่งหนึ่งในเมืองอุดรฯ มีคนๆ หนึ่งแต่งกายคล้ายทหารเดินเข้ามาให้ในระยะพอควร ยกปืนขึ้นเล็งใส่แล้วเหนี่ยวไกดังแชะ-3 แชะ

ท่านหัวเราะ นึกว่าเขาเอาปืนเด็กเล่นมาหยอกเอิน

หมอนั่นหันปากกระบอกปืนขึ้นฟ้าเหนี่ยวไกอีกครั้ง

ตูม !

ท่านผู้นี้ถึงกับหงายท้องเป็นลมคาโต๊ะอาหาร เมื่อรู้ว่านั่นมันปืนจริง เอาจริง

เหรียญหลวงปู่ฝั้น ที่แขวนในคอเหรียญเดียว (จำไม่ได้ว่ารุ่นไหน) ทุกวันนี้ยังคงแขวนไม่ถอด

คุณมานิตย์ ลิ้มเลิศเจริญวานิช ชาวอุดรฯ ผู้มีผลงานสร้างพระเครื่องสำคัญหลายรุ่น เช่น พระชัยวัฒน์ใบมะขามรุ่นสุดท้ายของหลวงปู่ขาว อนาลโย ได้บอกคุณปัญญา โกวิทวงศ์ ภายหลังคำถามที่ว่า เคยเห็นพระเครื่องที่ถูกลองยิงแล้วไม่ออกบ้างไหม

“ไม่เคย”

คุณมานิตย์เล่าต่อไปว่า ที่ไม่เคยนั้นเพราะท่านได้ลองยิงด้วยมือตนเองมาตลอด ไม่ว่าพระเครื่องรุ่นไหนของอาจารย์ใด ดังแค่ไหน เงียบเท่าไหร่ ลองแล้วยิงออกหมด

ที่ไม่ออกนั้นคือตะกรุดของหลวงปู่ฝั้น อาจาโร

ตอนนั้นไปที่วัดป่าอุดมสมพร ช่วงแรกๆ คาดว่าคงราวปี สองพันห้าร้อยหนึ่งกว่าต้นๆ พระลูกวัดรูปหนึ่งส่งตะกรุดให้คุณมานิตย์ และบอกว่านี่เป็นของหลวงปู่ฝั้น เอาไปลองดู อยากรู้เหมือนกันว่าจะเป็นยังไง

คุณมานิตย์บอกว่า ยิงจนหมดโม่ 5 นัดแรกไม่ออก แต่นัดที่หกระเบิดตูมทั้งกระสุนทั้งลำกล้องปืนที่ฉีกแตก

ภายหลังเข้าไปกราบหลวงปู่ฝั้นท่านก็เอ็ดเอาว่า

“เอาไปลองยิงนั้นไม่ดีหรอก เพราะมันดัง”

ทั้งสองเรื่องนี้ ผมรับรองด้วยเกียรติว่าเป็นเรื่องจริง ไม่ได้ปั้นแต่งขึ้นมา บุคคลที่เป็นเจ้าของเรื่องมีตัวตนอยู่ แต่เอาชื่อและนามสกุลออกมาไม่ได้ เพราะลืมสนิท

คุณปัญญา โกวิทวงศ์ เป็นผู้เดียวที่จำได้ ขณะที่เขียนต้นฉบับนี้ติดต่อกันไม่พบ ทำให้ต้องลงเรื่องทั้งสองลอยๆ เบาๆ ไปก่อน

พระเครื่องของหลวงปู่ฝั้น เท่าที่ทราบชัดนั้น มีอยู่หลายรุ่นที่ตกอยู่นอกทำเนียบอย่างน่าเสียดาย บางรุ่นทันท่านเสก แต่ทำเนียบทำผิดพลาดจนกลายเป็นท่านไม่ได้เสก เช่น เหรียญยืนเต็มองค์ถือไม่เท้า ต้องซัดเซพเนจรอยู่ในกลุ่มเหรียญตาย คือเป็นเหรียญที่สร้างหลังท่านมรณภาพ นับว่าชะตากรรมช่างโหดร้ายต่อเหรียญดีๆ รุ่นนี้เสียจริง (โอกาสหน้าจะนำมากล่าวถึง)

พระดีๆอีกรุ่นหนึ่งของหลวงปู่ฝั้น ที่ต้องบันทึกไว้ เพื่อไม่ให้เลือนลับดับสูญ พระพิมพ์นี้เป็นผลงานสร้างของอาจารย์ปถม อาจสาคร ผู้สร้างพระผงดำถ้ำผาปล่อง ของหลวงปู่สิม พุทธาจาโร สร้างด้วยบล็อกเดียวกันอีกด้วย ต่างแต่องค์หนึ่งดำ องค์หนึ่งแดง และไม่ทราบว่าทางท่านผู้สร้างกำหนดชื่อพระรุ่นนี้ไว้อย่างไร ในที่นี้จะขอเรียกว่าพระผงแดงหลวงปู่ฝั้น ไปพลางๆ ก่อน พระผงแดง เป็นพระเครื่องที่เกิดด้วยการเดินทางของผงโสฬสมหาพรหมของท่านพระครูสีทัตถ์ สุวรรณมาโจ (ข้อมูลนี้คุณอาคม ทรงสถาพรเจริญให้มา) อีกรุ่นหนึ่ง

ผมไม่ทราบว่าพระผงแดงสร้างไว้เมื่อไหร่ คงสร้างไล่เลี่ยกับพระผงดำถ้ำผาปล่อง สร้างแล้วแยกออกถวายทั้งสองอาจารย์ เป็นพระดีทั้งคู่ พบเห็นที่ไหนต้องคว้าไว้ไม่ลังเล

ผงโสฬสมหาพรหมเล่ากันว่าเป็นผงพุทธคุณที่พระครูสีทัตถ์สร้างไว้ และมอบให้หลวงปู่สนธ์ สุรชโย วัดท่าดอกแก้ว อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ผงนี้หลวงปู่สนธ์ได้ยกให้อาจารย์ปถมทั้งหมด จึงเป็นเหตุให้เกิดพระเครื่องพิมพ์ต่างๆ หลากหลายอาจารย์ ซึ่งล้วนแต่เป็นฝีมือสร้างของอาจารย์ปถมทั้งสิ้น

รายละเอียดเคยลงตีพิมพ์ในศักดิ์สิทธิ์ฉบับครบรอบปีที่ 9 (หรือ 10?) เขียนโดยอัทธคู ใครมีหนังสือเล่มนั้นให้กลับไปอ่านทวนได้

(พระผงแดง หลวงปู่ฝั้น อาจาโร)

(พระผงดำ หลวงปู่สิม วัดถ้ำผาปล่อง)

เกี่ยวกับท่านพระครูสีทัตถ์นั้น เชื่อกันว่าท่านกลับชาติมาเกิดใหม่ เวลานี้ก็บวชเป็นพระมาหลายพรรษาแล้ว ท่านมีชื่อว่าพระถวัลย์ โชติธมฺโม และผมอยากส่งข่าวถึงท่านสักเล็กน้อยว่า มีหลวงพ่อองค์หนึ่งอยู่วัดวังใต้ ชื่อว่า พระกิติ สุทธจิตโตบ่นถึงอยู่ไม่วาย

เดิมหลวงพ่อกิติได้เคยจดหมายถึงกันกับผมเสมอ เกี่ยวกับเรื่องของพระถวัลย์ ตัวหลวงพ่อกิติไม่ทรายว่าพระถวัลย์อยู่ที่ไหน ผมจึงกราบเรียนไห้ว่า พระถวัลย์ อยู่วัดวงศ์สนิทเมตตาธรรม จ.ระยอง เมื่อกราบเรียนไปแล้ว หลวงพ่อกิติได้มีลิขิตมาถึงผมดังนี้

“เรื่องของพระถวัลย์ โชติธมฺโม (หลวงปู่สีทัตถ์) ถูกแล้วท่านเคยอยู่วัดวงศ์สนิทฯ จ.ระยอง อาตมาเคยเขียนไปที่วัด และท่านก็มาหาที่วัดวังใต้ ค้างด้วยกัน 1 คืน รุ่งเช้าท่านเดินทางกลับ ได้ถวายค่ารถท่าน 200 บาท วันหลังได้มีจดหมายไปที่ระยอง พระอาจารย์ปิ่น เขมปินินฺโท บอกว่า อ.ถวัลย์ได้เดินทางจากวัดวงศ์สนิทฯ ไปหลายวันแล้ว ไม่ทราบว่าธุดงค์ไปไหน เมื่อคุณทราบที่อยู่ของท่าน ท่านอาจกลับไปอยู่ที่ระยองอีกก็ได้ ถ้าคุณมีโอกาสไประยอง ถ้าได้พบท่าน บอกว่าอาตมาคิดถึงท่านเป็นอย่างยิ่ง ท่านเป็นลูกบุญธรรมของพระอริยคุณาธาร พระอริยคุณาธาร ก็เป็นอุปัชฌาย์ของอาตมา ฉะนั้นเราเป็นศิษย์พ่อเดียวกัน บอกท่านด้วยว่าอาตมาได้พระอุปัชฌาย์ใหม่คือ สมเด็จพระญาณสังวร แต่อยู่ที่วัดวังใต้ เพราะลูกๆ ต้องการให้อยู่ใกล้ แต่อาตมาไม่ได้ยุงกับพระอื่น รักษาตนเป็นปกติผู้เดียว อาตมาเคยไปอยู่วัดสาขาของสมเด็จฯ คือ วัดพุไทร อ.หนองหญ้าปล้อง 1 พรรษา ต่อมาเป็นมาเลเรียอย่างหนัก เลือดไม่มี ได้มาให้เลือดและรักษาที่ลพบุรี ต่อจากนั้นนานๆ จึงไปพักครั้งหนึ่ง

อาตมาก็อยากให้พระถวัลย์ไปอยู่ วัดวังพุไทร ขณะนี้โบสถ์สร้างเสร็จแล้ว กุฏิมีมากกว่าพระ น้ำและไฟทางชลประทานสร้างเขื่อนกักไว้ให้พร้อมใช้สะดวก พระครูที่นั่นก็เคยเป็นศิษย์พระอริยคุณาธารมาด้วยกัน”

ผมจึงขอให้เป็นโอกาสอันนี้เพื่อส่งข่าวถึงท่านอาจารย์ถวัลย์ โชติธมฺโม ด้วยลิขิตหลวงพ่อกิติ สุทธจิตโต วัดวังใต้ ลพบุรี
ใครที่รู้จักท่านอาจารย์ถวัลย์ ช่วยส่งข่าวนี้ให้ท่านทราบด้วย และฝากอีกนิดคือ บอกท่านด้วยว่าผมก็อยากพบท่านเป็นที่สุดเหมือนกัน….

————————

งานเขียนของ อำพล เจน ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารศักดิ์สิทธิ์ ราวพ.ศ.2535-2537

แชร์ :

ความคิดเห็น

** โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างมีวิจารณญาน