ภาษาขลัง, ภาษาขอม
“ยืง อัง เอง พลาว ตระบัด, ซม อะเภย ยืง น็อง โต้ว แอ เนาะ บาน”
“ข้อยหลงทางแล้ว, ขอโทษเหอะ ข้อยจะไปที่นั่นโดยทางใด?”
ถ้าไม่อาศัยคนนำทางเมื่อไหร่ จะได้ใช้ประโยคนี้บ่อยที่สุด โดยเฉพาะเมื่ออยู่บนหลังเสือภูเขา ที่สู้อุตส่าห์นำเข้าไปด้วย เสือไปทางไหนไม่ถูก ก็จะต้อง ยืง อัง เอง พลาว ตระบัด กันเรื่อยไป
โชค ดีที่ภาษาสากลของโลกนี้คือ ภาษาใบ้ เพราะว่าหลังจากประโยคเดียวที่พูดได้แล้ว มือของเราและเขาก็จะพลิ้วเป็นระวิง มีทั้งนิ้วที่ชี้ไปข้างหน้า นิ้วงอซ้ายหรือขวา แม้แต่ฝ่ามืออรหันต์โบกไล่กลับหลัง หรือ 2 แขนกางออกบอกเป็นนัยว่า ห้ามเข้า เสือก็ก้มหัวลงแล้วปั่นไปอย่างระทึกใจ หลังจากทำความเข้าใจ ซึ่งไม่รู้ว่าเข้าใจจริงหรือเปล่า
เขมร.. ที่ผมรู้สึกว่าจะเป็นสิ่งที่สื่อสารกันไม่ค่อยรู้เรื่องที่สุดในบรรดาหลายๆ แห่งที่เคยไปหลงทางมา
เจอคนพูดภาษาไทย หรือลาวได้ ผมก็ว่าของผมว่า ถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ทันที
แต่เขมรก็เคยเป็นแดนสวรรค์ของคนเขมรเมื่อพันกว่าปีมาแล้วจริงๆ
ปราสาทแต่ละหลังถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นสมมติสวรรค์ของพระอิศวร หรือเหล่าทวยเทพชั้นแนวหน้าเกือบทั้งสิ้น
อย่างเช่น ปราสาทบายน ซึ่งแปลว่า ที่ประทับของพระอินทร์ บางคนก็แปลว่า บุรุษผู้มียันต์ คือเป็นความพยายามของคนที่แปลภาษาที่ตนเองไม่เข้าใจ เพื่อจะให้เราไม่เข้าใจยิ่งขึ้น แม้แต่ใบหน้าขนาดใหญ่ที่สลักลงบนหินยอดปราสาท ก็ยังวิเคราะห์กันไปต่างๆนานา บ้างก็ว่าเป็นพระพักตร์ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร บ้างก็เถียงว่าเป็นพระพักตร์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ผู้สร้างประสาทนี้เอง เพราะว่ากระบังที่ครอบส่วนศีรษะนั้นเหมือนมงกุฎกษัตริย์มากกว่า เราผู้ซึ่งไร้ความรู้และข้อมูลก็เวียนหัวไปตามระเบียบ
ปราสาทบายน เป็นปราสาทเดี่ยวที่ผมชอบที่สุด ไม่รู้ว่าเพราะอะไร อาจบางทีเพราะว่าที่นี่คือที่ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นอีกแห่งที่พุทธศาสนาเริ่ม เข้ามามีอิทธิพลต่อชนชาติขอม หรืออาจเพราะการออกแบบที่สลับซับซ้อนอย่างที่ปราสาทหลังอื่นๆก็ดูธรรมดาไป แม้แต่ฝีมือการแกะสลักภาพใบหน้าขนาดยักษ์ที่มีอยู่มากมายบนปราสาทนี้ก็เข้าตาผมที่สุด
ความรู้สึกของผมเองบอกได้ว่า นครวัด ไม่ได้ทำให้ผมตื่นเต้นอย่างที่คาดหมายเอาไว้ แต่บายนผมประทับใจมาก
บายน มียอดปราสาททั้งหมด 54 ยอด ยอดละ 4 ใบหน้า รวม 216 ใบหน้า มีดวงตาทั้งหมด 432 ดวง ลองบวกเลขกันเล่นๆ ก็เห็นจะแปลกอย่างหนึ่งคือ ทุกตัวเลขเมื่อบวกกันแล้วได้ 9 หมดเลย (5+4=9, 2+1+6 =9, 4+3+2 =9)
นครวัด, นครธม ดูไปก็นึกเปรียบได้กับอยุธยาเมืองเก่าของเรา คือเป็นศูนย์รวมของปราสาทเหมือนอยุธยาที่มีโบราณสถานติดๆกันเป็นพรืดอยู่ในที่แห่งเดียว จะพูดให้โก้ๆ สักหน่อย ก็ต้องเรียกว่า “Angkor Complex” ยังไงยังงั้น ใครชอบดูปราสาทขอมให้ไปที่นี่ทีเดียวเป็นอันจบ เหมือนซื้อทุเรียนกินทีละลูก พอเข้าไปในสวนทุเรียนก็อาจจะเบื่อทุเรียนไปง่ายๆ
ข้อเสียเปรียบของการเที่ยวปราสาทขอมในบ้านเรานั้นคือ แต่ละแห่งอยู่ห่างไกลกันมาก ดูปราสาทหินพิมายแล้วจะดูปราสาทหินเขาพนมรุ้งต้องเดินทางอีกหลายร้อย กิโลเมตร แต่ถ้าพูดถึงปราสาทแล้วก็คล้ายๆกันทั้งหมด พนมรุ้ง หรือพิมาย ก็เป็นเช่นเดียวกับนครวัด ไม่ต้องดิ้นรนไปถึงเขมรก็ได้ เว้นแต่ผู้ที่ศึกษาสนใจในแง่โบราณคดี ก็ควรไปให้ถึง “Angkor Complex” ให้จงได้
มีอยู่ประเด็นหนึ่งที่ติดอยู่ในหัวใจของผม แม้กลับบ้านแล้วก็ยังไม่ลืมคือ เรื่องภาษาขอม ซึ่งก็คือ ภาษาเขมรที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน และเราก็คุ้นเคยกับภาษาขอมมาแต่อ้อนแต่ออก คือ เห็นบ่อยๆ ในผ้ายันต์, เหรียญหรือตะกรุด เสียแต่ว่าส่วนใหญ่แล้วอ่านไม่ออก เมื่ออ่านไม่ออกก็ราวกับว่าจะกลายเป็นภาษาศักดิ์สิทธิ์ไป
ครูบาอาจารย์หลายองค์ในบ้านเราอย่างเช่น สมเด็จพระสังฆราช วัดบวรฯ องค์ปัจจุบัน และหลวงพ่อโอภาสี ไม่เคยใช้ภาษาขอมเลย, ทั้ง 2 องค์ ใช้ภาษาไทย
ตะกรุด ของหลวงพ่อโอภาสีจารคาถาด้วยภาษาไทย ขลังกันสุดๆ แถมหายากอีกต่างหาก ราคาแพงแค่ไหนไม่ต้องพูดกันถ้ามีใครเอาตะกรุดมาเสนอขาย แล้วบอกว่าเป็นของหลวงพ่อโอภาสีให้คลี่ดูเถอะ เป็นภาษาไทยแน่ๆ แต่ถ้าคลี่แล้วเป็นภาษาขอมก็เก๊เลย
พระกริ่งปวเรศ วัดบวรฯ เล่นกันหลักพันต้นๆ แต่ถ้าองค์ไหนมีลายพระหัตถ์สมเด็จพระสังฆราชจารก้นว่า อิ ส วา สุ ด้วยภาษาไทย องค์นั้นเล่นกัน 4-5 หมื่นบาททันที
ภาษาอะไรก็ใช้ได้หมด ขอแต่ให้อ่านออกเสียงเป็นคาถาที่ถูกต้องล้วนดีหมด
บางทีจะมีคนที่กราบไหว้บูชาคาถาภาษาขอมอยู่เป็นนิจ พอไปเที่ยวเมืองเขมร เห็นภาษาที่ตนเองนับถืออยู่หน้าประตูส้วมก็อาจสะดุ้ง 8 กลับได้
ผมเป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่ใช้ภาษาขอม จะต่อต้านภาษาขอมก็ไม่ใช่ เป็นแต่ว่าไม่เคยศึกษาจริงจัง จึงไม่อยู่ในฐานะจะอ่านออกเขียนได้ เคยคิดจะศึกษาหาความรู้ภาษาขอมกับเขาบ้าง ปีศาจที่อยู่ในตัวผมก็หัวเราะฮ่าๆ บอกว่าแก่แล้วยังไม่เจียม ก็เลยต้องเจียมตนกันตลอดมาเพราะปีศาจตนนั้น
จริงๆ แล้ว ถ้าหากคนเห็นว่าจะไม่ยอมใช้ภาษาที่ใครๆก็อ่านออกทำนองภาษาเทพที่ร่างทรงเขียนออกมา ซึ่งหาทางจนตลอดชีวิตเพื่อให้อ่านออกก็จะหาทางนั้นไม่เจอ แต่หวังจะให้เป็นภาษาพิเศษสำหรับเขียนคาถาแล้ว ในความเห็นของผมคือ ควรใช้ “ภาษาธัม”
ภาษาธัม คือ ภาษาที่พระสายกัมมัฏฐาน หรือพระในเมืองลาว นิยมใช้เขียนคาถากันนั่นแหละครับ
มีบางคนเรียกภาษาธัม หรืออักษรธัมว่า ตัวขอมลาว ซึ่งถือว่าผิด เพราะว่าตัวขอมลาวนั้นไม่มี เป็นการเรียกผิดเหมือนการเรียกพระปางมารวิชัย ว่า สะดุ้งมาร แต่การเรียกผิดก็สามารถจะทำความเข้าใจได้ว่าเป็นพระมารวิชัยและตัวอักษรธัม
อักษรธัม มีรูปร่างกลมๆ คล้ายอักษรมอญกับพม่า รูปแบบตัวอักษรธัม ได้เค้ามาจากอินเดียซึ่งมีอักษร 41 ตัว เป็นสระ 8 ตัว เป็นพยัญชนะ 33 ตัว อักษรธัมมีพยัญชนะ 33 ตัว มีสระ 8 ตัว (เท่ากันกับอินเดีย) ตอนหลังตัวพยัญชนะอักษรธัมไม่พอใช้ จึงเพิ่มขึ้นมาอีก 6 ตัว กลายเป็น 39 ตัว รวมเป็น 47 ตัว
ตัวอักษรธัมค่อนข้างจะถือเป็นภาษาพิเศษ เพราะว่าใช้จารลงใบลานเกี่ยวกับเรื่องราวของพระพุทธเจ้า หรือพุทธคาถาต่างๆ ไม่ค่อยถูกนำมาใช้เขียนในเนื้อหาอื่นๆ จึงพอจะยกๆให้เป็นภาษาค่อนข้างสูงไปก็ได้ เมื่อจะเอามาจารตะกรุด หรือผ้ายันต์ก็เท่ห์ดีออก
ภาษาธัม จึงเป็นภาษาเดียวที่ผมพอไปวัดไปวากับเขาได้บ้าง พอได้โม้ได้ว่าเราก็ใช้ได้เหมือนกัน
เมื่อไปถกเขมรกลับมาแล้ว ทำให้ไม่รู้สึกเสียใจที่ตนเองไม่รู้ภาษาขอมแม้แต่น้อย
ใช้ภาษาไทยที่เราแตกฉานก็ยังจะง่ายกว่าเป็นไหนๆ
ไม่ใช้ภาษาธัมก็ไม่เป็นไร
ดูแต่ กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ท่านยังทรงใช้ภาษาไทยผูกพระพุทธคาถาขึ้นเป็นรูปองค์พระอย่างสวยงามในด้านหลังเหรียญพระแก้วมรกตหมดห่วงนั่นไงครับ
ภาพ : siamfishing.com
เรื่องเขมรเห็นจะพอแค่นี้ เพราะว่าไปแล้วยังงงๆกลับมาอยู่ครับ
ตอนผ่านช่องสะงำ ที่ศรีสะเกษ ผ่าน อ.อันลองเวง อ.อุดรมีชัย อ.บันทายศรี เพื่อจะไปให้ถึงตัวเมืองเสียมเรียบนั้น ผมพบเห็นก็แต่เขมรดำ พอถึงเมืองเสียมเรียบ จึงได้เห็นเขมรขาว แต่กระทั่งกลับถึงบ้านแล้วก็ไม่เคยเห็นเขมรแดงสักคน ไม่รู้ว่ามีอยู่ตรงไหน
ก็ได้ยินเขาเรียกกันว่าเขมรแดงเกือบทั้งประเทศ เจอแต่เขมรดำๆ กับเขมรขาวๆ (ผสมญวน) ก็เลยงงนักแล
ขะมาด เลีย ซอล ผมขอลาก่อนครับ
ข้อมูลจากนิตยสารศักดิ์สิทธ์ ฉบับที่ 505