ท่านพ่อลี ธมฺมธโร สอนทำสมาธิ ภาวนา

สำหรับท่านผู้ที่มาใหม่ยังไม่เคยทำ พอจะแนะนำให้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้..

๑.ให้ตั้งใจว่าเรื่องราวอะไรทั้งหมด เราจะไม่เก็บมานึกคิด จะนึกถึงแต่พุทธคุณอย่างเดียว คือ พุทโธ

๒.ตั้งสติกำหนดนึกถึงลมหายใจเข้าว่า พุท ออกว่า โธ หรือจะนึก พุทโธๆ อยู่ที่ใจอย่างเดียวก็ได้

๓.ทำจิตให้นิ่ง แล้วทิ้งคำภาวนา พุทโธ เสีย ให้สังเกตแต่ลมที่หายใจเข้าออกอย่างเดียว เหมือนกับเรายืนเฝ้าดูวัวของเราอยู่ที่หน้าประตูคอก ว่าวัวที่เดินเข้าไปและออกมานั้น มันเป็นวัวสีอะไร สีดำ แดง ขาว ด่าง วัวแก่หรือวัวหนุ่ม เป็นลูกวัวหรือวัวกลางๆ แต่อย่าไปเดินตามวัวเข้าไปด้วย เพราะมันจะเตะขาแข้งหักหรือขวิดเอาตาย ให้ยืนดูอยู่ตรงหน้าประตูแห่งเดียว หมายความว่า ให้จิตตั้งนิ่งอยู่เฉยๆ ไม่ต้องเคลื่อนไหวไปกับลม

๔.ที่ว่าให้สังเกตลักษณะของวัวก็คือให้รู้จักสังเกตว่า ลมเข้าสั้นออกสั้นดี หรือลมเข้ายาวออกยาวดี ลมเข้ายาวออกสั้นดี หรือลมเข้าสั้นออกยาวดี ให้รู้ลักษณะของลมว่าอย่างไหนเป็นที่สบาย ก็ทำอย่างนั้นเรื่อยไป

๕.ต้องทำให้ได้อย่างนี้ทั้ง ๓ เปราะ คือ เปราะแรกภาวนา พุทโธๆ ตั้งใจนึกด้วยสติหรือด้วยใจ เปราะที่ ๒ ให้สติอยู่กับลมเข้า พุท ลมออก โธ ไม่ลืมไม่เผลอ และเปราะที่ ๓ จิตนิ่ง ทิ้ง พุทโธ เสีย สังเกตแต่ลมหายใจเข้าออกอย่างเดียว

๖.เมื่อทำได้เช่นนี้ ใจของเราก็จะนิ่ง ลมก็นิ่งเหมือนขันน้ำที่ลอยอยู่ในโอ่ง น้ำก็นิ่ง ขันก็นิ่ง เพราะไม่มีใครไปกด ไปเอียง ไปกระแทกมัน ขันนั้นก็จะลอยเฉยเป็นปกติอยู่บนพื้นน้ำ เหมือนกับเราขึ้นไปนั่งอยู่บนยอดเขาสูงๆ หรือขึ้นไปลอยอยู่เหนือเมฆ ใจของเราก็จะได้รับแต่ความสุขเยือกเย็น นี้ท่านเรียกว่า มหากุศล คือเป็น ยอด แก่น หรือรากเง้า ของกุศลทั้งหลาย

๗.ที่ว่าเป็น รากเง้า ก็เพราะมันลึกและแน่น คือเป็นความดีส่วนลึกที่อยู่ในดวงจิตของเราซึ่องอยู่ตรงกลางตัว ที่ว่าเป็นแก่น ก็เพราะมันเป็นของมั่น แข็ง และเหนียว เหมือนกับแก่นไม้ซึ่งมีความเหนียวและมั่นคง มอดก็ไม่สามารถมาเจาไชให้ผุได้ ถึงมันจะมาแทะได้บ้่างก็เพียงแค่เปลือกนอกหรือกระพี้เท่านั้น คือนิวรณ์ทั้งหลายจะมารบกวนได้ก็เพียงแค่อายตนะภายนอก คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เช่นรูปมากระทบตา มันก็อยู่แค่ตาไม่เข้าไปถึงใจ เสียงมากระทบหู มันก็อยู่แค่หูไม่เข้าถึงใจ กลิ่นมากระทบจมูก ก็อยู่แค่จมูก ไม่เข้าถึงใจ จึงเรียกความดีส่วนนี้ว่าเป็นแก่นบุญ เพราะความชั่วทั้งหลายไม่สามารถจะมาทำลายจิตใจที่มั่นคงนี้ให้เสียไปได้ง่ายๆ เหมือนไม้แก่นที่ตัวมอดไม่อาจกัดกินให้ผุได้ ฉันนั้น

๘.ที่ว่ายอดนั้นก็คือ คำว่า ยอด เป็นของสูงโดยลักษณะอย่างหนึ่ง เช่นยอดเนื่องด้วยการบริจาคก็เรียกว่า ทานมัยกุศล บุญซึ่งเนื่องด้วยการสำรวมกายวาจาให้เป็นปกติเรียกว่า สีลมัยกุศล และบุญซึ่งเนื่องด้วยการบำเพ็ญจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาดก็เรียกว่า ภาวนามัยกุศล ฉะนั้น การภาวนาจึงเป็นยอดของกุศลทั้งสามนี้ และมีคุณภาพสูง คือสามารถที่จะดึงดูดบุญกุศลน้อยใหญ่ ให้เข้ามารวมอยู่ในดวงจิตของเราได้

๙.เมื่อดวงจิตของเราสงบ บุญต่างๆ ก็จะไหลเข้ามารวมอยู่ในดวงจิตของเรา คือความดีแล้วความดีในดวงจิตนั้นก็จะขยายตัวออกมาครอบทางกาย กายของเราก็จะหมดจากบาป ออกมาครอบทางวาจา ปากของเราก็จะหมดจากบาป ทางกายกรรมคือตาที่เราเคยสร้างบาปมา ทางหูที่เราเคยสร้างบาปมา และมือที่เราเคยสร้างบาปมา ความดีที่เกิดจากการภาวนานี้มันจะขยายมาล้างตา มาชำระหู มาล้างมือ กายที่บาปด้วยสัมผัส บุญก็จะขยายมาล้าง ทีนี้กาย วาจา ตา หู จมูก ปาก และส่วนอวัยวะน้อยใหญ่ทั้งหลายของเราก็จะเป็นของสะอาดหมด

๑๐ เมื่อเราได้ของสะอาดมากำกับตัวเราเช่นนี้ ก็เรียกว่า คุณภาพสูง เหมือนน้ำสูงที่ตกลงมาแต่อากาศย่อมกระจายไปทั่ว ยิ่งสูงเท่าไรก็ยิ่งกระจายออกไปมากเท่านั้น ดวงจิตของเราถ้าสูงด้วยคุณธรรม ความดีทั้งหลายก็ย่อมกระจายไปตามตา หู จมูก ลิ้น กาย กระจายไปตาม รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส กระจายไปทางอดีต ทางอนาคต ความดีนั้นก็จะขยายให้เย็นทั่วไปในโลกโลกีย์เป็นลำดับ ในการภาวนาจึงมีอานิสงส์โดยสั้นๆ อย่างนี้

๑๑.บุญ ซึ่งเป็นของสูงโดยคุณภาพนั้น เปรียบเหมือนน้ำฝนซึ่งตกลงมาแต่เบื้องบนอากาศ ย่อมจะเป็นเครื่องชำระล้างสิ่งโสโครกทั้งหลายในพื้นแผ่นดินได้อย่างหนึ่ง และช่วยบำรุงหล่อเลี้ยงพืชพันธุ์ธัญญาหาร ให้มนุษย์ได้พึ่งพาอาศัยอย่างหนึ่ง นอกจากนั้นยังทำให้คนได้รับความเย็นชื่นเบิกบานใจด้วย พระพุทธเจ้านั้นท่านได้ทรงโปรยความดีของท่านมาตั้งแต่วันแรกที่ทรงตรัสรู้ตลอดมาจนกระทั่งสองพันห้าร้อยปีล่วงแล้ว ท่านก็ยังทรงโปรยอยู่ ดังที่เราได้รับความร่มเย็นเป็นสุขกันมาทุกวันนี้ พระพุทธเจ้าทรงเป็น มหาบุรุษ เป็นบุคคลสูงก็เพราะพระองค์ได้ทรงบำเพ็ญความดีส่วนสูงส่วนยอดอันนี้

๑๒.การภาวนานี้ถ้าจะพูดอย่างกำปั้นทุบดินแล้ว ก็เป็น บุญ ไปทั้งนั้น แม้จะทำได้มากหรือน้อย หรือไม่ได้อะไรเลยก็เป็นบุญอยู่ในตัว คือเปราะที่ ๑.ระลึกได้เสมอเพียงแค่ พุทโธๆ เท่านี้ก็เป็นบุญส่วนหนึ่งแล้ว เปราะที่ ๒.มีสติอยู่กับลมหายใจอย่างเดียวก็ได้บุญ และเปราะที่ ๓.ทำใจนิ่งเฉยๆ รู้แต่ลมหายใจก็เป็นบุญอีก ฉะนั้น จึงเป็นของที่ควรจะพากันทำอยู่เสมอ ไม่ควรปล่อยเวลาและโอกาสให้เสียไปโดยเปล่าประโยชน์…..

 

แก้ม ธรรมโอสถ

แชร์ :

ความคิดเห็น

** โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างมีวิจารณญาน