ธรรมของคนหมดโกรธ

 

เดี๋ยวนี้ใครจะว่าอะไรก็ไม่โกรธแล้วครับ

จะว่าเบาๆขนาด๑-๒ริกเตอร์ ..คือแค่ตำหนิติเตียนก็เฉย
หนักๆ ถึงขั้นลุกขึ้นมาด่าระดับ๖.๕ริกเตอร์ก็ยังเฉย

ใครเห็นเช่นนี้ก็ออกจะรู้สึกนับถือผมมากขึ้นไปอีก
คนอะไรก็ไม่รู้ ถูกด่าถูกว่าขนาดนั้นยังทำหน้าซื่อหน้าเซ่อทำเป็นไม่รู้สึกรู้สาอยู่ได้
หัวก็ไม่ได้โกน ผ้าเหลืองก็ไม่ได้ห่ม ศีลก็ถืออยู่แค่ 4 ข้อเอง
ประพฤติปฏิบัติก็กะพร่องกะแพร่ง
แล้วทำไมหมดโกรธไปได้ซะเฉยๆ

ชะรอยจะเป็นผู้บรรลุธรรมขั้นแผ่นดินหินผา คือใครจะเอาจอบเสียมมาขุดสับก็ไม่ว่า จะขี้เยี่ยวรดใส่ก็ไม่ว่า
…ช่างหน้านับถือแท้ๆ

ไม่จริ๊ง ไม่จริง

อย่าไปเชื่อครับ อย่าไปเชื่อ
ผมยังมีความโกรธเป็นทรัพย์สมบัติประจำตัวที่ไม่น้อยหน้าใครหรอกจะบอกให้

ที่ไม่โกรธนั้นเพราะว่าผมหูตึง

รู้เป็นนัยๆว่าเขากำลังด่าเราแน่ๆ แต่ทำได้แค่สงสัยว่าด่าเรื่องกูเรื่องอัลไล เพราะว่าฟังไม่ถนัด ..จำเป็นก็ต้องทำหน้าซื่อๆ เซ่อๆ จะลุกขึ้นสวนกลับก็ไม่แน่ใจว่าเขาด่าเราหรือด่าใครกันแน่ ผิดฝาผิดตัวเพราะว่าฟังไม่รู้เรื่องก็จะเสียหายใหญ่โต ถ้ามีใครอยู่ใกล้พอให้ได้ถามว่าเขาพูดเขาด่าว่าอะไร ก็ยังพอจะลุกขึ้นอาละวาดได้ถนัดหน่อย

เลยทำให้ดูเหมือนหมดโกรธ ทั้งที่ยังมีโกรธอยู่เต็มพุง

พุทธศาสนานั้นสอนให้ค้นหาเหตุที่ทำให้เกิดผล
ถ้าดับเหตุได้แล้วผลก็ไม่เกิด

ซึ่งจะอ้างพุทธคาถา “เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา” ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุหรือย่อมมีเหตุ

ก็จะได้ความว่า ที่ผมหมดโกรธนั้นเพราะมีเหตุที่ไม่ได้ยินเขาด่า …ที่ไม่ได้ยินเพราะว่าหูตึง

คนอื่นๆ เมื่ออยากจะหมดโกรธแบบผมก็ทำทุกวิถีทางที่จะให้ตนหูตึงมั่งก็ทำได้ไม่สงวนสิทธิ์

เบื้องต้นต้องทำให้หูเป็นน้ำหนวกเสียก่อน แล้วก็ปล่อยให้เป็นไปเรื่อยๆ ไม่ต้องรักษา จนกว่าหูมันจะตึง

หลังจากนั้นก็จะไม่ได้ยินคำด่าถนัด แล้วก็จะไม่ต้องโกรธ

หนักเข้าก็อาจทำให้มันหนวกสนิทไปเลยก็จะยิ่งหมดโกรธยิ่งขึ้น

นี่เรียกว่าเป็นการดับเหตุ

แต่ว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาของผู้มีปัญญา การดับเหตุแบบที่ว่ามานั้นจึงไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง

การดับเหตุที่ถูกต้องก็จะต้องถอนอัตตา(การยึดมั่นถือมั่น ถือจนถือตัว)ทิ้งให้มันไปไกลจนก้าวล่วงเข้าถึงสุญญตา คือว่างเปล่าไม่มีอะไรเลย คำด่าก็ไม่มีคำชมก็ไม่มี นี่จึงเป็นการดับเหตุที่ถูกต้อง

แต่ผมก็ไม่มีปัญญาจะบอกว่าทำยังไงจึงจะหมดอัตตา ทำยังไงจึงจะเป็นสุญญตา เพราะว่าภูมิธรรมของผมยังอยู่แค่ธรรมของคนหูตึง ซึ่งถ้าจะรู้แจ้งเห็นจริงขนาดนั้น ผมคงอยู่ไม่ได้ต้องออกบวช และอยู่ในป่าในถ้ำ

ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่แสดงให้เห็นถึงความฉลาดเฉลียวของผู้เป็นศาสดา ซึ่งก็คือพระพุทธองค์ และพระองค์ท่านได้ทรงสอนธรรมไว้ 2 แบบ คือ ธรรมของผู้ครองเรือน กับธรรมของผู้ออกบวช

พูดให้ตรงตามตำราก็คือ โลกียธรรมกับโลกุตรธรรม

ซึ่งเรื่องนี้ผู้รู้หลายคนท่านได้อธิบายว่าเป็นธรรมคนละชนิด ไม่มีอะไรที่เหมือนกัน แต่ว่าก็ยังเป็นธรรมที่เกื้อกูลกันได้อยู่เสมอ

โลกียธรรมสอนเรื่องกรรมและผลแห่งกรรม
กรรมดีย่อมให้ผลดี กรรมชั่วย่อมให้ผลชั่ว
กรรมดีย่อมให้ผลเป็นความสุขใจสุขกาย มีความสบาย มีความสุขในการดำรงชีวิตทั้งในส่วนตัวและส่วนรวม

ส่วนโลกุตรธรรมนั้นพ้นไปจากเรื่องของกรรมทั้งปวง คือการดับสิ้นทั้งกรรมดีกรรมชั่ว และไม่เห็นว่าการดำรงชีวิตอยู่จะมีความสุขหรือความทุกข์

เรียกว่าหลุดพ้นไปหมดทั้งสุขทั้งทุกข์

โลกุตรธรรม จึงมีที่หมายที่พระนิพพาน แต่โลกียธรรมยังจะต้องเวียนว่ายตายเกิด

เมื่อยังจะต้องตายและเกิดอีกไปไม่รู้กี่ภพ ท่านจึงสอนธรรมที่จะทำให้การเวียนว่ายตายเกิดนี้เป็นสุข

ท่านสอนให้ทุกคนรู้จักหาทรัพย์อย่างสุจริตและรู้วิธีรักษาทรัพย์ไม่ให้เสื่อมสูญไป เพราะว่าทรัพย์ยังเป็นปัจจัยของการอยู่ในโลกอย่างมีความสุข

แต่เมื่อเป็นโลกุตรธรรมแล้ว ท่านสอนให้สละทรัพย์ ถึงขั้นไม่มีเงินเลยแม้แต่บาทเดียวก็ยิ่งดี

อย่างที่หลวง พ่อชา วัดหนองป่าพง เคยพูดว่า “ลองนึกดูซิ ถ้าหากว่าเราตายลงไปแล้ว เขาค้นกุฏิเราแล้วเจอเงินแม้แต่เพียงบาทเดียว มันจะเสื่อมเสียศักดิ์ศรีของนักปฏิบัติขนาดไหน”

นี่คือคำพูดของผู้ปฏิบัติธรรมแบบโลกุตร

หลักปฏิบัติของโลกียธรรมนั้นมีศีลและธรรมเป็นเอก
แต่ว่าเราท่านถูกอบรมสั่งสอนก็แต่เรื่องศีล ไม่ใคร่จะได้รับคำสั่งสอนในเรื่องธรรม

เช่นว่าศีลของผู้ครองเรือนที่สอนกันมาตลอดว่าอย่าไปฆ่าสัตว์ อย่าไปลักทรัพย์ อย่าพูดโกหก อย่าล่วงประเวณีผัวเมียเขาหรือลูกเขา อย่ากินเหล้า เรียกว่าเบญจศีล ซึ่งจะต้องมีเบญจธรรมควบคู่ไปด้วย

คือเมื่อไม่ฆ่าสัตว์ก็จะต้องมีเมตตากรุณาต่อสัตว์ พวกที่ชอบไถ่ชีวิตวัวจากโรงฆ่าสัตว์ก็ถืออนุโลมว่ามีธรรมข้อนี้ด้วย เห็นนก เห็นหนู เห็นหมู เห็นไก่ ได้รับบาดเจ็บเป็นทุกข์ ก็ช่วยเหลือสงเคราะห์ให้พวกมันพ้นเจ็บพ้นทุกข์

ไม่ลักทรัพย์ ก็ต้องรู้จักประกอบอาชีพที่สุจริต เพื่อหาทรัพย์โดยถูกต้อง

ไม่พูดโกหก ก็ต้องรู้จักพูดความจริง ถ้าไม่รู้จักพูดความจริงก็จะต้องอึกๆ อักๆ เป็นใบ้กันทั้งบ้านทั้งเมือง ส่วนธรรมที่จะทำให้พูดความจริงได้อย่างอาจองผึ่งผาย ไม่เกิดโทษแก่ตนเองและผู้อื่นนั้น พระพุทธองค์ท่านทรงสอนไว้หมดแล้ว

ไม่ผิดลูกผิดเมียผิดผัวเขา ก็จะต้องรู้จักพอใจในผัวในเมียของตน เรียกว่าสทารสันโดษ

ไม่กินเหล้าเมาจนขาดสติ ก็จะต้องรู้จักรักษาสติให้เกิดขึ้นและให้สติมีอยู่กับตนตลอดเวลา

สตินี่แหละครับที่จะรักษาศีล และการประพฤติธรรมทั้งหมดให้เรียบร้อยไม่มีปัญหา

สติสัมปชัญญะเป็นเรื่องสำคัญมาก

เคยมีคนถามคุณชายคึกฤทธิ์ว่า กินเหล้าผิดไปข้อหนึ่งเท่านั้นเอง จะทำให้อีก 4 ข้อผิดไปด้วยไหม คุณชายท่านตอบว่า ถ้ากินนิดหน่อยก็อาจผิดเพียงข้อเดียว แต่ถ้ากินเยอะก็อาจผิดได้อีกหลายข้อ

สติจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ซึ่งจะนำพาการประพฤติปฏิบัติให้พัฒนาก้าวหน้า

นึกดูก็จะเห็นว่าทั้งหมดที่กล่าวมานี้ แม้จะเป็นธรรมของผู้ครองเรือน แต่หากว่ามีสติแก่กล้าทำความเข้าใจในธรรมควบคู่ไปกับศีล ย่อมจะนำทางเข้าสู่โลกุตรธรรมได้ คือเข้าไปสู่ขั้นตอนแรกของความเป็นอริยบุคคลซึ่งก็จะต่อเนื่องไปถึงอรหัตผล

ขั้นแรกของโลกุตรธรรม คือ ละโลภ โกรธ หลง ซึ่งมีพื้นฐานมาจากศีลธรรม 5 ข้อนี้เอง

โลภ คือไม่ลักทรัพย์ ไม่อยากได้ของเขา
โกรธ คือไม่ฆ่าสัตว์ ไม่เฆี่ยนหรือทำทารุณสัตว์บุคคลทั้งทางกายวาจาใจ
หลง ก็คือมีสติระลึกว่าคนเราเกิดมาแล้วต้องแก่ เจ็บ และตาย ชีวิตที่เกิดมันก็มีแค่นี้เอง ไม่มีอย่างอื่น
ทีนี้ก็ขยับเข้าไปอีกนิดคือ เมื่อเกิดความรู้ความเข้าใจในไตรลักษณ์ รู้จักและเข้าใจสามัญลักษณะของ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถึงตรงนี้สุญญตาก็เห็นรำไรแล้ว

จะว่าไป โลภ โกรธ หลง ก็น่าจะเป็นศีลของโลกุตรธรรม
คือเมื่อไม่โลภอยากได้ของใครแล้ว ก็ต้องรู้จักสละออกไป ซึ่งก็เป็นธรรมของศีลข้อนี้
ถ้ายังแค่มีศีลไม่โลภเอาของใคร แต่ยังดิ้นรนขวนขวายอยากได้อยากหาเอาเองอยู่นั้นก็ยังถือว่าโลภยังไม่หมด ฉะนั้นธรรมข้อที่ว่าให้สละออกไปเพื่อขจัดความเห็นแก่ตัวของตนเอง ก็จะเป็นหนทางกำจัดโลภให้หมดสิ้นไปในอนาคตอย่างถูกต้อง

จะละโกรธได้ก็ต้องรู้จักไม่พูดไม่ทำอะไรให้คนอื่นเขาโกรธ ไม่ใช่ว่าใครด่าเรา เราก็เฉย พอถึงเวลาเราเองกลับชอบด่าเขา

พอถึงเรื่องหลง ผมเองก็ชักจะรู้สึกหลงๆ เลอะๆ ยังไงชอบกล พูดมากไปก็เลอะเทอะเปรอะเปื้อนไปทุกที

อย่างไรก็ตามโลกียธรรม ก็ยังเป็นธรรมที่ผมคงจะต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกนาน ส่วนโลกุตรธรรมเห็นจะต้องเป็นหนทางที่ผมยังเดินไม่ได้

บางทีจะกลัวเหงาก็ไม่รู้

มีป้ายอยู่ป้ายหนึ่งในโรงพยาบาลที่เมืองอะไรไม่ทราบ(ลืม)ในประเทศแคนาดา

ป้ายนั้นว่าอย่างนี้

“ ถ้าคุณป่วย ก็มี๒อย่างคือรักษาได้หรือไม่ได้
รักษาได้จะไปห่วงอะไร
รักษาไม่ได้ก็มี๒อย่าง คือหายหรือไม่หาย
หายก็จะห่วงอะไร
ไม่หายก็มี๒อย่างคือตายหรือไม่ตาย
ไม่ตายจะห่วงอะไร
ตายก็มี๒อย่าง คือไปนรกหรือสวรรค์
ไปสวรรค์จะห่วงอะไร
ไปนรกยิ่งไม่ต้องห่วง..เพื่อนเยอะแยะเลย “

เรื่องของการกราบไหว้ครูบาอาจารย์ของผม ล้วนยังเป็นเรื่องของโลกียธรรมของผมอยู่เสมอ ยังยึดมั่นถือมั่นในคุณงามความดีของครูบาอาจารย์ว่าเป็นที่พึ่งได้ ถ้าท่านมีของขลังก็ยังอยากได้เยอะๆ ถ้าท่านให้ธรรมะก็รับได้มั่งไม่ได้มั่งตามภูมิธรรมของตน

ในใจคิดแต่เรื่องกรรมดี คือพยายามทำดีเพื่อหวังผลที่จะปรากฏแก่ตนทั้งในชาตินี้และชาติหน้า ถ้ามีเรื่องบุญกุศลก็จะเก็บเอามาบอกกัน เพื่อโลกียชนด้วยกันจะได้มีบุญเกิดขึ้นด้วยกัน

พุทธศาสนาแปลกกว่าใครที่สอนให้รู้จักดูตนเอง ดูเพื่อจะได้เห็นว่าตนเองเป็นอย่างไรแล้วก็แก้ไขตนเองด้วยตนเอง จนเป็นที่เกิดของคำว่า “ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน” แต่ที่แปลกกว่านั้นคือผู้ที่นับถือพุทธศาสนาส่วนใหญ่ยังไม่ทำเช่นนั้น ที่ทำคือชอบจะหันไปดูคนอื่นว่าเป็นอย่างไร

ผมก็ไม่เว้นเหมือนกันชอบดูคนอื่น ดูไปดูมาคนอื่นหายหน้าไปหมดเพราะว่าเขาก็ดูเราเหมือนกัน

ในที่สุดก็เหลือแต่ตัวเราผู้เดียว ไม่รู้ว่าเขาหรือเราดีเลวจนต้องหันหลังให้กัน
สุดท้ายก็กลายเป็นเรื่องของการดูละคร แล้วย้อนดูตัว

พูดไปก็เวียนหัว

โลกนี้คือละคร อีกทั้งบทบาทบางตอน ชีวิตยังจะต้องยอกย้อนยับเยิน

พระนิพพานก็ยังอยู่แสนไกล คงทำได้แต่เพียงตุนเสบียง สำหรับเดินทางเข้าพระนิพพานไว้เยอะๆเท่านั้น เสบียงก็คือบุญกุศลที่ยังเป็นสมบัติของโลกียธรรม

วันนี้ก็เป็นอีกวันหนึ่งที่ผมคิดอะไรไม่ออก นึกออกแต่คาถาของเพื่อนขี้เมาที่ชอบสวด เวลาล่วงศีลข้อ 5จนได้ที่

สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา

—–

แปลงและแก้ไขเพิ่มเติมจากข้อเขียนเรื่อง”บอกบุญ”ของอำพล เจน

Jun 26 2014

แชร์ :

ความคิดเห็น

** โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างมีวิจารณญาน