ความดันโลหิตสูง_เพชฌฆาตเงียบ
ปัจจุบันโรคความดันโลหิตสูง นับเป็นหนึ่งในปัญหาสาธารณสุขสำคัญที่กำลังคุกคาม โดยในปัจจุบันมีประชากรหลายร้อยล้านคนทั่วโลกเป็น โรคความดันโลหิตสูง และมีการคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2568 ผู้มีภาวะความดันโลหิตสูงจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 พันล้านคน
สำหรับประเทศไทย จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขคาดว่า จะมีผู้มีภาวะความดันโลหิตสูง หรือเป็น โรคความดันโลหิตสูง ประมาณ 10 ล้านคน ซึ่ง 70% ของคนกลุ่มนี้ไม่ทราบว่าตนเองมีภาวะดังกล่าว ทำให้ไม่ได้รับการรักษาหรือการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องเหมาะสม อันจะนำไปสู่การเกิดโรคแทรกซ้อนมากมาย อาทิ อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ด้วย
ดังนั้นเราจึงควรหันมาใส่ใจและให้ความสำคัญกับตัวเลขความดันโลหิตของเรากันได้แล้ว เพื่อความปลอดภัยและป้องกันภาวะการเจ็บป่วยฉุกเฉิน
การวัดระดับความดันโลหิต
ค่าตัวบนเรียกว่า ความดันช่วงหัวใจบีบ (ความดันซิสโตลิก:systolic) หมายถึงความดันเมื่อหัวใจบีบตัว
ค่าตัวล่างเรียกว่า ความดันช่วงหัวใจคลาย (ความดันไดแอสโตลิก:diastolic) หมายถึง ความดันเมื่อหัวใจคลายตัว
โดยความดันโลหิตที่เรียกว่า “เหมาะสม” ในผู้ใหญ่ที่อายุมากกว่า 18 ปี คือ ตัวบนไม่เกิน120 มม.ปรอท และตัวล่างไม่เกิน 80มม.ปรอท เรียกสั้น ๆ ว่า 120/80
โดยความดันโลหิตที่ “อยู่ในเกณฑ์ปกติ” คือ 120-129/80-84 มม.ปรอท
ความดันโลหิตสูงเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ คือ 130-139/85-89 มม.ปรอท
ความดันโลหิตสูง คือ ความดันโลหิตตัวบนมากกว่า (หรือเท่ากับ) 140 และตัวล่างมากกว่า (หรือเท่ากับ) 90 มม.ปรอท
สาเหตุและอาการของความดันโลหิตสูง
ความดันโลหิตสูงเกิดจากหลายปัจจัย อาทิ พันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม เช่น อาหารรสเค็ม และส่วนน้อยเกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือด ไตวาย
ความดันโลหิตสูงได้ชื่อว่าเป็น ฆาตกรเงียบ เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการผิดปกติ ไม่ทราบว่าตัวเองมีความดันโลหิตสูง หรือแม้จะทราบแต่ละเลยไม่สนใจรักษา เพราะรู้สึกปกติ ทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่าง ๆ ตามมาภายหลัง
สำหรับการรักษา โรคความดันโลหิตสูง มี 2 ทางเลือกด้วยกัน คือ การใช้ยา และไม่ใช้ยา ในผู้ป่วย โรคความดันโลหิตสูง ที่เริ่มรู้ตัวว่าเป็น แพทย์จะสามารถรักษา โรคความดันโลหิตสูง ได้โดยป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อน แต่สำหรับผู้ที่มีโรคแทรกซ้อนร่วมด้วย แพทย์จะต้องให้ยาและพยายามควบคุมระดับความดันให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปกติ
ดังนั้นก่อนจะสายเกินไปเราควรป้องกันต้นตอของโรคร้ายที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเพียงแค่ให้ความสำคัญกับอาหารการกิน หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกฮอล์ เพียงเท่านี้ก็จะลดปัจจัยเสี่ยงได้ของภาวะอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินได้
ที่มา: เอกสารเผยแพร่โรงพยาบาลศิริราช กระทรวงสาธารณสุข
วิธีวัดความดันเลือด
ความดันเป็นเรื่องที่คนรู้จักดี บางท่านอาจจะบอกว่า “ฉันเป็นความดันสูง” บางท่านอาจจะบอกว่า “ความดันของฉันต่ำ” ส่วนใหญ่จะทราบก็ต่อเมื่อ มีอาการปวดศีรษะ หรือเวลาเปลี่ยนท่าเร็ว ๆ จากท่านอนเป็นท่านั่ง หรือก้มๆ เงยๆ ก็รู้สึกเวียนศีรษะ หน้ามืดเอาง่ายๆ อาการต่างๆ เหล่านี้แหละ ที่ทำให้ท่ารู้สึกเป็นทุกข์ใจ รอคอยโอกาสที่จะมาให้หมอตรวจอาการให้
ภายหลังจากวัดความดัน หมอหรือพยาบาลจะบอกท่านว่า ขณะนี้ความดันสูงเท่าไหร่ ท่านอาจจะได้คำตอบว่า “ความดันคุณค่อนข้างต่ำ” หรือ “ความดันของคุณค่อนข้างสูง” ถ้าถามว่าระหว่างความดันสูงกับความดันต่ำ อย่างไหนอันตรายกว่า บอกได้เลยว่า ผู้ที่มีความดันต่ำ อายุยืนกว่าผู้ที่มีความดันสูง ฉะนั้น ความดันสูงจึงน่ากลัวและเป็นอันตรายต่อชีวิตท่านเป็นอย่างยิ่ง ผู้ที่เป็นความดันสูงโดยไม่รู้ตัวมาก่อน ก็มีเยอะ จนกระทั่งมีอาการซึ่งแสดงออกมาสายเกินกว่าจะแก้ไขให้เป็นปกติได้ เช่น อยู่ดีๆ รู้สึกเวียนหัว ต่อมาก็เกิดล้มเป็นลมหมดสติ กลายเป็นอัมพาตไปตลอดชีวิต ก็มี เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจอย่างมาก และไม่น่าเกิดขึ้นเลย
ถ้าท่านจะหันมาสนใจต่อสุขภาพสักนิด ชีวิตจะปลอดภัยได้ โดยการตรวจวัดความดันเลือดกันอย่างน้อยปีละครั้ง หรือสองครั้ง ก็ยังดี ถ้าหากว่าตรวจพบโรคความดันสูง จะได้รีบรักษาและควบคุมให้ความดันเป็นปกติ และถ้าสามารถซื้อเครื่องวัดความดันมาไว้วัดที่บ้านเอง จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่มีโรคความดันสูงอย่างมาก ราคาเครื่องวัดมีหลายราคา ตั้งแต่ 500 บาท ถึง 2,000 บาท ท่านสามารถเลือกซื้อกันเป็นกลุ่มๆ ละ 1 เครื่อง เช่น ตามหมู่บ้านชนบท หมู่บ้านจัดสรร หรือในหมู่คนรู้จักกันหลายๆ บ้านอาจออกเงินกันซื้อสักเครื่องหนึ่งไว้ใช้ร่วมกันก็ได้
ความดันสูง ส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ มักพบได้ในคนอ้วนและคนสูงอายุส่วนน้อย (โดยเฉพาะ ถ้าพบในคนอายุน้อย) พบร่วมกับโรคเบาหวาน โรคไต โรคต่อมธัยรอยด์ (คอพอกเป็นพิษ) ความผิดปกติของเส้นเลือดแดงใหญ่ หรือ ระบบต่อมไร้อท่อที่สร้างฮอร์โมนบางชนิดมากเกินไป ฯลฯ
ชนิดของเครื่องวัดความดัน มี 2 ชนิด
ชนิดที่ 1 ลักษณะหน้าปัทม์ที่อ่านเป็นแท่งแก้วยาว ภายในจะมีปรอทเป็นตัวบอกค่าความดัน
ชนิดที่ 2 ลักษณะหน้าปัทม์ เหมือนหน้าปัทม์นาฬิกา ชนิดนี้อาศัยลมดันเข็มนาฬิกา
อีกชนิดหนึ่ง ซึ่งมีหน้าปัทม์แบบเดียวกับชนิดที่ 2 แต่นำสมัยกว่า ราคาก็แพงกว่ามาก เป็นชนิดอัตโนมัติ โดยอาศัยเสียงหรือแสงเป็นตัวบอกค่าความดัน
ส่วนประกอบของเครื่องวัดความดัน
1. ขีดหน้าปัทม์บอกความดัน
2. ลูกยางบีบลม
3. ผ้าพันแขน
การวัดความดัน ยังต้องอาศัยเครื่องมืออีกชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า “เครื่องฟัง” ซึ่งทุกท่านคงเคยเห็นเครื่องมือชนิดนี้ติดตัวหมออยู่ตลอดเวลา เครื่องฟัง ซึ่งหมอใช้ตรวจคนไข้นี้ ชาวบ้านมักเข้าใจว่าเป็นเครื่องมือวิเศษอย่างหนึ่ง ซึ่งสามารถบอกอะไรต่างๆ ที่ต้องการทราบได้หมดเลย แต่ความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เครื่องมือที่ว่านี้มีขอบเขตในการใช้งานของมันเช่นกันจะฟังได้ก็เฉพาะเสียงหัวใจ เสียงปอด เสียงการเคลื่อนไหวของลำไส้เท่านั้น ไม่สามารถบอกได้ว่า ในลำไส้มีพยาธิอยู่กี่ตัว หรือปวดหัวเข่า ก็ขอร้องให้หมอใช้เครื่องฟังนี้จิ้มที่หัวเข่า ดังเช่นความเข้าใจผิดของชาวบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาแล้วจริงๆ
ขั้นตอนต่างๆ ในการวัดความดัน
1. นั่ง หรือ นอนพัก ให้สบาย หายตื่นเต้น ประมาณ 5-10 นาที
2. วัดความดันท่านอน ให้นอนหงาย วางแขนขนานกับลำตัวตามสบาย หงายฝ่ามือขึ้น
วัดความดันท่านั่ง นั่งบนเก้าอี้ วางแขนที่จะวัดบนโต๊ะ หงายฝ่ามือขึ้น ท่านี้สะดวกในการวัดความดันด้วยตัวเอง
3. วางเครื่องวัดความดัน ให้อยู่ในระดับเดียวกับหัวใจ หันหน้าปัทม์ที่อ่านให้อยู่ในระดับเดียวกับสายตา ไม่ควรวางไกลเกิน 3 ฟุต
4. พันผ้ารอบแขน โดยจับปลายด้านที่มีสายยาง วางบนแขนด้านชิดกับลำตัว แล้วจึงพันส่วนที่เหลือไปเรื่อยๆ จนรอบแขน ให้ขอบล่างของผ้าพันแขน อยู่เหนือข้อศอกประมาณ 2 นิ้ว
กรณีที่สวมเสื้อมีแขน ให้พับแขนเสื้อข้างนั้นขึ้นเหนือข้อศอก ประมาณ 5 นิ้ว ก่อนพันผ้าพันแขน
5. คลำชีพจรตรงข้อพับให้ได้ก่อน ต่อไปวางเครื่องฟังลงบนตำแหน่งที่จับชีพจรได้ แล้วกดลงเบาๆ
6. หมุนเกลียวลูกยางที่คลายไว้ ให้ปิด ก่อนที่จะบีบลูกยาง เพื่อเพิ่มความดันในผ้าพันแขน เมื่อตรวจสอบความเรียบร้อยของลูกยางเรียบร้อยแล้ว ให้บีบลูกยางซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ หลายๆ ครั้ง จนกระทั่งจับชีพจรที่ข้อมือไม่ได้ หรือสังเกตที่หน้าปัทม์บอกความดันให้ปรอท หรือเข็มขึ้นไปที่เลข 160 (สำหรับคนหนุ่มสาว), 200 (สำหรับคนสูงอายุ) จากนั้นให้ค่อยๆ คลายเกลียวลูกยาง เพื่อลดความดันในผ้าที่พันแขนไว้ คลายไปเรื่อยๆ ช้าๆ จนกระทั่งความดันในผ้าพันแขนเท่ากับความดันในหลอดเลือด เส้นเลือดจะขยาย มีเลือดไหนผ่าน ทำให้เราได้ยินเสียงตุ๊บๆ ดังไปเรื่อยๆ ขณะที่เราคลายเกลียวลูกยางไปช้าๆ จนกระทั่งถึงจุดๆ หนึ่ง เสียงจะเปลี่ยนเป็นเสียงเบาๆ ลง แล้วเสียงนั้นก็จะหายไปในที่สุด แต่มือเรายังคลายเกลียวลูกยางไปเรื่อยๆ จนเข็มหรือปรอทตกอยู่ที่เลข 0 ตามเดิม
7. เสียงดังครั้งแรก ที่ได้ยินก็คือ ความดันช่วงบนหรือ ที่หมอเรียกว่า ความดันซีสโตลิค (ความดันเลือดขณะที่หัวใจบีบตัว) จุดที่เสียงเปลี่ยนหรือเสียงหาย ก็คือ ความดันช่วงล่าง หรือที่หมอเรียกว่า ความดันไดแอสโตลิค (ความดันเลือดขณะที่หัวใจคลายตัว)
ดังนั้น ค่าความดัน จึงเขียนเป็นเลขสองจำนวนเสมอ และมีหน่วยเป็นมิลลิเมตรปรอท เช่น 120/80 มิลลิเมตรปรอท (120 คือ ความดันช่วงบน ส่วน 80 คือ ความดันช่วงล่าง)
8. ภายหลังที่วัดความดันครั้งแรก แล้ว เพื่อความแน่นอนให้วัดซ้ำดูอีกครั้ง โดยเฉพาะ ถ้าพบว่า ความดันสูงหรือต่ำกว่าปกติ หรือในกรณีที่วัดความดันครั้งแรกได้ยินเสียงครั้งแรกอยู่ตรงระดับปลายเข็ม หรือปรอทที่เราบีบขึ้นไปนั้นพอดี ก็ควรจะวัดซ้ำอีกครั้ง โดยบีบลมเข้าไปเพิ่มความดันให้มากขึ้นกว่าเดิม ประมาณ 20-30 มิลลิเมตรปรอท
ค่าความดันปกติ
เรามีวิธีคิดง่ายๆ ดังนี้
- ความดันช่วงบน (ซีสโตลิค) เท่ากับหรือน้อยกว่า 100 บวกด้วยอายุของคนๆ นั้น เช่น อายุ 50 ปี ความดันช่วงบนไม่ควรเกิน 150 มิลลิเมตรปรอท
- ความดันช่วงล่าง (ไดแอสโตลิค) จะต่ำกว่า 90 ในคนทุกอายุ
ความดันสูง คือ ความดันที่วัดได้สูงกว่าปกติ ทั้งช่วงบนและช่วงล่าง โดยทั่วไปหมอมักจะให้ความสำคัญต่อช่วงล่างมากกว่า ถึงแม้ว่าวัดความดันได้ช่วงบนปกติ แต่ถ้าช่วงล่างวัดได้มากกว่า 90 ขึ้นไปก็ถือว่าคนๆ นั้นเป็นโรคความดันสูงได้ เช่น
- คนอายุ 30 ปี วัดความดันได้ 140/100 ถือว่าความดันสูง
- คนอายุ 50 ปี วัดความดันได้ 150/90 ถือว่าความดันปกติ
ถ้าสงสัย กลับไปดูเรื่องค่าความดันปกติอีกครั้ง
ความดันต่ำ คือ ความดันที่วัดได้ต่ำกว่าค่าปกติแต่ช่วงห่างระหว่างค่าบนและค่าล่างจะไม่ต่ำกว่า 30 เช่น วัดความดันได้ 90/60 (ช่วงห่างระหว่างค่าบนและค่าล่างเท่ากับ 30) หรือ 100/60 (ช่วงห่างเท่ากับ 40) เป็นต้น
ความดันต่ำ พบได้ในคนที่ได้รับการพักผ่อนไม่เพียงพอ นอนไม่หลับ คิดมาก โรคประสาท คนที่มีความดันต่ำ มักมีอาการ หน้ามืด วิงเวียนในขณะลุกนั่ง หรือยืน แต่นอนลงอาการจะค่อยดีขึ้น และเมื่อได้รับการพักผ่อนเต็มที่ อาการวิงเวียนก็จะหายไป
ค่าความดันในคนไข้ช็อค
คนที่เสียเลือดมากๆ เช่น มีบาดแผลภายนอกหรือเลือดตกใน จากสาเหตุใดๆ ก็ตาม หรือคนที่ท้องร่วงรุนแรง (เช่น อหิวาต์) อาเจียนมากๆ แพ้ยาชนิดรุนแรง ฯลฯ จะพบว่าความดันเลือดต่ำ ซึ่งจะมีข้อแตกต่างจากความดันต่ำ ดังได้กล่าวมาแล้ว คือ ในคนพวกนี้ จะพบว่า ช่วงห่างระหว่างความดันช่วงบน กับ ความดันช่วงล่าง จะน้อยกว่า 30 เช่น วัดได้ 80/60 หรือ 60/40 (ช่วงห่างของค่าบนและค่าล่าง เท่ากับ 20 เท่านั้น) นอกจากนี้ ยังพบอาการอื่นๆ ร่วมได้ด้วย เช่น เป็นลม หน้ามืด ซีด ตัวเย็น เหงื่อออก ใจสั่น ชีพจรเต้นเบาและถี่ (เช่นนาทีละ 120-140 ครั้ง) ปัสสาวะออกน้อย หรือไม่ออกเลย คนที่มีอาการแบบนี้ ทางหมอเราเรียกว่า “ช็อค” (Shock) ทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆ ไม่พอ ถือเป็นอาการที่ร้ายแรงถึงตายได้ หากพบควรจะให้การปฐมพยาบาล และรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว (ดูรายละเอียดเรื่อง “ช็อค” ใน “หมอชาวบ้าน” ฉบับที่ 3 ปีที่ 1 2522)
ความดันในคนปกติ สามารถเปลี่ยนแปลงได้
ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น
1. อายุ ถ้าอายุมากขึ้น ความดัน (โดยเฉพาะค่าบน) จะเพิ่มขึ้น คือ ประมาณ 100 บวกด้วยอายุดังกล่าวแล้วในคนไทยเรา พบว่าบางครั้งความดันไม่ขึ้นตามอายุเสมอไป
2. เพศ ผู้หญิงความดันจะต่ำกว่าผู้ชายในคนที่อายุเท่ากัน
3. รูปร่าง คนที่รูปร่างใหญ่อ้วน ความดันมักจะสูงกว่าคนรูปร่างเล็กผอม แต่คนอ้วนบางคน ความดันต่ำก็ได้
4. อารมณ์ เช่น ตื่นเต้น หงุดหงิด โกรธ เคร่งเครียดมากเกินไป ความดันจะสูงขึ้นได้
5. ภายหลังออกกำลังกายใหม่ๆ ทำงานเหนื่อยจัด ความดันสูงขึ้นได้
6. เวลา เวลาบ่าย ความดันจะสูงกว่าเวลาเช้า
7. ยา ยาบางชนิด ทำให้ความดันสูงขึ้นได้ เช่น อะดรีนาลีน เพร็ตนิโซโลน เป็นต้น
8. ท่า ความดันในท่านั่ง และท่ายืน จะต่ำกว่าความดันในท่านอน
ข้อควรระวังในการวัด
1. อย่าพันผ้าพันแขนหลวม หรือแน่นเกินไปเพราะจะทำให้ค่าความดันผิดพลาดได้
2. ก่อนวัดทุกครั้ง ควรให้ผู้ที่จะวัด พักผ่อนร่างกายและจิตใจให้เป็นปกติเสียก่อน ไม่ควรวัดในขณะตื่นเต้น หรือเหนื่อยจัด
3. ถ้าพบว่าความดันสูงหรือต่ำกว่าปกติ ให้วัดซ้ำอีก 2-3 ครั้ง เพื่อความแน่ใจ
เราควรจะวัดความดันเมื่อไหร่บ้าง
1. เมื่อรู้สึกว่า มีอาการผิดปกติต่างๆ เช่น ปวดหัว วิงเวียน หน้ามืด ใจสั่น อ่อนเพลีย เป็นลม หมดสติ ปวดท้อง ตกเลือด บวมต่ามร่างกาย ท้องเดิน อาเจียนมากๆ หรือ ตามัว
2. เมื่อเป็นโรคเบาหวาน หรือ ต่อมธัยรอยด์โต (คอพอก)
3. เมื่อได้รับอุบัติเหตุ หรือร่าวกายได้รับบาดเจ็บ อาจพบความดันต่ำในคนที่มีอาการตกเลือดจนเกิดภาวะ “ช็อค”
4. ถืงแม้จะไม่มีอาการผิดปกติอะไรก็ควรจะตรวจวัดความดันเลือด ปีละ 1-2 ครั้ง โดยเฉพาะในคนที่มีอายุ มากกว่า 40 ปีขึ้นไป เพราะคนที่เป็นความดันเลือดสูง บางครั้งอาจไม่มีอาการอะไรมากก่อนเลยก็ได้
—-