ลำดับชั้นสมณศักดิ์พระภิกษุสงฆ์ลาวและอีสาน

แต่เดิมพระก็ถือพรรษาแก่อ่อนเป็นหลักไม่ได้มียศมีศักดิ์แต่อย่างใด

ทุกวันนี้ นอกจากการถือพรรษาว่าพระรูปใดบวชก่อนบวชหลังแล้ว ยังมีการถวายยศถวายศักดิ์ ซึ่งก็คือสมณศักดิ์หรือบรรดาศักดิ์ให้กับพระด้วย

เรื่องนี้ถือเป็นประเพณีที่สืบทอดการปฏิบัติมาช้านาน

ถ้าจะพิจารณากันอย่างถี่ถ้วนแล้ว บางทีก็มีผลในทางส่งเสริมให้เกิดตัณหาทะยานอยากแก่พระด้วย

ในอีกแง่มุมหนึ่งก็มีความจำเป็นเพื่อจะเกิดประโยชน์ในทางการปกครองหมู่คณะของสงฆ์ด้วยกัน

นี่จึงเป็นเหตุให้ทำความเข้าใจได้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ย่อมมีทั้งคุณและโทษ

แต่นี่ไม่ใช่ประเด็นที่จะแสดงคำเห็น จึงจะงดเว้นไว้ไม่กล่าวถึง

สมณศักดิ์หรือบรรดาศักดิ์พระภิกษุสงฆ์ในประเทศไทย จะว่าไปแล้วก็ไม่ถึงกับจะเหมือนประเทศลาวและภาคอีสานเสียทีเดียว แม้ว่าจะมีหลักการเดียวกันก็ตาม

ในประเทศไทยนั้น สมณศักดิ์หรือบรรดาศักดิ์พระภิกษุสงฆ์ เป็นพระราชอำนาจและหรืออาจจะถือว่าเป็นพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์พระราชทานให้ตามความเหมาะสม

ในประเทศลาวหรืออีสาน สมณศักดิ์หรือบรรดาศักดิ์พระภิกษุสงฆ์ เป็นได้ทั้งพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์และเป็นได้ทั้งโดยความยินยอมพร้อมเพรียงยกย่องขึ้นโดยราษฎร

ทุกวันนี้ประเทศลาวไม่มีพระมหากษัตริย์อีกแล้ว อนุโลมให้เรียกว่าเป็นอำนาจของหลวงและราษฎร์ก็ได้

ต่อไปจะแสดงการลำดับชั้นสมณศักดิ์ของพระภิกษุสงฆ์ในประเทศลาวและในภาคอีสานให้เห็นว่าถือแบบอย่างเป็นอันเดียวกัน

ต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่าลำดับชั้นสมณศักดิ์ของพระภิกษุสงฆ์ในภูมิภาคนี้(อีสานและลาว)ถือตามแบบอย่างดั้งเดิมแต่ครั้งกรุงศรีสัตนาคนหุตยังรุ่งเรืองมาโดยตลอด

หมายเหตุ : ศรีสัตนาคนหุต เป็นชื่อของอาณาจักรล้านช้าง
คำว่า สัตนาคนหุต มาจาก “สต” แปลว่า ร้อย, “นาค” แปลว่า ช้าง,”นหุต” แปลว่า หมื่น
รวมแล้วแปลว่า ช้างร้อยหมื่น ซึ่งยกประโยชน์ให้ไปถึงคำว่า ล้านช้าง
ภายหลัง.. “อาณาจักรล้านช้าง” จึงเป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่าคือ “พระราชอาณาจักรลาว”

ลำดับชั้นสมณศักดิ์ตามแบบพระราชอาณาจักรลาว(รวมทั้งอีสาน)โดยเริ่มจากชั้นต่ำสุดขึ้นไปหาสูงสุดมีดังนี้
๑. ชั้นสำเร็จ

๒. ชั้นซา

๓. ชั้นคู

๔. ชั้นราชคู

๕. ชั้นเจ้าหัวคูฝ่าย

๖. ชั้นเจ้าหัวคูค้าน

๗. ชั้นเจ้าหัวคูหลักคำ

๘. ชั้นเจ้าหัวคูลูกแก้ว

๙. ชั้นเจ้าหัวคูยอดแก้ว

๑๐. ชั้นราชคูหลวง

ชั้น ๑ -๔ เรียกว่าเป็นชั้นของฝ่ายปริยัติ

ซึ่งเป็นชั้นของผู้ที่ยังจำเป็นต้องศึกษาเล่าเรียน ( ปริยัติ[ปะริยัด] น. การเล่าเรียนพระไตรปิฎก)
การเลื่อนชั้นสมณศักดิ์ของฝ่ายปริยัติจะต้องผ่านการเรียนการศึกษาเป็นขั้นๆขึ้นไปดังนี้
ขั้นต้น – เรียนสูดมนน้อย สูดมนกลาง สูดมนปลาย (สูด = สวด / มน = มนต์) (สูดมน – ສູດມົນ = สวดมนต์)
ขั้นกลาง – เรียนมูลกัจจายน์ , เรียนแปลคัมภีร์บาลีอัฏฐกถาทั้ง ๕ , เรียนอัฏฐกถาธรรมบทบาลี ๘ ภาค
ขั้นปลาย – เรียนคัมภีร์ทสชาติบาลี, เรียนมังคลัตทีปนีบาลี, เรียนอัฏฐกถาวิสุทธิมรรคบาลี, เรียนอัฏฐกถาอภิธรรมสังคหะบาลี

 

ชั้น ๕ – ๖ เป็นชั้นของฝ่ายบริหาร

ซึ่งการที่จะมาถึงชั้นนี้ได้ต้องจบหลักสูตรชั้นฝ่ายปริยัติที่กล่าวมานี้เสียก่อน
เรียกว่าเริ่มจะเข้าขั้นภูมิพรรษาอายุถึงพระเถรแล้ว จึงจะได้รับพิจารณาตำแหน่งทางการปกครองต่อไป
ซึ่งจะเป็นอำนาจการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์หรือหลวง..ไม่ใช่อำนาจของราษฎร
อำนาจของราษฎรมีแค่ ชั้น ๑ – ๔ เท่านั้น

(อ้างอิง : วัดสัมพันธวงศ์)

เกี่ยวกับความเข้าใจผิดของฝ่ายไทย(บางส่วน)ในยศถาบรรดาศักดิ์พระลาวชั้นสำเร็จ
อย่างเช่นความเข้าใจผิดในชั้นสำเร็จของพระอาจารย์ลุน (สำเร็จลุน) ซึ่งบางครั้งก็เรียกว่า สมเด็จลุน
เป็นเหตุให้ทึกทักไปไกลว่าท่านเป็นพระเถรผู้ใหญ่ระดับพระสังฆราชลาว
เพราะเหตุว่า”สมเด็จ”ในเมืองไทยนั้นเป็นสมณศักดิ์หรือบรรดาศักดิ์์พระที่ใหญ่มากระดับพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ
แต่”สำเร็จ”ที่เรียกผิดอยู่ในเมืองไทยว่า”สมเด็จ”นั้น เป็นสมณศักดิ์ขั้นต่ำสุดในเมืองลาว

(คำเห็นของ สุดสะแนน เธียร์เตอร์ : บางถิ่น ออกเสียง ล. กับ ด. สลับกัน เช่น เดชอุดม เป็น เหลดอุลม ดังนั้น สำเหล็ด (สำเร็จ) เลยกลายเป็น สมเด็จ, เสด็จ ไป)

 

Copy of DSC_5689

ลาวยุคหลัง ก็ยังเข้าใจผิดตามอย่างไทย เรียก สำเร็จลุน เป็น สมเด็ดลุน (ສົມເດດລຸນ)

 

อาจกล่าวได้ว่า ถ้าหากผมได้บวชเป็นพระใหม่ๆ แม้เพียงไม่กี่พรรษา และได้เล่าเรียนเขียนอ่านหลักสูตรที่พระบวชใหม่จำเป็นต้องเรียนในขั้นต้นจนจบ ผมก็จะได้รับการฮดสรงหรือที่เรียกว่าพิธีเถราภิเษกถวายสมณศักดิ์ให้ได้เป็น “สำเร็จอำพล” อย่างไม่ต้องสงสัย

แต่การจะเป็นสำเร็จอำพลนั้นก็ไม่ง่าย เพราะในสมัยนั้นการเรียนการสอนใช้วิธีปากต่อปาก ไม่มีหนังสือตำราช่วยให้เรียนง่ายจำง่าย ต้องฟังคำบอกและต้องท่องจำจดจารเอาเอง

ชั้นสำเร็จนี้..จะเป็นพระหรือเณรก็เป็นได้เสมอกัน ขอเพียงเรียนจบหลักสูตรขั้นต้นที่พระเณรเพิ่งบวชใหม่ยังไม่รู้เรื่อง, ยังไม่ได้นิสสัยพระ, จะต้องเรียนรู้ก่อนเป็นปฐมบท

ถ้าจะพูดให้เป็นที่เข้าใจตามแบบทางโลกก็คือต้องผ่านการศึกษาภาคบังคับ อย่างน้อยก็ต้องเรียนจบหลักสูตรในระดับประถมศึกษาที่ทางราชการระบุบังคับไว้

ในทางการศึกษาภาคบังคับของพระซึ่งเป็นสมณศักดิ์ชั้นต้นจะต้องเรียนรู้อะไรบ้าง ?

เท่าที่มีการแสดงรายละเอียดหลักสูตรไว้คร่าวๆว่าพระเณรบวชใหม่จะต้องเรียนคือ
สูดมนต์น้อย คือ ตั้งมุงคุลน้อย (มงคลน้อย) ได้แก่ ๗ ตำนาน
สูดมนต์หลวง คือ ตั้งมุงคุลหลวง (มงคลหลวง)ได้แก่ ๑๒ ตำนาน
ไชยน้อย(จุลชัยยะมงคลคาถา), ไชยใหญ่ (มหาชัยมงคลคาถา) เป็นบทสวดเชิงวรรณกรรมภาษาบาลีผสมภาษาลาวที่นิยมสวดในภูมิภาค ๒ ฝั่งโขง
ผู้เล่าเรียนจนกระทั่งมีความสามารถท่องบ่นสวดมนต์ที่กำหนดให้ท่องบ่นในหลักสูตรได้แล้ว ก็เรียกว่าสำเร็จ เช่น สำเร็จลุน สำเร็จแก้ว สำเร็จตัน ฯลฯ

เรียกว่าพระชั้นสำเร็จนี้ออกงานรับนิมนต์ญาติโยมไปประกอบพิธีอะไรก็สามารถทำได้สวดได้เรียบร้อยดีไม่ผิดพลาด

 

a10-11-9

สำเร็จตัน กลายเป็น สมเด็จตัน 

 

ส่วนลำดับชั้นสมณศักดิ์ที่สูงขึ้นไปจากชั้นสำเร็จ เช่น ชั้นซา จะต้องผ่านชั้นสำเร็จมาก่อน และจะต้องเรียนหลักสูตรขั้นกลาง คือเรียนมูลกัจจายน์ , เรียนแปลคัมภีร์บาลีอัฏฐกถาทั้ง ๕ , เรียนอัฏฐกถาธรรมบทบาลี ๘ ภาค จนแตกฉาน จึงจะได้รับการฮดสรงหรือพิธีเถราภิเษก เลื่อนชั้นเป็น “ซา” เช่นพระอาจารย์ ซาคำแดง ,ซาโง่น, ซาสุด, ซาใส ฯลฯ

นอกเหนือจากลำดับชั้นสมณศักดิ์ทั้ง ๒ นี้ จะงดเว้นไม่กล่าวถึง เพราะเห็นว่าจะเยิ่นเย้อยืดจนยาวเกินไป

 

zrwtc

พระซาคำแดง ยานะวุทโท (ພະຊາຄຳແດງ ຍານະວູທໂທ)

 

เกี่ยวกับการถวายสมณศักดิ์นี้..บางทีอาจจะต้องมีสถาบันการศึกษารองรับชัดเจน เช่นสำนักวัดใดวัดหนึ่ง จึงจะเป็นหลักเป็นฐานการรับรองว่าเรียนจบหลักสูตรอย่างเป็นทางการจริง
ถ้าไม่ผ่านสถาบันการศึกษาที่เป็นทางการ ประหนึ่งมีกระทรวงศึกษารับรอง ถึงสวดมนต์ได้เก่งได้ครบถ้วนตามหลักสูตรก็อาจไม่ได้รับสถาปนาถวายสมณศักดิ์ก็ได้
ซึ่งก็จะได้เห็นว่ามีหลวงพ่อหลวงปู่มากมายหลายรูปไม่มีสมณศักดิ์แต่สามารถปฏิบัติกิจน้อยใหญ่ได้ไม่ผิดพลาดเช่นกัน

นี่เป็นความเห็นที่เป็นการคาดคะเนส่วนตัวอาจถูกหรือผิดก็ได้

สำหรับ”สำเร็จลุน”นั้น.. คุณยายชีนวล แสงทอง ผู้เป็นศิษย์แท้ เรียกขานท่านว่า “ครูบาลุน” ไม่เคยได้ยินคุณยายเรียกท่านว่า “สำเร็จลุน”

นี่ก็พอจะเป็นข้อบ่งชี้ได้ว่าสำเร็จลุนนั้นเป็นพระภิกษุฝ่ายปริยัติ ไม่มีสมณศักดิ์หรือตำแหน่งในทางการปกครองคณะสงฆ์แต่อย่างใด

แต่ความเป็นสำเร็จลุนในแบบที่สาธุชนทั้ง๒ฝั่งโขงเลื่อมใสเคารพนั้น เกินกว่าสมณศักดิ์สำเร็จจะหยั่งถึง เพราะเป็นความสามารถพิเศษที่หลักสูตรขั้นสำเร็จไม่ได้มีเรียนมีสอน

ไม่ว่าจะเรื่องอยู่ยงคงกระพัน เหาะเหินเดินอากาศ ดำดิน มุดบาดาล อภินิหารประการต่างๆ ถือเป็นความรู้ความสามารถพิเศษเฉพาะทาง ของใครของมัน

ใช่ว่าได้ชื่อสำเร็จแล้วจะขลังแบบเดียวกันได้ทุกคนที่ไหน

สมณศักดิ์สำเร็จไม่มีอะไรเกี่ยวพันกับการรับรองความเป็นผู้มีคุณวิเศษของครูบาอาจารย์ผู้ประเสริฐแต่อย่างใด

 

แชร์ :

ความคิดเห็น

** โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างมีวิจารณญาน