หลวงปู่เครื่อง วัดเทพสิงหาร ตอนที่ ๑
จากปู่มั่น ถึงสำเร็จลุน
ภิกษุ 6 แผ่นดิน
หลวงปู่เครื่อง ธมฺมจาโร
วัดเทพสิงหาร ต.นายูง อ.น้ำโสม จ.อุดรธานี
โดย…อำพล เจน
ตอนที่ ๑
เพราะเกิดแต่ปลายรัชสมัยของพระบาท สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และ ถึงกาลมรณภาพในรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ด้วยอายุยืนยาว 112 ปี จึงได้ชื่อว่า 6 แผ่นดิน
“คนที่ไม่เคยฆ่าสัตว์ แต่เคยเฆี่ยนตีสัตว์ จะมีอายุยืน และมีโรคเบียดเบียน ส่วนคนที่ไม่เคยฆ่าสัตว์ ไม่เคยเฆี่ยนตีสัตว์ ทั้งอายุยืน และไม่มีโรค” (หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ภูจ้อก้อ)
หลวงปู่เครื่อง เกิดวันเสาร์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 6 ปีเถาะ (พ.ศ. 2410) มรณภาพวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2523
เป็นภิกษุอายุยืนที่สุดในภิกษุสายกัมมัฏฐาน ศิษย์พระอาจารย์มั่นทั้งปวง
บ้านเกิดบ้านป่า
บ้านนายูง สมัยท่านเกิดคือบ้านป่าที่แท้จริง มองดูนายูงทุกวันนี้ก็มีร่องรอยป่าดงดิบให้นึกเห็นภาพ ต้นไม้ที่หายไปให้เอาปีเดือนคูณเข้า ภาพป่าดงดิบก็จะชัดเจนสมบูรณ์จนเยือกหนาว
สมัยที่ท่านเกิด คือสมัยของเด็กบ้านป่า ไม่ใช่สมัยพระเถรในตอนปลายชีวิต จึงไม่จำเป็นต้องพรรณนาถึงความกันดาร ลำบาก หรือคับแค้นแห่งการดำรงชีวิต คนบ้านป่าไม่ว่าป่าไหนๆ ก็เหมือนกันทั้งสิ้น
อุปสมบทครั้งที่ 1 (ก่อนเบียด)
บวชครั้งแรกอายุ 21 ปีเต็ม เข้าใจว่าท่านบวชตามประเพณีนิยม พรรษาเดียวก็มีอันได้สึกออกมาสมรสกับ “นางสาวนาค ลุนทอง” ชาวหมู่บ้านเดียวกัน
เรียกว่าบวชก่อนเบียด
อนิจจังกับการครองเรือน
หลวงปู่เครื่อง ขณะดำรงเพศฆราวาสในชีวิตครองเรือนกับนางนาค ก็มีอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ปรากฏขึ้น
บุตรชาย-หญิงทั้งสองคนเสียชีวิตตั้งแต่ยังเล็กไปด้วยกัน (ไม่ทราบสาเหตุของการตายท่านไม่ได้เล่าไว้)
ต่อมานางนาคผู้เป็นมารดา ผู้พิลาปร่ำรำพันหาลูกทั้งสองคนไม่สร่าง ก็ตรอมใจตายตามไปอีกคน
เสียลูก เสียเมีย และเสียขวัญอย่างใหญ่หลวงแล้ว
ทุกข์ที่ส่งมอบโดยมือของอนิจจังกับอนัตตา คือสิ่งที่ท่านรับมือไม่อยู่ ถึงกับเตลิดเปิดเปิงไปอย่างคนที่สิ้นไร้ความหมายแห่งชีวิต เหมือนถูกพายุใหญ่ชัดไปไกลจนถึงเมืองลาว ไปเพื่อให้ลืม หรือเพื่อให้จำก็ไม่มีใครรู้จัก นอกจากตัวท่านเอง
อุปสมบทครั้งที่ 2
เบื่อหน่ายเป็นเหตุผลเดียวที่ท่านบอกเพื่อบวชในครั้งที่ 2
สถานที่บวช – วัดศรีสะเกษ แขวงเมืองเวียงจันทน์
อุปัชฌาย์ – พระครูแก้ว
พระกรรมวาจาจารย์ – พระอาจารย์เถิง
พระอนุสาวนาจารย์ – พระอาจารย์คำ
บวชแล้วก็ได้อยู่ศึกษาทั้งวิชาอาคมและการเจริญวิปัสสนากรรมฐานอย่างจริงจัง กับพระอุปัชฌาย์ อาจารย์คือพระครูแก้ว ผู้เป็นสหายของเจ้ามหาชีวิตลาว เจ้าศรีสว่างวงศ์
3 ปีเต็มกับพระครูแก้ว ท่านจึงได้กราบลาออกหาความวิเวกตามลำพัง
ชีวิตวิเวก
พระธุดงค์คล้ายนกขมิ้นหลงรัง ค่ำไหนนอนไหน เป็นเรื่องที่ไม่ต้องกำหนดหมาย เดินหน้าไปเรื่อยๆในป่าเขาลาว
ตอนเหนือสุดของป่าเขาแห่งเมืองเวียงจันทน์ ท่านพบผีตองเหลืองกลุ่มหนึ่งโดยบังเอิญ
“พวกนี้ไม่นุ่งผ้า พอเห็นหลวงปู่ก็ตกใจ พากันซุบซิบอยู่พักหนึ่งแล้วกรูเข้ามาล้อมกรอบหลวงปู่ มีไม้แหลมแทนหอกคนละด้าม ทำท่าจะพุ่งหอกแทงหลวงปู่ ต้องยืนนิ่งๆหลับตาลงเสีย แล้วเร่งภาวนา แผ่เมตตาให้พวกเขา”
หลวงปู่เล่าชวนให้ระทึก
กิริยาที่หลวงปู่ไม่คิดหนี หากแต่ยืนนิ่งหลับตา เป็นของแปลกที่ผีตองเหลืองกลุ่มนั้น (ประมาณ 10 คน) ไม่เคยเห็นที่คิดจะทำร้ายก็รีรอก่อน แล้วก็พาลสงสัย เข้ามาเขย่าตัวหลวงปู่เพราะเห็นว่ายืนนิ่งเฉยเกินไป
ท่านลืมตาขึ้น ส่งภาษามือ ทั้งโบกห้ามและชี้ไปที่หอกไม้ พวกผีตองเหลืองจึงเข้าใจ และส่งหอกให้หลวงปู่ด้ามหนึ่ง ท่านปฏิเสธที่จะรับไว้ พวกนั้นจึงดึงมือหลวงปู่ จูงท่านไปสู่ที่พัก และหาอาหารมาถวาย
แม้เป็นเวลาวิกาลท่านก็รับอาหารที่ทำจากเนื้อสัตว์ป่าไว้ในบาตร บางทีจะถนอมไมตรีกันไว้ก่อน ที่ท่านรับแล้วฉันมีเพียงน้ำเท่านั้น
ไม่ได้อบรมธรรม
แต่สอนอารยธรรม
คืนนั้นท่านนั่งขัดสมาธิบนหินก้อนหนึ่ง มีผีตองเหลืองทั้งหมดนั่งล้อม คืนประวัติศาสตร์แห่งอารยธรรม ท่านสอนให้พวกนั้นรู้จักเอาใบไม้มาปิดอวัยวะที่เปลือยล่อนจ้อนเป็นครั้งแรก
ทายสิครับว่าพวกนั้นเชื่อหรือไม่
ต่อไปใบไม้สวย ๆ ก็จะเป็นแฟชั่นของผีตองเหลืองเผ่านี้ดอกกระมัง
กลับบ้านเกิด
นานเนในป่าเขา ยาวไกลแห่งสองเท้าย่ำ
ท่านคิดถึงบ้านเกิด
ขณะนั้นบิดาของท่านคือ หลวงศักดาธรรมเรือง อายุปูนแก่มากแล้ว กำลังถือศีลเป็นชีปะขาวในบ้านนายูง บ้านเกิด ท่านก็กลับมา และได้ตั้งสำนักวิปัสสนาขึ้นในที่ลุ่มข้างเนินเขาเตี้ย ๆ ติดกับหมู่บ้าน (ปัจจุบันคือสถานที่ตั้งสถานนีอนามัยตำบลนายูง)
อาคันตุกะสำคัญ
ภิกษุอาคันตุกะรูปหนึ่งธุดงค์มาถึง และเข้าพำนักในสำนักวิปัสสนาของหลวงปู่เครื่องภิกษุ อาคันตุกะท่านนี้มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับหลวงปู่เครื่อง แต่ศักดิ์ศรีและฐานะของท่านยิ่งใหญ่เกินประมาณ
ท่านคือ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถร
พระอาจารย์มั่นได้เสนอแนะให้หลวงปู่เครื่องจัดหาสถานที่ตั้งสำนักสงฆ์ขึ้นใหม่เพื่อให้อยู่ในสถานที่สูงกว่าเดิม หลวงปู่เครื่องเห็นด้วยและลงมือปฏิบัติด้วยกัน
วัดเทพสิงหารจึงอุบัติขึ้นในบัดนั้น
ธุดงค์สู่เมืองนักปราชญ์
4 ปีในการพำนักอยู่ด้วยกันของทั้งสองท่านในวัดเทพสิงหาร นับเป็นเวลามากมายสำหรับนักปฏิบัติสองคนจะได้แลกเปลี่ยนข้อธรรม และแสดงอุปนิสัยแก่กันจนเป็นที่พอใจแก่กัน ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่จะได้ออกเดินทางไกลร่วมกันสักครั้งหนึ่ง
พระอาจารย์มั่นกับหลวงปู่เครื่อง ออกธุดงค์สู่เมืองอุบลราชธานี
สำเร็จลุน
ถึงอุบลฯ หลวงปู่เครื่องได้แยกทางกับพระอาจารย์มั่น มุ่งหน้าต่อไปทางทิศตะวันออกสู่อำเภอโขงเจียม ตะวันออกสุดแดนสยาม ข้ามเขตแดนประเทศเข้าสู่แผ่นดินลาว
เป้าหมายคือ สำเร็จลุน
ขณะนั้นสำเร็จลุนมีอุโฆษแห่งชื่อชนิดไม่ที่กั้นไว้ได้ เป็นผู้ที่ถูกประมวลไว้ด้วยความลี้ลับ อภินิหาร และฉกาจแห่งขลังอย่างไม่มีใครระบือเท่า ขณะนั้นท่านพำนักอยู่วัดเขาแก้ว แขวงเมืองจำปาศักดิ์ ซึ่งนั่นคือที่ซึ่งหลวงปู่เครื่องเดินออกไปหา
ฝากตัวเป็นศิษย์
หลวงปู่เล่าว่าได้อยู่ศึกษาวิชาอาคมและปฏิบัติธรรมกับสำเร็จลุนเป็นเวลา 3 ปี ได้เห็นอภินิหารของท่านมากมาย เช่นบางครั้งลงจากเขาไปบิณฑบาตที่หมู่บ้าน พอจะกลับ สำเร็จลุนหายตัวไปเฉยๆ เมื่อท่านกลับถึงวัดก็พบสำเร็จลุนนั่งรอฉัน
นี่เป็นเรื่องแปลกที่พบเห็นบ่อยที่สุด
สำเร็จลุนมักอยู่ในถ้ำตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืนเว้นแต่บิณฑบาตเท่านั้นจึงจะออกมา
หลวงปู่เครื่อง ก็เป็นศิษย์อีกคนหนึ่งที่ไม่ใคร่จะพูดถึงสำเร็จลุนผู้เป็นอาจารย์ เหมือนคนอื่นๆที่ไม่อยากพูด
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
คำถามนี้ผมยังหาคำตอบที่แน่ชัดไม่ได้
ภูมะโลง เมืองจำปาสัก สปป.ลาว สถานที่ซึ่งสำเร็จลุนพำนักอยู่ในสมัยนั้น
พระอาจารย์เสาร์
เมื่อสำเร็จลุนเห็นว่าหลวงปู่เครื่องพอจะเอาตัวรอดได้แล้ว จึงแนะนำให้ท่านไปหาพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล สหธรรมิกของสำเร็จลุน เคยอยู่ปฏิบัติธรรมด้วยกันบนภูเขาควาย ท่านให้เหตุผลว่า
“การยึดติดอยู่กับครูบาอาจารย์ ไม่มีทางพ้นทุกข์ได้ ไม่อาจพบยอดธรรมอันวิเศษโดยง่าย อาจาร์คือผู้ชี้ทางเดินให้แค่นั้น”
3 ปี กับสำเร็จลุนก็สิ้นสุดลง
(โปรดอ่านต่อตอน 2) พิมพ์โดย …. คนเฝ้าสวน