การถวายปัจจัยแก่พระเป็นบาปจริงหรือ ?
หลวงพ่อชา-สอนวิธีถวายปัจจัยแก่พระอย่างไรจึงเป็นบุญ
—
สำหรับพระ ก็มีแค่ ๒ เรื่อง คือ สมควร กับ ไม่สมควร
ของที่ไม่สมควรถวาย หรือของที่พระไม่สมควรรับ เรียกว่า อกัปปิยะ ซึ่งแปลว่า ของที่ไม่สมควรแก่บรรพชิต
“เงิน” ที่เราท่านทั้งหลายนิยมเรียกว่า“ปัจจัย” นั้น เป็นของสมควรหรือไม่ ?
ก่อนอื่นขอให้ทำความเข้าในใจ กัปปิยะ ที่แปลว่า ของที่สมควรแก่บรรพชิตว่ามีอะไรบ้าง
ของที่สมควรแก่พระคือ ปัจจัย ๔ เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ซึ่งเป็นของจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตอยู่เท่านั้น
กัปปิยะยังมีรายละเอียดอีกมาก เท่าที่พระวินัยได้มีการบัญญัติไว้ สามารถศึกษาหาอ่านได้
อะไรก็ตามหากพ้นไปจากกัปปิยะนี้ ถ้าจะว่ากันอย่างหยาบๆ ให้ถือเป็นของไม่สมควรทั้งหมด
—
พระพุทธานุญาตมหาประเทศ ๔
อย่าแต่พระภิกษุสงฆ์ในสมัยนี้เลย กระทั่งพระภิกษุสงฆ์ในสมัยที่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์ชีพก็ยังไม่รู้จักว่าอะไรคือกัปปิยะหรืออกัปปิยะ
ภิกษุจำนวนมากพากันมากราบทูลถามเรื่องนี้กับพระพุทธองค์ว่าสิ่งใดบ้างที่ทรงอนุญาต สิ่งใดบ้างทรงห้าม
พระพุทธองค์ทรงประทานคำอธิบายไว้ดังนี้
๑/ สิ่งใดพระพุทธองค์ไม่ได้ห้ามไว้ว่าเป็นของไม่สมควร ก็ให้พิจารณาว่าของสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งของที่สมควรหรือไม่ ถ้าเข้าได้กับสิ่งที่ไม่สมควรก็ให้ถือว่าเป็นสิ่งของไม่สมควร
๒/ สิ่งใดที่พระพุทธองค์ไม่ได้ห้ามไว้ว่าเป็นสิ่งของไม่สมควร ก็ให้พิจารณาว่าของสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งของที่สมควรหรือไม่สมสมควร ถ้าเข้าได้กับสิ่งที่สมควรก็ให้ถือว่าเป็นสิ่งของสมควร
๓/ สิ่งใดพระพุทธองค์ไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ว่าเป็นของสมควร ก็ให้พิจารณาว่าของสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งของที่สมควรหรือไม่ ถ้าเข้าได้กับสิ่งที่ไม่สมควรก็ให้ถือว่าเป็นสิ่งของไม่สมควร
๔/ สิ่งใดพระพุทธองค์ไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ว่าเป็นของสมควร ก็ให้พิจารณาว่าของสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งของที่สมควรหรือไม่ ถ้าเข้าได้กับสิ่งที่สมควรก็ให้ถือว่าเป็นสิ่งของสมควร
มีสิ่งของมากมายหลายอย่างที่สมัยพุทธกาลยังไม่มี แต่ในสมัยปัจจุบันมี
พระพุทธองค์ทรงประทานคำเห็นนี้ไว้ เช่นเดียวกับพระวินัยโลกวัชชะ ที่กล่าวว่า สิ่งใดที่ชาวโลกติเตียน ภิกษุไม่สมควรประพฤติสิ่งนั้น
—
พระวินัย หรือ ข้อห้าม ,ข้อไม่ห้าม ประการต่างๆนั้นมีเพื่อให้พระภิกษุสามเณรยึดถือปฏิบัติเป็นอันเดียวกัน
พระวินัยไม่ได้มีขึ้นเพื่อให้ญาติโยมยึดถือปฏิบัติ
ดังนั้นต้องถือว่าข้างฝ่ายพระเณรย่อมรู้จักพระวินัยว่ามีอะไรบ้างอย่างไร.. แต่ข้างฝ่ายฆราวาสย่อมถือว่าไม่รู้
อะไรที่ฆราวาสถวายพระก็ถวายด้วยศรัทธาที่ไม่รู้ ย่อมเป็นหน้าที่ของผู้รู้คือพระจะต้องระมัดระวังในการรับถวาย มีความรอบคอบตรวจสอบและอธิบายผิดถูกก่อนรับถวาย เมื่อแน่ใจแล้วว่าไม่ผิดพระวินัยจึงรับ
ฆราวาสผู้ถวายเมื่อได้รับทราบว่าการถวายชนิดของสิ่งของนั้นๆด้วยศรัทธาที่ไม่รู้ของตนเองผิด ก็จำได้ ต่อไปก็จะไม่นำของสิ่งนั้นมาถวายอีก และยังจะบอกต่อๆกันไปในหมู่ญาติสนิทมิตรสหายอีกด้วย
แต่ถ้าพระที่ไม่เรียนไม่ศึกษาไม่รู้พระวินัย หรือ แม้พระที่รู้ดีอยู่แก่ใจว่าสิ่งนั้นผิดพระวินัย ก็ยังคงรับถวายหน้าตาเฉย ผลที่เกิดขึ้นก็เป็นตรงกันข้าม
เพราะฉนั้นการกล่าวว่าฆราวาสญาติโยมกระทำบาปแก่ตนเองและพระ ด้วยการถวายปัจจัยเงินทองแก่พระนั้น ต้องพิจารณาให้ดีว่าจริงหรือไม่อย่างไร ?
แม้ว่าจะมีคำกล่าวถึงฆราวาสญาติโยมว่าไม่เป็นผู้ฉลาดในการถวายของที่ถูกต้องตามพระวินัย เป็นเหตุให้พระต้องอาบัติ..
สงสัยว่าฆราวาสญาติโยมที่ฉลาดนั้นมีอยู่กี่คนเมื่อเทียบกับฆราวาสญาติโยมที่ยังโง่อยู่
—
ปัจจัยเงินทองในสมัยทุกวันนี้ถือเป็นของจำเป็นสำหรับผู้คน ไม่ว่าจะกิน จะอยู่ จะก่อสร้าง ฯลฯ ล้วนแต่ต้องใช้เงิน แม้กระทั่งจะอุจจาระจะปัสสาวะในบางสถานที่ยังต้องเสียเงิน จึงส่งผลไปถึงวงของพระภิกษุทั้งหลายด้วย เพราะว่าพระภิกษุสงฆ์อยู่ได้ก็ด้วยโยมคำจุนอุดหนุน
—
ครั้งหนึ่ง..หลวงพ่อชารับนิมนต์ไปประเทศอังกฤษ หลวงพ่อสุเมโธได้กราบเรียนปรึกษากับหลวงพ่อชาว่า การมาอยู่ในประเทศอังกฤษเป็นเรื่องยากลำบากมากถ้าจะไม่ให้จับเงิน พร้อมกับยกตัวอย่างว่ามีพระมาจากศรีลังกา คณะสงฆ์ศรีลังกาอนุญาตให้พระศรีลังกาที่มาอยู่อังกฤษจับเงินได้ ถ้าท่านจะขออนุญาตจับเงินบ้างสักนิดหน่อยจะได้หรือไม่?
หลวงพ่อชาได้ตอบว่า
“..การจะแก้บัญญัติของพระพุทธเจ้านั้นไม่ดี อะไรที่ดีอยู่แล้วไม่สมควรไปแก้ ทางที่ดีให้ญาติโยมที่มีศรัทธาจะถวายเงิน ให้เขียนใบปวารณาใจความว่า ข้าพเจ้ามีศรัทธาถวายเงินจำนวนเท่านั้นเท่านี้ มูลค่า ๕๐ บาท ๑๐๐ บาทหรือ ๑๐ บาท เป็นต้น.. เมื่อพระผู้เป็นเจ้าต้องการต้องการใช้ปัจจัย ๔ อันควรแก่พระผู้เป็นเจ้า จงเรียกร้องเอากับไวยาวัจกรเทอญ
แล้วถวายใบปวารณาแก่พระ , ส่วนปัจจัยให้เอาไว้กับไวยาวัจกร ..
ในกรณีที่ท่านไปตามลำพังองค์เดียว ไม่มีไวยาวัจกรไปด้วย ท่านรับเงินไม่ได้ .. ให้เก็บเงินนั้นไว้กับโยมผู้ถวายก่อนก็ได้
เมื่อท่านต้องการใช้เงินนั้น ก็เขียนจดหมายไปบอก ให้ไวยาวัจกรไปรับเอาเงินนั้น .. มันจะยากหน่อย ลำบากหน่อย ไม่สะดวก แต่จะดีมากๆถ้าหากจะเอาตามคำสอนของพระพุทธเจ้า..
คือถ้าไม่มีสตางค์ก็เดินเอาหน่อย..
เราต้องรักษาพระวินัยให้ยืนนานถาวร..
ต่อไปภายหน้าหากพระมีเงินมีทอง ซื้อเองขายเอง ก็หมดกัน ไม่มีพระบริสุทธิ์เหลืออยู่ ในเมืองไทย ในเมืองอังกฤษก็ไม่มี ในแผ่นดินนี้ไม่มี
พระวินัยอันนี้ดีอยู่แล้ว พึงรักษาไว้ให้ดี สงวนเอาไว้ ถ้ามันสะดวกเกินไปก็ชอบจะประมาทกัน
เรื่องของการปวารณานี้ ถ้าเราจะพูดให้ผู้มีศรัทธาจะถวายได้เข้าใจนั้น ปวารณาปากเปล่าก็ได้ เช่นว่าข้าพเจ้าขอปวารณาปัจจัย ๔ ต่อพระพผู้เป็นเจ้าตลอดชีวิตก็ได้ เดืนหนึ่งก็ได้ ห้าเดือนก็ได้ เจ็ดวันก็ได้
ปวารณาของที่สมควร อย่างเช่นค่ารถค่าเรือ ไม่ใช่จะให้พระร่ำรวย
ถ้าสุเมโธหรือเขมธมฺโมหรือผมมาเมื่อไหร่ก็เรียกขอเอาได้ ปัจจัย ๔ หยูกยาอะไรต่างๆเหล่านี้ เพื่อบำบัดโรค
อย่างเช่น มิสเตอร์ชอว์อยากจะปวารณาปัจจัย ๔ ไว้ตลอดชีวิต ปวารณาทั้งครอบครัวของกระผมนี้ ขอปวารณาไว้ตลอดชีวิตก็ทำได้
แต่ต้องปวารณาไว้กับพระที่สมควร อย่าได้ปวารณากับพระที่ไม่รู้เรื่อง เดี๋ยวจะมาขอเอาจนหมดตัวเท่านั้น
อะไรที่สมควรแก่สมณะแล้วขอได้ทุกเวลา แม่บ้านผมก็ตาม ผมไม่อยู่ก็ตาม ลูกอยู่นี่ก็ตาม ขอปวารณาอย่างนี้.. เป็นบุญอันเลิศ บุญอันประเสริฐเลยทีเดียว..
แม้ว่าเรานั่งอยู่เฉยๆก็เรียกว่าได้บุญอยู่เรื่อยๆ.. นี่อันนี้ดีมาก .. “