หายก็เอา ไม่หายก็เอา

ธรรมสังเวชของนายแพทย์คนหนึ่ง

* * *

คุณหมอไพโรจน์(ขอสงวนนามสกุล)เล่าให้ผมฟัง
 
สมัยที่คุณหมอเพิ่งสอบเข้าเป็นนักเรียนแพทย์จุฬาใหม่ๆ
 
อาจารย์หมอตรวจเจอว่าคุณหมอมีหัวใจอยู่ข้างขวา
 
” ไพโรจน์..เธอวิ่งรอบเสาธงสัก๒รอบไหวไหม “
 
” สบายมากครับอาจารย์ ๑๐ รอบก็ยังไหว “
 
 
เรื่องหัวใจอยู่ข้างขวาก็ไม่ได้ทำให้คุณหมอรู้สึกว่าตนเองผิดปกติ
 
ทั้งยังบอกด้วยความสนุกครึกครื้นอีกว่า
 
“ใครเอาปืนมายิงกู ..ถ้ามันยิงแม่น ..กูไม่ตาย ..แต่ถ้ามันยิงไม่แม่น ..กูตายแน่”
 
 
ต่อมาอาจารย์หมอคณะแพทย์ศาสตร์จุฬาฯตรวจพบว่าคุณหมอมีเม็ดเลือดขาวมากกว่าเม็ดเลือดแดง
 
“กูโดนจับขึ้นเขียง ยังกับหมู..ไม่รู้ว่าจะเอาไง..แต่สุดท้ายก็ไม่ว่าอะไร .. ถึงงั้นกูก็ตกใจกลัว ..ค้นตำราในห้องสมุดอยู่หลายวัน จนไปพบคนป่วยเคสเดียวกันกับกูเข้าพอดี.. เป็นฝรั่ง ..มีบันทึกว่ามันตายตอนอายุ เกือบ ๘๐ ปี .. เคล็ดลับคืออย่าไปยุ่งกับมัน”
 
 
คุณหมอเล่าว่าเคยไปเที่ยวซุกซนประสาวัยรุ่นกับเพื่อนอีก ๒ คน (รวมเป็น ๓ คน)
 
เข้าหุ้นกันเช่ากะหรี่มาคนเดียวเพราะสตังค์น้อยไม่ค่อยมี
 
คุณหมอใช้บริการคิว ๒
 
หลังจากนั้นวันสองวัน..เพื่อนคนหัวกับคนท้ายเป็นหนองใน
 
คุณหมอคนกลางหรือคิว ๒ ไม่เป็นอะไรเลย
 
“เม็ดเลือดขาวกูแดกเชื้อหนองในเหี้ยนไม่มีเหลือ”
 
คุณหมอสอนผมว่า
อะไรก็ตามเกิดขึ้นกับร่างกายเรา
ถ้าไม่รู้สึกว่าผิดปกติ
ก็อย่าไปยุ่งกับมัน
 
ร่างกายของเรามีระบบอัตโนมัติ
จะปรับตัวเข้าหาอะไรที่ว่านั้นเอง
 
 
นึกถึงคุณยายชีนวล ซึ่งไม่ยอมไปหาหมอ ไม่ว่าจะป่วยหนักเบาแค่ไหน
 
คุณยายบอกว่า
 
” หมอก็ตายเหมือนกัน”
 
 
บั้นปลายชีวิต..คุณหมอป่วยหลายโรค เช่น หัวใจ ไต ฯลฯ
 
คุณหมอบอกกับเพื่อนหมอด้วยกันว่า
ไม่ขอรับการรักษา
จะปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ
 
 
คุณหมอผู้ซึ่งรักษาคนป่วยมาตลอดชีวิต
ย่อมรู้ว่าโรคอะไรรักษาได้หรือไม่ได้
 
 โรคบางโรค ไม่รักษา ก็หาย
โรคบางโรค ไม่รักษา ก็ไม่หาย
 
โรคบางโรค รักษา จึงหาย
 
โรคบางโรค รักษา ก็ไม่หาย
 
 
ใครป่วยหนักหลวงพ่อชาจะเตือนว่าให้เร่งภาวนา
 
เพราะเวลาเหลือน้อยแล้ว
 
 
เจ็บไข้ได้ป่วยเป็นอนัตตา
 
เพราะว่าอยู่นอกเหนืออำนาจการควบคุมบังคับให้เป็นไปตามใจเรา
 
ดังนั้นเมื่อบังคับไม่ได้ก็ต้องยอมรับทั้งสองอย่าง
 
หายก็เอา
 
ไม่หายก็เอา
 
 
ไม่ว่าใครก็ตาม จะยากดีมีจนแค่ไหน เมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายด้วยกันทุกคน
 
ไม่มีทางหลีกพ้นไปได้
 
 
ในที่สุดคุณหมอไพโรจน์ก็ถึงแก่กรรมไปด้วยอาการสงบ
 
คือหลับไปเลย
 
ในขณะมีอายุ ๗๐ กว่าปี
แชร์ :

ความคิดเห็น

** โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างมีวิจารณญาน