ความแตกต่างระหว่างจักรยานมืออาชีพกับมือสมัครเล่น
จะขี่จักรยานเพื่อสุขภาพก็แล้วไป
แต่ไม่งั้นสิครับ
พอขี่ไปสักพักก็อดจะแข่งกันไม่ได้
ไม่ว่าจะแข่งเรื่องรถหรูรถแพง จนกระทั่งแข่งเรื่องความเร็วเฉลี่ย
…
ที่โม้ๆกันอยู่ในสังคมจักรยาน บนโลกอินเตอร์เน็ท ก็มีแค่ ๒ เรื่องนี้เป็นหลักเท่านั้น
—
มีใครรู้มาก่อนบ้างไหมว่ามืออาชีพเขาขี่อะไร, ขี่กันยังไง, ขี่ได้แค่ไหน
—
ข้อมูลเก่าๆจาก Bicycling Magazine เผยแพร่มานานราวๆ ๓-๔ ปีมาแล้ว… ถึงวันนี้แล้วก็ยังจะพอเชื่อได้ว่าไม่เปลี่ยนไปสักเท่าไหร่
—
นักปั่นอาชีพกับนักปั่นธรรมดาทั่วไปซึ่งต่อจากนี้ไปจะเรียกว่ามือสมัครเล่น
โดยมากแล้วความเร็วเฉลี่ยบนทางราบของมือสมัครเล่นจะอยู่ที่ ๒๐ กว่าๆ ไปจนถึง ๓๐กว่าๆ (ประมาณ ๒๗-๓๒ กม. ต่อ ๑ ชม.)
แต่มืออาชีพจะทำได้ถึง ๔๐ ขึ้นไปจนถึงประมาณ ๔๕ กม. ต่อ ๑ ชม.
ถ้าเป็นเส้นทางภูเขา ความเร็วเฉลี่ยมือสมัครเล่นจะอยู่ที่ราวๆ ๑๐ กว่าๆ ไม่เกิน ๒๐ โดยทั่วไปก็อยู่ที่ ๑๔-๑๖ เท่านั้น
มืออาชีพจะทำได้ ๓๐ กว่าๆ จนถึง ๔๐
—
ถ้ามีการปั่นต่อเนื่องนาน ๓ ชั่วโมงติดต่อกัน
มือสมัครเล่นโดยมากจะดื่มน้ำไม่เปลือง คือราวๆ ๒-๓ ขวดก็เหลือจะพอ
มืออาชีพดื่มมากกว่า คือ ๔ ขวดขึ้นไป บางคนดื่มมากถึง ๒๐ ขวดก็มี (ในตูร์ เดอ ฟร๊องซ์)
…
เขาว่า..
Tour de France แต่ละเสตจ มีระยะทางเฉลี่ย ประมาณ 170 – 210 กม.ต่อวัน
นักปั่นบางคนอาจจะสูญเสียพลังงานมาก ต้องดื่มน้ำ 1 – 4 ขวด ภายในหนึ่งชั่วโมง (ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพเส้นทาง)
—
พูดถึงการซ้อม..
มือสมัครเล่นโดยมากขี่บ้างไม่ขี่บ้าง เฉลี่ยแล้วซ้อมขี่ในสัปดาห์หนึ่งๆ จะได้ระยะทางขี่ ประมาณ ๑๒๐ กม. – ๒๐๐ กม.เป็นอย่างมาก
ส่วนมืออาชีพขี่กันกระฉูดกระฉาด ราวๆ ๗๐๐ – ๘๐๐ กม ต่อ ๑ สัปดาห์ เรียกว่าเฉลี่ยแล้วต้องมีวันละ ๑๐๐ กม. เป็นอย่างน้อย
—–
ยังมีอีกพวกหนึ่งที่อยู่ตรงกลางระหว่างมือสมัครเล่นกับมืออาชีพ
คนพวกนี้จะขี่ได้ระยะทางสัปดาห์ละ ๓๐๐ – ๔๐๐ กม. คือมีวันละประมาณ ๕๐ กม.
มีระดับความสามารถพอที่จะเป็นนักแข่งรายการเล็กๆที่ไม่มีทีมชาติ,ตัวแทนเขตหรือตัวแทนจังหวัดลงแข่ง
…
ส่วนเท็คนิคการซ้อมและการแข่งขันจริง ก็จะเป็นเรื่องที่แต่ละคนต้องเรียนรู้เองทั้งสิ้น
ถ้าโชคดีมีมืออาชีพแนะนำจะพัฒนาได้เร็ว
—
หลายคนบอกว่าขี่จักรยานไม่มีอะไรมาก.. ขอให้แข็งแรงก็พอ.. นั่นก็จริง
แต่เทคนิคการขี่ก็เป็นเรื่องที่ผู้รู้จักและมีไว้ใช้ จะได้เปรียบเสมอเมื่อมีการแข่งขัน
—
หลายคนชอบค่อนขอดว่า..
รถแพง แรงไม่มี
รถดี คนขี่ไม่มีแรง
นั่นก็จริงอีก
แต่ไม่ได้แปลว่ารถแพงไม่ดี
รถแพงยังไงก็ดีกว่ารถราคาถูกๆ
…
ทีนี้มาดูว่ามูลค่าคุณภาพของรถและอุปกรณ์ระหว่างมือสมัครเล่นกับมืออาชีพจะแตกต่างจนชวนขนลุกขนพองแค่ไหน
ว่ากันว่าราคาเสือหมอบทั้งคันอย่างเดียวไม่เกี่ยวกับเสือภูเขา
…
เสือหมอบของมือสมัครเล่นอยู่ที่ราคา ๓ หมื่นขึ้นไปจนถึง แสนห้า
กับมืออาชีพต้องมี สองแสนห้าขึ้นไป จนถึง สี่แสนห้า หรือมากกว่านี้
—-
เป็นความจริงที่ว่า..จักรยานยิ่งเบายิ่งแพง
แต่กติกาสากลห้ามเบากว่า ๖.๘ กก.ต่อคัน
แว่วๆว่าจะยกเลิกน้ำหนักนี้
คือให้เบากว่าก็ได้
ไม่รู้จริงเท็จแค่ไหน
..
มีความจริงว่ารถราคาหลักหมื่นก็สามารถทำหน้ำหนักให้เบาได้พอๆกับรถหลักแสนจนถึงหลายแสนเช่นกัน
นี่ก็ชวนให้สงสัยว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำไมราคามันจึงต่างกันขนาดนั้น ?
ไม่รู้สิ !
ต้องไปหาคำตอบที่ถูกใจใครมันกันเอาเอง
….
เมื่อรู้แล้วก็อย่าได้เก็บเอามาเป็นปมด้อยปมเขื่องข่มเหงจิตใจเขากับจิตใจเราเองเสียล่ะ
…
ทุกวันนี้ไม่ว่าที่ไหน..คนทั้งหลายพากันหันมาขี่จักรยานมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
โดยเฉพาะ สว. ที่พากันห่วงหวงสุขภาพของตน
—
๔-๕ ปีก่อนผมแทบจะขี่อยู่คนเดียว
เดี๋ยวนี้มีคนขี่อยู่ที่นี่(ช่องเม็ก)นับสิบคันแล้วครับ
—
เห็นจักรยานที่ไหนโปรดให้ความเมตตา
…
จักรยานย่อมมีทั้งนิสัยดีและไม่ดีปนเปกันไปเป็นธรรมดา
อย่างไรเสียเขาก็เป็นแค่จักรยาน.. พวกเขาไม่มีส่วนร่วมในการทำให้โลกร้อน
เมตตาเขา แล้วก็กรุณาเขาด้วย อย่าได้เบียดเบียนเขาเลย
ถ้าหมั่นไส้จนทนไม่ไหว ก็ให้นึกถึงจักรยานที่นิสัยดีๆ หน้าตาสวยๆหล่อๆ.. อารมณ์หงุดหงิดจะได้ทุเลา.