ซีอุยกับเหรียญหลวงพ่อแช่ม
ทุกวันนี้คงจะมีผู้รู้จักชื่อไพฑูรย์ พันธ์เชื้องามไม่มากก็น้อย
ท่านผู้นี้ต้องโทษหลายคดี
เฉพาะคดีที่มีโทษถึงประหารชีวิตนั้น ถ้าผมจำไม่ผิดก็ ๔ คดี
ไพฑูรย์ พันธ์เชื้องาม ได้เขียนนิยายกึ่งสารคดีเกี่ยวกับชีวิตของตนเอง และหลวงพ่อเดิมลงตีพิมพ์ในนิตยสารมหัศจรรย์อยู่หลายปี
เป็นเหตุให้รู้จักคุ้นเคยกันกับผม(อำพล เจน)
ด้วยว่าผมทำงานอยู่ประจำกองบรรณาธิการมหัศจรรย์ (ราช เลอสรวง เป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการ)
ทำให้ได้มีโอกาศพบปะคุยกันบ่อยๆ
ไพฑูรย์ พันธ์เชื้องาม เล่าว่าโชคดีรอดชีวิตจากโทษประหารเพราะเป็นวันเฉลิมพระชนม์พรรษของในหลวงรัชกาลที่ ๙ พอดี
ได้รับพระราชทานอภัยโทษประหาร จนเหลือแค่จำคุกตลอดชีวิต
จากการประพฤติตัวดี มีประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ทำให้ได้รับการพิจารณาลดหย่อนผ่อนโทษ
และพ้นโทษจำคุกออกมาในปี ๒๕๐๐ ขณะที่มีอายุพอสมควร
ครั้งหนึ่งได้เล่าเรื่องของซีอุยให้ผมฟัง ซึ่งน่าสนใจมาก จึงนำมาเล่าต่อ เพื่อมิให้เรื่องนี้สูญหาย
เป็นที่ทราบกันแล้วว่าซีอุยถูกตัดสินประหารชีวิตเมื่อปี ๒๕๐๒
ระหว่างรอการประหารนั้น เจ้าหน้าที่ได้ตามตัวไพฑูรย์ พันธ์เชื้องามให้เข้าไปเจรจากับซีอุยเกี่ยวกับเรื่องของขลังในตัวซีอุย
เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทราบว่าซีอุยหนังเหนียว เกรงจะมีปัญหาระหว่างการยิงเป้า
ไพฑูรย์ พันธ์เชื้องามได้เกลี้ยกล่อมให้ซีอุยยอมบอกและยอมปล่อยของขลังออกจากตัว
ซึ่งในขณะที่เกลี้ยกล่อมซีอุยนั้น ยังไม่ทราบว่าเป็นอะไร
ไพฑูรย์ พันธ์เชื้องาม ได้ให้เหตุผลแก่ซีอุยว่า ถ้าเขาประหารด้วยปืนไม่ได้
เขาจะเอาไม้หลาวแทงทวารหนัก
จะต้องตายอย่างทรมานกว่าถูกยิงด้วยปืน
หลังจากนั้นซีอุยก็อ้าปากดึงด้ายเส้นเล็กๆที่ผูกไว้กับฟันซี่หนึ่ง ดึงเอาเหรียญพระออกมาจากในท้อง
เป็นเหรียญหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง พิมพ์ที่มีรูปปืนไขว้กัน ๒ กระบอก
ในขณะที่ไพฑูรย์ พันธ์เชื้องามเล่าเรื่องนี้ให้ผมฟัง (ประมาณปี ๒๕๓๐)
เหรียญที่ซีอุยถือไว้ประจำตัว ยังอยู่กับ ไพฑูรย์ พันธ์เชื้องาม
หลังจากเล่าเรื่องนี้ ไพฑูรย์ พันธ์เชื้องาม ยังบอกอีกด้วยว่า วันหลังจะให้หน้าผากเสือหลวงพ่อเดิมและเหรียญหลวงพ่อแช่มของซีอุยแก่ผม
แต่ก็ไม่ทันได้ให้.. ผมก็ออกจากงานหนังสือพิมพ์มหัศจรรย์ กลับมาอยู่อุบลฯบ้านเกิด
แล้วก็ไม่ได้พบกับไพฑูรย์ พันธ์เชื้องามอีกเลยจนบัดนี้