เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา
เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยาแต่งขึ้นเลียนแบบมหาสุบินชาดก และนิทาน “พยาปัถเวนทำนายฝัน” ชาดกและนิทานดังกล่าวเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระสุบินนิมิตสิบหกประการของประการของพระเจ้าปเสนทิโกศลที่ได้ทูลถามคำพยากรณ์จากพระโคตมพุทธเจ้า
เพลงยาวฯ นี้ ปรากฏอยู่ในหนังสือ “อธิบายแผนที่พระนครศรีอยุธยา” ซึ่งมหาอำมาตย์โท พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) อดีตสมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา และอดีตอุปนายกราชบัณฑิตยสภา แผนกโบราณคดี พิมพ์ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในการพระราชพิธีทรงบวงสรวงอดีตมหาราชเจ้าที่พระนครศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2459
สันนิษฐานว่าเพลงยาวนี้มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่นักวิชาการยังไม่อาจสรุปแน่ชัดว่าใครเป็นผู้แต่ง แม้ว่าในตอนท้ายของบทกลอนได้บันทึกกำกับไว้ว่า “พระนารายณ์เป็นเจ้านพบุรีทำนาย…” หากว่าเป็นจริงตามนั้น “พระนารายณ์” ก็หมายถึงสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ส่วน”นพบุรี” คือเมืองลพบุรี
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงอธิบายไว้ในคำนำหนังสือดังกล่าว มีความตอนหนึ่งว่า “…เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา อ้างไว้ข้างท้ายว่าเปนพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพลงยาวนี้มีหลักฐานควรเชื่อแต่ว่าแต่งเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเปนราชธานี ด้วยในคำให้การของพวกชาวกรุงเก่าที่พม่าจับไปถามคำให้การเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาได้กล่าวอ้างถึง แต่ข้อที่ว่าเปนพระราชนิพนธ์สมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้นไม่มีหลักฐานอย่างอื่นนอกจากที่มีเขียนอ้างไว้กับเพลงยาว ปลาดอยู่ที่เพลงยาวบทนี้ยังมีผู้ท่องจำกันมาได้แพร่หลายจนในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ แต่เรียกกันว่าเพลงยาวพุทธทำนาย…”
ในหนังสือ “คำให้การชาวกรุงเก่า” ก็มีเรื่องคำพยากรณ์กรุงศรีอยุธยานี้เช่นกัน กล่าวว่าเป็นพระราชนิพนธ์ของพระพุทธเจ้าเสือ มีเนื้อความสั้นกว่าและปรากฏความเป็นร้อยแก้ว ซึ่งสันนิษฐานเพิ่มเติมได้อีกว่า เพลงยาวฯ นี้อาจแต่งขึ้นเพื่อใช้ทำลายขวัญกำลังใจสาธารณะอันเป็นจิตวิทยาทางการเมือง เพราะบทกลอนดังกล่าวมีเนื้อความคล้ายกับร่ายของพระเจ้าสุริเยนทราธิบดีหรือพระเจ้าเสือที่ทรงประพันธ์ขึ้นมาเพื่อใช้ในปฏิบัติการจิตวิทยาทางการเมืองในปลายรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งต่อมาผู้นำในสมัยรัตนโกสินทร์ก็ใช้ประโยชน์จากบทกลอนดังกล่าวมาอธิบายเหตุการณ์การเสียกรุงศรีอยุธยาโดยมีเป้าหมายในทางการเมืองที่ต่างไปจากพระเจ้าเสือ
สรุปก็คือ ถ้าหากว่าเพลงยาวนี้ได้ถูกแต่งในสมัยอยุธยาจริง อาจกล่าวได้ว่า
1. ผู้แต่งจะต้องเป็นบุคคลที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง มีความสามารถในทางโหราศาสตร์หรือทางจิตวิทยาและเป็นนักประพันธ์นำมาผนวกกับเรื่องราวของพุทธทำนายดังกล่าวข้างต้น
2. เพลงยาวฯ นี้อาจใช้เป็นจุดประสงค์ในทางการเมือง
ข้อสังเกตอีกประเด็นหนึ่งก็คือ การทำนายชะตาบ้านเมืองไปในทางเลวร้ายเช่นนี้ถือเป็นเรื่องคอขาดบาดตายและเป็นการอัปมงคล หากเป็นการแต่งโดยบุคคลธรรมดาก็อาจจะถูกลงโทษสถานหนัก ดังนั้นผู้ที่สามารถทำนายกล่าวอ้างออกมาได้และทำให้ผู้คนยอมรับและจดจำกันได้นั้น ก็ย่อมต้องเป็นบุคคลที่มีความสำคัญระดับพระมหากษัตริย์ หรือบุคคลที่พระมหากษัตริย์ให้การยอมรับนับถือ
****
เพลงยาว : เป็นบทประพันธ์ร้อยกรองที่แต่งความยาวแบบจดหมายแสดงความพิศวาส แสดงรำพึงรำพันรักโศก บางคราวแสดงแบบวาทะ และเป็นโอวาทเกี่ยวกับการแสดงคุณธรรมก็มี แต่งเป็นสุภาษิตก็มี เป็นไปตามความนิยมของผู้แต่ง แผนผังกลอนแบบเดียวกับกลอนแปด ส่วนมากวรรคหนึ่งมี ๘ คำ บางวรรคมี ๗ คำบ้าง แต่น้อย ขึ้นต้นด้วยวรรคที่ ๒ คือ กลอนรอง และเมื่อจบต้องลงคำว่า เอย
****
เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา
ผู้ประพันธ์ : ไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด
๏ จะกล่าวถึงกรุงศรีอยุธยา
เป็นกรุงรัตนราชพระศาสนา
มหาดิเรกอันเลิศล้น
เป็นที่ปรากฎรจนา
สรรเสิญอยุธยาทุกแห่งหน
ทุกบุรีสีมามณฑล
จบสกลลูกค้าวานิช
ทุกประเทศสิบสองภาษา
ย่อมมาพึ่งกรุงศรีอยุธยาเป็นอัคคนิษฐ์
ประชาราษฎร์ปราศจากภัยพิศม์
ทั้งความพิกลจริตแลความทุกข์
ฝ่ายองค์พระบรมราชา
ครองขันธสีมาเป็นสุข
ด้วยพระกฤษฎีกาทำนุก
จึงอยู่เย็นเป็นสุขสวัสดี
เป็นที่อาศัยแก่มนุษย์ในใต้หล้า
เป็นที่อาศัยแก่เทวาทุกราศี
ทุกนิกรนรชนมนตรี
คหบดีพราหมณพฤฒา
ประดุจดั่งศาลาอาศัย
ดั่งหนึ่งร่มพระไทรอันสาขา
ประดุจหนึ่งแม่น้ำพระคงคา
เป็นที่สิเนหาเมื่อกันดาร
ด้วยพระเดชเดชาอานุภาพ
อาจปราบไพรีทุกทิศาน
ทุกประเทศเขตขันธบันดาล
แต่งเครื่องบรรณาการมานอบนบ
กรุงศรีอยุธยานั้นสมบูรณ์
เพิ่มพูนด้วยพระเกียรติยศขจรจบ
อุดมบรมสุขทั้งแผ่นภพ
จนคำรบศักราชได้สองพัน
คราทีนั้นฝูงสัตว์ทั้งหลาย
จะเกิดความอันตรายเป็นแม่นมั่น
ด้วยพระมหากษัตริย์ มิได้ทรงทศพิธราชธรรม์
จึงเกิดเข็ญเป็นมหัศจรรย์สิบหกประการ
คือเดือนดาว ดินฟ้า จะอาเพท
อุบัติเหตุ เกิดทั่ว ทุกทิศาน
มหาเมฆจะลุกเป็นเพลิงกาล
เกิดนิมิตพิศดารทุกบ้านเมือง
พระคงคาจะแดงเดือดดั่งเลือดนก
อกแผ่นดินเป็นบ้าฟ้าจะเหลือง
ผีป่าก็จะวิ่งเข้าสิงเมือง
ผีเมืองนั้นจะออกไปสู่ไพร
พระเสื้อเมืองจะเอาตัวหนี
พระกาลกุลีจะเข้ามาเป็นไส้
พระธรณีจะตีอกไห้
อกพระกาลจะไหม้อยู่เกรียมกรม
ในลักษณะทำนายไว้บ่ห่อนผิด
เมื่อวินิศพิศดูก็เห็นสม
มิใช่เทศกาลร้อนก็ร้อนระงม
มิใช่เทศกาลลมลมก็พัด
มิใช่เทศกาลหนาวก็หนาวพ้น
มิใช่เทศกาลฝนฝนก็อุบัติ
ทุกต้นไม้หย่อมหญ้าสารพัด
เกิดวิบัตินานาทั่วสากล
เทวดาซึ่งรักษาพระศาสนา
จะรักษาแต่คนฝ่ายอกุศล
สัปบุรุษจะแพ้แก่ทรชน
มิตรตนจะฆ่าซึ่งความรัก
ภรรยาจะฆ่าซึ่งคุณผัว
คนชั่วจะมล้างผู้มีศักดิ์
ลูกศิษย์จะสู้ครูนัก
จะหาญหักผู้ใหญ่ให้เป็นน้อย
ผู้มีศีลจะเสียซึ่งอำนาจ
นักปราชญ์จะตกต่ำต้อย
กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย
น้ำเต้าอันลอยนั้นจะถอยจม
ผู้มีตระกูลจะสูญเผ่า
เพราะจันฑาลมันเข้ามาเสพสม
ผู้มีศีลนั้นจะเสียซึ่งอารมณ์
เพราะสมัครสมาคมซึ่งมารยา
พระมหากษัตริย์จะเสื่อมสิงหนาท
ประเทศราชจะเสื่อมซึ่งยศถา
อาสัจจะเลื่องลือชา
พระธรรมาจะตกลึกลับ
ผู้กล้าจะเสื่อมใจหาญ
จะสาปสูญวิชาการทั้งปวงสรรพ
ผู้มีสินจะถอยจากทรัพย์
สัปบุรุษจะอับซึ่งน้ำใจ
ทั้งอายุศม์จะถอยเคลื่อนจากเดือนปี
ประเวณีจะแปรปรวนตามวิสัย
ทั้งพืชแผ่นดินจะผ่อนไป
ผลหมากรากไม้จะถอยรส
ทั้งแพทย์พรรณว่านยาก็อาเพศ
เคยเป็นคุณวิเศษก็เสื่อมหมด
จวงจันทน์พรรณไม้อันหอมรส
จะถอยถดไปตามประเพณี
ทั้งเข้าก็จะยากหมากจะแพง
สารพันจะแห้งแล้งเป็นถ้วนถี่
จะบังเกิดทรพิษมิคสัญญี
ฝูงผีจะวิ่งเข้าปลอมคน
กรุงประเทศราชธานี
จะเกิดการกุลีทุกแห่งหน
จะอ้างว้างอกใจทั้งไพร่พล
จะสาละวนทั่วโลกหญิงชาย
จะร้อนอกสมณาประชาราษฎร์
จะเกิดเข็ญเป็นอุบาทว์นั้นมากหลาย
จะรบราฆ่าฟันกันวุ่นวาย
ฝูงคนจะล้มตายลงเป็นเบือ
ทางน้ำก็จะแห้งเป็นทางบก
เวียงวังจะรกเป็นป่าเสือ
แต่สิงห์สาระสัตว์เนื้อเบื้อ
นั้นจะหลงเหลือในแผ่นดิน
ทั้งผู้คนสารพัดสัตว์ทั้งหลาย
จะสาปสูญล้มตายเสียหมดสิ้น
ด้วยพระกาลจะมาผลาญแผ่นดิน
จะสูญสิ้นการณรงค์สงคราม
กรุงศรีอยุธยาจะสูญแล้ว
จะลับรัศมีแก้วเจ้าทั้งสาม
ไปจนคำรบปีเดือนคืนยาม
จะสิ้นนามศักราชห้าพัน
กรุงศรีอยุธยาเขษมสุข
แสนสนุกยิ่งล้ำเมืองสวรรค์
จะเป็นเมืองแพศยาอาธรรม์
นับวันจะเสื่อมสูญ เอยฯ