วัตถุมงคลที่หลวงปู่คำพันธ์ชอบ
วัตถุมงคลที่หลวงปู่คำพันธ์ชอบย่อมจะมีอยู่หลายรุ่น
แต่ไม่อาจทราบทั้งหมด
เท่าที่รู้แน่ชัดมีอยู่ ๒ รุ่น
๑/ นางพญา ๘๔
พระนางพญาพิมพ์นี้หลวงปู่มีดำริให้ทำขึ้นเพื่อจะแจกในงานวันเกิดครบรอบ ๘๔ ปี (พศ.๒๕๔๒) แต่ท่านกลับเก็บเงียบไว้ไม่ยอมแจก ที่นำออกมาแจกแทนพระนางพญา ๘๔ นั้นเป็นพระพิมพ์อื่นที่ลูกศิษย์ท่านอื่นทำมาถวาย
ภายหลังพระอาจารย์เวทย์เรียนถามด้วยความสงสัยว่า : ทำไมหลวงปู่ไม่แจก อุตส่าห์ทำมาถวายให้แจก
ท่านตอบว่า : ไม่แจกหรอก พระสวย ปู่เสียดาย
พระนางพญา ๘๔ จะมีการแจกจ่ายภายหลังหรือไม่อย่างไรไม่ทราบ โดยส่วนตัวเห็นก็แต่ชุดที่หลวงปู่ฝากพระอาจารย์เวทย์มาให้เป็นที่ระลึกราวๆ ๒๐ องค์ ที่ทุกวันนี้ยังเก็บเงียบไม่แจกใครเหมือนกัน
๒/ พระชานหมากสองหน้าบูรพาจารย์
ราวๆปี ๒๕๔๔ พระอาจารย์เวทย์ กับ คณะศิษย์วัดแก่งตอย เห็นพ้องกันว่าจะสร้างเจดีย์ไว้ที่วัดแก่งตอย จึงไปกราบเรียนปรึกษาหลวงปู่คำพันธ์ ขออนุญาตจัดสร้างเหรียญสองหน้าบูรพาจารย์หาทุนสร้างเจดีย์
เหรียญรุ่นนี้ได้รับความกรุณาจาก อ.อนันต์ สวัสดิสวนีย์ ออกแบบและดำเนินการจัดสร้างด้วยเนื้อโลหะ อาทิ ทองคำ เงิน นวะ และ ทองแดง
ส่วนเนื้อชานหมาก อำพล เจน ดำเนินการจัดสร้าง
พระชุดนี้เมื่อสร้างเสร็จแล้ว ไปตกอยู่กับคณะผู้จัดสร้างซึ่งช่วยกันเช่าบูชากันเองเกือบทั้งหมด
เหลือหลุดรอดออกมาสำหรับคนอื่นเพียงเล็กน้อย
จึงมีสถานะเป็นพระหายากอีกรุ่นหนึ่ง
หลวงปู่อธิษฐานจิตปลุกเสกเหรียญสองหน้าบูรพาจารย์ทุกเนื้อที่กุฏิของท่านในวัดธาตุมหาชัย
คณะผู้จัดสร้างนำพระทั้งหมดกลับคืน
คงเพียงถวายเนื้อทองคำ ๑ เหรียญไว้เป็นที่ระลึกเท่านั้น
ภายหลังพระอาจารย์เวทย์ได้บอกว่าหลวงปู่พิจารณาพระเนื้อชานหมากนานผิดปกติ บ่นอุบอิบว่าทำไมไม่ทำถวายท่านบ้าง
เมื่อคณะผู้จัดสร้างทราบ จึงตกลงกันนำพระชานหมากสองหน้าบูรพาจารย์จำนวนหนึ่งย้อนกลับไปถวายท่าน และได้ถวายปัจจัยอีกจำนวนหนึ่งให้ท่านนำไปจัดสร้างเหรียญอะไรก็ได้ตามอัธยาศัย
ปรากฏว่าหลวงปู่ได้เอารูปแบบเหรียญสองหน้าบูรพาจารย์ไปจัดสร้างขึ้นอีก เกิดเป็นเหรียญสองหน้าบูรพาจารย์สองแบบ คือแบบของหลวงปู่จัดสร้างเอง กับ แบบของคณะศิษย์จัดสร้างหาทุนทำเจดีย์
ทั้ง ๒ แบบ สามารถแยกออกจากกันได้ไม่ยากด้วยตาเปล่า
เพราะฝีมือการแกะพิมพ์ไม่เหมือนกัน
สำหรับพระชานหมากสองหน้าบูรพาจารย์นั้น มีมวลสารหลักเป็นชานหมากที่หลวงปู่เคี้ยวเก็บไว้แล้วส่งมาให้จัดสร้าง โดยนำเอาหมากแห้งบดเป็นผงผสมเพื่อขยายเนื้อให้ได้จำนวนมากขึ้น
เมื่อเนื้อพระแห้งสนิท ถึงแม้บางองค์มีรอยร้าวราน แต่เนื้อแกร่งจัด มีความแข็งแรงมาก ไม่แตกหักง่ายๆ