ข้อห้ามในการถือวัตถุมงคลของหลวงปู่พรหมา
ข้อห้ามกับศีลนั้นถือเป็นอันเดียวกัน
ศีลของผู้ปฏิบัติธรรมกับศีลของผู้ถือวัตถุมงคลนั้นคล้ายกัน
ผลที่ได้จากการถือศีลคือเกิดสติสัมปชัญญะที่ส่งต่อไปถึงความมั่นใจ
ศีล ๕ ถ้าถือได้ ท่านรับรองว่าเมื่อตายไปไม่ตกอบายภูมิ ๔
นรก,เปรต,อสุรกายและสัตว์เดรัจฉาน
ผู้ถือศีล ๕ ได้ครบถ้วนบริบูรณ์จะเกิดสติสัมปชัญญะระหว่างการรักษาศีล
เกิดความมั่นใจเมื่อถึงเวลาจะสิ้นใจตาย
และยังจะมีอะไรๆเกิดขึ้นอีกมากมายนอกไปจากนี้
ซึ่งเป็นผลจากการรักษาศีล
ศีลของผู้ถือวัตถุมงคลก็เช่นกัน
เกิดสติสัมปชัญญะและความมั่นใจ
จะไปไหนมาไหนมั่นใจว่าวัตถุมงคลจะมีอานุภาพรักษาตนได้
ไม่กลัวมีด ไม่กลัวปืน
ไม่พรั่นพรึงต่ออันตรายใดๆที่กำลังเกิดขึ้นกับตน
แต่เหตุของการล่วงศีลนั้นโดยมากมักเกิดเพราะขาดสติสัมปชัชญะทั้งนั้น
เรียกว่าเผลอเรอ
เหตุที่เผลอเรอก็เพราะขาดสติ
เมื่อขาดสติจนล่วงศีลไปแล้วก็เกิดความลังเลไม่มั่นใจในวัตถุมงคลของตนว่าจะเสื่อมหรือไม่
จะไปไหนมาไหนก็ใจไม่ดีเพราะไม่มั่นใจในวัตถุมงคลของตนเองแล้ว
ท่านผู้มีปัญญาโปรดพิจารณาดู
หากมีความมั่นใจในศีลที่ไม่เคยล่วงละเมิด
ไม่เคยผิดพลาด
ความมั่นอกมั่นใจของท่านจะมีมากเป็นอนันต์ขนาดไหน
จะว่าไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นศีลอะไร
ล้วนมีข้อกำหนดสำหรับการล่วงศีลไว้เป็นบางกรณี
การล่วงศีล ถ้าไม่ได้เกิดด้วยเจตนาจะละเมิด ก็ไม่เป็นไร เป็นโทษเบา
ผู้ละเมิดโดยไม่เจตนาจะปลุกเตือนสติตนให้เกิดยิ่งๆขึ้นในคราวต่อไป
กระทั่งสติแก่กล้าถึงขั้นไม่ละเมิดอีกเลย
ศีลของการถือวัตถุมงคลก็มีข้อกำหนดในการล่วงละเมิด
และยังมีข้อกำหนดที่จะปลุกความมั่นใจให้กลับคืนมาเช่นกัน
บางสำนักให้ตั้งขันธ์ขอขมา
บางสำนักให้ทำการบวชวัตถุมงคล เช่นเอาใส่บาตรพระที่กำลังจะบวชใหม่
ถ้าทำแล้วความมั่นใจก็กลับคืนมา
อย่างไรก็ตามหากรักษาศีล ไม่ล่วงละเมิด ผลดีย่อมเกิดกับตนเอง
จะเป็นคนที่มีสติสัมปชัญญะในทุกโอกาศทุกสถานที่
จะเป็นคนไม่ประมาทในทุกโอกาศทุกสถานที่
ผลพลอยได้จากการถือศีลจะปรากฏขึ้นอีกจนประมาณไม่ได้
ผู้รักษาศีล ผู้ถือปฏิบัติศีล จะทราบชัดได้ด้วยตนเอง
——————
ข้อห้ามในการถือวัตถุมงคลของหลวงปู่พรหมา
——————
ความกังวลของผู้ถือวัตถุมงคลที่มีข้อห้ามมากมาย ส่งผลให้ไม่สบายใจ จนถึงกับไม่สะดวกจะถือเอาวัตถุมงคลนั้นประจำกาย
วัตถุมงคลของหลวงปู่พรหมานั้นมีข้อห้ามไม่น้อยกว่าครูบาอาจารย์อื่นๆเช่นกัน
——–
ข้อแรกเลย
ห้ามกิน
เท่าที่นึกออกนะครับ
ไม่กินชะอม,ฟัก,มะเฟือง,ปลีกล้วย เป็นต้น
ซึ่งก็คล้ายกับข้อห้ามทั่วๆไปทุกสำนัก
จะผิดแผกก็แต่เรื่องชะอมเท่านั้น
ผู้ถือปฎิบัติจนเชี่ยวชาญชำนาญแล้ว ก็รู้จักวิธีเลี่ยงบาลี เหมือนพระพรรษาอายุมาก ก็มีวิธีละเมิดศีล
เช่นว่ามีโจรขโมยควายจูงควายผ่านหน้าไป
ต่อมาตำรวจตามจับขโมยถามว่าเห็นโจรขโมยควายไปทางไหน
ถ้าบอกความจริง โจรจะถูกตามจับ เกิดเป็นกรรม
ถ้าโกหกตำรวจก็ผิดศีลมุสา
ลุกขึ้นเดินออกจากที่ตรงนั้นไปยืนอีกตำแหน่งหนึ่ง
“อาตมาอยู่ตรงนี้ไม่เห็นโจรลักควาย”
อุบายในละเมิดข้อห้ามในการถือวัตถุมงคลก็มีเช่นกัน
ถ้าเจอแกงใส่ปลีกล้วย เขาจะพูดว่าดอกกล้วย ก็กินได้
เจอเป็ดตุ๋นมะนาวดองของชอบใส่ฟัก เขาก็จะพูดว่าไม่ใช่ฟัก
ผู้ที่ทำได้เช่นนี้ต้องมีกำลังจิตแก่กล้าจริงๆ
สามารถสะกดจิตตนให้เชื่อว่าไม่ใช่ฟัก ไม่ใช่ปลี
ผู้ที่ยังไม่แก่กล้าแม้พูดอย่างเขา ใจก็ยังนึกรู้ว่านั่นเป็นฟักเป็นปลีอยู่ดี
ข้อต่อไป
ห้ามลอด
ห้ามลอดราวตากผ้า, นั่งร้านก่อสร้าง, ไม้ค้ำต้นกล้วย เป็นต้น
วิธีปฏิบัติเมื่อถึงคราวจำเป็นต้องลอด
หาอะไรบังศรีษะไว้ ถ้าไม่มีอะไรเลย ก็ใช้ฝ่ามือเราเองบังศรีษะไว้ แล้วลอดไป ไม่เป็นไร
ข้อห้ามนี้เป็นความฉลาดของครูบาอาจารย์
เช่นกรณีกำลังวิ่งหนีอันตรายที่ไล่จี้หลัง
อย่าว่าแต่นั่งร้านหรือราวตากผ้าเลยครับ.. กำลังหนีตายอย่างนั้นมีอันลอดได้หมดสิ้นทุกสิ่งทุกสิ่งทุกอย่าง
ท่านก็ให้วิธีปฏิบัติไว้ เพื่อไม่ให้เสียความมั่นใจ
ส่วนของขลังที่พิสดารกว่านี้
เช่น ฝังตะกรุด สักยันต์ ลงน้ำมัน ลงทอง
ข้อห้ามจะมีมากขึ้น เปรียบเหมือนผู้บวช ก็ต้องมีศีลมากกว่า ๕ ข้อ กลายเป็น ๒๒๗ ข้อให้ถือปฏิบัติ
๓ วันแรกหลังจากลงของเข้าของแล้ว ก็มีข้อห้ามแค่ ๒อย่าง
ห้ามอาบน้ำ ๓ วัน ถ้าทนเหนียวเนื้อตัวไม่ได้ อนุญาตให้เช็ดตัว
ห้ามเดินเหยียบพื้นดินด้วยเท้าเปล่า ๓ วัน
พ้น ๓วันแล้วไม่เป็นไร
นี่เป็นข้อห้ามสำหรับฝึกห้ามตนเอง ฝึกให้เป็นคนมีสติเบื้องต้น
เปรียบเหมือนข้อปฏิบัติของผ้าขาวก่อนบวชเป็นพระห่มเหลือง
หลังจากนั้นแล้วก็มีข้อห้ามสำคัญจริงจังมากขึ้น
ห้ามกินก็ห้ามเพิ่มอีกหน่อยคือไม่กินดื่มในงานศพ ออกมานอกชายคาตั้งศพกินดื่มได้
ห้ามจับอวัยวะเพศหญิง ร่วมประเวณีได้ แต่ห้ามจับห้ามสัมผัส
ห้ามชะโงกดูบ่อน้ำ
ห้ามดื่มน้ำจากมือของตนเอง คือเอามือรองน้ำกวักน้ำใส่ปาก
ห้ามด่าพ่อล่อแม่ใครต่อใคร
ห้ามผิดลูกผิดเมียใคร
จะมีอะไรอีกก็จำไม่ได้
อะไรที่เห็นว่าไม่ดี..ห้ามหมด
คล้ายๆกันกับข้อห้ามสำนักอื่นๆแหละครับ
เฉพาะข้อห้ามของหลวงปู่พรหมา ห้ามไว้เพียง ๓ ปี
พ้น ๓ ปีแล้ว ไม่ห้ามอะไรเลย ทำได้ทุกอย่าง
เปรียบเหมือนพระถ้าพรรษาไม่ถึง ๖ ห้ามออกธุดงค์
ไม่งั้นจะเอาตัวไม่รอด..รอดยาก
ข้อห้ามทั้งหลายเป็นกุศโลบายของครูบาอาจารย์
เป็นข้อแลกเปลี่ยนเพื่อเอาความศักดิ์อิทธิฤทธิ์ไปเป็นของตัว
เป็นอุบายให้เป็นคนดี มีสติสัมปชัญญะ และมีวินัย
คนที่ไม่เคยมีวินัย หากไปคัดเลือกจนติดทหาร จะถูกฝึกให้เป็นผู้มีวินัยทุกคน
คนมิวินัยส่วนใหญ่แล้วเป็นคนดีทั้งสิ้น
กลายเป็นผู้ใหญ่ มีวุฒิภาวะน่านับถือ ไม่เป็นบุคคลอันตรายต่อสังคม
ผู้ที่ยังคงเห็นแก่ตัว เห็นแก่ประโยชน์ตน เห็นแก่ได้ถ่ายเดียว โดยไม่ยอมเสียอะไรเลย ควรพิจารณาตนเอง
ข้อห้ามของแต่ละสำนักถึงจะมีข้อแตกต่างกันบ้าง ก็ล้วนแต่ออกแนวทางเดียวกัน เป้าหมายเดียวกัน
เช่นหลวงปู่หงษ์ สุสานทุ่งมน ห้ามกินเหล้า
เคยถามท่านว่า ถ้าเอาพระไว้ที่หิ้งแล้วออกไปกินเหล้าจะเป็นไรไหม
ท่านว่า “เป็น.เสื่อมคาหิ้งเลย..เหล้าห้ามขาด”
คนเราถ้าไม่กินเหล้าแล้ว สติก็ไม่เผลอ ยากที่จะเผลอ ศีลข้ออื่นๆก็พลอยขาดยากไปด้วย
หลวงปู่จันทร์ วัดศรีเทพให้มีเบญจศีล เบญจธรรม
นอกจากรักษาศีลแล้วยังต้องปฏิบัติธรรมอีกด้วย
ธรรม๕ ประการที่คู่กับศีลนั่นแหละครับ
สายกรรมฐานโดยมากไม่ห้ามอะไร
ถ้าคาดคั้นจะเอาข้อห้ามให้ได้ ท่านก็บอกให้รักษาศีล ๕
ทั้งหมดนี้เป็นข้อคิดให้ลองไตร่ตรองดู
เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของผม
หากเห็นผิดจากท่านผู้รู้อื่นใดขออภัยปราชญ์ทั้งหลายเหล่านั้นด้วย