หลวงปู่เครื่อง วัดเทพสิงหาร ตอนที่ ๒
จากปู่มั่น ถึงสำเร็จลุน
ภิกษุ 6 แผ่นดิน
หลวงปู่เครื่อง ธมฺมจาโร
วัดเทพสิงหาร ต.นายูง อ.น้ำโสม จ.อุดรธานี
โดย…อำพล เจน
ตอนที่ ๒
ท่องไพรฉบับธุดงค์
สำเร็จลุนไม่ประสงค์ให้หลวงปู่เครื่องยึดติดอยู่กับครูบาอาจารย์ ชะเนาะขันเกลียวระหว่างศิษย์กับอาจารย์ก็คลาย อิสรภาพของศิษย์ก็อุบัติขึ้น แต่ความโดดเดี่ยวอ้างว้างกลับเข้ามาครอบงำแทน แม้คำแนะนำเชิงคำสั่งให้หลวงปู่เครื่องไปหาพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล จะยังก้องในหู ทว่าเสียงเพรียกแห่งป่าดงพงพียังร่ำเรียกให้ท่านก้าวเข้าไปหา สมบัติอันล้ำค่าของนักปฏิบัติรอท่านค้นเอาอยู่ในนั้น
ยังก่อนพระอาจารย์เสาร์
ต้องป่าวิเวกเป็นปัจจุบันเท่านั้น
เมื่อออกจากพระอาจารย์สำเร็จลุนแล้ว ท่านได้วิเวกไปทางแขวงวังเวียง(ชื่อแขวงอาจผิดเพราะว่าแขวงวังเวียงไม่มีหรือจะมีก็ไม่ทราบ – อำพล เจน)ที่ยังคงขึ้นอยู่กับจำปาศักดิ์ พื้นที่ทั้งหลายเป็นป่าดงดิบ ห้อมล้อมหนาแน่นและกว้างไกล จนเป็นเหตุให้ท่านต้องวนเวียนอยู่ในป่าแถบนั้นเป็นเวลานานถึง 2 ปี เหมือนว่าหลงป่า และมีป่าเป็นที่เลี้ยงชีพ มีผลไม้ป่าบรรเทาความหิวและเติมกำลังให้เดินหน้าไปได้ไม่จอดสนิทกับที่
ข้อเท็จจริงของป่าเมืองลาวนั้น ถ้าผู้ไม่รู้จักคุ้นเคยกับเส้นทางที่ทอดแทรกไปป่าที่เชื่อมหมู่บ้านหรือ เมืองทั้งเมืองเอาไว้ สภาวะของคนหลงป่าย่อมเกิดขึ้นได้ง่าย
คำพูดที่ว่า “ป่าดงดิบ” มันเป็นคำพูดที่ง่ายเกินไป แต่ความเป็นจริงแล้วมันยิ่งใหญ่เกินประมาณ อย่างเช่นพื้นที่ป่าเขาแถบริมโขงด้านโขงเจียม หรือศรีเมืองใหม่ ถ้าเดินออกไปไม่ถูกทิศ บอกได้ว่าทั้งเดือนหรือทั้ง 3 เดือน คุณจะไม่มีวันพบบ้านเรือนผู้คนเลย
ป่าดงดิบก็ดูจะเบาไปหน่อยเมื่อเปรียบกับน้ำหนักป่าเมืองลาวที่แท้จริง
บ้านชาวไทยเขินกับผีเฮี้ยน
ในวันหนึ่งในระหว่าง 2 ปี ที่ท่านวนเวียนในป่าแขวงวังเวียง ท่านเดินเท้าถึงภูพระมอม ซึ่งที่นั่นมีหมู่บ้านป่าซุกตัวอยู่แห่งหนึ่ง เป็นหมู่บ้านของพวกไทยเขิน หมู่บ้านใหญ่พอสมควร ถึงกับมีวัดสวยงามเก่าแก่อยู่ประจำด้วย พวกชาวบ้านได้นิมนต์หลวงปู่เครื่องอยู่จำพรรษา ซึ่งท่านก็รับ เนื่องจากว่าแม้เป็นวัดงดงามเก่าแก่ แต่กลับไม่มีพระเณรอยู่ประจำแต่อย่างใด
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
ไม่มีกุลบุตรใดในหมู่บ้านนี้มีศรัทธาหรืออย่างไร
ไม่มีชาวบ้านคนไหนเอาใจใส่บำรุงพระเณรให้อยู่ได้รึ
คำตอบคือไม่ใช่
จิตหรือใจหรืออะไรที่นึกรู้ได้นั้น บอกหลวงปู่ว่านี่คือวัดเฮี้ยนที่เอาเป็นเอาตายแก่พระเณรที่มาอยู่อาศัยจน กระทั่งอยู่ไม่ได้ หรือพากันตายไปเอง
ที่นึกรู้ก็เป็นว่านึกรู้ได้ถูกต้อง เมื่อชาวบ้านสารภาพว่า ที่นี่ได้มีผีดิบอาละวาดมาเนิ่นนานแล้ว
4 เดือนที่ผ่านมา มีคนตายเพราะผีดิบ 40 คน
ผีดิบไม่ใช่ผีสุก
ผีสุกคือผีที่ถูกเผา ผีดิบคือผีที่ฝังดิน ไม่ใช่ผีอย่างท่านเคาน์แดร็กคิวล่าหรอกครับ
คาถาปราบ
หลวงปู่เล่าว่าระหว่างพำนักที่วัดแห่งนั้น ท่านเจริญพระคาถาขันธปริตรจนได้ผลดี ผีเฮี้ยนหรืออะไรที่ทำให้คนตายไม่มีสาเหตุก็จางหาย ความร่มเย็นเป็นสุขก็คืนกลับมาสู่หมู่บ้านและวัดแห่งนั้นอีกครั้งหนึ่ง
หนีพระอาจารย์เสาร์ไม่พ้น
ออกพรรษาแล้วท่านก็ออกจากป่าที่เรียกว่าหลงอยู่ 2 ปีได้สำเร็จ ท่านสามารถจับทิศทางการเดินธุดงค์ได้โดยไม่สะเปะสะปะอย่างเก่า และคราวนี้ท่านเดินขึ้นเหนือมุ่งสู่เวียงจันทน์
“ขึ้นเวียงจันทน์ก็มีโอกาสได้พบพระธุดงค์จากเมืองไทยหลายท่าน และหนึ่งในจำนวนพระไทยที่ได้พบก็คือพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล”
น่าเสียดายที่ไม่มีรายละเอียดของการอยู่กับพระอาจารย์เสาร์
แต่เมื่อแยกจากพระอาจารย์เสาร์แล้ว ชีวิตธุดงค์ของหลวงปู่ก็ดำเนินต่อไป
30 ปีในเมืองลาว
หลวงปู่เครื่องแทบจะเป็นพระลาวไปแล้ว เมื่อรวมยอดเวลาทั้งหมดที่ท่านโคจรอยู่ในแผ่นดินลาวนับได้ 30 ปี ถ้าไม่มีสงครามอินโดจีน ท่านคงจะอยู่ที่นั่นนานกว่านี้ ระหว่างสงครามท่านเดินทางกลับประเทศไทย ขณะนั้นอายุของท่านปาเข้าไปถึง 60 ปีแล้ว และได้ใช้ชีวิตธุดงค์ต่อไปในประเทศไทย เดินออกไปทั่วภาคอีสาน ล่องลงจนถึงกรุงเทพฯ ตลอดเวลาที่สงครามดำเนินอยู่ จนกระทั่งสงครามสงบ แผ่นดินลาวก็กวักมือเรียกท่านให้เดินเข้าไปหาอีกครั้ง
ภูเงี้ยว
กลับเข้าเมืองลาวครั้งนี้ท่านขึ้นภูเงี้ยว ท่านเล่าว่าสัณฐานของภูเงี้ยวเป็นภูเขาสูงชัน ทรงสี่เหลี่ยม มีถ้ำมากมาย และมีค้างคาวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมหาศาล แต่แปลกที่ไม่มีกลิ่นของขี้ค้างคาวปรากฏเลย
หมู่บ้านประหลาด
ที่เหลือเชื่อยิ่งขึ้นคือท่านพบหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่เชิงภูเงี้ยว มีครอบครัวชาวบ้านอยู่รวมกันราว 10 หลังคาเรือน คนทั้งหมดไม่ว่าหญิงชาย เด็กหรือคนหนุ่มสาว หรือคนชราล้วนตาบอดกันหมด
แม้บอดตาแต่ไม่บอดใจ พวกเขาทราบว่าท่านเป็นพระธุดงค์ ก็พากันดีใจ ขอนิมนต์ท่านเทศนาโปรดเป็นการใหญ่ อิ่มเอิบทั่วกันในกลางป่าแห่งนั้น
“หลวงปู่ถามไถ่สาเหตุที่พวกเขาตาบอด ก็ได้ความว่าเมื่อก่อนต่างมีอาชีพฆ่าสัตว์ในโรงฆ่าสัตว์อยู่ในเมือง ต่อมาเกิดโรคระบาด เป็นตาแดงกันทั้งหมด รักษาไม่หาย จนกระทั่งตามองไม่เห็น”
เมื่อตาบอดแล้วก็เป็นปัญหาในการอยู่ร่วมกับสังคม ทางการลาวจึงจัดที่อยู่ให้ และฝึกสอนอาชีพจักสานและงานฝีมือให้ได้ทำอยู่ที่นั่นเป็นที่เวทนาแก่หลวงปู่ ยิ่ง
กลับวัดเทพสิงหาร
หลวงปู่เครื่องใช้ชีวิตในเมืองลาวคราวนี้นานถึง 10 ปี จนกระทั่งอายุได้ 73 ปี จึงเดินทางกลับเมืองไทยสู่บ้านเกิด บ้านนายูง เข้าสู่วัดเทพสิงหารอีกครั้ง และอยู่อย่างมั่นคงที่นี่ไม่หนีไปไหนอีก อยู่เป็นหลักชัยแห่งการประพฤติปฏิบัติให้ชาวพุทธแถบนั้นยึดเหนี่ยวเป็น ตัวอย่างสืบไป
ปู่เครื่องกับปู่แหวน
หลวงปู่เครื่องกับหลวงปู่แหวนแห่งดอยแม่ปั๋ง ทั้งสองท่านรู้จักคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เคยพบกันและเคยพำนักด้วยกันแต่ครั้งต่างยังโคจรอยู่ในแผ่นดินลาว และเมื่อพรากจากกันแต่คราวนั้นก็ไม่ได้พบกันอีกจนกระทั่งวันที่ 23 ก.พ. 2520 เวลาบ่ายโมงตรง คณะของหลวงปู่เครื่องก็ได้เดินทางขึ้นดอยแม่ปั๋ง ทำให้การพบกันครั้งนี้มีความหมายและความน่ารักน่าอบอุ่นปรากฏขึ้นอีก
บทสนทนาต่อจากนี้ถอดออกจากเทปบันทึกเสียง มีหลายท่านได้ฟังและได้อ่านมักกล่าวแสดงความชื่นชมว่าน่ารักมาก สำหรับภิกษุชรา 2 ท่าน ได้ฟื้นความหลังกัน
หมายเลข 1 จะแทนตัวหลวงปู่แหวน
หมายเลข 2 จะแทนตัวหลวงปู่เครื่อง
1. “อายุเท่าใดแล้ว อายุล่วงไปกี่ปี”
2. “ร้อยกว่า”
1. “ร้อยเท่าใด”
2. “ร้อยเก้า”
1. “ร้อยเก้าหรือ”
2. “จะร้อยสิบเต็มในวันที่ 11 พฤษภาคมที่จะถึงนี้”
1. “สาธุ มาคนเดียวก้อ หูยังยินก้อ ตายังดีอยู่เนาะ”
2. “หูยังดี ตายังดีอยู่”
1. “อันนี้ตาเทียม ตาจริงมัวหมดแล้ว” ปู่แหวนชี้ที่แว่นตาของท่านเอง
2. “มาจำพรรษาที่นี่นานหรือยัง”
1. “ได้สิบสี่ปี สิบห้าปีแล้วเน้อ”
อาจารย์หนูกล่าวย้ำ “มาอยู่ที่นี่ได้สิบห้าปีแล้ว”
พระราชสิทธาจารย์ “หลวงปู่แหวนนี่อยู่มาหลายที่ เมื่อก่อนอยุ่บ้านเต่าเห่โน่น หลวงปู่แหวนเป็นพระลูกวัด ส่วนอาจารย์หนูเป็นเจ้าอาวาส”
อาจารย์หนู “ทหารเขาเอาคนหนุ่มมาเป็น คนแก่ไม่เอา”
2. “คนแก่เป็นทหารไม่ได้นะ”
1. “จำเป็นต้องเป็นเจ้าปู่เจ้าตาต่อไป” และกล่าวต่อไปอีกว่า “ปู่หม่อน ปู่หม่อน” (หมายถึงปู่ทวด)
1. “แต่เดิมอยู่บ้านใดก้อ”
2. “บ้านนายูง”
1. “บ้านผือ บ้านนายูงนี้ก้อ”
2. “ใช่แล้ว”
1. “บ้านนายูง บ้านน้ำซึม เคยไป”
หลวงปู่เครื่องเอะอะว่า “นึกว่าใคร จำได้แล้ว”
1. “มีบ้านนาหมี นายูง นาต้องเน้อ แต่เดิมเป็นป่ามืดน้อ”
2. “จำได้อยู่ เคยไปอยู่ร่วมกัน แต่มันนานมาแล้ว”
1. “เมื่อปี 2461 อยู่จำพรรษาบ้านคำต้องเน้อ สมัยนั้นเป็นป่าดง คนไปฆ่าสัตว์กันมาก เดี๋ยวนี้จึงมาเกิดเป็นคนเต็มบ้านเต็มเมือง”
2. “ขอนั่งตามสบายนะ”
1. “เอ้า, นั่งตามสบาย เหยียดแข้ง เหยียดขาให้สบายเน้อ”
2. “ไม่ไปเยี่ยมบ้านบ้างหรือ”
1. “ไปเยี่ยมแต่ปี 2461 บรรดาญาติโยมมาตามเอาที่บ้านนาหมีนายูง ไปอยู่สามวันมีคนมาเยี่ยมเจ็ดแปดสิบหมู่บ้านจึงอยู่ต่อไปอีก ถึงเดือน 7 ขึ้น 3 ค่ำ ขอลาศรัทธาญาติโยมทุกๆ คนเน้อ ลาครั้งนี้ไม่มีกำหนดเน้อ” หลวงปู่แหวนกล่าวต่อไปอีกว่า “ตั้งแต่นั้นมาไม่ได้ไปอีกเลย”
พระราชสิทธาจารย์ “มีลูกหลานมาเยี่ยมบ้างไหม”
1. “มีเหมือนกันแต่จำเขาบ่ได้” แล้วหันมาถามหลวงปู่เครื่องว่า “เคยไปเรียนหนังสือกับอาจารย์หงษ์ อาจารย์สิวที่บ้านลาเขาใหญ่ อุบลฯ บ้างหรือไม่”
2. “เคยไปอยู่สี่ห้าปี”
1. เมื่อแต่ก่อนเคยไปเหมือนกัน ครูบาอาจารย์เอาหนังสือไส่หลังช้างมามากเน้อ”
พระเจ้าอยู่หัวเสด็จเยี่ยม
เดือนพฤศจิกายน 2519 พระเจ้าอยู่หัวเสด็จเยี่ยมพสกนิกรที่บ้านน้ำทรง ต.นางัว อ.น้ำโสม จ.อุดรธานี หลวงปู่เครื่องได้เข้าเฝ้ารับเสด็จพระเจ้าอยู่หัวและกราบบังคมทูลความประสงค์จะก่อสร้างพระอุโบสถวัดเทพสิงหาร พระเจ้าอยู่หัวทรางพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ถวายพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 28,000 บาท เป็นทุนเริ่มต้นในการก่อสร้างพระอุโบสถบรรดาข้าราชบริพารร่วมกันถวายเพิ่ม เติมอีก 35,000 บาท
ภายหลังพระอุโบสถสร้างสำเร็จ พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระปรมาภิไธยย่อ “ภปร.” ไว้ประดิษฐานที่หน้าบันพระอุโบสถด้วย
อภินิหาร
กำนันสุรชาติ ชำนาญศิลป์ ส.ส.อุดรธานีเล่าว่า เคยถูก ผกค. กลุ่มหนึ่งจากภูซาง ใกล้อำเภอน้ำโสม จับตัวไปเรียกค่าไถ่ ตอนกลางคืนผกค.หลับยาม ก็พยายามดิ้นรนเพื่อให้หลุดจากเชือกที่พันธนาการตนเอง แต่ก็ดิ้นไม่หลุด จนเหนื่อยและอยากจะหลับ ก่อนหลับได้อธิษฐานขอบารมีหลวงปู่เครื่องให้ช่วย จนกระทั่งในที่สุดก็หลับไปด้วยความเหนื่อยอ่อน
พอลืมตาตื่นในวันรุ่งขึ้นเชือกที่พันธนาการหลุดออกหมด
ผกค.หายตัวไปหมด
ไม่ทราบว่าใครมาช่วยหรือผกค. เกิดเปลี่ยนใจอย่างไร
พอลงจากภูซางได้ก็รีบบึ่งไปกราบหลวงปู่เครื่องและถวายตัวเป็นศิษย์แต่นั้นมา
มรณภาพ
วันที่ 26 พฤศจิกายน 2523 หลวงปู่เครื่องได้มรณภาพลง ในขณะมีอายุได้ 112 ปี
ปัจจุบันอัฐิธาตุของท่านประดิษฐานอยู่ที่วัดเทพสิงหาร ศิษย์หรือใครก็ตามสามารถไปนมัสการได้ทุกวัน…
(ข้อมูลจากนิตยสารศักดิ์สิทธิ์) พิมพ์โดย …. คนเฝ้าสวน