อีสานสนุก
เขียนโดย ยสธสาร
(นามปากกาของอำพล เจน ใช้สำหรับเขียนคอลัมน์”อีสานสนุก”ในนิตยสารแปลกรายสัปดาห์ระหว่างปี 2525 – 2533)
————————
ก็เป็นอันว่าเอาเข้าให้อีกแล้ว
ไม่ใช่เรื่องปฏิวัตินั่นหรอก ผมเจียมตัวพอ สำหรับเรื่องใหญ่ ๆ อย่างนั้น
รถเมล์บ้าระห่ำชนวินาศสันตะโรอีกแล้ว
ข่าวว่าทั้งตายและเจ็บร่วมยี่สิบอยู่แถว ๆ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิค่ำวันที่ ๑๕ นี้
รถเมล์คันนี้คือรถเบอร์ ๘ วิ่งจากสะพานพุทธถึงลาดพร้าว
ตั้งแต่ออกจากต้นทางสะพานพุทธก็ตะบึงมาเรื่อย ด้วยความเร็วอย่างที่เรียกว่าจอดไม่เป็น
คนโดยสารที่รอขึ้นตามป้ายรายทาง ก็อย่าไปหวัง ถ้าเผอิญป้ายนั้นไม่มีคนโดยสารลง
เป็นของแน่นักว่า คงมีบ้างที่ได้ลงพร้อมของแถมอีกป้ายสองป้าย
ผมเคยเจอกับตัวเองแบบนี้อยู่บ่อย ๆ และต้องได้เคยต่อไปอีกเรื่อย ๆ
ถึงใครๆก็ต้องเคยอย่างนี้เข้าบ้างแต่ไม่รู้ว่าจะไปร้องแรกแหกกระเฌอที่ไหนจึงจะมีผลสะท้อนกลับ
เพราะร้องไปทุกทีก็เงียบ
รถเมล์มฤตยู (เรียกตามข่าวหนังสือพิมพ์) คันนี้แหกโค้งอนุสาวรีย์พุ่งเข้าชนทั้งรถแท็กซี่ รถเมล์ด้วยกัน และคนโดยสารที่ยืนรอรถกันเต็มฟุตปาธ กับแม่ค้าหาบเร่
ก่อนจะไปหยุดสนิทที่ศาลาที่พักคนโดยสาร ซึ่งสุดท้ายพังยับเยินไปเหมือนกัน
ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลยที่มีการชนมโหฬารอย่างนี้เพราะขับบรรลัยมาอย่างนั้น
ไม่แปลกอะไรเลยที่พอชนแล้วคนขับก็หายวับไปเหมือนตี๋ใหญ่ดำน้ำหนีตำรวจ
ไม่แปลกอะไรที่จะให้การว่าเบรคแตกเพราะรถขสมก. ชนทีไรก็เบรคแตกทุกที
และยี่งไม่แปลกใหญ่ที่กระเป๋าจะไม่รู้จักนามสกุลลูกพี่ตีนปีศาจ
ต้องช่วยอำพรางให้ยากเข้าไว้ก่อนช่วยเหลือกันไว้ พลาดท่าพลาดทางถูกจับไปลูกเมียคนขับตีนปีศาจที่อยู่หลังจะเดือดร้อนลำบาก เนื่องจากหัวหน้าครอบครัวเสวยตะราง
แต่คนตายเจ็บไม่ยักกะเป็นงั้น
ช่างมัน ไม่รู้จักมักจี่กัน ว่างั้นเถอะ
ว่ากันจริง ๆ ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิแทบจะกล่าวได้เต็มปากเต็มคำว่าเป็นศูนย์กลางการจอดรถเมล์ เพราะมีคนโดยสารขึ้นลงมาก
รถเมล์ทุกคันต้องจอด เมื่อเข้าป้ายต้องชะลอความเร็วลงบ้าง ถึงเบรคแตกอย่างไรก็จะไม่ถึงกับชนยาวเหยียดเป็นบัญชีหางว่าวอย่างนั้น
นี่มันไม่ชะลอเลยซีครับ รถแท็กซี่คันหนึ่งกับรถเมล์อีกคันหนึ่งยังหยุดมันไม่อยู่ ต้องอาศัยศาลาที่พักคนโดยสารถึงจะหยุดมันได้และลองนึกภาพดูเถอะว่าคนโดยสาร ที่บริเวณรอบ ๆ อนุสาวรีย์ชัยฯมีมากแค่ไหน
ขนหัวลุก
คราวก่อนที่สี่แยกสะพานควายก็หนหนึ่ง ชนรั้วเหล็กกั้นฟุตปาธยับเยิน แล้วเข้าไปจอดสนิทในร้านขายทอง
แม่ค้าหาบเร่หน้าร้านทองตายคาที่
นั่นก็เบรคแตก
สี่แยกสะพานควายแท้ๆใครก็รู้ว่ารถติดขนาดไหนมันยังแล่นทะลวงลึกเข้าไปชนได้ระดับนั้น
ไม่รู้เกิดบ้าอะไรขึ้นมา
ความจริงเรื่องคนขับเกิดบ้านี่แหละเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุสยองทำนองนี้ บ่อยๆ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้บ้านั้นเท่าที่สังเกตได้ชัดนั้น เกิดจากการไม่ยอมรับสภาพความเป็นจริงในหน้าที่ของตน คือไม่ยอมรับว่าตนเองเป็นคนขับรถเมล์ ซึ่งหน้าที่สำคัญคือการรับส่งผู้โดยสารขึ้งลงตามจุดที่พวกเขาต้องการ
บางครั้งผู้โดยสารลงถี่ป้ายเกินไปและลงน้อยมากคือป้ายละคนก็เกิดความไม่พอใจ จึงทำให้มีแรงต่อต้านขึ้นมาคือป้ายหน้าใครก็ไม่ต้องลงล่ะวะ ป้ายนู้นๆค่อยลงก็แล้วกัน
แถมให้มันสักป้ายสะใจดี
พฤติกรรมอย่างนี้ทางจิตศาสตร์เขาเรียกว่า “แรงกระตุ้น” (MOTIVATION)
ซึ่งบางครั้งก็ค้นหาสาเหตุได้ว่าทำไมจึงต้องทำอย่างนั้นและบางครั้งก็ค้นหา สาเหตุไม่ได้ จึงมักมีคำถามปรากฎเสมอว่า “ทำไมคนเราจึงแสดง พฤติกรรมต่าง ๆ อย่างนั้นอย่างนี้ออกมา “
ฟรอยด์ เชื่อว่าคนเราไม่รู้สำนึกเสมอไปในเรื่องต่างๆที่เราต้องการ แต่พฤติกรรมต่าง ๆ นั้นเป็นผลสะท้อนของแรงกระตุ้นภายในจิตใต้สำนึก
แรงกระตุ้นหรือแรงจูงใจนี้อาจมองเห็นได้ (OVERT) หรืออาจมองไม่เห็น (COVERT)
ซึ่งบางครั้งจะทายไม่ได้เลยว่าอะไรเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดพฤตนิกรรมอย่างนั้นออกมา
เพราะแม้ในบางครั้งเจ้าตัวผู้สร้างพฤติกรรมอันนั้นก็ยังไม่รู้ตัวเองด้วยซ้ำไปว่าทำไมจึงทำอย่างนั้น
ผมเชื่ออยู่ประการหนึ่งว่า คนเรามีความต้องการอย่างหยาบ ๆอยู่สองแบบ
อันแรกคือความต้องการทางร่างกายคือถ้าหิวก็ต้องแสวงหาของกิน เวลาหิวใครพูดดีก็อาจฟังเป็นร้าย เห็นอะไรขวางหูขวางตาไปหมด ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้จิตใจหงุดหงิดไม่สบาย
อารมณ์บูดเน่าได้ง่าย ๆ
อันที่สองคือความต้องการทางจิตใจ เป็นภาวะที่จิตใจขาดแคลนบางสิ่งบางอย่างที่ต้องการ หรือไม่ก็อาจเกิดจากการกระทบกระเทือนจิตใจ ความต้องการชื่อเสียง ความต้องการเกียรติยศ ความต้องการแสดงตน ความต้องการคำยกย่องชมเชย ถ้าไม่ได้รับสิ่งเหล่านี้จะทำให้รู้สึกไม่พอใจ ไม่สบายใจ อารมณ์บูดเน่าได้ง่าย ๆเหมือนกัน และอาจเปลี่ยนเป็นความกระตือรือร้น ที่จะแสวงหาสิ่งที่ตนเองต้องการหรืออาจทำอะไรที่รุนแรงดุเดือดขึ้นมาได้เช่น กัน
สภาวะอันนี้เรียกว่า “แรงขับดัน” (DRIVE)
ซึ่งแรงขับดันอันนี้เป็นสภาวะความเครียดที่เกิดขึ้นในขณะที่กำลังเกิดความ ต้องการ จัดเป็นกระบวนการภายในจิตใจที่จะเพิ่มพลังให้แก่พฤติกรรมนั้นๆ โดยอาจได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมเป็นตัวเสริมส่งให้พฤติกรรมดุเดือดขึ้นไป อีกได้
มูลเหตุและเหตุผลเหล่านี้ลองนึกดูซีครับว่าถ้าไปเกิดขึ้นกับใครก็ตามที่กำลังเป็นผู้นำซึ่งรับผิดชอบต่อมวลชน ผลดีร้ายจะตกอยู่กับใคร
คนขับรถเมล์มหาประลัยอาจอยู่ในประเด็นนี้ คือกำลังแสดงพฤติกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการบางอย่างของเขา มิหนำซ้ำอาจได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมคืออากาศร้อน รถติด หิว หรืออย่างอื่นๆ ก็เลยส่งผลให้ขับรถมหาวินาศสันตะโรจนเป็นเหตุให้มีคนตายเจ็บดังกล่าว
สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเลยหรือเกิดขึ้นได้ยากถ้าคนเรามีการรับรู้ (PERCEPTION) โดยเฉพาะการรับรู้อย่างถูกต้องคือรับรู้ว่าหลังจากก่อพฤติกรรมอย่างนี้แล้ว ผลที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร และอาจเลยไปถึงความรับผิดชอบ ซึ่งอันหลังนี้จะเป็นตัวเบรคแรงขับบ้าๆ บอๆไว้ได้อย่างดี แต่ในบางคนก็มีความรับผิดชอบน้อยมาก จึงมักปรากฎเรื่องเศร้าสลดทำนองนี้อยู่เสมอ
รถสองแถวรับส่งคนโดยสารในซอยวัดบัวขวัญบ้านผมก็มีพฤติกรรมทำนองนี้บ่อย ๆ เคยสลัดผู้หญิงท้องตกจากท้ายรถหวิดตายมาหนหนึ่งเพราะเกิดบ้าขึ้นมา
ยังกับม้าพยศ
ที่เจอกับตัวเองก็มีคือพอขึ้นไปยืนโหนราวในกระบะท้ายก็เล่นเอาใจหวิว พอคนขับเหยียบคันเร่งพุ่งไปปานลมพัด ทั้งโฉบซ้ายโฉบขวาวูบๆ วาบๆ
ผมให้นึกสงสัยว่ามันเกิดบ้าอะไรขึ้นมา มองลอดกระจกหลังเข้าไปดูคนขับ
มือขวาจับพวงมาลัย มือซ้ายถือนาฬิกาจับเวลา
มันกำลังจะทำสถิติโอลิมปิก
ผมงี้คลำหัวใจไม่เจอ
นับว่าโชคดีมากที่รอดมาได้
นึกๆ แล้วก็อดเห็นใจคนโชคร้ายเพราะรถเมล์เบอร์ ๘ นั้นไม่ได้จริง ๆ
งานเขียนของคุณอาอำพล เจน … จากหนังสือแปลก ฉบับที่ 500
วันที่ 24 กันยายยน 2528
——————————————————————————–