ทุ่งกุลาร้องไห้-Tropical Savannah Climate

ทุ่งกุลาร้องไห้

เกี่ยวกับทุ่งกุลาร้องไห้ ผมถูกถามบ่อย ๆ ว่ามันอยู่ตรงไหน หรือแม้แต่ตำนานชื่อของมันก็ยังมีผู้สงสัยว่าจริงไหม จริงอย่างไรเสมอ

ทุ่งกุลาร้องไห้มาปรากฎเป็นเรื่องโด่งดังอยู่พักหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ เพราะว่ามีผู้คิดจะเปลี่ยนชื่อเสียใหม่ให้เพราะพริ้งกว่าเดิม

จนมีเสียงโห่ฮามาจากทั่วสารทิศ

ซึ่งก็คงจะยังจำกันได้ว่ามูลเหตุที่คิดจะเปลี่ยนชื่อนั้น มาจากโครงการพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ที่ประสบความสำเร็จดี จนมีผลิตผลเป็นข้าวหอมมะลิดังที่ทราบกันทั่วไปแล้ว

ทั้งๆที่ทุ่งแห่งนี้แห้งแล้ง และกันดารที่สุดกลางแผ่นดินอีสาน

ความกว้างใหญ่ของทุ่งกุลาร้องไห้บอกไปหลายคนอาจตื่นเต้น

ถ้าคิดเป็นไร่ก็มากมายถึง ๒,๑๐๗,๖๙๑ ไร่ หรือเท่ากับ ๓,๓๗๒,.๓๑ ตารางกิโลเมตร

ถ้าเปรียบกับกรุงเทพฯ ก็ใหญ่กว่าถึง ๒.๑ เท่า คือมีพื้นที่เท่ากับสระบุรีทั้งจังหวัด และมีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ปลายเขตถึง ๕ จังหวัดด้วยกัน

เลาะไปตามแนวเขตทุ่งกุลาร้องไห้ จะเห็นว่าทางทิศเหนือนั้นผ่านเข้าไปใน อ.ปทุมรัตน์ อ. เกษตรวิสัย และ อ. สุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

แนวเขตทิศใต้ มีลำน้ำมูลทอดยาวตลอดพื้นที่ อ. ชุมพลบุรี อ. ท่าตูม จังหวัดสุรินทร์

แนวเขตทิศตะวันออกผ่าน อ. ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ อ. มหาชัย จ.ยโสธร

ส่วนแนวเขตตะวันตก มีลำน้ำพังชูทาง อ. พยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม

โดยมีพื้นที่ส่วนใหญ่คือ ๓ ใน ๕ ส่วนอยู่ในเขตจังหวัดร้อยเอ็ด

จึงไม่น่าสงสัยเลยว่าเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานั้น ในขณะที่กรุงเทพฯ หรือที่ไหน ๆ หมกตัวในสายฝน แต่ทำไมร้อยเอ็ดถึงกับต้องแห่นางแมวขอฝน

เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า ทุ่งกุลาร้องไห้แห้งแล้งและกันดารจริง ๆ เมื่อจังหวัดร้อยเอ็ดมีพื้นที่ของความแห้งแล้งกันดารมากก็ย่อมจะต้องประสบ ปัญหา แห้งแล้ง กันดาร อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ภูมิทัศน์ของทุ่งกุลาร้องไห้มีสภาพพื้นที่แบบแอ่งกระทะกว้าง รอบๆ ขอบทุ่งเป็นที่สูงแล้วเทลาดลงตรงกลาง

ลักษณะที่แท้จริงก็เป็นกระทะยาว ๆ

ไม่ใช่กระทะกลมเพราะว่ายาวตลอดแนวตะวันออกจรดตะวันตกถึง ๑๕๐ ก.ม. ความกว้างจากเหนือจรดใต้ ๕๐ ก.ม.

ในทางธรณีวิทยาพบว่า ดินหินชั้นล่างของทุ่งกุลาร้องไห้เกิดจากการสะสมของตะกอนในยุคครีเทเซียส

ซึ่งเป็นยุคของการเปลี่ยนแปลงผิวโลกเมื่อ ๑๔๑ ล้านปี คือเป็นสมัยที่น้ำท่วมโลกครั้งใหญ่ ทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์

ส่วนดินหินชั้นบนที่ทับอยู่นี้ เกิดจากตะกอนที่สะสมอยู่ในยุคเทอร์เชียรี

ซึ่งเป็นระยะที่ผิวโลกเปลี่ยนแปลงเมื่อ ๖๕ ล้านปี

เป็นยุคที่ทวีปส่วนใหญ่เกิดแผ่นดินงอกขึ้น และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเกิดขึ้น

ลักษณะรวม ๆ ของดินหินชั้นนี้ประกอบด้วยหินตะกอน หินดินดานและหินทราย ซึ่งเรียกด้วยศัพท์เฉพาะทางธรณีวิทยาไทยว่า ดินหินชุดมหาสารคาม พบว่ามีเกลือละลายปนอยู่ค่อนข้างสูง บางช่วงมีหินเกลือปะปนอยู่ค่อนข้างสูง บางช่วงมีหินเกลือปะปนอยู่เป็นชั้นหนา ๆ ถึง ๒๕๐ เมตร ทีเดียว

เฉพาะดินชั้นบนที่มีความหนาประมาณ ๓๐ ซ.ม. เป็นดินร่วนปนทราย ดินเป็นกรดปานกลาง ดินชั้นล่างบางช่วงเป็นดินเหนียวปนทรายเป็นดินจืด ไม่มีแร่ธาตุ อาหาร อันจะช่วยหล่อเลี้ยงต้นไม้ให้เจริญเติบโต

เรียกว่าเป็นดินคุณภาพต่ำนั่นเอง

นอกจากนั้นสภาพภูมิอากาศของทุ่งกุลาร้องไห้ ก็เป็นอย่างทุ่งหญ้าเขตศูนย์สูตร (Tropical Savannah Climate) คือมีฝนตกเป็นช่วง ๆ พื้นที่มีการระบายน้ำเลว ถ้าฝนตกจะเกิดน้ำท่วมฉับพลัน แถมดินก็ไม่อุ้มน้ำเสียอีกด้วย ดังนั้นพอฝนทิ้งช่วงก็จะแห้งแล้งทันที บางแห่งแตกระแหงบางแห่งมองเห็นเม็ดเกลือเล็ก ๆ ขึ้นจับหน้าดินขาวพราวไปทั้งทุ่ง

แม้ว่าทุ่งกุลาร้องไห้จะมีลำน้ำสำคัญหลายสายไหลผ่าน เช่นลำน้ำมูล ไหลผ่านทางใต้, ลำพลับพลาไหลผ่าน อ. พยัคฆภูมิพิสัย จ. มหาสารคามไปรวมกับลำน้ำมูลในเขต อ. ท่าตูม จ. สุรินทร์, ลำเสียงใหญ่ไหลผ่าน อ. วาปีปทุม จ. มหาสารคาม และ อ. เกษตรวิสัย อ. สุวรรณภูมิ จ. ร้อยเอ็ดไปรวมกับลำน้ำมูลที่ อ.ราษีไศล จ. ศรีสะเกษ, ลำเสียงน้อยไหลจาก อ. เกษตรวิสัย ไปรวมกับลำเสียงใหญ่ ที่ บ้านเปลือย อ. สุวรรณภูมิ, ลำเตาไหลจาก อ. พยัคฆภูมิพิสัยไปรวมกับลำเสียงใหญ่ที่ อ.เกษตรวิสัย และทางด้านตะวันตกของทุ่งมีลำพังชูไหลผ่าน อีกทั้งยังมีห้วยเล็ก ๆ ไหลผ่านอีกด้วย

แต่เนื่องจากทุ่งกุลาร้องไห้มีพื้นที่เทลาด ต่ำจากตะวันตก ไปตะวันออก ต่างระดับกันถึง ๑๒ เมตร ดังนั้นสายน้ำเหล่านี้จึงรี่ไหลผ่านไปอย่างรวดเร็ว ครั้นพอหน้าแล้ง ลำน้ำบางสายถึงกับแห้งขอดก็มีบ่อย ๆ

นักธรณีวิทยาและนักโบราณคดีเห็นพ้องต้องกันอยู่อย่างหนึ่งว่า

ในอดีตทุ่งกุลาร้องไห้ เคยเป็นท้องทะเลกว้างมาก่อน

นักธรณี วิทยาพบว่า ดินชั้นล่างเป็นหินตะกอนซึ่งบอกให้รู้ว่าที่นี่เคยมีทะเลมาก่อนรวม ๆ ๑๔๑ ล้านปีมาแล้ว

นักโบราณคดีพบตำนานพื้นบ้านอีสานซึ่งเล่าว่า สมัยหนึ่งที่นี่เคยเป็นที่ตั้งเมืองจำปานาคบุรี ต่อมาน้ำทะเลเหือดแห้ง เมืองบาดาลจึงกลายสภาพเป็นท้องทุ่งกว้างใหญ่ไพศาล อย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

ส่วนตำนานที่เป็นต้นเหตุแห่งการได้ชื่อว่า “ทุ่งกุลาร้องไห้” ก็มีเล่า

ว่ากันว่า “คนกุลา” ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยในพม่าและบ้างก็ว่าเป็นแขกพันธ์หนึ่ง แต่จะอย่างไรก็ตามสิ่งที่พูดตรงกันคือ คนกุลานี้เดินเก่งที่สุด

พวกเขามีอาชีพเร่ขายสินค้าอยู่ระหว่างเมืองฝั่งตะวันออก และตะวันตกของแดนอีสาน

คราวหนึ่งได้ซื้อสินค้าและครั่งจากเมืองอุบลฯ ใส่ถุงกระสอบเที่ยวเร่ขายไปเรื่อย พอถึงเขตเมืองท่าตูมก็อยากจะเดินลัดทุ่งไปขายครั่งที่เมืองป่าหลานที่เห็น อยู่ลิบ ๆ

เดินไปเท่าไหร่ก็ไม่ถึงสักที

ใกล้ตาแต่ไกลตีน

ครั่งที่แบกไปขายก็โยนทิ้งทีละน้อย เพราะหนักเหลือเกิน พอถึงหมู่บ้านหนึ่งเข้าก็พบว่า มีคนอยากซื้อครั่งเป็นจำนวนมาก และครั่งที่พวกเขาอยากจะซื้อ ตนเองก็โยนทิ้งเสียระหว่างทางหมดแล้ว

ก็เลยร้องไห้เพราะเสียใจ และเสียดาย

ใครๆเห็นเข้าก็คงจะตกใจ เพราะว่าชนเผ่าที่ว่ามีน้ำอดน้ำทนเป็นเลิศถึงกับต้องร้องไห้ร้องห่ม

ชื่อทุ่งกุลาร้องไห้ จึงได้มาเพราะเหตุนี้

บริเวณที่คนกุลาทิ้งครั่งไว้เดี๋ยวนี้เรียกว่า บ้านครั่งน้อย และบ้านครั่งใหญ่

ในเขตท้องทุ่งกันดารนี้ ใช่จะไร้ผู้คนอาศัยก็หาไม่ มีชาวบ้านประมาณ ๔๐๕,๒๕๔ คน ใช้พื้นที่เพาะปลูกประมาณ ๘๓.๕๕ เปอร์เซ็นต์ เป็นที่นา ๘๐.๙๐ เปอร์เซ็นต์ พื้นที่ไร่ ๒.๑๕ เปอร์เซ็นต์ เคยทำนาได้ผลผลิต ๑๐-๑๕ ถัง ต่อไร่มาก่อนปัจจุบันนี้คงได้มากขึ้นกว่านี้แล้ว

นี่เป็นชาวทุ่งกุลาวันนี้ แต่ในอดีตชาวทุ่งกุลาสร้างหลักฐานทางอารยธรรมไว้บอกคนรุ่นหลังไม่น้อยเลย

อย่างเช่น ปรางค์กู่ พระโกนาและกู่กาสิงห์ ในเขตอ.สุวรรณภูมิ บอกให้รู้ว่าทุ่งกุลานี้เคยเป็นเส้นทางคมนาคมของขอม โดยเดินจากเมืองหลวงคือนครธม ไปยังปราสาทหินพนารุ้ง ปราสาทหินพิมาย และปราสาทหินอีกหลายๆแห่งทั่วภาคอีสาน

เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีการค้นพบเครื่องปั้นดินเผาและโครงกระดูกมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ในทุ่งกุลร้องไห้ อีกด้วย

ยิ่งต้องเชื่อถือในอดีต ของทุ่งกันดารนี้มากขึ้น

หลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นเรื่องราวของทุ่งกุลาร้องไห้ กำลังรอการเปิดเผยอยู่อย่างเงียบ ๆ ในวันหนึ่งแน่ ๆ

ถึงวันนั้นคงได้คุยกันขรมอีก

แต่วันนี้เราคุยกันแค่นี้ก่อนนะครับ

จะรีบไปดูบอลตู้

——————————————————————-
งานเขียนของคุณอาอำพล เจน  … จากหนังสือแปลกฉบับที่ 538
วันที่ 17 มิ.ย. 2529
——————————————————————-
แชร์ :

ความคิดเห็น

** โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างมีวิจารณญาน