หลวงปู่ฟอร์จูนเนอร์

หลวงปู่คำจันทร์ ปัญญาโภ (หลวงปู่ ป้อ ปัญญาโภ)
วัดมหาโพธิญาณชัยสถานมงคล(วัดบ้านเมย)
บ.เมย ต.ดงลิง อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์
———-

สมญานาม “หลวงปู่ฟอร์จูนเนอร์” มีที่มาจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นราวๆเดือนพฤษภาคม ปี 2561 รถตู้คอนเทนเนอร์พลิกคว่ำทับรถฟอร์จูนเนอร์จนบี้แบน คนขับรถฟอร์จูนเนอร์รอดตายปาฏิหารย์ มีเพียงอาการบาดเจ็บเล็กน้อยที่แขนข้างหนึ่งเท่านั้น

หลายคนเชื่อกันว่าคนขับรถฟอร์จูนเนอร์รอดตายเพราะตะกรุดของหลวงปู่คำจันทร์

(คลิปสัมภาษณ์คนขับรถฟอร์จูนเนอร์ : https://youtu.be/4ha0YMr4Z2A)

คนขับรถผู้รอดชีวิตเป็นชาวบุรีรัมย์ มาเป็นเขยบ้านเมย พี่ชายภรรยาของเขาบวชเป็นพระภิกษุอยู่กับหลวงปู่คำจันทร์  ได้เป็นผู้มอบตะกรุดให้

ลักษณะเป็นตะกรุดคาดเอวมีหลายดอกร้อยอยู่ในเชือกสายเดียว

พระพี่ชายภรรยาได้เล่าว่าเป็นผู้ไปหาแผ่นทองเหลืองหรือทองแดงมาขอหลวงปู่ทำให้ด้วยตนเอง

หลวงปู่คำจันทร์ยังได้ทำตะกรุดโทนไว้แจกจ่ายจำหน่ายอีกด้วย  ส่วนใหญ่เป็นตะกรุดเก่า ทำไว้นานปีมาแล้ว

ได้ยินว่าตะกรุดโทนที่ยังมีเหลืออยู่ไม่กี่ดอกในเวลานี้ ได้ทำขึ้นพร้อมกันหรือใกล้เคียงกันกับตะกรุดสายที่คนขับรถฟอร์จูนเนอร์พกติดตัว

ลักษณะการประสิทธิตะกรุดหรือของขลังบางชนิดให้แก่ใครๆ หลวงปู่คำจันทร์จะทำให้เฉพาะเป็นรายๆไป อย่างเช่นเมื่อเวลาส่งมอบตะกรุดโทนให้แต่ละคน ท่านจะสวดมนต์กำกับให้ไม่เหมือนกัน

เฉพาะผมเองนั้น ท่านสวดมงกุฏพระพุทธเจ้าให้  เป็นเหตุให้รู้สึกแปลกใจ อย่างกับท่านล่วงรู้ว่าเป็นคนเกิดวันอาทิตย์และชอบสวดพระคาถานี้บ่อยๆ .. เรื่องนี้อาจบางทีเป็นเหตุบังเอิญ

หลังจากสวดเสร็จแล้วบอกให้คาดเอวไว้ แม้จะตั้งใจเอาไว้ประจำรถก็ตาม  พร้อมทั้งเล่าว่า  แต่เดิมตะกรุดมีข้อห้ามหลายข้อ ลูกศิษย์จึงมักจะถอดตะกรุดออกเมื่อจะต้องทำกิจอันใดซึ่งเป็นการผิดข้อห้าม  แล้วก็มักจะลืม  ตะกรุดก็เลยหายไปเพราะลืมนี่เอง ท่านจึงทำตะกรุดโทนชุดนี้(ตะกรุดฟอร์จูนเนอร์)ให้เป็นตะกรุดไม่มีข้อห้ามอะไรเลย ขี้เยี่ยวก็ไม่ต้องถอด เดินลอดโน่นนี้ได้หมด อยากกินนั่นนี่ก็กินให้สนุกปาก  แม้นอนกับผู้หญิงก็ไม่ต้องถอดอีกด้วย

 

จะว่าไป วัตถุมงคลและเครื่องรางต่างๆนั้น  นอกจากเหรียญแล้ว ท่านทำอย่างอื่นไว้เยอะเหมือนกัน อย่างเช่นปลัดขิก สีผึ้ง ก็มีทำด้วย

เกี่ยวกับเหรียญรุ่นแรก – รุ่น ๓ นั้น มีผู้เล่าให้ฟังว่า

สมัยที่ท่านอยู่วัดสวนโคก ได้ออกเหรียญรุ่นแรกอยู่ที่วัดนั้นระหว่างปี ๒๕๑๖ ทำเป็นเหรียญรูปไข่ ด้่านหน้าเป็นรูปเหมือนครึ่งองค์ ด้านหลังเป็นอักขระคาถายันต์ผูกเป็นรูปยันต์ดวง จำนวนสร้าง 9,999 เหรียญ เจตนาจัดสร้างขึ้นเพื่อหารายได้สมทบทุนสร้างศาลาการเปรียญ วัดบ้านสวนโคก สร้างเพียงเนื้อทองแดงรมดำอย่างเดียว

ต่อมาย้ายไปอยู่วัดสมัยสำราญ บึงกาฬ ได้มีการสร้างเหรียญรุ่น ๒ ขึ้นในปี 2528 คุณวิวัฒน์ และครอบครัว ได้ขออนุญาตจัดสร้างเพื่อหาปัจจัยสบทบทุนสร้างศาลาและพระอุโบสถ เป็นเหรียญรูปทรงน้ำเต้า หลวงปู่นั่งเต็มองค์ จำนวนจัดสร้าง 9,999 เหรียญ (ขออภัยไม่มีภาพแสดง)

ส่วนเหรียญรุ่นที่ ๓ จัดสร้างขึ้นที่วัดบ้านเมยที่ท่านพำนักอยู่ในปัจจุบัน โดยจัดสร้างขึ้นเมื่อปี 2559 หลวงปู่มีดำริให้จัดสร้างเหรียญรุ่น 3 ขึ้น โดยถอดแบบจากเหรียญรุ่นแรกทุกประการ เพียงเปลี่ยนชื่อวัดบ้านสวนโคก เป็นวัดบ้านเมย จำนวนสร้าง 5,999 เหรียญ สร้างด้วยเนื้อทองแดงรมดำอย่างเดียว เพื่อหาปัจจัยสร้างพระอุโบสถจนแล้วเสร็จ

เหรียญทั้ง ๓ รุ่นนี้ จะถือเป็นเหรียญรุ่นแรกของแต่ละวัดก็ยังได้

เฉพาะเหรียญรุ่น ๓ ที่ออกอยู่วัดบ้านเมยนั้น ชาวบ้านเรียกว่า “เหรียญเปาบุ้นจิ้น” ถามว่าทำไมจึงเรียกเช่นนั้น พวกเขาตอบว่าไม่ทราบเหมือนกัน หลวงปู่เรียกเอง จึงเรียกตามๆกันมา

หลวงปู่คำจันทร์เป็นพระแบบลูกทุ่งโบราณลาว-อีสานแท้ๆ เหมือนจะดุ แต่ใจดี มีอารมณ์ขัน

องค์ท่านเพิ่งมาอยู่ วัดบ้านเมย ได้ประมาณ ๓ ปี สร้างโบสถ์ที่วัดนี้จนเสร็จ ๑ หลัง

ได้ยินว่าก่อนหน้านั้นท่านสร้างโบสถ์มาแล้ว ๒-๓ หลัง

—-

ประวัติโดยสังเขป :

พระครูปริยัติยานุวัตร (คำจันทร์ ปญฺญาโภ)

ชาติภูมิ

หลวงปู่คำจันทร์ ปญฺญาโภ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 4 เดือน สิงหาคม พ.ศ. 2475 ตรงกับวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 9 ปีวอก ในตระกูล “ทองห้า” บิดาชื่อ นายพรหม ทองห้า มารดาชื่อ นางคำมา ทองห้า มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันจำนวน 5 หลวงปู่เป็นคนที่ 2 ซึ่งพี่น้อง 5 คนประกอบด้วย

1. นายสนั่น ทองห้า เสียชีวิตแล้ว
2. นายคำจันทร์ ทองห้า (หลวงปู่คำจันทร์ ปญฺญาโภ)
3.นางทองใส ศรีชูยงค์ เสียชีวิตแล้ว
4. นายสำเนียง ทองห้า
5. นางลำไพ ศรีประเสริฐ

หลวงปู่คำจันทร์ ปญฺญาโภ เกิดที่บ้านสวนโคก ต.ดงลิง อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์

เด็กชายคำจันทร์ ในวัยเด็กมีนิสัยชอบสันโดษ ไม่ค่อยจะซุกซนเหมือนกับเด็กวัยเดียวกัน บิดาและมารดามักจะพาไปทำบุญที่วัดบ้านสวนโคกอยู่เสมอ พออายุเข้าโรงเรียน พ่อแม่ก็ได้ส่งเข้าเรียนที่โรงเรียนสวนโคกเมยวิทยา (ชื่อเดิม) จนจบชั้น ป.4 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของโรงเรียนในตอนนั้น เด็กชายคำจันทร์ เป็นคนเรียนเก่ง ฉลาดเฉลียว เป็นเด็กว่านอนสอนง่าย ชอบช่วยเหลืองานการของบิดามารดาอย่างดี
หลังจากจบชั้นป.4 แล้วไม่ได้เรียนต่อที่ไหนด้วยฐานะทางบ้านยากจน จึงได้ออกมาช่วยพ่อแม่ทำนา หาเลี้ยงชีพชอบตามวิถีชีวิตของชาวบ้านตามชนบททั่วไป

หลวงปู่คำจันทร์ ปญฺญาโภ บรรพชาและอุปสมบทเมื่อ ปี พ.ศ. 2497 ที่วัดบ้านเมย ต.ดงลิง อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ โดยมีพระครูสถิต ปุญญาคม เจ้าอาวาสวัดบ้านสวนโคก และเป็นเจ้าคณะตำบลดงลิง เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระอาจารย์มี ปภากโร วัดบ้านโนนเมือง และพระอาจารย์สุวิทย์ วัดบ้านดอนหวาย เป็นกรรมวาจาจารย์ หลังจากบวชได้ระยะหนึ่งก็ได้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านสวนโคก และศึกษาหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนากับพระครูสถิตย์ ปุญญาคม จนแตกฉาน

ปี พ.ศ. 2498 สอบได้นักธรรมตรี
ปี พ.ศ. 2499 สอบได้นักธรรมโท
ปี พ.ศ. 2503 สอบได้นักธรรมเอก
ปี พ.ศ.2505 ได้รับแต่งตั้งเจ้าอาวาสวัดบ้านเมย และแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลดงลิง
ปี พ.ศ. 2511 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์
ปี พ.ศ. 2516 ได้รับการแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะตำบลชั้นตรีในราชทินนาม พระครูปริยัติยานุวัตร
ปี พ.ศ. 2538 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์สัญญาบัตรพัดยศ ชั้นโท ซึ่งตอนนั้นหลวงปู่จำพรรษาที่วัดสมัยสำราญ อ.บึงกาฬ จ.หนองคาย ในขณะนั้น

ครูบาอาจารย์สายวิทยาคมที่หลวงปู่ได้ฝากตัวเป็นศิษย์

1.พระอาจารย์รูปแรก คือ พระครูสถิตย์ ปุญญาคม เจ้าอาวาสวัดบ้านสวนโคก
2.หลวงปู่แพง วัดโพธิ์ร้อยต้น อ.โพนทอง จ.ร้อยเอ็ด
3.หลวงปู่ปัน ปะตะวะโร วัดโพธิ์ศรีบึงไฮ ต.หลักเมือง อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์
4. หลวงปู่ศรี ถ้ำภูเขาควาย ประเทศลาว
5. หลวงปู่ชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี
6.หลวงพ่อเก้า วัดบ้านโพนงาม อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์
7. หลวงปู่ทองมา ถาวโร วัดสว่างท่าสี อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด

แชร์ :

ความคิดเห็น

** โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างมีวิจารณญาน