พระปิดตาเส้นด้ายวัดอโศการาม
พระปิดตาเส้นด้ายวัดอโศการาม เป็นพระที่ค่อนข้างหายาก ราคาไม่แพง
พระเครื่องดีที่เข้าเป้า “ดีเกินราคา” อีกรุ่นหนึ่ง พระปิดตาและพระสมเด็จวัดอโศการาม ปี 2502
เมื่อพูดถึงวัดอโศการามเป็นอันต้องระลึกถึงหลวงพ่อลี และภาพพระเครื่อง 25 ศตวรรษของท่านก็แจ่มกระจ่างในจอสมอง แต่พระปิดตารุ่นนี้ไม่ใช่ 25 ศตวรรษของวัดอโศการามแต่อย่างใด
ผู้สร้างพระปิดตาชุดนี้คือ เจ้าคุณแดง หรือ พระสุธรรมคณาจารย์ (สมณศักดิ์ขณะนั้น) เพื่อนำไปแจกจ่ายแก่มวลศิษย์ในจังหวัดกาฬสินธุ์ ดังนั้นชาวกาฬสินธุ์ควรจะเป็นผู้ที่รู้จักพระปิดตาชุดนี้ว่าดีอย่างไรเกินกว่าคนอื่น
คนอื่นที่ว่านั้นได้รวมเอาผมไว้ด้วยคนหนึ่ง
เดิมผมไม่รู้จักหรอกครับว่าพระปิดตารุ่นนี้มีปูมหลังอย่างไร ผมได้พระปิดตาองค์นี้มาในคราวสร้างพระเครื่องถวายหลวงพ่อใหญ่ วัดตาเต็น จังหวัดสุรินทร์ ท่านเอาพระปิดตาองค์นี้ให้ผมเพื่อเป็นตัวอย่างว่าให้สร้างเป็นพระเครื่องฟอร์มนี้ คือ เป็นรูปหยดน้ำ ผมก็เลยยึดพระปิดตาองค์นี้ไว้ โดยที่ไม่ทราบว่าเป็นพระอะไร แต่เชื่อในเครดิตของหลวงพ่อใหญ่ ลงท่านเก็บพระนี้ไว้กับตัวตั้งนาน เป็นอันเชื่อได้สนิทหัวใจว่าพระดีแน่
ต่อมาเพื่อนผมได้เห็นเข้าก็เอะอะว่าพระปิดตาองค์นี้เขารู้จักดี เป็นพระที่ค่อนข้างจะหายากสักหน่อยไม่ค่อยพบเห็น แต่ถ้าพบเห็นแล้วใครๆ ไม่ใคร่รู้จักกัน ราคาไม่แพงอีกต่างหาก
ในที่สุดเขาได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับพระปิดตารุ่นนี้แก่ผมมาทั้งหมด เห็นรายละเอียดและข้อเท็จจริงของพระปิดตาอโศการามแล้วจะอดใจไม่เล่าให้ผู้อ่านฟังยัง
ไงไหว
ผู้แกะพิมพ์พระปิดตาองค์นี้ คือ หลวงตาเสริม อนุตโร วัดชายหาด จังหวัดจันทบุรี รูปแบบของพระปิดตาจะว่าสวยก็ไม่ใช่ ไม่สวยก็ไม่เชิง แต่แปลกตาดี เรียกว่าเป็นฝีมือช่างอย่างชาวบ้านก็ได้ ไม่วิจิตรพิสดารอย่างมือช่างหลวง
หลวงตาเสริมเป็นเพียงผู้แกะพิมพ์ ไม่ใช่ผู้ริเริ่มสร้าง ซึ่งผู้สร้างคือ หลวงพ่อแดง ธรรมรักขิตโต หรือ พระสุธรรมคณาจารย์ ท่านเป็นสหายของหลวงพ่อลี สร้างแล้วก็ทำพิธีพุทธาภิเษกในวัดอโศการามนั่นเอง
พิธีพุทธาภิเษกทำกันสามวันสามคืน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2502 – 29 มกราคม 2502 มีคณาจารย์เข้าร่วมนั่งปรกอธิษฐานจิต 9 รูป
เห็นรายชื่อแล้วอย่าตกใจนะครับ
1. พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาโม วัดป่าสาละวัน โคราช
2. หลวงพ่อลี วัดอโศการาม
3. หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดถ้ำขาม สกลนคร
4. หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม วัดอรัญญวิเวก บ้านข่า นครพนม
5. หลวงปู่ชอบ ฐานสโม วัดป่าสัมมานุสรณ์ วังสพุง เลย
6. หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง หนองคาย
7. หลวงปู่สาม อกิญจโน วัดป่าไตรวิเวก สุรินทร์
8.หลวงปู่อ่อน ญาณศิริ วัดป่านิโครธาราม
9.หลวงพ่อจวน กุลเชฏโฐ วัดภูทอก
ทั้ง 9 รูปนี้เป็นศิษย์พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถรทั้งสิ้น เรียกว่าเป็นพระคณาจารย์ฝ่ายกัมมัฏฐานล้วนๆเกือบทุกองค์มรณภาพไปหมดแล้ว คงเหลือเพียงหลวงปู่ชอบและหลวงปู่เทสก์ 2 องค์เท่านั้นที่ยังอยู่เป็นมิ่งมงคลแก่ชาวพุทธในเมืองไทย
ความจริงไม่แต่จะมีพระปิดตาพิมพ์เดียวเท่านั้นที่ถูกสร้างขึ้นในคราวนั้น แต่ว่ายังมีพระสมเด็จอีกพิมพ์หนึ่งรวมแล้ว 2 พิมพ์ โดยพระสมเด็จนั้นสร้างเป็นจำนวน 6,400 องค์ พระปิดตา 5,470 องค์
ภาพ : Weerapat Krongyut
พระทั้งสองพิมพ์มีสีสันแปลกๆหลายสี เช่นแดง เหลือง ลักษณะคล้ายดินเผา เป็นผงพุทธคุณก็มี
ส่วนเนื้อสีดำนั้นทำขึ้นจากผงใบลานเผา ผิวขึ้นเงาเป็นมัน ถ้าหากมีรอยกะเทาะอยู่บ้างจะเห็นเนื้อข้างในหยาบกว่าผิวนอก สีก็จางกว่าผิวดำข้างนอกเล็กน้อย
ลักษณะพระถูกแกะพิมพ์ง่ายๆ โดยเดินเส้นนูนเป็นรูปองค์พระเท่านั้น ไม่มีมิติเหมือนพระรุ่นใหม่ๆ เห็นที่ไหนจะจำได้ง่ายๆ เพราะมีลักษณะพิเศษเฉพาะ ตัวที่ไม่เหมือนใคร
พระรุ่นนี้เคยมีหลงเหลือตกค้างอยู่ที่วัดโพธิยาราม ใกล้ฟาร์มจระเข้สมุทรปราการ ทุกวันนี้ไม่ทราบว่ายังเหลืออยู่อีกหรือไม่ผมไม่ทันได้ไปตรวจสอบดู บางทีผู้อ่านที่สนใจหรือผู้ที่อยู่ใกล้ๆ วัดดังกล่าวจะได้เข้าไปถามไถ่กับเจ้าอาวาสด้วยตนเอง ได้ความอย่างไรจะแจ้งข่าวมาทางผมบ้างก็ได้จะได้ร้องบอกกันต่อไป
ดูเหมือนท่านเจ้าอาวาสมีชื่อว่า หลวงพ่อหยด อธิปัญโญ เป็นศิษย์ของหลวงพ่อแดงผู้สร้างพระชุดนี้ โดยตัวหลวงพ่อหยดเองเคยนำพระชุดนี้ออกให้คนบูชาเพื่อหาเงินรายได้สมทบทุนสร้างและบูรณะวัดลัยสิทธิ์ จังหวัดแพร่ เมื่อปี 2526 ยังไงให้ลองสอบถามกับท่านเจ้าอาวาสวัดโพธิยาราม ถ้ายังมีเหลืออยู่ท่านคงอนุญาตให้บูชากันได้
ใครได้ไว้ถือเป็นโชควาสนาแก่ตนจริงๆจะบอกให้
—
ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ “สืบหาพระเครื่องดี” นิตยสารศักดิ์สิทธิ์ ราวปี พ.ศ.2537