ปิดตาปรกงูรุ่นแรก

หลวงพ่อดำ จันทสาโร (พระครูนิภาวิหารกิจ)
วัดนภาราม อ.ตากใบ จ.นราธิวาส

 


ลงไปสุดแดนมาเลเซีย ที่วัดนภาราม อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส จะพบพระดีอีกรูปหนึ่ง มีฐานานุรูปเป็นพระครูนภาวิหารกิจ แต่เป็นหลวงพ่อดำที่แนบชิดดวงใจชาวพุทธที่นั่นมาเนิ่นนานกว่า และยังรุกล้ำศรัทธาเข้าไปถึงดวงใจสุลต่านกับชาวมาเลย์ที่ข้ามพรมแดนไปมา อย่างน่าทึ่ง

พูดแบบไม่มีมารยาทก็ต้องว่าคนนอกศาสนาก็นับถือหลวงพ่อดำ

พวกเขาไม่ได้เลื่อมใสในหลักธรรมทางพุทธศาสนา เขามีศาสนาประจำชาติอยู่แล้ว ที่เข้ามาถึงวัดนภารามก็เพราะศรัทธาในของขลังเท่านั้น ไม่มีเหตุผลอื่น

ของขลังของหลวงพ่อดำดูจะเป็นการปรองดองระหว่างคนสองเชื้อชาติสองศาสนาได้อย่างดี

เหมือนสีเทาปรองดองสีดำกับสีขาว

ไม่ง่ายเลยที่ใครต่อใครก็จะทำเช่นนั้น

ของขลังหรือวัตถุมงคลทั้งหลายของหลวงพ่อดำมากกว่าครึ่ง จึงตกเข้าไปอยู่ในแผ่นดินมาเลเซีย

ถ้าแบะอกเสื้อสุลต่านเมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน (ตวนกูฮานีฟ – เทียบเท่าพระองค์เจ้า) จะพบพระเครื่องหลวงพ่อดำแขวนอยู่ทั้งพวง

คนไทยภูมิใจพระไทยไหม?

หลวงพ่อดำ จันทสาโร เป็นศิษย์สืบทอดวิทยาคมและหลักธรรมในการประพฤติปฏิบัติมาจากหลวงพ่อครน วัดบางแซะ สรรพวิชาทั้งหลายที่ท่านรับมาก็ได้แสดงตัวอยู่จนทุกวันนี้ ทั้งตะกรุดทั้งพระเครื่องที่สะกดรอยหลวงพ่อครนผู้เป็นครูก็ยังคงตามรอยครู อยู่ไม่วาง คนในแดนมาเลย์ที่เคยเลื่อมใสหลวงพ่อครนมาก่อนก็แบ่งความเลื่อมใสนั้นมาถวาย หลวงพ่อดำ นับวันนับคืนทวีไปโดยไม่มีใครจำกัดเขตลงได้

อะไรเป็นเหตุ ให้คนทั้งหลายประสงค์ในของขลังของหลวงพ่อดำ มากกว่าทั้งหมด เห็นว่าท่านสนับสนุนการค้าให้รุดหน้า ท่านเทโชคลาภให้ตามกำลังศิษย์จะไขว่คว้า และท่านก็รักษาสวัสดิภาพทางร่างกายและทรัพย์สิน ให้ทุกคนที่ศรัทธา

ไม่ดุเดือดเลือดพล่านถึงกับต้องไปตีรันฟันแทงยิงใส่กัน

คุณลักษณะเด่นที่เน้นเมตตาจนเห็นชัด ศิษย์ฝั่งไทยสัมผัสได้ง่าย ๆ เมื่อพบตัวท่านด้วยตนเอง

คุณอภิชาติ จุฬาสินนท์ เป็นศิษย์อีกท่านหนึ่งซึ่งซึมซับความดีงามของหลวงพ่อดำไว้มากที่สุด ได้รับความไว้วางใจจากองค์หลวงพ่อดำให้ทำของขลังสองชิ้นคือไม้ครู และพระปิดตาปรกงูรุ่นแรก แปลกกันแบบสุดๆ ก็ตรงที่พระกับไม้ครูยังสร้างไม่เสร็จก็ดังไปถึงมาเลย์แล้ว

ไม้ครูสร้างตามตำรับหลวงพ่อครน ปรมาจารย์ไม้ครูแห่งมาเลเซียทุกกระบวนการ ภายในด้ามซึ่งทำจากไม้รักบรรจุไว้ด้วยกระดาษยันต์ทั้งทองและเงิน ที่หลวงพ่อพากเพียรเขียนอักขระไว้ล่วงหน้าหลายปี อีกทั้งผงพุทธคุณและพลอยเสกของสองสำนักคือวัดวังก์วิเวการาม กับสำนักสวนหินของหลวงพ่ออุตตมะกับหลวงปู่พรหมมา เขมจาโร

กระบวนการทำไม้ครูซับซ้อนและปราณีตจนผมบรรยายไม่ถูก แม้จะได้รับคำอธิบายให้เข้าใจแจ่มแจ้งแล้วก็ตาม

ลักษณะไม้ครูนั้นกำหนดความยาวไว้ที่ 6 นิ้วครึ่ง ถูกต้องตามตำรานิ้วมหามงคล หัวและปลายกลึงด้วยทองเหลือง ตอกโค้ดและลำดับหมายเลขไว้ทุกด้าม มีจำนวนสร้าง 46 ด้าม ตามพุทธฏีกา แถมยังออกหนังสือกำกับทุกด้ามลงนามเข้าของไว้ด้วย

ไม้ครูนี้ออกจำหน่ายราคาแพงมาก คือด้ามละ 2,500 บาท

ทราบว่าเหลืออยู่เพียงสองด้ามเท่านั้น

หมดไปในพริบตา

เฉพาะไม้ครูนี้ ตวนกูฮานีฟ สุลต่านแห่งโกตาบารู รัฐกลันตัน ถือไว้ในมือด้ามหนึ่ง บิดาของท่านซึ่งเป็นพระราชาธิบดีถือของหลวงพ่อครนอีกด้ามหนึ่ง

ผมรับว่าไม่มีความรู้อย่างแท้จริงในอิทธานุภาพของไม้ครู แต่ทราบว่าผู้นำทางภาคใต้นิยมถือไว้ในมือ บางทีจะเหมือนเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ในเมืองไทย ที่ต้องขวนขวายหาตะกรุดมหาจักรพรรดิไว้ประจำตัวทำนองนั้น

ในการประกอบพิธีบวงสรวงต่างๆ ก็เคยเห็นเจ้าพิธีอัญเชิญไม้ครูมาประกอบการบวงสรวงอยู่บ่อยๆ เช่นอาจารย์ชุม ไชยคีรี ก็มีไม้ครูทุกครั้งที่ทำพิธี

ไม้ครูน่าจะมีดีอย่างนี้

ทราบว่าไม้ครูหลวงพ่อดำ ที่ทำตามรอยมือหลวงพ่อครนก็ได้ทำเป็นรุ่นแรกด้วย อาจมีการทำมาก่อนบ้าง แต่สำหรับครั้งนี้ถือเป็น Official อย่างแท้จริง

ส่วนพระปิดตาปรกงู ที่ได้ทำเป็นรุ่นแรกอีกด้วยในคราวเดียวกันนั้น ผู้ดำเนินการสร้างคือ คุณอภิชาติ จุฬาสินนท์ แสดงเจตนาเพื่อตอบแทนน้ำใจผู้ร่วมออกเงินสร้างศาลาพิพิธภัณฑ์อเนกประสงค์ใน วัดนภาราม
โดยมีจำนวนสร้าง 2,227 องค์ เป็นเนื้อพิเศษอีก 35 องค์

ปิดตาปรกงูเนื้อธรรมดาตอบแทนแก่ผู้บริจาค 300 บาทส่วนเนื้อพิเศษตอบแทนแก่ผู้บริจาค 2,000 บาท

มวลสารหลัก ๆ คือมวลสารเดียวกันกับที่ได้จัดสร้างพระมหาฤาษีรุ่น 7 และ 8 เพิ่มเติมผงเถ้าธนบัตรเงินล้าน ผงว่าน 108 ผงเกสารดอกไม้ที่ปลุกเสกโดยหลวงพ่อดำ รวมทั้งการผสมเส้นเกศาเข้าคุลีเนื้ออย่างไม่อั้น

เนื้อพิเศษจะมีผง กะลาตาเดียว แร่เหล็กน้ำพี้ แร่ทองคำขาว ผงลูกอมปลดหนี้หลวงปู่โต๊ะ วัดปากน้ำรุ่น 3 ซึ่งท่านอาจารย์เบิ้มมอบให้เป็นพิเศษ

เราไปกันถึงสุดแดนลาวที่หลวงปู่พรหม มา สุดแดนพม่าที่หลวงปู่อุตตมะ สุดแดนเขมรที่หลวงพ่อฤทธิ จนบัดนี้สุดแดนมาเลเซียที่หลวงพ่อดำ อย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย ใครที่ทำได้เช่นนี้ต้องมีสองสิ่งเท่านั้นที่ผลักดันได้ 1. ความรักอันรุนแรง 2. ศรัทธาอันแรงกล้า เป็นพลังของทั้งสองโลก แต่การเดินทางนี้เป็นพลังผลักดันของโลกที่สอง “โลกธรรม” อย่างแท้จริง

เรื่องของหลวงพ่อดำ จันทสาโร วัดนภาราม ยังจะได้กล่าวถึงอีกครั้งในฉบับหน้า ขอให้คว้าเอาพระที่ยังไม่รู้จักนี้ไว้ก่อน หลังจากนั้นค่อยทำความรู้จักท่าน ก็ไม่สายเกินไป

………………………………………..
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารศักดิ์สิทธิ์ฉบับที่ 309
วันที่ 16 พฤศจิกายน 2538

แชร์ :

ความคิดเห็น

** โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างมีวิจารณญาน